พันธสัญญาเดิม 2022
21–27 มีนาคม อพยพ 1–6: “เราระลึกถึงพันธสัญญาของเรา”


“21–27 มีนาคม อพยพ 1–6: ‘เราระลึกถึงพันธสัญญาของเรา’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“21–27 มีนาคม อพยพ 1–6” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2022

ภาพ
โมเสสกับพุ่มไม้ที่ลุกไหม้

โมเสสกับพุ่มไม้ที่ลุกไหม้ โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

21–27 มีนาคม

อพยพ 1–6

“เราระลึกถึงพันธสัญญาของเรา”

ขณะที่ท่านอ่าน อพยพ 1–6 ให้นึกถึงคนที่ท่านสอน ความจริงอะไรในบทเหล่านี้ที่น่าจะมีความหมายต่อพวกเขามากที่สุด? ท่านจะช่วยให้พวกเขาค้นพบความจริงเหล่านี้อย่างไร?

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

แนวคิดหนึ่งในการกระตุ้นสมาชิกชั้นเรียนให้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้คือเขียนคำถามเช่นนี้บนกระดาน: ขณะที่ท่านอ่าน อพยพ 1–6 ท่านสังเกตเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อน? เชื้อเชิญสมาชิกชั้นเรียนให้แบ่งปันคำตอบของพวกเขา

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

อพยพ 1–2

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ปลดปล่อยของเรา

  • แม้ว่าจะไม่ได้เอ่ยพระนามของพระผู้ช่วยให้รอดใน อพยพ 1–2 แต่เรื่องราวนี้ก็อาจช่วยสมาชิกชั้นเรียนให้เสริมสร้างศรัทธาในพระพันธกิจของพระองค์เพื่อปลดปล่อยเราจากการเป็นเชลย สมาชิกชั้นเรียนอาจค้นหาคำหรือวลีใน อพยพ 1–2 ที่บรรยายถึงความยากลำบากที่ชาวอิสราเอลเผชิญ คำบรรยายเหล่านี้คล้ายคลึงกับการถูกจองจำทางวิญญาณหรือความยากลำบากอื่นๆ ที่เราเผชิญอย่างไร? ลูกหลานของอิสราเอลแสวงหาการปลดปล่อยอย่างไรและพระผู้เป็นเจ้าทรงตอบสนองต่อพวกเขาอย่างไร? (ดู อพยพ 2:23–25; 3:7–8 ด้วย) เราดึงพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อเราต้องการการปลดปล่อยอย่างไร? พระผู้เป็นเจ้าทรงตอบคำวิงวอนขอความช่วยเหลือของเราอย่างไร? สมาชิกชั้นเรียนอาจมองหาข้อคิดเพิ่มเติมในข่าวสารของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเรื่อง “ดึงพลังของพระเยซูคริสต์เข้ามาในชีวิตเรา” (เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 39–42)

    ภาพ
    ทารกน้อยโมเสสในตะกร้า

    โมเสสในกอปรือ © Providence Collection/licensed from goodsalt.com

อพยพ 3–4

เมื่อเราทำงานของพระเจ้า เราสามารถมีพลังอำนาจของพระเจ้า

  • โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว แนะนำให้ค้นคว้า อพยพ 3–4 เพื่อค้นหาว่าพระเจ้าทรงตอบสนองต่อความกังวลของโมเสสเกี่ยวกับงานในการปลดปล่อยชาวอิสราเอลจากการเป็นทาสอย่างไร ถ้าสมาชิกของชั้นเรียนทำกิจกรรมนี้ที่บ้าน เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ หรือท่านอาจจะให้ทั้งชั้นทำกิจกรรมนี้ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาชิกชั้นเรียนอาจค้นคว้าใน อพยพ 3:11–18; 4:1–17 เพื่อมองหาความกังวลของโมเสสและการตอบสนองของพระเจ้าต่อความกังวลแต่ละครั้ง การตอบสนองของพระเจ้าช่วยเราอย่างไรเมื่อเรามีความสงสัยเกี่ยวกับความสามารถของเราในการทำงานของพระองค์?

อพยพ 3:5

เราควรจะแสดงความคารวะต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

  • ท่านสามารถใช้แบบอย่างของโมเสสอย่างไรเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสนทนาเกี่ยวกับวิธีที่เราควรปฏิบัติต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์? ตัวอย่างเช่น หลังจากอ่าน อพยพ 3:5 ด้วยกัน ท่านอาจนำสิ่งของที่ศักดิ์สิทธิ์หรือภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาแสดง (เช่น พระคัมภีร์หรือพระวิหาร) และสิ่งของทั่วไปหรือภาพสิ่งของทั่วไป (เช่น หนังสือทางโลกหรืออาคารทั่วๆ ไป) สมาชิกชั้นเรียนอาจพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งอื่นๆ ที่พวกเขาคิดว่าศักดิ์สิทธิ์และแบ่งปันวิธีที่พวกเขาแสดงความคารวะต่อสิ่งเหล่านั้น (ดู เลวีนิติ 19:30; หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:10–12 ด้วย) เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้เรามีความคารวะต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์?

อพยพ 5:4–9, 20–23; 6:1–13

จุดประสงค์ของพระเจ้าจะเกิดสัมฤทธิผลในเวลาของพระองค์

  • อาจทำให้รู้สึกท้อแท้ใจเมื่อความพยายามอย่างจริงใจของเราในการทำความดีดูเหมือนไม่ได้ผล—เพื่อนคนหนึ่งอาจไม่ตอบสนองต่องานปฏิบัติศาสนกิจของเราหรือการสวดอ้อนวอนของเราเพื่อลูกที่ดื้อรั้นดูเหมือนจะไม่ได้รับคำตอบ ในการเรียนรู้เกี่ยวกับประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกับของโมเสส สมาชิกชั้นเรียนอาจจะอ่าน อพยพ 5:4–9, 20–23 พระเจ้าทรงช่วยโมเสสเอาชนะความรู้สึกท้อแท้ใจอย่างไร? (ดู อพยพ 6:1–13) สมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขาไม่เห็นผลในทันทีจากความพยายามของพวกเขาในการรับใช้พระเจ้า ประสบการณ์ของโมเสสในบทเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถตอบสนองในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้? (ดู “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ด้วย)

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

เรารับใช้ผู้อื่นแทนพระเจ้า

ประธานจอย ดี. โจนส์เล่าว่าเธอและสามีรับใช้อย่างซื่อสัตย์อย่างไรในงานมอบหมายการปฏิบัติศาสนกิจแต่ไม่เห็นความสำเร็จจากความพยายามของพวกเขา คู่สามีภรรยาไตร่ตรองและสวดอ้อนวอนขอการนำทาง ขณะที่เล่าถึงคำตอบของการสวดอ้อนวอนของพวกเขา ประธานโจนส์ก็กล่าวว่า

“เราตระหนักว่าเราพยายามรับใช้ครอบครัวนี้และรับใช้อธิการของเราด้วยความจริงใจ แต่เราต้องถามตนเองว่าในความเป็นจริงการรับใช้นั้นออกมาจากความรักที่มีต่อพระเจ้าหรือไม่ กษัตริย์เบ็นจามินชี้ให้เห็นความแตกต่างตรงนี้อย่างชัดเจนเมื่อท่านกล่าวว่า ‘ดูเถิด ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าเพราะข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านแล้วว่าข้าพเจ้าใช้วันเวลาของข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ท่าน ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะโอ้อวดเพราะ ข้าพเจ้าอยู่ในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้านั่นเอง’ [โมไซยาห์ 2:16; เน้นตัวเอน]

“ในความเป็นจริงกษัตริย์เบ็นจามินรับใช้ใคร พระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอด การรู้ว่า ใคร และ ทำไม เมื่อรับใช้ผู้อื่นช่วยให้เราเข้าใจว่าการแสดงออกขั้นสูงสุดของความรักคือการอุทิศตนแด่พระผู้เป็นเจ้า” (“เพื่อพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 50)

ปรับปรุงการสอนของเรา

แบ่งปันประสบการณ์ทางวิญญาณ วิธีหนึ่งที่จะอัญเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณมาสู่ชั้นเรียนของท่านคือการกระตุ้นสมาชิกชั้นเรียนให้แบ่งปันสิ่งที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสอนพวกเขาขณะที่ศึกษาพระคัมภีร์ในสัปดาห์นี้

พิมพ์