เซมินารี
บทที่ 17—หลักคําสอนและพันธสัญญา 6: “จงดูที่เราในความนึกคิดทุกอย่าง; อย่าสงสัย, อย่ากลัว”


“บทที่ 17—หลักคําสอนและพันธสัญญา 6: ‘จงดูที่เราในความนึกคิดทุกอย่าง; อย่าสงสัย, อย่ากลัว’” หลักคําสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)

“หลักคําสอนและพันธสัญญา 6,” หลักคําสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี

บทที่ 17: หลักคําสอนและพันธสัญญา 6-9

หลักคำสอนและพันธสัญญา 6

“จงดูที่เราในความนึกคิดทุกอย่าง; อย่าสงสัย, อย่ากลัว”

พระพาหุที่เอื้อมมาของพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์

เมื่อวันที่ 5 เมษายน ปี 1829 ออลิเวอร์ คาวเดอรีพบกับโจเซฟ สมิธเป็นครั้งแรก สองวันต่อมา เขากลายเป็นผู้จดคำแปลของโจเซฟในการแปลพระคัมภีร์มอรมอน หลักคำสอนและพันธสัญญา 6 ประกอบด้วยคำแนะนำจากพระเจ้าที่กล่าวถึงคำถามและข้อกังวลมากมายที่ออลิเวอร์มีเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในงานของพระเจ้า บทเรียนนี้มีเจตนาจะช่วยให้นักเรียนวางใจในพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อเผชิญกับความสงสัยและความกลัว

กิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำได้

ความสงสัยและความกลัว

ท่านอาจเขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน แล้วเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคำตอบของตนไว้ข้างใต้ ซึ่งอาจทำได้ก่อนเริ่มชั้นเรียนหรือในช่วงเริ่มต้นของบทเรียน

  • ความกลัว ความสงสัย หรือความกังวลที่วัยรุ่นอาจมีคืออะไร?

หลังจากสนทนาถึงคำถามก่อนหน้า เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงความกลัว ความสงสัย หรือความกังวลที่พวกเขาอาจมีในชีวิตของตนเอง อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 6 ประกอบด้วยความจริงที่จะช่วยพวกเขาในช่วงเวลาดังกล่าวได้ เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงเหล่านี้ขณะศึกษา

ออลิเวอร์ คาวเดอรีเริ่มช่วยโจเซฟ สมิธ

อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 6 ประกอบด้วยการเปิดเผยที่ประทานแก่ออลิเวอร์ คาวเดอรี เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าออลิเวอร์พบกับโจเซฟ สมิธครั้งแรกได้อย่างไร ท่านอาจให้ชมวีดิทัศน์ “Days of Harmony” ดูตั้งแต่รหัสเวลา 3:07 ถึง 7:18 วีดิทัศน์นี้รับชมได้ที่ ChurchofJesusChrist.org หรือชั้นเรียนอาจอ่าน วิสุทธิชน: เรื่องราวของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ในยุคสุดท้าย, เล่ม 1, มาตรฐานแห่งความจริง, 1815–1846 (2018), หน้า 58–60 หรือท่านอาจสรุปย่อหน้าต่อไปนี้

25:5

ออลิเวอร์ คาวเดอรีเป็นครูในโรงเรียน เขาเริ่มพักอาศัยกับบิดามารดาของโจเซฟ สมิธในฤดูใบไม้ร่วงปี 1828 ขณะอาศัยอยู่กับครอบครัวสมิธ ออลิเวอร์ทราบเกี่ยวกับการเรียกอันศักดิ์สิทธิ์ของโจเซฟและการแปลพระคัมภีร์มอรมอนอย่างต่อเนื่อง ออลิเวอร์รู้สึกถึงการกระตุ้นเตือนให้ถามว่าเขาอาจช่วยโจเซฟในการแปลได้หรือไม่ ในฤดูใบไม้ผลิปี 1829 ออลิเวอร์ติดตามแซมิวเอลน้องชายของโจเซฟไปฮาร์โมนีย์ เพนน์ซิลเวเนีย เพื่อพบศาสดาพยากรณ์เป็นครั้งแรก

  • หากท่านอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับออลิเวอร์ คาวเดอรี ท่านอาจมีคำถามหรือข้อสงสัยอะไรในช่วงเวลานี้?

หลังจากมาถึงฮาร์โมนีย์ไม่นาน ออลิเวอร์กลายเป็นผู้จดคำแปลของโจเซฟ สมิธ แม้ว่าก่อนหน้านี้ออลิเวอร์ได้รับการยืนยันอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับของประทานจากศาสดาพยากรณ์ของโจเซฟในการแปล แต่เขายังมีคำถามเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในงานของพระเจ้า โจเซฟ สมิธรับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 6 ในช่วงเวลานี้

รู้จักและวางใจพระผู้ช่วยให้รอด

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:14–24, 32–37 โดยมองหาคำแนะนำบางส่วนที่พระเจ้าประทานแก่ออลิเวอร์ ใส่ใจเป็นพิเศษกับสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับพระองค์เองซึ่งจะช่วยเราได้ในช่วงเวลาของความไม่แน่นอนหรือความกลัว

นอกเหนือจากการอ่านข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ นักเรียนอาจรับชม “Days of Harmony” ตั้งแต่ช่วงเวลา 15:02 ถึง 17:49

25:5

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจสิ่งที่กำลังอ่าน ท่านอาจแสดงภาพพระเยซูคริสต์บนกระดาน ขณะที่นักเรียนระบุคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ พวกเขาอาจเขียนคำสอนเหล่านั้นรอบๆ ภาพบนกระดาน

  • ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่จะช่วยให้ท่านวางใจในพระองค์เมื่อประสบกับความกลัว ความสงสัย หรือความกังวลได้?

  • ความจริงเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจะช่วยท่านได้อย่างไรในช่วงเวลาเช่นนี้?

ดูที่พระเยซูคริสต์

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:36 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนด้วยวิธีที่แตกต่างกันเพื่อที่จะค้นหาได้ง่าย

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:36–37 อีกครั้ง โดยมองหาพระดำรัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดที่ประทานแก่ออลิเวอร์

  • ท่านจะสรุปความจริงที่สอนใน ข้อ 36 อย่างไร?

ท่านอาจต้องการเน้นว่าเมื่อเราดูที่พระเยซูคริสต์ เราจะเอาชนะความสงสัยและความกลัวได้

ท่านคิดว่าการดูที่พระเยซูคริสต์ในความนึกคิดทุกอย่างหมายความว่าอย่างไร?

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน ข้อ 36 และ 37 ท่านอาจแสดงภาพตั้งแต่ต้นของบทเรียน อธิบายว่าการดูบางสิ่งบางอย่างหมายถึงการมองเห็นและสังเกต จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดจึงทรงต้องการให้เรา “ดู” ที่บาดแผลของพระองค์? (หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:37)

  • การระลึกถึงการชดใช้และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์มีผลต่อเราอย่างไร?

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจดีขึ้นว่าจะดูที่พระเยซูคริสต์ได้อย่างไร ท่านอาจแสดงสถานการณ์สมมติต่อไปนี้ หรือท่านอาจสร้างสถานการณ์สมมติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของนักเรียนด้วยก็ได้

อันนามีคำถามเกี่ยวกับพระกิตติคุณที่ยังหาคำตอบไม่ได้ บางครั้งเธอรู้สึกว่าประจักษ์พยานของเธอไม่เข้มแข็งพอที่จะช่วยเอาชนะความสงสัยของเธอ

เอริคมีปัญหาเรื่องความรู้สึกถึงการมีคุณค่าในตนเอง เขารู้สึกเหมือนไม่มีใครสังเกตเห็นเขาที่โรงเรียน

พ่อแม่ของโซฟีกำลังประสบความลำบากในการหาเลี้ยงครอบครัว เธอกังวลว่าพ่อแม่อาจจะไม่มีเงินพอสำหรับทุกความต้องการของครอบครัว

ท่านอาจแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ และกำหนดสถานการณ์สมมติให้แต่ละกลุ่มมุ่งเน้นไปที่การสนทนาเกี่ยวกับคำถามต่อไปนี้

  • มีวิธีอะไรบ้างอย่างน้อยสามวิธีที่ผู้คนเหล่านี้อาจดูที่พระคริสต์ในสถานการณ์ของพวกเขา?

  • การทำสิ่งเหล่านั้นจะสร้างความแตกต่างให้กับชีวิตของบุคคลเหล่านี้ได้อย่างไร?

หลังจากนักเรียนสนทนากับกลุ่มแล้ว เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันคำตอบบางส่วนกับชั้นเรียน ส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ อาจเป็นประโยชน์ที่จะถามนักเรียนว่าการกระทำที่พวกเขาระบุเป็นแบบอย่างของการดูที่พระคริสต์อย่างไร

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันตัวอย่างว่าพวกเขาได้รับพรอย่างไรขณะดูที่พระเยซูคริสต์ในชีวิต

การประยุกต์ใช้ในชีวิตท่าน

เพื่อช่วยให้นักเรียนประยุกต์ใช้คำแนะนำของพระผู้ช่วยให้รอดในการดูที่พระองค์ เชื้อเชิญให้พวกเขานึกถึงความกลัว ความสงสัย หรือความกังวลที่ตนเองระบุในตอนต้นของบทเรียน แสดงคำถามต่อไปนี้และให้เวลานักเรียนตอบลงในสมุดบันทึกการศึกษา

  • ท่านเรียนรู้หรือรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ในวันนี้ที่จะช่วยในเรื่องความกลัว ความสงสัย หรือความกังวลที่ท่านมี?

  • มีวิธีที่เฉพาะเจาะจงใดที่ท่านจะมุ่งมั่นประยุกต์ใช้คำแนะนำของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อ “ดูที่ [พระองค์] ในความนึกคิดทุกอย่าง; อย่าสงสัย, อย่ากลัว”?

ท่องจำ

ท่านอาจต้องการช่วยให้นักเรียนท่องจำข้ออ้างอิงและวลีสำคัญในพระคัมภีร์จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:36 และทบทวนในบทเรียนต่อไป วลีสำคัญในพระคัมภีร์คือ ข้อพระคัมภีร์ทั้งหมด: “จงดูที่เราในความนึกคิดทุกอย่าง; อย่าสงสัย, อย่ากลัว” แนวคิดสำหรับกิจกรรมการท่องจำอยู่ในเอกสารภาคผนวกใต้ “กิจกรรมทบทวนผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน”