ประสบการณ์การเรียนรู้ 12
การตัดสินใจว่าจะสอนอย่างไร: ถามคำถามที่มีประสิทธิภาพ
สาระโดยสังเขป
ประสบการณ์การเรียนรู้นี้ครอบคลุมแนวคิดต่อไปนี้
-
การเข้าใจความสำคัญของคำถาม
-
การตั้งคำถามให้ได้ผลเฉพาะเจาะจง
-
การถามคำถามที่มีประสิทธิภาพ
แนวคิดหลัก
การเข้าใจความสำคัญของคำถาม
มีเทคนิคการสอนที่มีประสิทธิภาพมากมายที่ท่านสามารถใช้ในห้องเรียนของท่านได้ รวมถึงการสนทนาในชั้นเรียน การนำเสนอของครู และการเขียน วิธีทั้งหมดนี้ยกระดับกระบวนการเรียนรู้และการสอน แต่มีวิธีหนึ่งที่สำคัญยิ่งกว่าวิธีอื่นเกือบทั้งหมด ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนดังนี้
“การถามและการตอบคำถาม เป็นหัวใจของการเรียนรู้ทั้งหมดและการสอนทั้งหมด” (“The Lord Will Multiply the Harvest” [ยามค่ำกับเอ็ลเดอร์เฮนรีย์ บี. อายริงก์ 6 ก.พ. 1998], 5–6, si.lds.org; เน้นตัวเอน)
การฝึกตั้งคำถามที่ดีใช้เวลา ความพยายาม และการฝึกฝน ประสบการณ์การเรียนรู้นี้จะช่วยท่านฝึกถามคำถามที่สามารถมีผลลึกซึ้งต่อนักเรียนของท่าน
ดูวีดิทัศน์เรื่อง “การถามคำถาม” (2:42) มีอยู่ที่ LDS.org ขณะดูวีดิทัศน์ให้มองหาข้อคิดเกี่ยวกับความสำคัญของการถามคำถามที่มีประสิทธิภาพ
การตั้งคำถามอย่างมีจุดประสงค์
คำถามที่ท่านถามควรเชื้อเชิญให้นักเรียนประยุกต์ใช้องค์ประกอบของรูปแบบการเรียนรู้ เนื่องจากองค์ประกอบแต่ละอย่างส่งผลต่างกัน ลักษณะของคำถามที่ท่านถามจึงต่างกันตามผลที่ต้องการ
ตัวอย่างเช่น หากผลที่ท่านต้องการคือช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทและเนื้อหาของพระคัมภีร์ ให้ถามคำถามเกี่ยวกับผู้คน โครงเรื่อง และภูมิหลังทางวัฒนธรรม แต่หากผลที่ท่านต้องการคือช่วยให้นักเรียนประยุกต์ใช้หลักคำสอนหรือหลักธรรม ให้ถามคำถามที่กระตุ้นให้นักเรียนคิดหาวิธีที่พวกเขาจะใช้หลักคำสอนหรือหลักธรรมในชีวิตพวกเขา
การเรียนรู้หลักพื้นฐานและคำถามตัวอย่าง
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างคำถามที่ท่านอาจจะถามนักเรียนเพื่อเชื่อมโยงกับหลักพื้นฐานการเรียนรู้แต่ละข้อ สังเกตว่าคำถามแต่ละระดับเสริมกันอย่างไร โดยเริ่มจาก เข้าใจบริบทและเนื้อหา และย้ายไปที่ ประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรม
-
เข้าใจบริบทและเนื้อหา
-
ใครเกี่ยวข้องในเรื่องนี้บ้าง
-
กำลังเกิดอะไรขึ้นในข้อนี้
-
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นที่ไหน
-
-
ระบุหลักคำสอนและหลักธรรม
-
ท่านเห็นหลักคำสอนและหลักธรรมอะไรบ้าง
-
คติธรรมหรือประเด็นของเรื่องคืออะไร
-
ท่านคิดว่าผู้เขียนมีเจตนาจะให้เราเรียนรู้อะไร
-
-
เข้าใจหลักคำสอนและหลักธรรม
-
ท่านรู้อะไรเกี่ยวกับหลักธรรมนี้
-
ท่านคิดว่าเหตุใดหลักธรรมนี้จึงสำคัญต่อเราในปัจจุบัน
-
ท่านจะอธิบายหลักธรรมนี้กับคนอื่นว่าอย่างไร
-
ท่านจะเห็นความประพฤติและลักษณะอะไรบ้างในคนที่ดำเนินชีวิตตามหลักธรรมนี้
-
-
รู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักคำสอนและหลักธรรม
-
ท่านรู้สึกถึงความจริงของหลักธรรมนี้เมื่อใด
-
ท่านรู้ได้อย่างไรว่าหลักธรรมนี้จริง
-
ท่านได้รับพรจากการเชื่อฟังหลักธรรมนี้เมื่อใด
-
-
ประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรม
-
ท่านจะทำอะไรบ้างเพราะสิ่งที่ท่านรู้สึกวันนี้
-
ท่านจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้างเพื่อประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ในชีวิตท่าน
-
การถามคำถามที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทและเนื้อหา
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทและเนื้อหาของช่วงพระคัมภีร์ จงถามคำถามที่กระตุ้นให้นักเรียนค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาอ่านและช่วยพวกเขาวิเคราะห์สิ่งที่พบ
คำถามที่ช่วยให้นักเรียนค้นหาข้อมูล
เมื่อกำลังช่วยให้ชั้นเรียนของท่านเข้าใจบริบทและเนื้อหาของช่วงพระคัมภีร์ จงถามคำถามที่กระตุ้นให้พวกเขาค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้คน โครงเรื่อง ภูมิหลังทางวัฒนธรรม และรายละเอียดอื่นๆ คำตอบของคำถามเหล่านี้มักจะพบโดยตรงในเนื้อความพระคัมภีร์หรือในสิ่งช่วยศึกษาพระคัมภีร์เช่น เชิงอรรถ Bible Dictionary คู่มือพระคัมภีร์ แผนที่และรูปภาพในพระคัมภีร์ เป็นต้น แหล่งช่วยเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจรายละเอียดเฉพาะเจาะจงของช่วงพระคัมภีร์ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะถามคำถามดังนี้
-
ตามที่กล่าวไว้ใน 1 นีไฟ 3:1-4ใครบัญชาให้นีไฟไปเอาบันทึกจากเลบัน
-
ดูใน 1 นีไฟ 16:10 เลียโฮนาเปรียบเสมือนอะไร
-
ค้นหาคำว่า อัครสาวก ใน Bible Dictionary หรือคู่มือพระคัมภีร์ คำนี้หมายถึงอะไร (ท่านอาจถามคำถามนี้หลังจากนักเรียนอ่าน ลูกา 6:13)
อ่าน หัวข้อ 5.1.1 ในหน้า 59–60 ของหนังสือคู่มือ การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ ขณะที่ท่านอ่าน ให้ใช้ปากกาเน้นข้อความที่คำหรือวลีที่ช่วยให้ท่านเข้าใจว่าการถามคำถามที่กระตุ้นให้นักเรียนค้นหาข้อมูลสามารถช่วยให้พวกเขาค้นพบบริบทและเนื้อหาของช่วงพระคัมภีร์อย่างไร
ดูวีดิทัศน์เรื่อง “การถามคำถาม: ค้นหาข้อมูล” (1:36) มีอยู่ที่ LDS.org ในวีดิทัศน์เรื่องนี้ ครูเซมินารีตั้งคำถามที่จะช่วยให้นักเรียนของเธอค้นพบข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเนื้อหาและบริบทของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:1-4
คำถามที่ช่วยนักเรียนวิเคราะห์บริบทและเนื้อหา
หลังจากนักเรียนคุ้นเคยกับรายละเอียดพื้นฐานของข้อความแล้ว ให้ถามคำถามที่เชื้อเชิญให้พวกเขาวิเคราะห์รายละเอียดของโครงเรื่อง ผู้คนและสภาวการณ์ของพวกเขา และอื่นๆ
ตัวอย่างเช่น เมื่อศึกษา ลูกา 5:1-11นักเรียนจะเรียนรู้ว่าเปโตรหาปลาตลอดคืนแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพื่อช่วยนักเรียนวิเคราะห์ข้อเหล่านี้ให้ลึกซึ้งขึ้น ท่านอาจถามคำถามดังนี้
-
ท่านคิดว่าเหตุใดเปโตรจึงลังเลไม่กล้าเริ่มจับปลาอีก
-
ท่านคิดว่าเหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดจึงทรงเรียกร้องให้เปโตรทำสิ่งนี้
ศึกษาย่อหน้าใต้หัวข้อย่อย “ช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทและเนื้อหาของพระคัมภีร์ดีขึ้น” ในหัวข้อ 5.1.2 หน้า 60 ของหนังสือคู่มือ การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ ใช้ปากกาเน้นข้อความที่คำหรือวลีที่ช่วยให้ท่านเข้าใจว่าการถามคำถามที่ช่วยนักเรียนวิเคราะห์บริบทและเนื้อหาจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจพระคัมภีร์ลึกซึ้งขึ้นและดีขึ้นอย่างไร
ดูวีดิทัศน์เรื่อง “การถามคำถาม: วิเคราะห์บริบทและเนื้อหา” (1:45) มีอยู่ที่ LDS.org ในวีดิทัศน์เรื่องนี้ ครูเซมินารีคนหนึ่งถามคำถามที่กระตุ้นให้นักเรียนวิเคราะห์บริบทและเนื้อหาของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:1-4
การถามคำถามที่ช่วยนักเรียนระบุหลักคำสอนและหลักธรรม
เมื่อท่านถามคำถามที่ช่วยนักเรียนระบุหลักคำสอนและหลักธรรม ท่านกำลังเชื้อเชิญให้พวกเขาค้นพบและพูดถึงความจริงสำคัญๆ ที่พวกเขาเรียนรู้อย่างชัดเจน
ตัวอย่างเช่น หลังจากศึกษาเรื่องนีไฟไปนำเอาแผ่นจารึกทองเหลือง ท่านอาจจะถามว่า “ความสำเร็จของนีไฟในการได้แผ่นจารึกทองเหลืองทั้งที่ยากมากแสดงให้เห็นหลักธรรมอะไร คำถามนี้กระตุ้นให้นักเรียนระบุและพูดถึงหลักคำสอนหรือหลักธรรมด้วยคำพูดของพวกเขาเอง เช่น ฉันทำงานสำคัญให้ประสบผลสำเร็จได้เมื่อฉันทำสิ่งที่พระเจ้าทรงขอให้ฉันทำ
ศึกษาย่อหน้าใต้หัวข้อย่อย “ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมและหลักคำสอนพระกิตติคุณ” ในหน้า 60-61 ของ การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ ใช้ปากกาเน้นข้อความที่คำหรือวลีที่ช่วยอธิบายความสำคัญของการถามคำถามที่กระตุ้นให้นักเรียนระบุหลักคำสอนและหลักธรรม
ดูวีดิทัศน์เรื่อง “การถามคำถาม: ระบุหลักคำสอนและหลักธรรม” (0:42) มีอยู่ที่ LDS.org ในวีดิทัศน์เรื่องนี้ ชั้นเรียนสนทนา อพยพ 17ซึ่งมีเรื่องราวที่ต้องยกแขนของโมเสสเพื่อให้กองทัพชาวอิสราเอลชนะสงคราม ขณะดูวีดิทัศน์ ให้ท่านมองหาว่าครูขอให้ชั้นเรียนระบุหลักธรรมจากเรื่องนั้นอย่างไร
การถามคำถามที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักคำสอนและหลักธรรม
เมื่อนักเรียนระบุหลักคำสอนหรือหลักธรรมแล้ว ให้ถามคำถามที่ช่วยให้ชั้นเรียนเข้าใจว่า (1) หลักคำสอนหรือหลักธรรมนั้นหมายถึงอะไร และ (2) หลักคำสอนหรือหลักธรรมนั้นจะโยงกับปัจจุบันได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น หลังจากชั้นเรียนระบุหลักธรรม ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำไม่ได้ (ลูกา 1:37) ท่านอาจถามคำถามเช่น “ท่านคิดว่าคำว่า ทำไม่ได้ หมายถึงอะไร” และ “ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงต้องเข้าใจหลักธรรมนี้ในปัจจุบัน”
ศึกษาย่อหน้าใต้หัวข้อย่อย “ช่วยให้นักเรียนมีความเข้าใจลึกซึ้งขึ้นในหลักธรรมและหลักคำสอน” ในหน้า 61 ของ การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ ของท่าน ใช้ปากกาเน้นข้อความที่คำหรือวลีที่อธิบายความสำคัญของการถามคำถามที่กระตุ้นให้นักเรียนเข้าใจหลักคำสอนและหลักธรรม
ดูวีดิทัศน์เรื่อง “การถามคำถาม: เข้าใจหลักคำสอนและหลักธรรม” (0:41) มีอยู่ที่ LDS.org ในวีดิทัศน์เรื่องนี้ ครูสถาบันคนหนึ่งแนะนำหลักธรรมข้อหนึ่งกับนักเรียนของเขาและถามคำถามที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนั้นลึกซึ้งขึ้น
การถามคำถามที่ช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักคำสอนและหลักธรรม
ท่านสามารถช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักธรรมได้โดยถามคำถามที่เชื้อเชิญพวกเขาให้แบ่งปันประสบการณ์และประจักษ์พยาน นักเรียนจะยอมรับหลักธรรมได้มากหลังจากนักเรียนคนอื่นๆ เป็นพยานถึงผลของหลักธรรมนั้นในชีวิตพวกเขา
ตัวอย่างเช่น หลังจากชั้นเรียนเข้าใจหลักธรรม ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำไม่ได้ ลึกซึ้งแล้ว (ลูกา 1:37) ท่านอาจจะถามดังนี้ “ลองนึกถึงเวลาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยท่านหรือคนรู้จักให้ทำสิ่งที่ดูเหมือนทำไม่ได้ ประสบการณ์นั้นเสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านอย่างไรเกี่ยวกับเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า
ศึกษา หัวข้อ 5.1.3 ในหน้า 61–62 ของหนังสือคู่มือ การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ ใช้ปากกาเน้นข้อความที่คำหรือวลีที่อธิบายความสำคัญของการถามคำถามที่ช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักคำสอนหรือหลักธรรม
ดูวีดิทัศน์เรื่อง “การถามคำถาม: เชื้อเชิญความรู้สึกและประจักษ์พยาน” (0:48) มีอยู่ที่ LDS.org ในวีดิทัศน์เรื่องนี้ ชั้นเรียนสนทนาหลักธรรมข้อหนึ่งจาก แอลมา 7 สังเกตว่าครูถามคำถามที่จะช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักธรรมอย่างไร
การถามคำถามที่กระตุ้นให้นักเรียนประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรม
แม้เมื่อนักเรียนเข้าใจและรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักธรรม แต่พวกเขาก็ยังต้องเลือกประยุกต์ใช้ในชีวิต บทบาทการเป็นครูของท่านคือถามคำถามที่ช่วยให้นักเรียนคิดหาวิธีประยุกต์ใช้หลักธรรมพระกิตติคุณในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตของพวกเขา ตัวอย่างเช่น หลังจากการสนทนาในชั้้นเรียนเกี่ยวกับหลักธรรม ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำไม่ได้ (ลูกา 1:37) ท่านอาจจะถามว่า “ท่านจะวางใจพระผู้เป็นเจ้าอย่างไรเมื่อท่านเผชิญสถานการณ์ที่ดูเหมือนทำไม่ได้
เพราะคำตอบของนักเรียนอาจเป็นเรื่องส่วนตัวหรือละเอียดอ่อน ท่านอาจต้องการให้นักเรียนจดคำตอบของคำถามลักษณะนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาแทนที่จะให้พวกเขาแบ่งปันคำตอบกับชั้นเรียน
ศึกษา หัวข้อ 5.1.4 ในหน้า 62 ของหนังสือคู่มือ การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ ใช้ปากกาเน้นข้อความที่คำหรือวลีที่อธิบายความสำคัญของการถามคำถามที่กระตุ้นให้นักเรียนประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรมในชีวิตพวกเขา
ดูวีดิทัศน์เรื่อง “การถามคำถาม: ส่งเสริมการประยุกต์ใช้” (0:50) มีอยู่ที่ LDS.org ในวีดิทัศน์เรื่องนี้ ชั้นเรียนสนทนาหลักธรรมจาก ลูกา 5:12-26 สังเกตวิธีที่ครูถามคำถามที่ช่วยให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้หลักธรรมในชีวิตอย่างไร
การใช้คำถามจากคู่มือครูของท่าน
แหล่งข้อมูลสำคัญที่สุดแหล่งหนึ่งซึ่งมีตัวอย่างคำถามที่มีประสิทธิภาพให้ท่านคือคู่มือครูของท่าน แต่ละบทประกอบด้วยคำถามแนะนำซึ่งท่านควรพิจารณาใช้ในบทเรียนของท่าน คำถามหลายข้อในคู่มือครูมีไว้ช่วยนักเรียนสร้างองค์ประกอบของรูปแบบการเรียนรู้ให้เกิดผล
ขณะที่ท่านพยายามปรับปรุงทักษะการเขียนคำถาม ท่านอาจพบว่าการทบทวนคำถามในคู่มือครูจะช่วยให้เข้าใจลักษณะคำถามที่ตั้งไว้ดีแล้วได้ดีขึ้นกว่าเดิม
สรุปและการประยุกต์ใช้
หลักธรรมที่พึงจดจำ
-
การถามและการตอบคำถามเป็นหัวใจของการเรียนรู้และการสอนทั้งหมด
-
การถามคำถามที่มีประสิทธิภาพเป็นทักษะสำคัญที่สุดประการหนึ่งซึ่งท่านสามารถพัฒนาได้ในฐานะครู
-
การใช้คำถามที่ตั้งไว้อย่างรอบคอบจะช่วยให้ท่านและนักเรียนบรรลุผลที่ตั้งใจไว้
-
การฝึกตั้งคำถามที่ดีใช้เวลา ความพยายาม และการฝึกฝน
“จงถามคำถามที่ร่างไว้อย่างดีเพื่อกระตุ้นให้คิด ถึงแม้คำตอบไม่สมบูรณ์ แต่จะทำให้ได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญๆ เพิ่มขึ้น” (ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “To Understand and Live Truth” [ยามค่ำกับเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์, 4 ก.พ. 2005], 3; si.lds.org)
“ฉะนั้น เราต้องทำอะไร”
เพื่อสรุปประสบการณ์การเรียนรู้นี้ ให้จดบางสิ่งที่ท่านจะทำโดยยึดหลักธรรมที่ท่านเรียนรู้วันนี้