ประสบการณ์การเรียนรู้ 7
การระบุหลักคำสอนและหลักธรรม
สาระโดยสังเขป
ประสบการณ์การเรียนรู้นี้ครอบคลุมแนวคิดต่อไปนี้
-
การระบุหลักคำสอนและหลักธรรมที่บอกชัดเจน
-
การระบุหลักคำสอนและหลักธรรมที่บอกเป็นนัย
-
การเขียนข้อความของหลักธรรม
แนวคิดหลัก
รูปแบบการเรียนรู้ที่แนะนำในประสบการณ์การเรียนรู้ 5 ให้หลักพื้นฐานที่ช่วยปลูกฝังพระกิตติคุณในความคิดและในใจเรา ในประสบการณ์การเรียนรู้นี้ เราจะพูดถึงการระบุหลักคำสอนและหลักธรรม
จุดประสงค์ของประสบการณ์การเรียนรู้นี้คือเพื่อแนะนำโดยสังเขปให้รู้จักแง่มุมต่างๆ ของรูปแบบการเรียนรู้ ขณะที่ท่านรับใช้เป็นครูเซมินารีหรือสถาบัน ท่านจะมีโอกาสอีกมากมายให้เรียนรู้และฝึกทักษะเหล่านี้
การระบุหลักคำสอนและหลักธรรม
-
ในอุปมาเรื่องเพชรพลอย เยาวชนหญิงคนหนึ่งฝันว่ากำลังค้นหาเพชรพลอยที่มีค่ามาก
-
ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์เราสามารถค้นพบเพชรพลอยจากพระคัมภีร์ที่จะเป็นพรแก่ชีวิตเรา
เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926-2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้
“พี่น้องทั้งหลาย พระคัมภีร์ให้เพชรของคำสอนมากมายแก่เรา และเมื่อแสงของพระวิญญาณกระทบเหลี่ยมมุมของเพชร เพชรจะระยิบระยับส่องทางซีเลสเชียลให้เราเดินตาม” (“ตามความปรารถนาของใจ [เรา],” เลียโฮนา, ม.ค. 1997, 22)
เพชรในทรายเป็นสัญลักษณ์ของหลักคำสอนที่จำเป็นและหลักธรรมสำคัญของความจริงที่อยู่ในพระคัมภีร์ตลอดจนถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์
หลักคำสอนและหลักธรรม: บอกชัดเจนหรือบอกเป็นนัย
ในอุปมาเรื่องเพชรพลอย เยาวชนหญิงพยายามค้นหาเพชรพลอยที่มีค่า ขณะค้นหา เธอพบใกล้พื้นทรายบ้างและพบอีกมากลึกลงไปในทราย ในทำนองเดียวกัน ท่านจะพบว่าหลักคำสอนและหลักธรรมบางข้อบอกไว้ชัดเจนในพระคัมภีร์และค้นพบได้ง่าย อีกหลายข้อไม่ได้บอกตรงๆ ในพระคัมภีร์แต่บอกเป็นนัย ท่านต้องใช้ความพยายามมากขึ้นจึงจะค้นพบ
หลักคำสอนและหลักธรรมที่บอกชัดเจน |
หลักคำสอนและหลักธรรมที่บอกเป็นนัย |
---|---|
หลักคำสอนและหลักธรรมที่บอกไว้ชัดเจนในเนื้อความพระคัมภีร์ |
หลักคำสอนและหลักธรรมที่ไม่ได้บอกตรงๆ ในพระคัมภีร์แต่บอกเป็นนัยไว้ในเนื้อความ |
เมื่อพูดถึงการระบุหลักคำสอนและหลักธรรม เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ (1928-2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้
“จงค้นหาหลักธรรม ค่อยๆ แยกหลักธรรมออกจากรายละเอียดที่ใช้อธิบายหลักธรรม” (“Acquiring Spiritual Knowledge,” Nov. 1993, 86)
ส่วนที่เหลือของประสบการณ์การเรียนรู้นี้จะช่วยท่านพัฒนาความสามารถในการระบุหลักคำสอนและหลักธรรมทั้งที่บอกชัดเจนและบอกเป็นนัยในการศึกษาของท่าน (ดู การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ: คู่มือสำหรับครูและผู้นำในเซมินารีและสถาบันศาสนา [2012], 27)
การระบุหลักคำสอนและหลักธรรม ที่บอกชัดเจน
หลักคำสอนและหลักธรรมที่บอกชัดเจน จะประกาศไว้ชัดในข้อความพระคัมภีร์
อ่านพระคัมภีร์ต่อไปนี้เพื่อดูตัวอย่างหลักคำสอนและหลักธรรมที่บอกชัดเจน (เน้นตัวหนา)
-
ยอห์น 15:10—“ถ้าพวกท่านประพฤติตามบัญญัติของเรา ท่านก็จะติดสนิทอยู่กับความรักของเราเหมือนอย่างที่เราประพฤติตามบัญญัติของพระบิดา และติดสนิทอยู่กับความรักของพระองค์”
-
ปฐมกาล 1:27—“ พระเจ้าจึงทรงสร้งมนุษย์ขึ้นตามพระฉายาของพระองค์ ตามพระฉายาของพระเจ้านั้น พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้น และทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง”
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:23—“แต่จงเรียนรู้ว่า คนที่ทำงานแห่งความชอบธรรมจะได้รับรางวัลของเขา, แม้สันติสุขในโลกนี้ และชีวิตนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง.”
-
ฮีลามัน 3:27— “ดังนั้นเราจึงเห็นว่า พระเจ้าทรงเมตตาทุกคนผู้ที่จะ, เรียกหาพระนามอันบริสุทธิ์ของพระองค์, ด้วยความจริงใจของใจพวกเขา.”
-
โยบ 36:5—“ดูเถิด พระเจ้าทรงอานุภาพ และมิได้ทรงดูหมิ่นผู้ใดเลย พระองค์ทรงอานุภาพในเรื่องกำลังแห่งความเข้าใจ”
การระบุหลักคำสอนและหลักธรรม ที่บอกเป็นนัย
-
ในอุปมาเรื่องเพชรพลอย เยาวชนหญิงไม่พอใจเพียงค้นหาเพชรพลอยใต้พื้นทรายเท่านั้น เธอเรียนรู้ว่าต้องขุดลึกลงไปในทรายและร่อนทรายอย่างระมัดระวังจึงจะค้นพบเพชรพลอยที่มีค่ามาก
-
ในทำนองเดียวกัน ขณะที่ท่านศึกษาพระคัมภีร์ ท่านสามารถฝึก “ขุด” และ “ร่อน” บริบทและเนื้อหาของพระคัมภีร์เพื่อหาหลักคำสอนและหลักธรรมที่บอกเป็นนัย สิ่งเหล่านี้มักจะเป็นการค้นพบครั้งสำคัญและมีค่ามากที่สุดในการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน การค้นหาหลักคำสอนและหลักธรรมที่บอกเป็นนัยต้องใช้เวลาและคิดให้ถ้วนถี่
แนวทางในการระบุหลักคำสอนและหลักธรรม ที่บอกเป็นนัย
หนังสือคู่มือ การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ ให้คำแนะนำต่อไปนี้เพื่อช่วยครูและนักเรียนระบุหลักคำสอนและหลักธรรมที่บอกเป็นนัย
-
มองหาความสัมพันธ์ของเหตุและผล
“หลักธรรมพระกิตติคุณชัดเจนขึ้นเมื่อวิเคราะห์การปฏิบัติ เจตคติ และพฤติกรรม [เหตุ] ของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มในเรื่องราวพระคัมภีร์และระบุพรหรือ [ผล] ที่ตามมาจากเหตุดังกล่าว” (การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ, 27)
“ขณะอ่าน มัทธิว 4:1-11ผมเริ่มให้ความสนใจกับการปฏิบัติของพระผู้ช่วยให้รอด การที่พระองค์ทรงอดพระกระยาหารและสวดอ้อนวอนเพื่อพยายาม ‘อยู่กับพระผู้เป็นเจ้า’ ผมเห็นต่อจากนั้นว่าพระองค์ทรงใช้พระคัมภีร์ขจัดการล่อลวงที่ปฏิปักษ์มุ่งไปที่พระองค์ การอดอาหาร การสวดอ้อนวอน และการใช้พระคัมภีร์ของพระองค์ (เหตุ) ทำให้มีพลังทางวิญญาณมากพอจะเอาชนะการล่อลวง (ผล) เมื่อผมค้นพบเรื่องนี้ ผมเขียนข้อความง่ายๆ ของหลักธรรมลงในสมุดบันทึกของผมว่า เมื่อเราอดอาหาร สวดอ้อนวอน และเข้าใจพระคัมภีร์ เราจะมีพลังทางวิญญาณมากขึ้นเพื่อเอาชนะการล่อลวง”
“ดิฉันพบหลักธรรมสำคัญที่บอกเป็นนัยไว้ใน 1 นีไฟ 18:3 นีไฟไป ‘ที่ภูเขาบ่อยครั้งและสวดอ้อนวอนพระเจ้าบ่อยครั้ง’ ด้วยเหตุนี้พระเจ้าจึงทรงแสดงสิ่งสำคัญแก่ท่าน ขณะตรึกตรองข้อความนี้ ดิฉันเขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ว่า ยิ่งดิฉันพยายามติดต่อกับพระเจ้าในการสวดอ้อนวอนส่วนตัวมากเพียงใด พระองค์จะยิ่งทรงเปิดเผยสิ่งสำคัญต่อดิฉันมากขึ้นเพียงนั้น
-
ถามคำถาม
หลักธรรมที่บอกเป็นนัยค้นพบได้โดยถามคำถามทำนองนี้
-
คำสอนหรือประเด็นของเรื่องคืออะไร
-
เหตุใดผู้เขียนจึงรวมเหตุการณ์หรือข้อความเหล่านี้ไว้ในนั้น
-
ผู้เขียนเจตนาจะให้เราเรียนรู้อะไร
-
ความจริงพื้นฐานที่สอนในข้อความนี้มีอะไรบ้าง
“ขณะอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 9 ซึ่งประกอบด้วยคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่ออลิเวอร์ คาวเดอรีผู้ไม่พยายามช่วยแปลพระคัมภีร์มอรมอน ผมถามว่า ‘คำสอนหรือประเด็นของเรื่องคืออะไร’ หลักธรรมที่บอกเป็นนัยเข้ามาในความคิดผม นั่นคือ การได้รับและรู้จักการเปิดเผยต้องอาศัยความพยายามในส่วนของเรา”
“ใน แอลมา 17-18 ดิฉันอ่านเรื่องแอมันรับใช้กษัตริย์ลาโมไนโดยไม่หวังรางวัลและกษัตริย์ลาโมไนประทับใจความซื่อสัตย์ของแอมัน ดิฉันพบตนเองกำลังสงสัยว่า ‘เหตุใดผู้เขียนจึงรวมรายละเอียดเหล่านี้ไว้ในสองบทนี้’ ในการตอบคำถามนี้ ดิฉันเขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้ในพระคัมภีร์ของดิฉัน เมื่อเรารับใช้ผู้อื่นอย่างซื่อสัตย์ เราจะช่วยเตรียมพวกเขาให้พร้อมรับความจริงของพระกิตติคุณได้”
-
-
บอกหลักคำสอนและหลักธรรมอย่างเรียบง่ายและชัดเจน
หนังสือคู่มือ การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ สอนว่า “การระบุ [หลักคำสอนและ] หลักธรรมที่บอกเป็นนัยรวมถึงการรับรู้ความจริงที่แสดงตัวอย่างไว้ในเรื่องราวพระคัมภีร์และกล่าวไว้อย่างกระชับชัดเจน” (การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ27) การเขียนข้อความที่ชัดเจนและสมบูรณ์ของหลักคำสอนและหลักธรรมช่วยให้เราประมวลความคิดและเข้าใจข่าวสารพระคัมภีร์ที่พระเจ้าทรงปรารถนาจะประทานแก่เรา
เอ็ลเดอร์บี. เอช. โรเบิร์ตส์ (1857-1933) แห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่า
“เพื่อเป็นที่รู้ ต้องมีการบอกความจริง ยิ่งบอกชัดเจนและสมบูรณ์เพียงใด โอกาสที่พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จะเป็นพยานต่อจิตวิญญาณมนุษย์ว่างานนี้เป็นความจริงยิ่งมีมากเพียงนั้น” (New Witnesses for God, 3 vols. [1909], 2:vii, อ้างใน เจมส์ อี. เฟาสท์, “What I Want My Son to Know before He Leaves on His Mission,” May 1996, 41)
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ (1928-2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเน้นว่า
“การจัดระเบียบความจริงที่เรารวบรวมไว้ให้เป็นข้อความที่เรียบง่ายของหลักธรรมนับเป็นความพยายามที่คุ้มค่ามาก” (“Acquiring Spiritual Knowledge,” Nov. 1993, 86)
เมื่อท่านทำตามที่เอ็ลเดอร์สก็อตต์แนะนำ—“จัดระเบียบความจริงที่ [ท่าน] รวบรวมไว้ให้เป็นข้อความที่เรียบง่ายของหลักธรรม”—ท่านจะพบว่าข้อความที่เป็นประโยชน์มากที่สุดของหลักคำสอนและหลักธรรมจะมีลักษณะบางอย่างดังนี้
-
เป็นข้อความที่สมบูรณ์
-
เรียบง่าย ชัดเจน และกระชับ
-
ความจริงที่ข้อความนั้นกล่าวถึงเป็นความจริงพื้นฐาน ไม่เปลี่ยนแปลง และไม่ตกยุค
-
ข้อความนั้นมักบ่งบอกการกระทำและผลที่เกี่ยวข้อง
-
ข้อความนั้นเกี่ยวโยงกับบุคคล
ท่านเห็นลักษณะใดบ้างในข้อความต่อไปนี้ของหลักคำสอนหรือหลักธรรม
-
ยิ่งฉันพยายามสื่อสารกับพระเจ้าในการสวดอ้อนวอนส่วนตัวมากเพียงใด พระองค์จะยิ่งทรงเปิดเผยสิ่งสำคัญต่อฉันมากเพียงนั้น
-
เมื่อฉันอดอาหาร สวดอ้อนวอน และเข้าใจพระคัมภีร์ ฉันจะมีพลังทางวิญญาณมากขึ้นเพื่อเอาชนะการล่อลวง
-
พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพราะบาปของฉัน
-
การได้รับและรู้จักการเปิดเผยเรียกร้องความพยายามในส่วนของฉัน
-
เมื่อฉันรับใช้ผู้อื่นอย่างซื่อสัตย์ ฉันจะช่วยเตรียมพวกเขาให้พร้อมรับความจริงของพระกิตติคุณได้
ดูวีดิทัศน์เรื่อง “การระบุหลักคำสอนและหลักธรรม” (7:09) มีอยู่ที่ LDS.org ในวีดิทัศน์เรื่องนี้ ครูสามคนพูดถึงการพยายามระบุหลักคำสอนและหลักธรรมใน ลูกา 5:1-11 โดยใช้แนวทางสามข้อดังที่สรุปไว้ข้างต้น
จดแนวคิดสองหรือสามข้อที่ท่านประทับใจจากวีดิทัศน์ลงในสมุดบันทึกการศึกษาหรืออีกที่หนึ่งที่ท่านสามารถเปิดอ่านและแบ่งปันกับหัวหน้าหรือกลุ่มนิเทศของท่านได้
ผลของการระบุหลักคำสอนและหลักธรรม
ดูวีดิทัศน์ “การระบุหลักคำสอนและหลักธรรม: ประจักษ์พยานของนักเรียน” (2:39) มีอยู่ที่ LDS.org ในวีดิทัศน์เรื่องนี้ นักเรียนเซมินารีและนักเรียนสถาบันหลายคนบอกผลของการฝึกระบุหลักคำสอนและหลักธรรมต่อการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา ขณะดูวีดิทัศน์ ให้ใคร่ครวญผลของทักษะดังกล่าวต่อการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านเองและต่อการสอนและการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นในห้องเรียนของท่าน
สรุปและการประยุกต์ใช้
หลักธรรมที่พึงจดจำ
-
จุดประสงค์หลักของพระคัมภีร์คือสอนหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์
-
หลักคำสอน ประกอบด้วยความจริงพื้นฐานที่ไม่เปลี่ยนแปลงของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์
-
หลักธรรม คือความจริงหรือกฎเกณฑ์อันยั่งยืนที่แต่ละบุคคลสามารถใช้นำทางพวกเขาในการตัดสินใจ
-
หลักคำสอนและหลักธรรมบางข้อบอกไว้ชัดเจนในเนื้อความพระคัมภีร์ อีกหลายข้อบอกเป็นนัยเท่านั้น
-
การระบุหลักคำสอนและหลักธรรมที่บอกเป็นนัยรวมถึงการบอกหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านั้นอย่างชัดเจนและกระชับ
-
การระบุหลักคำสอนและหลักธรรมในพระคัมภีร์ต้องใช้ความพยายามและการฝึกฝน
“คนๆ หนึ่งไม่สามารถศึกษาพระคัมภีร์อย่างซื่อสัตย์ได้โดยไม่เรียนรู้หลักธรรมพระกิตติคุณเพราะพระคัมภีร์เขียนไว้เพื่ออนุรักษ์หลักธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเรา” (มาเรียน จี. รอมนีย์, “The Message of the Old Testament” [การประชุมสัมมนาระบบการศึกษาของศาสนจักรเรื่องพันธสัญญาเดิม 17 ส.ค. 1979], 3, si.lds.org)
“ฉะนั้น เราจะทำอะไร”
เพื่อสรุปประสบการณ์การเรียนรู้นี้ ให้จดบางสิ่งที่ท่านจะทำโดยยึดหลักธรรมที่ท่านเรียนรู้วันนี้