2 โครินธ์ 8–9
การดูแลคนยากจน
พระเยซูคริสต์ทรงห่วงใยอย่างสุดซึ้งต่อบุตรธิดาทุกคนของพระบิดาบนสวรรค์และทรงเชื้อเชิญให้เราร่วมกับพระองค์ในการดูแลคนยากจนและคนขัดสน เปาโลเชื้อเชิญให้วิสุทธิชนชาวโครินธ์ทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยสละสมบัติของพวกเขาเพื่อดูแลคนยากจน บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์โดยแบ่งปันสิ่งที่ท่านมีให้คนตกทุกข์ได้ยาก
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
ความท้าทายอันยิ่งใหญ่
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวถึงความท้าทายอันยิ่งใหญ่ประการหนึ่ง ให้นึกถึงความท้าทายสองสามอย่างที่เติมลงในช่องว่างนี้ได้อย่างถูกต้องในคำพูดอ้างอิงต่อไปนี้
ตลอดประวัติศาสตร์ ____________ เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่หนักหนาสาหัสและแพร่หลายที่สุดของมนุษยชาติ โดยปกติเป็นความเสียหายทางกาย แต่ความเสียหายทางวิญญาณและทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นอาจยิ่งทำให้ทรุดหนักลงไปอีก
(เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “เราทั้งหลายไม่ได้เป็นขอทานหรอกหรือ?” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 40)
ความท้าทายที่เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์กล่าวถึงคือ “ความยากจน” ซึ่งเป็นสภาพของการมีเงิน สิ่งของ หรือการสนับสนุนเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย คำว่าความยากจนยังอาจหมายถึงการขาดสิ่งที่เราต้องการในหลายด้านของชีวิตเราด้วย รวมถึงด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม หรือวิญญาณ
-
คนที่มีน้อยกว่าที่คนอื่นมีประสบความท้าทายอะไรบ้าง?
-
ความท้าทายเหล่านี้อาจส่งผลต่อบางคนทางอารมณ์และทางวิญญาณ รวมทั้งทางร่างกายอย่างไร?
ขณะที่ท่านศึกษาวันนี้ จงใส่ใจความคิดและความรู้สึกที่พระบิดาบนสวรรค์อาจทรงส่งมายังท่านผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์เกี่ยวกับวิธีที่พระองค์จะทรงใช้ท่านให้ช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก
ดังที่บันทึกใน 2 โครินธ์ 8:1–8 อัครสาวกเปาโลเชื้อเชิญวิสุทธิชนชาวโครินธ์ให้ทำตามแบบอย่างของสมาชิกศาสนจักรในแคว้นมาซิโดเนียผู้ให้ด้วยใจเอื้อเฟื้อในการดูแลคนยากจน จากนั้นเขาบันทึกคำสอนสำคัญๆ มากมายเกี่ยวกับการดูแลคนยากจนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด
แบบอย่างของพระเยซูคริสต์
เปาโลแบ่งปันแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อกระตุ้นให้เราดูแลความต้องการของผู้อื่นจากความรักที่จริงใจ
อ่าน 2 โครินธ์ 8:9 โดยมองหาแบบอย่างที่ไม่เห็นแก่ตัวของพระเยซูคริสต์ในการดูแลเรา
-
ท่านคิดว่าเปาโลหมายความว่าอย่างไรเมื่อเขาเขียนว่าพระเยซูทรงยากจนเพื่อที่เราจะร่ำรวย?
ความจริงข้อหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้จากสาส์นของเปาโลคือ เมื่อเราเข้าใจทุกสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อเรา เราจะเต็มใจให้ผู้อื่นมากขึ้น
มีการสอนความสำคัญของการดูแลคนขัดสนตลอดทั้งพระคัมภีร์ รวมถึงในพระคัมภีร์มอรมอนด้วย อ่านคำสอนต่อไปนี้ของเปาโลพร้อมกับข้อพระคัมภีร์มอรมอนที่เกี่ยวข้อง โดยมองหาสิ่งที่ข้อเหล่านี้สอนเกี่ยวกับการดูแลผู้อื่น ท่านอาจเชื่อมโยงข้อเหล่านั้นเข้าด้วยกัน
-
ความปรารถนาที่จะให้: 2 โครินธ์ 8:12 ; โมไซยาห์ 4:24
-
ต้องให้เท่าใด: 2 โครินธ์ 9:6 ; แอลมา 1:30
-
เจตคติในการให้: 2 โครินธ์ 9:7 ; โมโรไน 7:6–8
-
ความสำนึกคุณต่อพระผู้เป็นเจ้า: 2 โครินธ์ 9:11–15 ; โมไซยาห์ 4:19–21
-
ท่านคิดว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้เราทำอะไรในปัจจุบันเพื่อดำเนินชีวิตตามสิ่งที่สอนไว้ในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้แต่ละข้อ?
เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าความเอื้อเฟื้อของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์เปลี่ยนเราได้อย่างไร
เราแต่ละคนได้รับของขวัญที่เราจัดหาให้ตนเองไม่ได้ ของขวัญจากพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรที่รักของพระองค์ รวมถึงการไถ่ผ่านการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราได้รับชีวิตในโลกนี้ เราจะได้รับชีวิตทางร่างกายในโลกหน้า พร้อมกับความรอดนิรันดร์และความสูงส่ง—หากเราเลือกจะรับ—ทั้งหมดนี้เป็นเพราะพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์
ทุกครั้งที่เราใช้ ได้ประโยชน์ หรือแม้กระทั่งนึกถึงของขวัญเหล่านี้ เราควรพิจารณาถึงการเสียสละ ความโอบอ้อมอารี และความการุณย์ของผู้ให้ ความเคารพต่อผู้ให้ส่งผลให้เราทำมากกว่าแค่สำนึกคุณ การใคร่ครวญถึงของขวัญของพระองค์สามารถเปลี่ยนแปลงเราและควรเปลี่ยนแปลงเรา
(เดล จี. เรนลันด์, “พิจารณาพระคุณความดีและความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 42)
-
การใคร่ครวญถึงความโอบอ้อมอารีของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์จะเปลี่ยนเราได้อย่างไร?
การดูแลคนยากจนในยุคสมัยของเรา
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันพูดถึงสองวิธีในหลายๆ วิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้ศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระองค์เพื่อดูแลคนยากจนทั่วโลกในสมัยของเรา อ่านข้อความต่อไปนี้ หรือท่านอาจต้องการดู “พระบัญญัติข้อสำคัญข้อสอง” (รหัสเวลาที่ 6:15 ถึง 8:51) มีให้รับชมที่ ChurchofJesusChrist.org
องค์กรการกุศลวิสุทธิชนยุคสุดท้ายให้ความช่วยเหลือมากกว่า สองพันล้าน ดอลลาร์เพื่อช่วยคนขัดสนทั่วโลก ความช่วยเหลือนี้ถึงมือผู้รับโดยไม่คำนึงถึงศาสนา สัญชาติ เชื้อชาติ รสนิยมทางเพศ เพศ หรือความเห็นทางการเมือง
ไม่เพียงเท่านี้ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่เดือดร้อนในศาสนจักรของพระเจ้า เรารักและดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอดอาหาร [ดู อิสยาห์ 58:3–12 ] เรายอมหิวเพื่อช่วยเหลือคนหิวโหย เราไม่กินอาหารเดือนละหนึ่งวัน และบริจาคค่าอาหารวันนั้น (และมากกว่านั้น) เพื่อช่วยคนขัดสน
(รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “พระบัญญัติข้อสำคัญข้อสอง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 97–98)
-
อะไรที่โดดเด่นสำหรับท่านจากคำพูดของประธานเนลสัน?
-
ท่านจะอธิบายเรื่องการอดอาหารและเงินบริจาคอดอาหารให้คนที่ไม่คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้ว่าอย่างไร?
-
นอกเหนือจากการบริจาคเงินให้ศาสนจักร มีวิธีใดอีกบ้างที่เราสามารถช่วยพระเจ้าดูแลคนขัดสน? ใครเป็นแบบอย่างที่ดีของท่านสำหรับหลักธรรมข้อนี้?
พระผู้เป็นเจ้าน่าจะทรงประสงค์ให้ท่านทำอะไร?
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์.ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า เราต้องทูลขอการนำทางจากพระผู้เป็นเจ้าในการช่วยเหลือคนรอบข้าง
ข้าพเจ้าไม่รู้แน่ชัดว่าท่านแต่ละคนควรทำหน้าที่ของตนอย่างไรต่อผู้ที่ไม่ทำหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ตลอดเวลา แต่ข้าพเจ้าทราบว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทราบ พระองค์จะทรงช่วยท่านและนำทางท่านในการเป็นสานุศิษย์ที่มีการุณยธรรม หากท่านต้องการและสวดอ้อนวอน และหาวิธีรักษาพระบัญญัติที่พระองค์ประทานแก่เราครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างจริงจัง
(เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “เราทั้งหลายไม่ได้เป็นขอทานหรอกหรือ?,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 41)
วางแผนทำตามความคิดและความรู้สึกที่ท่านอาจได้รับวันนี้เพื่อช่วยคนรอบข้างท่าน ถ้าท่านยังไม่แน่ใจว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์ให้ท่านช่วยใครหรือจะช่วยบุคคลเหล่านั้นอย่างไร จงสวดอ้อนวอนขอการนำทางและมองหาโอกาสรับใช้คนรอบข้าง รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวท่านเอง พระผู้เป็นเจ้าจะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของท่านในวิธีและเวลาของพระองค์
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
เงินบริจาคให้ศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอดใช้เพื่อบรรเทาความยากจนในปัจจุบันอย่างไร?
เข้าไปที่เว็บไซต์ latterdaysaintcharities.org เพื่อเรียนรู้คำตอบของคำถามนี้และอื่นๆ
.
.
.
ฉันจะช่วยคนรอบข้างด้วยวิธีอื่นนอกเหนือจากการบริจาคเงินได้อย่างไร?
ซิสเตอร์บอนนี่ แอล. ออสคาร์สัน อดีตประธานเยาวชนหญิงสามัญได้แบ่งปันแนวคิดอย่างหนึ่งดังนี้:
เพื่อนรุ่นเยาว์ทั้งหลาย ดิฉันรับรองได้ว่าทุกการประชุมของศาสนจักรที่ท่านเข้าร่วมมักจะมีคนเหงา คนที่กำลังประสบความท้าทายและต้องการเพื่อน หรือคนที่รู้สึกว่าเขาไม่เข้าพวก ท่านมีสิ่งสำคัญบางอย่างให้เอื้อประโยชน์ต่อทุกการประชุมหรือทุกกิจกรรม และพระเจ้าทรงปรารถนาให้ท่านมองหาเพื่อนวัยเดียวกันแล้วดูแลช่วยเหลือดังที่พระองค์จะทรงทำ
(บอนนี่ แอล. ออสคาร์สัน, “ความต้องการตรงหน้าเรา,” เลียโฮนา พ.ย. 2017, 26)
ท่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (1805–1844) อธิบายว่า:
[สมาชิกของศาสนจักร] ต้องเลี้ยงดูคนหิวโหย ให้เสื้อผ้าคนเปลือยเปล่า จัดหาให้หญิงม่าย เช็ดน้ำตาเด็กกำพร้า ปลอบโยนคนทุกข์ใจ ไม่ว่าในศาสนจักรนี้ หรือในศาสนจักรอื่น หรือคนไม่มีศาสนา ทุกที่ที่เขาพบคนเหล่านั้น
(ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 459)