ฮีบรู 2–4
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถช่วยเราได้ในเวลาที่เราต้องการ
ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่ามีใครอื่นเข้าใจสิ่งที่ท่านกำลังประสบในชีวิตอย่างแท้จริงหรือไม่? หนังสือฮีบรูสอนว่าพระเยซูคริสต์เสด็จจากบัลลังก์บนสวรรค์ของพระองค์เพื่อดำเนินพระชนม์ชีพในฐานะมนุษย์คนหนึ่งบนแผ่นดินโลกและทรงทำการชดใช้อันไม่มีขอบเขตเพื่อเรา ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงรู้จักเราอย่างสมบูรณ์แบบและรู้จักวิธีช่วยเหลือเราอย่างสมบูรณ์แบบ บทเรียนนี้สามารถเพิ่มความมั่นใจให้กับท่านว่าพระเยซูคริสต์จะทรงช่วยท่านได้ในเวลาที่ต้องการ
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
พระผู้ช่วยให้รอดเข้าพระทัย
อ่าน ร้องเพลง หรือฟังเพลงสวด “หาสันติได้ที่ใด?” (เพลงสวด, บทที่ 54)
ท่านยังสามารถดูวีดิทัศน์ “หาสันติได้ที่ใด” (4:03) ที่ ChurchofJesusChrist.org
-
ท่านจะอธิบายข่าวสารของบทเพลงนี้ด้วยคำพูดของท่านเองว่าอย่างไร?
ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน ให้เขียนเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ในชีวิตของท่าน
ในสาส์นของเปาโลถึงฮีบรู เปาโลสอนวิสุทธิชนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และวิธีที่พระองค์จะประทานความเข้มแข็งให้แก่วิสุทธิชนในสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญ (ดู ฮีบรู 4:16) ขณะที่ท่านศึกษา ให้มองหาว่าพระเยซูคริสต์จะทรงช่วยท่านได้อย่างไร
ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน ให้สร้างแผนภูมิดังต่อไปนี้:
เหตุใดพระเยซูคริสต์จึงสามารถเข้าพระทัยฉัน? |
พรใดที่พระเยซูคริสต์ประทานแก่ฉันเพราะพระองค์เข้าพระทัยฉัน? |
อ่าน ฮีบรู 2:9–10, 13–18 , และ 4:12–16 เพื่อมองหาคำตอบสำหรับคำถามในแผนภูมิ เขียนคำตอบไว้ใต้หัวข้อที่เหมาะสม พึงจำไว้ว่า ฮีบรู 2:9 และ 16 อ้างอิงถึงพระเยซูคริสต์ที่ทรงจากบัลลังก์บนสวรรค์ของพระองค์มาดำเนินพระชนม์ชีพในฐานะมนุษย์คนหนึ่งบนแผ่นดินโลก
-
ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่ท่านรู้สึกว่าสามารถช่วยท่านหรือผู้อื่นได้?
-
เหตุใดจึงอาจเป็นการปลอบประโลมใจเมื่อทราบว่าพระเยซูคริสต์ทรงสามารถเล็งเห็น “ความคิดและความมุ่งหมายในใจ”? ( ฮีบรู 4:12)
-
ท่านเข้าใจอะไรจากวลี “พระองค์จึงทรงสามารถช่วยผู้ที่ถูกทดลองได้”? ( ฮีบรู 2:18) โปรดสังเกตว่าคำที่แปลว่า “ถูกทดลอง” ก็สามารถแปลว่า “ถูกทดสอบ” หรือ “อยู่ภายใต้การทดลอง” ได้  
ความจริงที่ท่านอาจค้นพบคือ เพราะพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์และทรงถูกล่อลวงในทุกสิ่ง พระองค์จึงเข้าพระทัยเราและทรงสามารถช่วยเราในยามต้องการ ศาสดาพยากรณ์แอลมาในพระคัมภีร์มอร์มอนสอนความจริงนี้เช่นกัน ท่านอาจอ้างโยงข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน แอลมา 7:11–13 กับ ฮีบรู 2:18
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายถึงวิธีทำความเข้าใจในความสามารถของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะเข้าพระทัยและช่วยเหลือท่าน ท่านอาจดูวีดิทัศน์ “ทนแบกสัมภาระได้โดยง่าย” (16:23) มีให้รับชมได้ใน ChurchofJesusChrist.org จากรหัสเวลา 12:15 จนถึง 13:21 หรืออ่านคำกล่าวด้านล่าง
ไม่มีความเจ็บปวดทางกาย บาดแผลทางวิญญาณ ความรวดร้าวของจิตวิญญาณหรือความปวดใจ ทุพพลภาพหรือความอ่อนแอที่ท่านหรือข้าพเจ้าเคยเผชิญในความเป็นมรรตัยที่พระผู้ช่วยให้รอดไม่ทรงประสบมาก่อน ในชั่วขณะของความอ่อนแอเราอาจร้องว่า “ไม่มีใครรู้ว่าเป็นอย่างไร ไม่มีใครเข้าใจ” แต่พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าทรงทราบและเข้าพระทัยดี เพราะทรงรู้สึกและทรงแบกภาระของเราแต่ละคน และเพราะการพลีบูชาอันไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ของพระองค์ (ดู แอลมา 34:14) พระองค์จึงเข้าพระทัยความรู้สึกได้อย่างถ่องแท้และทรงยื่นพระพาหุแห่งความเมตตามาให้เราได้ พระองค์ทรงเอื้อมมาสัมผัส ช่วยเหลือ เยียวยา และเพิ่มพละกำลังให้เราได้มากกว่าที่เราจะทำได้ ทรงช่วยให้เราทำสิ่งที่เราไม่อาจทำได้โดยอาศัยเพียงพลังของเราเอง
(เดวิด เอ. เบดนาร์, “ทนแบกสัมภาระได้โดยง่าย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 90)
-
แอลมา 7:11–13 หรือข้อความของเอ็ลเดอร์เบดนาร์ช่วยให้ท่านเข้าใจพระปรีชาสามารถของพระผู้ช่วยให้รอดในการช่วยเหลือท่านได้ดีขึ้นอย่างไร?
ให้นึกถึงตัวอย่างจากชีวิตของท่าน ชีวิตของผู้อื่น หรือพระคัมภีร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่สมบูรณ์แบบของพระผู้ช่วยให้รอดที่ทรงมีต่อประสบการณ์และความต้องการของเรา ถ้าท่านต้องการความช่วยเหลือในการคิดตัวอย่าง ให้ศึกษา ยอห์น 11:21–27, 32–36 ; โมไซยาห์ 24:11–15 ; หรือ หลักคำสอนและพันธสัญญา 122:5–9
-
ตัวอย่างนี้จะช่วยให้ท่านพึ่งพาพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?
เข้ามาถึงพระที่นั่งแห่งพระคุณด้วยความกล้า
อ่าน ฮีบรู 4:16 และค้นหาสิ่งที่เปาโลเชื้อเชิญให้เราทำเพื่อรับความช่วยเหลือที่เราต้องการ ท่านอาจทำเครื่องหมายสิ่งที่ท่านพบ
 
-
ท่านคิดว่าการ “เข้ามาถึงพระที่นั่งแห่งพระคุณด้วยความกล้า” หมายความว่าอย่างไร?
-
เราควรมั่นใจในเรื่องใดเมื่อเข้าไปหาพระผู้เป็นเจ้า?
-
การ “เข้ามาถึงพระที่นั่งแห่งพระคุณด้วยความกล้า” อาจดูเป็นเช่นไรและรู้สึกอย่างไร?
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
พระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระองค์คืออะไร?
เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:
แบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนและการพลีพระชนม์ชีพเพื่อมนุษยชาติเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ พระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ผู้ทรงเป็นสมาชิกในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ เต็มพระทัยเสด็จมายังแผ่นดินโลกเป็นทารกผู้ต่ำต้อยและทรงเริ่มการดำรงอยู่ของพระองค์โดยทรงสอนและทรงรักษาพี่น้องชายหญิงของพระองค์ และในที่สุดทรงทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวดจนสุดพรรณนาในเกทเสมนีและบนกางเขนเพื่อทำให้การชดใช้ของพระองค์สมบูรณ์ การกระทำอันเกิดจากความรักและความอ่อนน้อมถ่อมตนในส่วนของพระคริสต์เป็นที่รู้กันว่าเป็นพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระองค์ พระองค์ทรงทำสิ่งนี้เพื่อชายหญิงทุกคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างหรือจะทรงสร้างขึ้น
(เควนทิน แอล. คุก, “นิรันดรทุกวัน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 52)
ฮีบรู 4:15 พระเยซูทรง “เคยถูกทดลองใจเหมือนเราทุกอย่าง” จริงหรือ?
ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ (1907–1995) สอนว่า:
สิ่งสำคัญคือต้องจดจำว่าพระเยซูทรงทำบาปได้ พระองค์จะทรงยอมจำนนก็ได้ พระองค์จะทรงทำให้แผนแห่งชีวิตและความรอดล้มเหลวได้ แต่พระองค์ไม่ทรงทำ หากไม่เปิดโอกาสให้พระองค์ทรงยอมต่อการชักจูงของซาตาน คงจะไม่มีการทดสอบที่แท้จริง และไม่มีชัยชนะแท้จริงเกิดขึ้น ถ้าพระองค์ไม่ทรงมีความสามารถในการทำบาป พระองค์จะไม่ทรงมีสิทธิ์เสรีของพระองค์อย่างแท้จริง พระองค์คือผู้เสด็จมาปกป้องและทำให้มนุษย์มีสิทธิ์เสรี พระองค์ต้องรักษาสมรรถภาพและความสามารถในการทำบาปหากพระองค์ทรงประสงค์จะปกป้องสิทธิ์เสรีของมนุษย์ ดังที่เปาโลเขียนไว้ว่า “ถึงแม้ว่าพระองค์เป็นพระบุตร พระองค์ก็ทรงเรียนรู้ที่จะเชื่อฟังโดยการทนทุกข์ต่างๆ” ( ฮีบรู 5:8) และพระองค์ “ทรงเคยถูกทดลองใจเหมือนเราทุกอย่าง ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังปราศจากบาป” ( ฮีบรู 4:15) พระองค์ทรงดีพร้อมและปราศจากบาป ไม่ใช่เพราะพระองค์ต้องเป็น แต่เพราะพระองค์ตั้งพระทัยและแสดงให้เห็นชัดเจนว่าทรงต้องการเป็นเช่นนั้น
(ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, “The Temptations of Christ,” Ensign, Nov. 1976, 19)
ฮีบรู 4:16 อะไรคือนัยสำคัญเกี่ยวกับ “พระที่นั่งแห่งพระคุณ”?
“ในหลายวัฒนธรรมโบราณ การก้าวเข้าสู่บัลลังก์ของกษัตริย์โดยไม่ได้รับเชิญนั้นคือการเสี่ยงชีวิตของคนๆ หนึ่ง แต่เมื่อได้รับคำเชิญจากกษัตริย์ ผู้นั้นจะสามารถเข้าไปหาและพูดอย่างมั่นใจได้ การเข้าหาพระผู้เป็นเจ้า ‘ด้วยความกล้า’ หมายถึงความเชื่อมั่นว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ให้เราเข้าไปยังบัลลังก์ของพระองค์ และเราจะได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์” (New Testament Student Manual [2018], 477)
เพื่ออ้างอิงถึงพระกรุณาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเสนอให้เรา เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์ ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้:
แน่นอนว่าสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าสำราญพระทัยมากที่สุดเกี่ยวกับการเป็นพระผู้เป็นเจ้าคือความยินดีที่ได้แสดงพระเมตตา โดยเฉพาะต่อผู้ที่ไม่คาดหวังจะได้รับหรือมักจะรู้สึกว่าตนไม่คู่ควร
(เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “คนงานในสวนองุ่น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 33)