ยากอบ 3
คำพูดที่เราเอ่ย
คำพูดที่เราเอ่ยมีพลัง ท่านสามารถนึกถึงประสบการณ์ในชีวิตของท่านในจุดที่ท่านรู้สึกได้ถึงพลังของคำพูดทั้งในแง่ดีหรือไม่ดีได้หรือไม่? ในสาส์นของยากอบ เขาได้สอนถึงความสำคัญของการควบคุมคำพูดของเรา บทเรียนนี้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้ท่านประเมินคำพูดที่ท่านพูดและวิธีการที่คำพูดของท่านจะส่งผลกระทบต่อความพยายามของท่านในการเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
พลังของคำพูด
ดูที่รูปภาพด้านล่างและจินตนาการถึงการสนทนาที่บุคคลนั้นๆ อาจกำลังสนทนาอยู่ พิจารณาถึงผลกระทบจากคำพูดที่เราได้ยินและใช้
-
สิ่งใดคือสิ่งล่าสุดที่ท่านจำได้ว่ามีคนพูดกับท่านซึ่งช่วยเหลือหรือทำร้ายท่าน?
-
สิ่งใดคือสิ่งล่าสุดที่ท่านกล่าวกับผู้อื่นที่เสริมสร้างความเข้มแข็งหรือให้กำลังใจพวกเขา?
พิจารณาว่าท่านได้พูดอะไรหรือไม่เมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อบางคน ขณะที่ท่านศึกษาคำสอนของยากอบ ให้มองหาความจริงที่จะช่วยให้ท่านเข้าใจพลังของคำพูดได้ดีขึ้น ใส่ใจต่อความรู้สึก ความคิด และความประทับใจที่กระตุ้นให้ท่านพูดเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น
ลิ้นเป็นเสมือนดั่ง …
ยากอบได้เน้นย้ำถึงพลังของคำพูดที่เราได้ยินและพูดและเปรียบเทียบลิ้นกับสิ่งต่างๆ มากมาย อ่าน ยากอบ 3:2–12 แล้วค้นหาว่ายากอบเปรียบเทียบลิ้นกับสิ่งใดบ้าง วาดรูปภาพการเปรียบเทียบของยากอบหนึ่งหรือสองประการด้วยรูปแบบที่เรียบง่ายในสมดุบันทึกการศึกษาของท่าน แล้วไตร่ตรองว่าคำพูดของเราเหมือนกับสิ่งที่ท่านกำลังวาดอยู่ได้อย่างไร
อ่านรายการต่อไปนี้เพื่อดูว่าท่านได้ระบุการเปรียบเทียบเดียวกันหรือไม่
-
บังเหียนใส่ปากม้า ยากอบ 3:2–3, 5 บังเหียนใส่ปากม้า (ดูข้อ 3) เป็นเหล็กชิ้นเล็กใส่ไว้ในปากม้าเชื่อมกับบังเหียน ทำให้คนขี่ม้าบังคับทิศทางม้าได้
-
หางเสือ ยากอบ 3:4–5 หางเสือ (ดูข้อ 4) ควบคุมทิศทางของท้ายเรือ ซึ่งจะทำหน้าที่แล่นหรือเลี้ยวเรือ
-
ไฟ ยากอบ 3:5–6  
-
สัตว์ที่ไม่เชื่อง ยากอบ 3:7–8
-
พิษร้าย ยากอบ 3:8
-
บ่อน้ำพุและต้นมะเดื่อ ยากอบ 3:10–12
-
การเปรียบเทียบเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจพลังของคำพูดที่เราได้ยินและพูดได้ดียิ่งขึ้นอย่างไร?
-
มีการเปรียบเทียบอื่นๆ ที่ท่านอาจเพิ่มเพื่ออธิบายผลกระทบของคำพูดที่เราพูดไหม?
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองได้แบ่งปันเรื่องราวต่อไปนี้เกี่ยวกับคำสอนอันทรงพลังของยากอบ:
เห็นได้ชัดว่ายากอบไม่ได้หมายความว่าลิ้นของเราจะบาปหนา ตลอดเวลา หรือว่า ทุกอย่าง ที่เราพูดจะ “เต็มไปด้วยพิษร้ายถึงตาย” แต่ความหมายที่ชัดเจนคืออย่างน้อยก็มีบางอย่างที่เราพูดซึ่งอาจบ่อนทำลาย หรือถึงขนาดมีพิษร้ายแรงมาก—และนั่นเป็นข้อกล่าวหาที่น่าหวาดกลัวสำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย! เสียงที่แสดงประจักษ์พยานอย่างจริงใจ กล่าวคำสวดอ้อนวอนอย่างแรงกล้า และร้องเพลงสวดแห่งไซอัน อาจเป็น เสียงเดียวกับที่ดุด่าว่ากล่าวและวิพากษ์วิจารณ์ ก่อความอึดอัดดูหมิ่น ทำให้เจ็บปวดและทำลายวิญญาณของตนเองและผู้อื่นในการกระทำเช่นนั้น …
… ขอให้เราพยายามเป็นบุรุษและสตรีที่ “ดีพร้อม“ อย่างน้อยที่สุดในหนทางหนึ่งตั้งแต่บัดนี้—โดยไม่ทำให้ขุ่นเคืองในคำพูด หรือถ้าจะกล่าวอย่างสร้างสรรค์ โดยการพูดด้วยลิ้นใหม่ ลิ้นของเทพ คำพูดของเราเหมือนกับการกระทำของเรา ควรเปี่ยมด้วยศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล … อันจำเป็นอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันนี้ ด้วยคำพูดที่กล่าวภายใต้อิทธิพลของพระวิญญาณน้ำตาสามารถเหือดแห้งไป ใจหายเจ็บ ชีวิตยกขึ้นสู่ความสูงส่ง ความหวังกลับคืนมา ความมั่นใจยังคงอยู่
(เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ลิ้นของเทพ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 16, 20)
-
ท่านได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเปรียบเทียบของยากอบและคำกล่าวของเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์?
ความจริงข้อหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้ก็คือ ผู้ติดตามของพระผู้เป็นเจ้ามุ่งมั่นที่จะใช้ภาษาของตนเพื่อจุดประสงค์ที่ชอบธรรม ไม่ใช่เพื่อเผยแพร่ความชั่วร้าย
พิจารณาชั่วครู่ว่าท่านเคยเห็นภาษาที่ใช้เพื่อความดีและความชั่วในสถานการณ์ต่อไปนี้อย่างไร:
-
ในการส่งข้อความหรือโซเชียลมีเดีย
-
ที่โบสถ์ในวันอาทิตย์
-
ที่โรงเรียนกับเพื่อนๆ ของท่าน
-
ในทีมหรือในสโมสร
-
ที่บ้านกับครอบครัวของท่าน
-
ประสบการณ์ใดที่ท่านเคยได้รับซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลอันทรงพลังของคำพูดที่อาจมีต่อผู้คน ทั้งในแง่ดีหรือชั่ว?
พระเยซูคริสต์ทรงเป็น “คนดีพร้อม” ( ยากอบ 3:2) และตัวอย่างของเราในทุกสิ่ง รวมถึงถ้อยพระคำที่พระองค์ตรัสด้วย นึกถึงสิ่งที่ท่านรู้เกี่ยวกับพระองค์ ลองจินตนาการดูว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงใช้ถ้อยคำของพระองค์อย่างไรหากพระองค์อยู่ในสถานการณ์ที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้
-
ความแตกต่างใดที่ท่านอาจสังเกตเห็นระหว่างจินตนาการของท่านถึงวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงใช้ถ้อยคำ และสิ่งที่ท่านเห็นและได้ยินโดยทั่วไปในสถานการณ์เหล่านี้ในยุคปัจจุบัน?
ภาษาที่เราได้ยินและใช้
พระเจ้าทรงสอนเราถึงสิ่งที่เราควรและไม่ควรพูดผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์
ไตร่ตรองการสื่อสารของท่าน (ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม: การส่งข้อความ สื่อสังคมออนไลน์ การพูดกับผู้อื่น และอื่นๆ) ขณะที่ท่านอ่านข้อความ 10 ข้อต่อไปนี้ที่ปรับมาจาก เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ([จุลสาร, 2011], 20–21) ประเมินภาษาของท่านโดยใช้ระดับคะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 5 โดย 1 หมายถึง “ฉันต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก” และ 5 หมายถึง “ฉันทำได้ดีมาก”
1. ฉันพยายามใช้ภาษาที่สะอาดและชาญฉลาด
2. ฉันใช้ภาษาที่ให้กำลังใจ สนับสนุน และชื่นชม
3. ฉันพูดถึงผู้อื่นในแง่ดีและมีเมตตา
4. ฉันไม่ดูถูกผู้อื่นหรือทำให้ผู้อื่นรู้สึกแย่ แม้แต่จะเป็นมุกตลกก็ตาม
5. ฉันพยายามหลีกเลี่ยงการนินทาทุกรูปแบบและหลีกเลี่ยงการพูดขณะโกรธ
6. เมื่อถูกล่อล่วงให้พูดสิ่งที่รุนแรงหรือเจ็บใจ ฉันก็ไม่พูดมันออกมา
7. ฉันออกพระนามพระผู้เป็นเจ้าและพระเยซูคริสต์ด้วยความคารวะและความเคารพเสมอ
8. ฉันกล่าวถึงพระบิดาบนสวรรค์ด้วยภาษาที่มีความคารวะและความเคารพ
9.ฉันไม่ใช้ภาษาหรือท่าทางที่ลบหลู่ ต่ำช้าหรือหยาบคาย
10.ฉันไม่เล่าเรื่องตลกหรือเรื่องราวเกี่ยวกับการกระทำที่ผิดศีลธรรม
คิดถึงภาษาที่ท่านเลือกใช้และไตร่ตรองว่าท่านสามารถทำสิ่งใดได้ดีขึ้น
-
อะไรคือหนึ่งหรือสองสิ่งที่จะช่วยให้ท่านเลือกใช้คำที่ท่านพูดและได้ยินอย่างระมัดระวังมากขึ้น?
-
ท่านอาจต้องการปรับปรุงในสถานการณ์ใดบ้าง?
-
กลยุทธ์ใดที่อาจช่วยได้?
-
ความพยายามของท่านจะช่วยให้ท่านเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นอย่างไร?
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
คำพูดของเราสะท้อนให้เห็นว่าเราเป็นใครในฐานะปัจเจกบุคคลอย่างไร?
เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต เอส. วูดแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนเรื่องต่อไปนี้:
คำพูดและการกระทำภายนอกของเราใช่ว่าจะไม่ส่งผลอะไรเลย เพราะทั้งสองสิ่งจะสะท้อนว่าเราเป็นใครและเราจะเป็นอะไร …
ถ้อยคำและอากัปกิริยาของเรา ไม่เพียงเผยให้เห็นธาตุแท้ในตัวเราเท่านั้น แต่จะหล่อหลอมความเป็นตัวเรา หล่อหลอมคนที่อยู่รอบข้างเรา และในที่สุดสังคมทั้งหมดของเรา ทุกวันเราแต่ละคนเข้าไปมีส่วนในการบดบังความสว่างหรือขับไล่ความมืดออกไป เราได้รับเรียกให้เชื้อเชิญความสว่างและเป็นความสว่างเพื่อชำระตัวเราให้บริสุทธิ์และสร้างสรรค์ผู้อื่น …
เมื่อเราพูดและทำ เราควรถามว่าคำพูดและการกระทำของเรามีแนวโน้มที่จะอัญเชิญอำนาจของสวรรค์มาสู่ชีวิตของเราและเชื้อเชิญทุกคนให้มาสู่พระคริสต์หรือไม่ เราต้องปฏิบัติกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยความคารวะ เราจำเป็นต้องกำจัดความหยาบโลนและการลามก ความรุนแรงและการข่มขู่ ความเสื่อมทรามและความโป้ปดมดเท็จให้หมดไปจากการสนทนาของเรา อัครสาวกเปโตรเขียนไว้ “แต่พระองค์ผู้ทรงเรียกพวกท่านนั้นบริสุทธิ์อย่างไร พวกท่านเองก็จงเป็นคนบริสุทธิ์ในชีวิตทุกด้านอย่างนั้น” [ 1 เปโตร 1:15 ] คำว่าชีวิตทุกด้านในข้อนี้ไม่ได้หมายถึงคำพูดเท่านั้น แต่หมายถึงการกระทำทั้งสิ้นของเราด้วย
(โรเบิร์ต เอส. วูด, “ลิ้นของเทพ,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 102–104)
เราจะสามารถเปลี่ยนภาษาที่เราใช้และฟังในเชิงบวกได้อย่างไร?