มัทธิว 13:3–8, 18–23
อุปมาเรื่องผู้หว่านพืช
พระเยซูทรงสอนอุปมาเกี่ยวกับชายที่หว่านเมล็ดพืช เมล็ดพืชเหล่านี้ตกลงบนพื้นดินที่ต่างกันซึ่งส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่ต่างกัน ในทำนองเดียวกันผู้ที่ได้ยินพระคำของพระผู้เป็นเจ้ารับพระคำในวิธีแตกต่างกัน บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านเตรียมใจรับและบำรุงเลี้ยงพระคำของพระผู้เป็นเจ้า
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
เตรียมตัวให้พร้อมรับฟังพระคำของพระผู้เป็นเจ้า
ใช้เวลาสักครู่เพื่อประเมินว่าท่านเต็มใจรับพระคำของพระผู้เป็นเจ้าเพียงใด ใช้มาตรวัดนี้กับแต่ละข้อความต่อไปนี้
บ่อยครั้ง—บางครั้ง—น้อยมาก
ฉันศึกษาพระคัมภีร์โดยมีเจตนาจะเรียนรู้และเติบโต
ฉันพยายามสังเกตอิทธิพลของพระวิญญาณในชีวิตฉันและทำตามคำแนะนำที่ได้รับ
ฉันฟังและเชื่อฟังคำแนะนำที่พระเจ้าประทานผ่านบรรดาศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกของพระองค์
ฉันพยายามเสริมสร้างประจักษ์พยานส่วนตัวของฉันเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์
เมื่อท่านตรวจสอบเจตคติของท่านเกี่ยวกับพระคำของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ท่านพร้อมจะศึกษาอุปมาเรื่องผู้หว่านพืช ในอุปมานี้พระเจ้าทรงสรุปโดยสังเขปถึงปัญหาบางอย่างซึ่งอาจกีดกันไม่ให้เมล็ดพืชเติบโต งอกราก และออกผล เช่นเดียวกับอุปมาทั้งหมดของพระองค์ พระเจ้าทรงใช้องค์ประกอบที่คุ้นเคยในการสอนบทเรียนทางวิญญาณ
ใช้รูปแบบสี่ขั้นตอนต่อไปนี้เพื่อศึกษาอุปมาเรื่องผู้หว่านพืช ไม่ว่าท่านตอบข้อความด้านบนอย่างไร บทเรียนนี้ออกแบบมาเพื่อช่วยท่านเตรียมใจรับพรที่พระเจ้าทรงต้องการมอบให้ท่าน ขณะท่านศึกษา หาวิธีรับประสบการณ์ที่มีความหมายกับพระคำของพระผู้เป็นเจ้า
-
ค้นหารายละเอียดที่สำคัญ
-
เปรียบเทียบทางวิญญาณ
-
ค้นพบบทเรียนอันมีคุณค่า
-
กำหนดการประยุกต์ใช้ส่วนตัว
ค้นหารายละเอียดที่สำคัญ
วิธีหนึ่งที่จะนึกภาพรายละเอียดที่สำคัญคือการวาดภาพแต่ละส่วนของอุปมา แบ่งหน้ากระดาษในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านออกเป็นสี่ส่วน อ่านข้อพระคัมภีร์และวาดภาพอย่างเรียบง่ายถึงสิ่งที่อธิบายไว้
เปรียบเทียบทางวิญญาณ
อ่านคำอธิบายของพระเยซูถึงคำอุปมาในข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ เขียนการเปรียบเทียบใดก็ตามที่พระองค์ทรงทำถัดจากภาพวาดของท่าน
ค้นพบบทเรียนอันมีคุณค่า
เพื่อค้นพบบทเรียนอันมีคุณค่า การถามคำถามที่ยอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์สอนท่านโดยส่วนตัวจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง นอกเหนือจากคำถามต่อไปนี้ให้นึกถึงคนอื่นที่ท่านอาจจะถามด้วย
-
พระผู้ช่วยให้รอดอาจทรงต้องการให้ฉันเรียนรู้อะไรจากอุปมานี้?
-
เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงต้องการให้ฉันรู้ว่าใจฉันเป็นอย่างไร?
ท่านอาจจินตนาการด้วยว่าอุปมานี้อาจประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น พยายามนึกภาพว่าการกระทำของบุคคลที่มีใจเหมือนพื้นหินหรือพื้นหนามอาจแตกต่างจากการกระทำของบุคคลที่มีใจเหมือนพื้นดินดี ขณะท่านนึกถึงการกระทำเหล่านี้ ท่านอาจเขียนการกระทำบางอย่างถัดจากภาพวาดแต่ละภาพของท่าน
-
ท่านอาจให้คำแนะนำใดกับใครบางคนที่มีใจแข็งกระด้าง เป็นดังหิน หรือมีหนาม?
กำหนดการประยุกต์ใช้ส่วนตัว
ให้นึกถึงสภาพหัวใจของท่านเองและดินประเภทใดในสี่ประเภทที่อธิบายตัวท่านได้ดีที่สุด หากสภาพทางวิญญาณของใจท่านในปัจจุบันไม่ใช่อย่างที่ท่านต้องการให้เป็น ให้ทราบว่าท่านสามารถเปลี่ยนแปลงได้
จากสิ่งที่ท่านเรียนรู้วันนี้ ใช้เวลาสักครู่ไตร่ตรองถึงสิ่งที่ท่านสามารถทำได้เพื่อปรับปรุงสภาพใจของท่าน
-
ท่านจะทำอะไรเพื่อเชื้อเชิญพระคำของพระผู้เป็นเจ้าเข้ามาในใจท่าน?
-
ท่านจะทำอะไรเพื่อปรับปรุงสภาพใจของท่าน?
-
ท่านจะขอให้พระเจ้าทรงช่วยท่านเอาชนะอุปสรรคอะไรบ้าง?
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวคำปราศรัยในการประชุมใหญ่สามัญเกี่ยวกับอุปมาเรื่องผู้หว่านพืช คำถามต่อไปนี้ได้รับคำตอบโดยใช้คำอธิบายของประธานโอ๊คส์
เมล็ดที่ “ตกตามหนทาง” คืออะไร? (ดู มัทธิว 13:4, 19)
เมล็ดที่ “ตกตามหนทาง” ( มาระโก 4:4) นั้นหยั่งรากไม่ถึงดินแห่งมรรตัยที่เมล็ดนั้นอาจเติบโตได้ เมล็ดเหล่านั้นเป็นดังคำสอนซึ่งตกสู่ใจที่แข็งกระด้างหรือใจที่ไม่พร้อม
(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “อุปมาเรื่องผู้หว่านพืช,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 32)
สิ่งใดที่อาจทำให้ใจของใครบางคนอยู่ใน “พื้นหิน”? (ดู มัทธิว 13:5, 20–21)
คนหนุ่มสาวทั้งหลาย … ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่เฉพาะเจาะจง หากกำลังมีการส่งผ่านศีลระลึกและท่านกำลังส่งข้อความหรือกระซิบกระซาบหรือเล่นวิดีโอเกมหรือทำอะไรอื่นที่ทำให้ตัวท่านปฏิเสธอาหารทางวิญญาณที่สำคัญ ท่านกำลังถอนรากทางวิญญาณของท่านและเริ่มขยับไปสู่พื้นหิน
(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “อุปมาเรื่องผู้หว่านพืช,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 33)
เราอาจตระหนักถึง “ต้นหนาม” ของชีวิตได้อย่างไร? (ดู มัทธิว 13:7, 22)
เรายอมแพ้ต่อ “ความสนุกสนานของชีวิตนี้” [ ลูกา 8:14 ] (1) เมื่อเราเสพติดนิสัยบางอย่าง ซึ่งทำลายของประทานแห่งสิทธิ์เสรีอันล้ำค่าของพระผู้เป็นเจ้า (2) เมื่อเราถูกล่อลวงโดยสิ่งที่ทำให้เขวเล็กน้อย ซึ่งดึงเราออกจากสิ่งที่สำคัญนิรันดร์ และ (3) เมื่อเราเชื่อว่าเรามีสิทธิ์ได้รับ ซึ่งทำลายการเติบโตส่วนตัวที่จำเป็นต่อการมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับปลายทางนิรันดร์ของเรา
เราถูกครอบงำด้วย “ความกังวล … ของชีวิตนี้” [ ลูกา 8:14 ] เมื่อเรากลัวอนาคตจนทำอะไรไม่ได้ซึ่งขัดขวางการมุ่งหน้าด้วยศรัทธาของเรา การวางใจในพระผู้เป็นเจ้าและคำสัญญาของพระองค์
(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “อุปมาเรื่องผู้หว่านพืช,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 34)
ต้องทำอย่างไรเพื่อให้ผลจาก “ดินดี”? (ดู มัทธิว 13:8, 23)
เรามีเมล็ดของพระวจนะพระกิตติคุณ ขึ้นอยู่กับเราแต่ละคนที่จะจัดลำดับความสำคัญและทำสิ่งที่จะทำให้ดินของเราดีและเกิดผลมากมาย เราต้องพยายามหยั่งรากอย่างมั่นคงและเปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (ดู โคโลสี 2:6–7) เราทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสนี้เกิดสัมฤทธิผลได้โดยการสวดอ้อนวอน โดยการอ่านพระคัมภีร์ โดยการรับใช้ และโดยการรับส่วนศีลระลึกเป็นประจำเพื่อจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเราตลอดเวลา
(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “อุปมาเรื่องผู้หว่านพืช,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 35)