วิวรณ์ 2–3 ภาค 1
“เรารู้จักความประพฤติของเจ้า”
พระเยซูคริสต์ทรงรู้จักเราแต่ละคน พระองค์ทรงทราบว่าเราทำสิ่งใดได้ดี และพระองค์ทรงทราบว่าเราจะทำอะไรได้ดีกว่านี้เพื่อให้เป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น ในข่าวสารที่แยกกันสำหรับศาสนจักรทั้งเจ็ดหน่วยในเอเชีย ยอห์นบันทึกพระสุรเสียงของพระเยซูคริสต์ซึ่งทรงรับรู้ถึงความประพฤติที่ดีของวิสุทธิชน และเตือนวิสุทธิชนเหล่านั้นถึงสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง บทเรียนนี้จะช่วยกระตุ้นให้ท่านได้ยินสุรเสียงของพระผู้ช่วยให้รอดที่ทรงรับรู้ความประพฤติที่ดีของท่านและให้การแก้ไขที่ท่านต้องการ
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
ฟังพระสุรเสียงของพระผู้ช่วยให้รอด
-
ท่านอาจมีความรู้สึกอย่างไรหากท่านได้ยินเสียงเคาะที่ประตูบ้านท่านและตระหนักว่านั่นคือพระผู้ช่วยให้รอด เพราะเหตุใด?
ในข่าวสารของเขาที่มีต่อสมาชิกศาสนจักรในกรุงเลาดีเซีย (ซึ่งมีการก่อตั้งศาสนจักรหนึ่งในเจ็ดหน่วยที่ยอห์นเขียนถึงในเอเชีย ดู วิวรณ์ 1:11) ยอห์นสรุปด้วยพระดำรัสเชิญจากพระเยซูคริสต์
อ่าน วิวรณ์ 3:20 และระบุพระดำรัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอด
-
ท่านคิดว่าความหมายที่เป็นสัญลักษณ์ของ วิวรณ์ 3:20 คืออะไร?
-
เหตุใดท่านจึงคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดจึงทรงเคาะประตูแทนที่จะเข้ามาเอง?
-
ท่านจะเปิดประตูให้พระเยซูคริสต์และแสวงหาที่จะได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ให้ชัดขึ้นได้อย่างไร?
-
ท่านทำสิ่งใดเมื่อไม่นานมานี้ในการได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์และเปิดประตู?
แม้ยอห์นจะเป็นผู้ส่งสาร แต่พระเยซูก็ทรงเป็นพระสุรเสียงของข่าวสารที่ส่งไปยังศาสนจักรทั้งเจ็ดหน่วย ขณะที่ท่านศึกษาข่าวสารในวิวรณ์ 2–3 ให้ฟังพระสุรเสียงของพระเยซูคริสต์ที่ตรัสกับท่าน พิจารณาวิธีที่ท่านสามารถเปิดประตูให้พระผู้ช่วยให้รอดเสด็จมาอยู่กับท่านและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ท่านขณะที่แต่ละข่าวสารจากข่าวสารทั้งเจ็ดนั้นไม่ซ้ำกัน แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง
ค้นหาและทำเครื่องหมายวลีที่ซ้ำกัน “เรารู้จักความประพฤติของเจ้า” ใน วิวรณ์ 2:2, 9, 13, 19 ; 3:1, 8, 15 ในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ ยอห์นบันทึกสุรเสียงของพระเยซูคริสต์ซึ่งแสดงถึงพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์ด้วย
-
เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเข้าใจว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรง “รู้จักความประพฤติ [ของท่าน]”?
สิ่งหนึ่งที่เราจะพบได้ในวิวรณ์ 2–3 คือ เพราะพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูทรงรู้จักพวกเราแต่ละคน พระองค์จะทรงสามารถรับรู้ถึงความประพฤติอันดีของเราและทรงเตือนให้เราทราบถึงความเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น มองหาหลักฐานของความจริงข้อนี้ขณะที่ท่านศึกษาคำแนะนำแก่หน่วยต่างๆ ของศาสนจักรเจ็ดหน่วย
คำแนะนำแก่หน่วยต่างๆ ของศาสนจักรเจ็ดหน่วย
ดูแผนที่ของหน่วยต่างๆ ของศาสนจักรเจ็ดหน่วยและเลือกศาสนจักรอย่างน้อยสองหน่วยเพื่อศึกษา มองหาความประพฤติดีๆ ที่พระเยซูคริสต์ทรงรับรู้ในศาสนจักรบางหน่วยและการแก้ไขที่พระองค์ประทานแก่ศาสนจักรแต่ละหน่วย
-
ชาวเอเฟซัส ( วิวรณ์ 2:1–7): พวกนิโคเลาส์ เป็นกลุ่มศาสนาที่อ้างว่าตนสามารถกระทำบาปทางเพศได้โดยไม่ถูกลงโทษเพราะพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าจะช่วยพวกเขาให้รอด
-
สเมอร์นา ( วิวรณ์ 2:8–11)
-
เปอร์กามัม ( วิวรณ์ 2:12–17): หลักคำสอนของบาลาอัม หมายถึงการละเมิดพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อสนองความต้องการทางโลกหรือเพื่อแสวงหาเกียรติยศของมนุษย์ (ดู 2 เปโตร 2:15) โปรดสังเกตนิยามของ พวกนิโคเลาส์ ด้านบน
-
ธิยาทิรา ( วิวรณ์ 2:18–29)
-
ซาร์ดิส ( วิวรณ์ 3:1–6)
-
ฟีลาเดลเฟีย ( วิวรณ์ 3:7–13): ข่าวสารนี้แสดงการรับรู้ถึงความประพฤติที่ดีเท่านั้น
-
เลาดีเซีย ( วิวรณ์ 3:14–22): ข่าวสารนี้เป็นเพียงการแก้ไขความประพฤติที่ไม่ดีพร้อมเท่านั้น  
-
พระเยซูคริสต์ทรงรับรู้ถึงความประพฤติที่ดีแบบใด? ท่านเคยเห็นความประพฤติที่ดีที่คล้ายคลึงกันนี้ในหมู่สมาชิกของศาสนจักรในยุคสมัยของเราหรือไม่?
-
การแก้ไขหรือคำแนะนำใดที่พระเยซูประทานแก่ศาสนจักรที่ท่านเลือก? เหตุใดสิ่งนี้จึงเป็นคำแนะนำที่ดีสำหรับศาสนจักรในยุคปัจจุบันเช่นกัน?
-
เหตุใดพระเยซูคริสต์จึงทรงเหมาะสมอย่างไม่มีผู้ใดเหมือนที่จะทรงทราบสิ่งที่เราทำได้ดีและวิธีที่เราต้องปรับปรุง?
คำแนะนำสำหรับชีวิตท่านเอง
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน (1927–2018) สนับสนุนให้เราเปิดประตูและยอมให้พระผู้ช่วยให้รอดเข้ามาในชีวิตเรา อ่านข้อความต่อไปนี้หรือดูวีดิทัศน์ตั้งแต่รหัสเวลา 15:08 ถึง 15:56 ซึ่งมีให้รับชมได้ที่ ChurchofJesusChrist.org
ข้าพเจ้าเป็นพยานด้วยสุดจิตวิญญาณของข้าพเจ้าว่าพระบิดาบนสวรรค์ของเราทรงรักเราแต่ละคน พระองค์ทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของใจที่นอบน้อม พระองค์ทรงได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือของเรา … พระบุตรของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรา ตรัสกับเราแต่ละคนวันนี้ว่า: “นี่แน่ะ เรายืนเคาะอยู่ที่ประตู ถ้าใครได้ยินเสียงของเราและเปิดประตู เราจะเข้าไปหาเขา” [ วิวรณ์ 3:20 ]
เราจะฟังเสียงเคาะนั้นไหม เราจะได้ยินเสียงดังกล่าวหรือไม่ เราจะเปิดประตูรับพระเจ้าหรือไม่ เพื่อเราจะได้รับความช่วยเหลือที่พระองค์ทรงพร้อมจะให้เรา ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้เราทำเช่นนั้น
(โธมัส เอส. มอนสัน, “คุณนายแพททัน—เรื่องราวดำเนินต่อไป,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 29)
มองย้อนกลับไปยังภาพที่พระเยซูทรงเคาะประตูและไตร่ตรองถึงสิ่งที่ท่านเรียนรู้
-
ท่านคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงประสงค์ให้ท่านทราบว่าท่านทำสิ่งใดได้ดี?
-
สิ่งใดที่พระผู้ช่วยให้รอดอาจทรงดลใจให้ท่านเปลี่ยนแปลงในชีวิต?