วิวรณ์ 5
“พระเมษโปดก (ผู้มีค่าควร)”
ท่านคิดว่าการนมัสการพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์หมายความว่าอย่างไร? เพราะเหตุใดท่านจึงคิดว่าเรานมัสการพระองค์? ยอห์นเห็นบัลลังก์ของพระผู้เป็นเจ้าและสัตภาวะที่มีรัศมีภาพมากมายกำลังสรรเสริญและนมัสการพระองค์ บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านเพิ่มความปรารถนาที่จะสักการะพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ด้วยความรักและจริงใจมากขึ้น
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
บัลลังก์ของพระผู้เป็นเจ้า
-
ท่านทราบอะไรเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ที่ปลุกเร้าความปรารถนาอย่างแท้จริงในใจท่านที่จะนมัสการพระองค์?
  การนมัสการพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์สามารถส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อชีวิตเราและช่วยให้เรารู้สึกใกล้ชิดกับพระองค์
-
ท่านมีโอกาสใดบ้างที่ท่านจะนมัสการพระบิดาและพระบุตร?
ใช้เวลาสักครู่เพื่อคิดว่าท่านนมัสการพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์อย่างจริงใจบ่อยครั้งเพียงใด ไตร่ตรองว่าชีวิตของท่านจะเปลี่ยนไปอย่างไรหากท่านนมัสการพระองค์บ่อยครั้งกว่านี้และมีความหมายกว่านี้ แสวงหาอิทธิพลจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะที่ท่านศึกษา วิวรณ์ 5 เพื่อค้นหาวิธีการที่ท่านจะสามารถนมัสการพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์อย่างจริงใจมากยิ่งขึ้น
พระเมษโปดก (ผู้มีค่าควร)
ในนิมิตของยอห์น เขาเห็นบัลลังก์ของพระผู้เป็นเจ้าในอาณาจักรซีเลสเชียล รอบบัลลังก์มีสัตภาวะและสัตว์ที่เปี่ยมรัศมีภาพมากมายที่สรรเสริญและนมัสการพระผู้เป็นเจ้า (ดู วิวรณ์ 4:1–11) เขาเห็นพระบิดาบนสวรรค์ประทับบนบัลลังก์ของพระองค์ ทรงถือหนังสือที่ผนึกไว้ด้วยตราผนึกทั้งเจ็ดดวง (ดู วิวรณ์ 5:1) หนังสือเล่มดังกล่าวประกอบไปด้วยพระประสงค์ ความลี้ลับ และงานของพระผู้เป็นเจ้าตลอดระยะเวลา 7,000 ปีของการดำรงอยู่ทางโลก (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 77:6–7)
อ่าน วิวรณ์ 5:2–4 และมองหาปฏิกิริยาของยอห์น
-
ท่านสังเกตเห็นอะไรบ้าง?
-
เนื่องจากหนังสือที่มีตราผนึกเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์ทางโลก ยอห์นอาจกังวลว่าหากไม่มีผู้ใดมีค่าควรที่จะเปิด จุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าในการสร้างโลกก็อาจไม่บรรลุผล จะเกิดอะไรขึ้นกับบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์หากไม่สามารถปฏิบัติตามแผนของพระองค์เพื่อความรอดของบุตรธิดา?
อ่าน วิวรณ์ 5:5–7 เพื่อค้นหาว่าเหตุใดยอห์นจึงไม่จำเป็นต้องร้องไห้ สังเกตว่าในงานแปลของโจเซฟ สมิธ ข้อ 6 เลขเจ็ดถูกเปลี่ยนเป็นเลขสิบสอง (ใน คู่มือพระคัมภีร์)
อ่าน วิวรณ์ 5:8–14 แล้วมองหาว่าสัตภาวะที่มีรัศมีภาพทั้งหลายมีการตอบสนองอย่างไรเมื่อพระเยซูคริสต์ทรงสามารถรับหนังสือเล่มนั้นจากพระหัตถ์ของพระบิดาบนสวรรค์ และท่านยังสามารถอ่านคำอธิบายของโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับสัตภาวะรอบบัลลังก์ของพระผู้เป็นเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:20–21
-
ท่านคิดว่าเหตุใดสัตภาวะที่มีรัศมีภาพจึงตอบสนองเช่นนี้?
-
ลองจินตนาการว่าท่านอยู่ที่นั่น ท่านคิดว่าท่านจะรู้สึกอย่างไร? ท่านจะทำอย่างไร?
-
เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากวิธีที่สัตภาวะที่มีรัศมีภาพนมัสการพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์?
สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้คือ เมื่อเราตระหนักและรู้สึกสำนึกคุณต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ เราปรารถนาที่จะนมัสการและสรรเสริญพระองค์
นมัสการ
อธิการดีน เอ็ม. เดวีส (1951–2021) จากฝ่ายอธิการควบคุมสอนเกี่ยวกับการนมัสการ ท่านสามารถอ่านข้อความด้านล่างหรือรับชม “พรของการนมัสการ” (ตั้งแต่รหัสเวลา 3:34 ถึง 4:45 และ 8:54 ถึง 11:14) รับชมได้ที่ ChurchofJesusChrist.org
เมื่อเรานมัสการพระผู้เป็นเจ้า เราเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยความรัก ความถ่อมตน และความเคารพเทิดทูน เรายอมรับพระองค์เป็นกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจ พระผู้สร้างจักรวาล และพระบิดาผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักอย่างหาที่สุดมิได้
เราเคารพและคารวะพระองค์
เรายอมมอบตัวเราต่อพระองค์
เรารื่นเริงใจในการสวดอ้อนวอนอย่างสุดกำลัง ยึดมั่นพระวจนะของพระองค์ ชื่นชมยินดีในพระคุณของพระองค์ และยอมติดตามพระองค์ด้วยความจงรักภักดี …
เมื่อเรานมัสการ ใจเราสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเจริญด้วยพระสิริของเราทั้งตอนเช้า กลางวัน และกลางคืน
เราสักการะและถวายเกียรติพระองค์ตลอดเวลา—ในอาคารประชุม บ้าน พระวิหาร และในการงานทั้งหมดของเรา
เมื่อเรานมัสการ เราเปิดใจรับพลังเยียวยาของการชดใช้ของพระเยซูคริสต์
ชีวิตเราเป็นเครื่องแสดงให้เห็นการนมัสการของเรา
(ดีน เอ็ม. เดวีส, “พรของการนมัสการ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 94–95)
-
ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการนมัสการจากคำกล่าวนี้?
-
ท่านคิดว่าการนมัสการอย่างจริงใจต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์จะเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร?
-
ท่านเคยรู้สึกใกล้ชิดกับพระบิดาบนสวรรค์หรือพระเยซูคริสต์ผ่านการนมัสการอย่างจริงใจเมื่อใด?
-
การสักการะของท่านจะสะท้อนถึงความรู้สึกที่ท่านมีต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ได้ดีขึ้นอย่างไร?
-
เลือกการกระทำต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งอย่าง แล้วไตร่ตรองว่าการนมัสการอย่างจริงใจจะช่วยให้การกระทำดังกล่าวมีความหมายมากขึ้นอย่างไร: การสวดอ้อนวอน การศึกษาพระคัมภีร์ การรับศีลระลึก การรักษาวันสะบาโต การอดอาหาร การเข้าพระวิหาร
-
สิ่งใดที่ท่านได้รับการกระตุ้นเตือนว่าควรปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงวิธีนมัสการของท่าน?