การเรียกในคณะเผยแผ่
บทที่ 3: บทเรียน 3—พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์


“บทที่ 3: บทเรียน 3—พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” สั่งสอนกิตติคุณของเรา: คู่มือแนะแนวการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (2023)

“บทที่ 3: บทเรียน 3” สั่งสอนกิตติคุณของเรา

บทที่ 3: บทเรียน 3

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

การเสด็จมาครั้งที่สอง โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

ผู้คนอาจสงสัย

  • พระเยซูคริสต์คือใคร? พระองค์จะทรงช่วยฉันและครอบครัวได้อย่างไร?

  • การมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์หมายความว่าอย่างไร? การมีศรัทธาในพระองค์จะเป็นพรแก่ชีวิตฉันได้อย่างไร?

  • กลับใจหมายความว่าอย่างไร?

  • ฉันจะรู้สึกถึงสันติสุขและการให้อภัยของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไรหลังจากฉันเลือกไม่ดีไปแล้ว?

  • อะไรคือจุดประสงค์ของบัพติศมา?

  • อะไรคือของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์?

  • การอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่หมายถึงอะไร?

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นวิธีที่เรามาหาพระคริสต์ เรียบง่ายมากพอที่เด็กจะเข้าใจได้ บทเรียนนี้มุ่งเน้นพระกิตติคุณและหลักคำสอนของพระคริสต์ รวมถึงศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจ บัพติศมา ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และการอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ มุ่งเน้นเช่นกันว่าพระกิตติคุณเป็นพรแก่ลูกทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

คำว่า พระกิตติคุณ ตามตัวอักษรหมายถึง “ข่าวดี” พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นข่าวดีเพราะให้หลักคำสอน—ความจริงนิรันดร์—ที่เราต้องใช้มาหาพระคริสต์และรอด (ดู 1 นีไฟ 15:14) พระกิตติคุณสอนเราให้รู้วิธีดำเนินชีวิตอย่างดีและมีความหมาย ข่าวดีของพระกิตติคุณเตรียมทางให้เราได้รับการอภัยบาป การชำระให้บริสุทธิ์ และกลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หมวดนี้ให้โครงร่างตัวอย่างที่จะช่วยท่านเตรียมสอน ทั้งยังมีตัวอย่างคำถามและคำเชื้อเชิญที่ท่านจะใช้ด้วย

ขณะเตรียมสอน จงพิจารณาสถานการณ์และความต้องการทางวิญญาณของแต่ละคนร่วมกับการสวดอ้อนวอน ตัดสินใจว่าจะสอนอะไรที่เป็นประโยชน์มากที่สุด เตรียมนิยามคำศัพท์ที่ผู้คนอาจจะไม่เข้าใจ วางแผนตามเวลามากน้อยที่ท่านจะมีโดยจำไว้ว่าบทเรียนต้องกระชับ

เลือกข้อพระคัมภีร์ที่ท่านจะใช้สอน หมวด “พื้นฐานหลักคำสอน” ของบทเรียนจะมีพระคัมภีร์หลายข้อที่เป็นประโยชน์

พิจารณาว่าจะถามคำถามข้อใดขณะสอน วางแผนคำเชื้อเชิญที่จะกระตุ้นให้แต่ละคนลงมือปฏิบัติ

เน้นพรที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาไว้ และแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านสอน

ผู้สอนศาสนาสอนครอบครัว

สิ่งที่ท่านอาจจะสอนใน 15–25 นาที

เลือกสอนหลักธรรมต่อไปนี้หนึ่งข้อหรือมากกว่านั้น พื้นฐานหลักคำสอนของแต่ละหลักธรรมจะอยู่หลังโครงร่างนี้

พระพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสต์

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งพระบุตรที่รักของพระองค์พระเยซูคริสต์มาโลกนี้เพื่อไถ่เราจากบาปและความตาย

  • เพราะการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซู พระองค์จึงทรงสามารถชำระเราให้สะอาดจากบาปและชำระเราให้บริสุทธิ์เมื่อเรากลับใจ

  • หลังจากพระเยซูถูกตรึงกางเขน พระองค์ฟื้นคืนพระชนม์ เพราะการฟื้นคืนพระชนม์ เราทุกคนจึงจะฟื้นคืนชีวิตหลังจากเราตาย นี่หมายความว่าวิญญาณกับร่างกายของแต่ละคนจะรวมกันใหม่ และเราแต่ละคนจะมีชีวิตตลอดไปในร่างกายที่ฟื้นคืนชีวิตและสมบูรณ์แบบ

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์

  • ศรัทธาเป็นหลักธรรมข้อแรกของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

  • ศรัทธาในพระเยซูคริสต์รวมถึงการมีความมั่นใจว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและการวางใจในพระองค์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรา

  • ศรัทธาในพระเยซูคริสต์เป็นหลักธรรมของการกระทำและพลังอำนาจ

  • เราเพิ่มพลังศรัทธาโดยสวดอ้อนวอน ศึกษาพระคัมภีร์ และเชื่อฟังพระบัญญัติ

การกลับใจ

  • ศรัทธาในพระเยซูคริสต์นำเราให้กลับใจ การกลับใจเป็นกระบวนการหันมาหาพระผู้เป็นเจ้าและหันหลังให้บาป เมื่อเรากลับใจ การกระทำ ความปรารถนา และความคิดของเราจะเปลี่ยนมาสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น

  • เมื่อเรากลับใจอย่างจริงใจ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงให้อภัยเรา การให้อภัยเกิดขึ้นได้เพราะพระเยซูคริสต์ทรงชดใช้บาปให้เรา

  • เมื่อเรากลับใจเรารู้สึกสงบขณะที่พระองค์ทรงเยียวยาความผิดและความเศร้าโศกของเรา

  • การกลับใจเป็นกระบวนการชั่วชีวิต พระผู้เป็นเจ้าทรงต้อนรับเรากลับทุกครั้งที่เรากลับใจ พระองค์จะไม่มีวันหมดหวังในตัวเรา

บัพติศมา: พันธสัญญาแรกของเรากับพระผู้เป็นเจ้า

  • บัพติศมาเป็นวิธีที่เราเข้าสู่ความสัมพันธ์แบบพันธสัญญาครั้งแรกกับพระผู้เป็นเจ้า

  • บัพติศมามีสองส่วนคือบัพติศมาโดยน้ำและโดยพระวิญญาณ เมื่อเรารับบัพติศมาและการยืนยัน เราสะอาดจากบาป ให้เราได้เริ่มต้นชีวิตใหม่

  • เรารับบัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัวตามแบบอย่างของพระเยซู

  • เด็กไม่รับบัพติศมาจนกว่าจะอายุแปดขวบ เด็กที่ตายก่อนอายุนั้นได้รับการไถ่ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

  • เรารับส่วนศีลระลึกแต่ละสัปดาห์เพื่อระลึกถึงการพลีพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์และต่อพันธสัญญาของเรากับพระผู้เป็นเจ้า

ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นสมาชิกองค์ที่สามในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์

  • หลังจากรับบัพติศมา เราได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ผ่านศาสพิธีแห่งการยืนยัน

  • เมื่อเราได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะมีพระองค์เป็นเพื่อนตลอดชีวิตถ้าเราซื่อสัตย์

  • พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงชำระเราให้บริสุทธิ์ ทรงนำทาง ทรงปลอบโยน และทรงช่วยให้เรารู้ความจริง

อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่

  • การอดทนรวมถึงการใช้ศรัทธาในพระคริสต์ต่อไปในแต่ละวัน เรารักษาพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า กลับใจ และแสวงหาความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ และรับส่วนศีลระลึกต่อไป

  • เมื่อเราหมายมั่นทำตามพระเยซูคริสต์อย่างซื่อสัตย์ พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาว่าเราจะมีชีวิตนิรันดร์

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นพรแก่ลูกทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า

  • การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณทำให้ปีติของเราลึกซึ้งขึ้น ดลบันดาลการกระทำของเรา และทำให้ความสัมพันธ์ของเราดีขึ้น

  • มีแนวโน้มว่าเราจะมีความสุข—ทั้งเป็นรายบุคคลและครอบครัว—เมื่อเราดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูคริสต์

  • โดยผ่านพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ครอบครัวจะได้รับพรในชีวิตนี้และสามารถเป็นหนึ่งเดียวกันชั่วนิรันดร์และอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าได้

คำถามที่ท่านอาจจะถาม

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างคำถามที่ท่านอาจจะถาม คำถามเหล่านี้จะช่วยให้การสนทนามีความหมาย เข้าใจความต้องการและมุมมองของบุคคล

  • คุณทราบอะไรบ้างเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์?

  • การมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์หมายความว่าอย่างไร?

  • คุณต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตคุณบ้าง?

  • คุณเข้าใจเรื่องการกลับใจว่าอย่างไร?

  • คุณเข้าใจเรื่องบัพติศมาว่าอย่างไร? ตอนนี้คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมรับบัพติศมา?

  • พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยคุณได้อย่างไรในการเดินทางกลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า?

  • คุณหรือครอบครัวกำลังประสบความท้าทายอะไร? เราขอแบ่งปันบางอย่างได้ไหมที่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์จะช่วยได้?

คำเชื้อเชิญที่ท่านอาจจะให้

  • คุณจะสวดอ้อนวอนทูลขอให้พระผู้เป็นเจ้าช่วยให้คุณรู้หรือไม่ว่าสิ่งที่เราสอนเป็นความจริง? (ดู “ข้อคิดในการสอน: การสวดอ้อนวอน” ในหมวดสุดท้ายของบทเรียน 1)

  • คุณจะไปโบสถ์วันอาทิตย์นี้เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่เราสอนไหม?

  • คุณจะอ่านพระคัมภีร์มอรมอนและสวดอ้อนวอนเพื่อรู้ว่านี่เป็นพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าไหม? (ท่านอาจจะแนะให้อ่านบทหรือข้อที่กำหนด)

  • คุณจะทำตามแบบอย่างของพระพระเยซูและรับบัพติศมาไหม? (ดู “การเชื้อเชิญให้รับบัพติศมาและการยืนยัน” ซึ่งอยู่ก่อนบทเรียน 1)

  • เราขอกำหนดเวลาเยี่ยมครั้งถัดไปได้ไหม?

พื้นฐานหลักคำสอน

หมวดนี้จะให้หลักคำสอนและพระคัมภีร์ที่จะเสริมความรู้และประจักษ์พยานของท่านในพระกิตติคุณและช่วยท่านสอน

พระเยซูทรงส่งอัครสาวกสิบสองออกไป โดย วอลเตอร์ เรน

พระพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสต์

พระบิดาบนสวรรค์ทรงส่งพระบุตรที่รักของพระองค์พระเยซูคริสต์มาแผ่นดินโลกเพื่อให้เราทุกคนประสบปีติในโลกนี้และชีวิตนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง “และนี่คือพระกิตติคุณ, ข่าวอันน่ายินดี, … ว่า [พระเยซูคริสต์] เสด็จมาในโลก, …เพื่อแบกรับบาปของโลก, และเพื่อชำระโลกให้บริสุทธิ์, และเพื่อทำให้สะอาดจากความไม่ชอบธรรมทั้งปวง; ว่าโดยผ่านพระองค์คนทั้งปวงจะได้รับการช่วยให้รอด” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:40–42)

มนุษย์เราทุกคนทำบาป และเราทุกคนตาย บาปและความตายจะขัดขวางไม่ให้เรามีชีวิตนิรันดร์กับพระผู้เป็นเจ้าเว้นแต่เรามีพระผู้ไถ่ (ดู 2 นีไฟ 9) ก่อนสร้างโลก พระบิดาบนสวรรค์ทรงเลือกพระเยซูคริสต์ให้ไถ่เรา ในการแสดงความรักขั้นสูงสุด พระเยซูเสด็จมาโลกนี้และทรงทำพระพันธกิจนี้ให้ลุล่วง พระองค์ทรงทำให้เราได้รับการไถ่จากบาป และทรงรับรองว่าเราทุกคนจะฟื้นคืนชีวิตหลังจากเราตาย

พระเยซูดำเนินพระชนม์ชีพไร้บาป เมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลก พระองค์ทรงรับบาปของเราไว้กับพระองค์โดยทรงทนทุกข์ในเกทเสมนีและเมื่อทรงถูกตรึงกางเขน (ดู 1 นีไฟ 11:33) พระเยซูทรงทนทุกข์แสนสาหัสจนเป็นเหตุให้พระองค์ “สั่นเพราะความเจ็บปวด, และเลือดออกจากทุกขุมขน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:18) หลังถูกตรึงกางเขน พระเยซูฟื้นคืนพระชนม์ ทรงมีชัยชนะเหนือความตาย เหตุการณ์เหล่านี้รวมกันเป็นการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

บาปของเราทำให้เราไม่สะอาดทางวิญญาณ และ “ไม่มีสิ่งไม่สะอาดใดๆ จะพำนักอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าได้” (1 นีไฟ 10:21) นอกจากนี้กฎแห่งความยุติธรรมกำหนดให้รับผลจากบาปของเราด้วย

การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูเตรียมทางให้เราได้รับการชำระให้สะอาดจากบาปและบริสุทธิ์เมื่อเรากลับใจ นอกจากนี้ยังเตรียมทางให้สนองข้อเรียกร้องของความยุติธรรมด้วย (ดู แอลมา 42:15, 23–24) พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า “เรา … ทนทุกข์กับสิ่งเหล่านี้เพื่อทุกคน, เพื่อพวกเขาจะได้ไม่ทนทุกข์หากพวกเขาจะกลับใจ; แต่หากพวกเขาจะไม่กลับใจ พวกเขาต้องทนทุกข์แม้ดังเรา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16–17) ถ้าไม่เพราะพระเยซูคริสต์ บาปคงจะทำให้เราหมดสิ้นความหวังที่จะได้อยู่กับพระบิดาบนสวรรค์ในอนาคต

ในการถวายองค์เป็นเครื่องพลีบูชา พระเยซูคริสต์มิได้ทรงตัดความรับผิดชอบส่วนตัวของเราออกไป เราต้องมีศรัทธาในพระองค์ กลับใจ และมุ่งมั่นเชื่อฟังพระบัญญัติ เมื่อเรากลับใจ พระเยซูจะทรงเรียกร้องสิทธิแห่งพระเมตตาของพระบิดาให้เรา (ดู โมโรไน 7:27–28) เพราะการวิงวอนของพระผู้ช่วยให้รอดแทนเรา พระบิดาบนสวรรค์จึงทรงให้อภัยเรา โดยทรงปลดเปลื้องเราจากภาระและความผิดบาปของเรา (ดู โมไซยาห์ 15:7–9) เราสะอาดทางวิญญาณและได้รับการต้อนรับเข้าในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าในที่สุด

พระพันธกิจของพระเยซูคือช่วยให้เรารอดจากความตายเช่นกัน เพราะพระองค์ฟื้นคืนพระชนม์ เราทุกคนจึงจะฟื้นคืนชีวิตหลังจากเราตาย นี่หมายความว่าวิญญาณกับร่างกายของแต่ละคนจะรวมกันใหม่ และเราแต่ละคนจะมีชีวิตตลอดไปในร่างกายที่ฟื้นคืนชีวิตและสมบูรณ์แบบ ถ้าไม่เพราะพระเยซูคริสต์ ความตายคงทำให้หมดสิ้นความหวังที่จะได้อยู่กับพระบิดาบนสวรรค์ในอนาคต

การศึกษาพระคัมภีร์

พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งพระบุตรมา

ความรอดผ่านพระเยซูคริสต์

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักธรรมนี้

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์

หลักธรรมข้อแรกของพระกิตติคุณคือศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ศรัทธาเป็นรากฐานสำหรับหลักธรรมพระกิตติคุณข้ออื่นทั้งหมด

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์รวมถึงการมีความมั่นใจว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้า รวมถึงการวางใจในพระองค์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรา—ว่าพระองค์ทรงเป็นทางเดียวให้เรากลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า (ดู กิจการ 4:10–12; โมไซยาห์ 3:17; 4:6–8) เราได้รับเชิญให้ใช้ “ศรัทธาอันไม่สั่นคลอนในพระองค์, โดยวางใจอย่างเต็มที่ในคุณงามความดีของพระองค์ผู้ทรงอานุภาพที่จะช่วยให้รอด” (2 นีไฟ 31:19)

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์รวมถึงการเชื่อว่าพระองค์ทรงทนทุกข์เพราะบาปของเราในการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ เพราะการพลีพระชนม์ชีพ เราจึงได้รับการชำระให้สะอาดและการไถ่เมื่อเรากลับใจ การชำระให้สะอาดนี้ช่วยให้เราพบสันติและความหวังในชีวิตนี้ นอกจากนี้ยังช่วยให้เราได้รับความสมบูรณ์แห่งปีติหลังจากเราตายด้วย

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์รวมถึงการวางใจว่าโดยผ่านพระองค์ เราทุกคนจะฟื้นคืนชีวิตหลังจากเราตาย ศรัทธานี้สามารถค้ำจุนและปลอบโยนเราในยามสูญเสีย คำสัญญาเรื่องการฟื้นคืนชีวิตทำให้ความโศกเศร้าจากความตายหมดไป

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์รวมถึงการเชื่อและวางใจว่าพระองค์ทรงรับความทุกข์และความทุพพลภาพของเราไว้กับพระองค์ (ดู อิสยาห์ 53:3–5) พระองค์ทรงรู้โดยประสบการณ์ว่าจะประคองเราผ่านความท้าทายของชีวิตด้วยพระเมตตาอย่างไร (ดู แอลมา 7:11–12; หลักคำสอนและพันธสัญญา 122:8) เมื่อเราใช้ศรัทธาพระองค์จะทรงช่วยเรามุ่งหน้าฟันฝ่าความยากลำบากของเรา

พระเยซูทรงสามารถเยียวยาเราทางร่างกายและทางวิญญาณได้โดยผ่านศรัทธาของเราในพระองค์ พระองค์ทรงพร้อมช่วยเหลือเราเสมอเมื่อเราจดจำพระดำรัสเชื้อเชิญของพระองค์ให้ “ดูที่เราในความนึกคิดทุกอย่าง; อย่าสงสัย, อย่ากลัว” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:36)

หลักธรรมของการกระทำและพลังอำนาจ

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์นำไปสู่การกระทำ เราแสดงศรัทธาโดยการเชื่อฟังพระบัญญัติและทำดีทุกวัน เรากลับใจจากบาปของเรา เราภักดีต่อพระองค์ เรามุ่งมั่นเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น

เมื่อเราใช้ศรัทธา เราจะประสบเดชานุภาพของพระเยซูในชีวิตประจำวันของเรา พระองค์จะทรงขยายความพยายามที่ดีที่สุดของเรา พระองค์จะทรงช่วยให้เราเติบโตและต่อต้านการล่อลวง

การเพิ่มพลังศรัทธาของเรา

ศาสดาพยากรณ์แอลมาสอนว่าการสร้างศรัทธาเริ่มต้นด้วยความ “ปรารถนาที่จะเชื่อ” (แอลมา 32:27) จากนั้น เพื่อให้ศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์เติบโต เราต้องบำรุงเลี้ยงโดยเรียนรู้พระวจนะของพระองค์ ประยุกต์ใช้คำสอนของพระองค์ และเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ แอลมาสอนว่าเมื่อเราบำรุงเลี้ยงพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในใจเราอย่างอดทนและขยันหมั่นเพียร “มันจะแตกราก [และเป็นเหมือน] ต้นไม้ที่งอกงามไปสู่ชีวิตอันเป็นนิจ”—ด้วยเหตุนี้จึงเพิ่มพลังศรัทธาของเรา (แอลมา 32:41; ดู ข้อ 26–43)

การศึกษาพระคัมภีร์

ศรัทธา พลังอำนาจ และความรอด

หลักคำสอนเรื่องศรัทธา

ตัวอย่างของศรัทธา

งานและการเชื่อฟัง

ศรัทธาจนถึงการกลับใจ

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักธรรมนี้

การกลับใจ

การกลับใจคืออะไร?

การกลับใจเป็นหลักธรรมข้อที่สองของพระกิตติคุณ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และความรักต่อพระองค์นำเราให้กลับใจ (ดู ฮีลามัน 14:13) การกลับใจเป็นกระบวนการหันมาหาพระผู้เป็นเจ้าและหันหลังให้บาป เมื่อเรากลับใจ การกระทำ ความปรารถนา และความคิดของเราจะเปลี่ยนมาสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น การให้อภัยบาปเกิดขึ้นได้ผ่านพระเยซูคริสต์และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์

การกลับใจเป็นยิ่งกว่าการใช้อำนาจจิตเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเอาชนะความอ่อนแอ การกลับใจคือการหันมาหาพระคริสต์อย่างจริงใจผู้ประทานอำนาจให้เราประสบ “การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้ง” ในใจเรา (แอลมา 5:12–14) เมื่อเราประสบการเปลี่ยนแปลงนี้ในใจ เราจะเกิดใหม่ทางวิญญาณ (ดู โมไซยาห์ 27:24–26)

โดยผ่านการกลับใจเราพัฒนามุมมองใหม่ต่อพระผู้เป็นเจ้า ต่อตัวเรา และต่อโลก เรารู้สึกถึงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเราซึ่งเป็นลูกๆ ของพระองค์อีกครั้ง—และความรักที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีต่อเรา โอกาสให้กลับใจเป็นพรประเสริฐสุดประการหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เราผ่านพระบุตรของพระองค์

กระบวนการกลับใจ

เมื่อเรากลับใจ เรารับรู้บาปของเราและรู้สึกสำนึกผิดจริงๆ เราสารภาพบาปต่อพระผู้เป็นเจ้าและทูลขอการอภัย เราสารภาพบาปร้ายแรงมากต่อผู้นำศาสนจักรที่ได้รับมอบอำนาจด้วยผู้จะสนับสนุนเราเมื่อเรากลับใจ เราทำทุกอย่างที่จะทำได้เพื่อชดใช้ ซึ่งหมายถึงการพยายามแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการกระทำของเรา การกระทำอันชอบธรรมแสดงให้เห็นได้ดีที่สุดตลอดช่วงเวลาหนึ่งว่าเรากลับใจจริง

การกลับใจเป็นกระบวนการประจำวันตลอดชีวิตเรา “ทุกคนทำบาป และเสื่อมจากพระสิริของพระเจ้า” (โรม 3:23) เราควรกลับใจตลอดเวลาโดยจดจำว่าเรา “เผชิญได้ทุกอย่างโดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลัง” เรา (ฟีลิปปี 4:13) พระเจ้าทรงรับรองกับเราว่า “จะกี่ครั้งก็ตามที่ผู้คนของเรากลับใจ เราจะให้อภัยพวกเขาสำหรับการล่วงละเมิดของพวกเขา” (โมไซยาห์ 26:30)

พรของการกลับใจ

การกลับใจเป็นหลักธรรมเชิงบวกที่ทำให้เกิดปีติและสันติ นำเรา “ไปสู่เดชานุภาพของพระผู้ไถ่, ไปสู่ความรอดของจิตวิญญาณ [พวกเรา]” (ฮีลามัน 5:11)

เมื่อเรากลับใจ ความรู้สึกผิดและความเศร้าโศกของเราจะค่อยๆ หายไป เราจะรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณมากขึ้น ความปรารถนาจะทำตามพระผู้เป็นเจ้าจะแรงกล้ามากขึ้น

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“มีคนมากมายถือว่าการกลับใจเป็นการลงโทษ—เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง … แต่ความรู้สึกว่าถูกลงโทษเช่นนี้มาจากซาตาน เขาพยายามบังเราไม่ให้มองไปที่พระเยซูคริสต์ผู้ทรงยืนกางพระพาหุ ทรงหวังและเต็มพระทัยเยียวยา ให้อภัย ชำระล้าง เสริมสร้างความเข้มแข็ง ทำให้บริสุทธิ์ และชำระเราให้บริสุทธิ์” (รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “เราสามารถทำได้ดีขึ้นและเป็นคนดีขึ้นเลียโฮนา, พ.ค. 2019, 67)

การศึกษาพระคัมภีร์

การกลับใจ

การไถ่และการให้อภัย

ความเมตตาสำหรับคนที่กลับใจ

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักธรรมนี้

เยาวชนหญิงรับบัพติศมา

บัพติศมา: พันธสัญญาแรกของเรากับพระผู้เป็นเจ้า

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการกลับใจเตรียมเราให้พร้อมรับศาสนพิธีบัพติศมาและการยืนยัน บัพติศมาเป็นศาสนพิธีแห่งความรอดอันดับแรกของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เมื่อเรารับศาสนพิธีอันน่ายินดีแห่งความหวังนี้ เราทำพันธสัญาแรกกับพระผู้เป็นเจ้า

ศาสนพิธีคือพิธีกรรมหรือพิธีที่ทำโดยผู้มีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต บางศาสนพิธี เช่น บัพติศมา จำเป็นต่อความรอดของเรา

เราทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าผ่านศาสนพิธี พันธสัญญาเหล่านี้เป็นสัญญาศักดิ์สิทธิ์ระหว่างเรากับพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงสัญญาจะอวยพรเราเมื่อเรารักษาสัญญากับพระองค์ เราควรมีความมุ่งมั่นจริงจังว่าจะรักษาสัญญาของเรากับพระผู้เป็นเจ้า

พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงจัดเตรียมศาสนพิธีและพันธสัญญาไว้ช่วยให้เรามาหาพระองค์และมีชีวิตนิรันดร์ เมื่อเราได้รับศาสนพิธีฐานะปุโรหิตและรักษาพันธสัญญาที่เกี่ยวข้อง เราจะประสบ “พลังอำนาจของความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า” ในชีวิตเรา (หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:20)

พันธสัญญาบัพติศมา

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่าบัพติศมาจำเป็นต่อการเข้าอาณาจักรสวรรค์ (ดู ยอห์น 3:5) เราจำเป็นต้องเป็นสมาชิกของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์เช่นกัน พระผู้ช่วยให้รอดของเราทรงเป็นแบบอย่างโดยทรงรับบัพติศมา (ดู มัทธิว 3:13–17)

เมื่อเรารับบัพติศมาและรักษาพันธสัญญาของเรา พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาจะอภัยบาปของเรา (ดู กิจการ 22:16; 3 นีไฟ 12:1–2) พรอันสำคัญยิ่งนี้เกิดขึ้นได้ผ่านการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ผู้ “ทรงรักเรา ทรงปลดปล่อยเราจากบาปของเราด้วยพระโลหิตของพระองค์” (วิวรณ์ 1:5) พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาจะอวยพรเราด้วยความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์เช่นกันเพื่อเราจะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ การนำทาง และการปลอบโยน

ในส่วนหนึ่งของพันธสัญญาบัพติศมา เราเป็นพยานว่าเราจะเต็มใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์ เราสัญญาด้วยว่าจะระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลาและรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เราสัญญาจะรักและรับใช้ผู้อื่น “โศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้า; … ปลอบโยนคนที่ต้องการการปลอบโยน, และยืนเป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลาและในทุกสิ่ง, และในทุกแห่ง” [โมไซยาห์ 18:9; ดู ข้อ 8–10, 13) เราแสดงความตั้งใจว่าจะรับใช้พระเยซูคริสต์จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตเรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37; โมไซยาห์ 2:17)

คำมั่นสัญญาแบบพันธสัญญาของเราอันเกี่ยวเนื่องกับบัพติศมาเป็นหน้าที่รับผิดชอบอันสำคัญยิ่ง เป็นแรงบันดาลใจและเปี่ยมปีติเช่นกัน สร้างความสัมพันธ์พิเศษระหว่างเรากับพระบิดาบนสวรรค์ซึ่งพระองค์ทรงแสดงความรักต่อเราอย่างต่อเนื่องผ่านความสัมพันธ์นั้น

บัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัว

พระเยซูทรงสอนว่าเราต้องรับบัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัวเพื่อการปลดบาปของเรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:72–74) บัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัวเป็นสัญลักษณ์แทนการสิ้นพระชนม์ การฝัง และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ (ดู โรม 6:3–6)

บัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัวมีสัญลักษณ์อันทรงพลังสำหรับเราเป็นส่วนตัวด้วย แทนความตายของชีวิตเก่า การฝังชีวิตนั้น และการอุบัติของเราในการเกิดใหม่ทางวิญญาณ เมื่อเรารับบัพติศมา เราเริ่มกระบวนการเกิดใหม่และกลายเป็นบุตรธิดาทางวิญญาณของพระคริสต์ (ดู โมไซยาห์ 5:7–8; โรม 8:14–17)

เด็ก

เด็กไม่รับบัพติศมาจนกว่าจะถึงอายุที่รับผิดชอบได้ ซึ่งคือแปดขวบ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:27) เด็กที่ตายก่อนอายุนั้นได้รับการไถ่ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ (ดู โมโรไน 8:4–42; หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:10) ก่อนเด็กรับบัพติศมา พวกเขาควรได้รับการสอนพระกิตติคุณเพื่อจะพร้อมเดินก้าวสำคัญนี้ในชีวิตเพื่อทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า

ศีลระลึก

พระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์ให้เราซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาที่เราทำกับพระองค์ เพื่อช่วยเราทำเช่นนี้ พระองค์ทรงบัญชาให้เราประชุมกันบ่อยๆ เพื่อรับส่วนศีลระลึก ศีลระลึกเป็นศาสนพิธีฐานะปุโรหิตที่พระเยซูทรงแนะนำกับอัครสาวกก่อนการชดใช้ของพระองค์

การรับส่วนศีลระลึกเป็นจุดประสงค์หลักของการประชุมศีลระลึกแต่ละสัปดาห์ มีการให้พรและส่งผ่านขนมปังกับน้ำให้ผู้ร่วมประชุม ขนมปังแทนการพลีพระวรกายของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อเรา น้ำแทนพระโลหิตของพระองค์ซึ่งหลั่งเพื่อเรา

เรารับส่วนเครื่องหมายเหล่านี้ในความระลึกถึงการพลีพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดและต่อพันธสัญญาของเรากับพระผู้เป็นเจ้า เราได้รับสัญญาใหม่อีกครั้งว่าพระวิญญาณจะอยู่กับเรา

การศึกษาพระคัมภีร์

แบบอย่างของพระคริสต์

พันธสัญญาบัพติศมา

คุณสมบัติสำหรับบัพติศมา

พรที่สัญญาไว้ของบัพติศมา

ความจำเป็นต้องมีสิทธิอำนาจ

พระเยซูทรงจัดตั้งศีลระลึก

คำสวดอ้อนวอนศีลระลึก

การรับส่วนศีลระลึก

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักธรรมนี้

พระคริสต์ทรงวางมือบนผู้หญิง

ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

การรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

บัพติศมามีสองส่วน พระเยซูทรงสอนว่าเราต้อง “เกิดจากน้ำ และ พระวิญญาณ” จึงจะเข้าอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าได้ (ยอห์น 3:5; เน้นตัวเอน) โจเซฟ สมิธสอนว่า “บัพติศมาด้วยน้ำเป็นบัพติศมาเพียงครึ่งเดียว และไม่เกิดประโยชน์อันใดหากปราศจากอีกครึ่งที่เหลือ ซึ่งก็คือการบัพติศมาของพระวิญญาณบริสุทธิ์” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 102)

บัพติศมาด้วยน้ำต้องตามด้วยบัพติศมาจากพระวิญญาณจึงจะสมบูรณ์ เมื่อเราได้รับบัพติศมาทั้งสองส่วนแล้ว เราจะได้รับการชำระให้สะอาดจากบาปและเกิดใหม่ทางวิญญาณ จากนั้นเราเริ่มชีวิตใหม่ทางวิญญาณในฐานะสานุศิษย์ของพระคริสต์

เราได้รับบัพติศมาจากพระวิญญาณผ่านศาสนพิธีที่เรียกว่าการยืนยัน ศาสนพิธีนี้ทำโดยผู้ดำรงฐานะปุโรหิตหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นผู้วางมือบนศีรษะเรา พวกเขายืนยันเราเป็นสมาชิกของศาสนจักรก่อน แล้วจึงประสาทของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เรา นี่เป็นศาสนพิธีเดียวกับที่กล่าวไว้ในพันธสัญญาใหม่และพระคัมภีร์มอรมอน (ดู กิจการ 8:14–17; 3 นีไฟ 18:36–37)

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นสมาชิกองค์ที่สามในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ ทรงทำงานเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ เมื่อเราได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะมีความเป็นเพื่อนของพระองค์ตลอดชีวิตเมื่อเราซื่อสัตย์

วิธีที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงอวยพรเรา

ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นของประทานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งจากพระบิดาบนสวรรค์ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงชำระเราให้สะอาดและบริสุทธิ์ โดยทำให้เราบริสุทธิ์ขึ้น สมบูรณ์ขึ้น เหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น (ดู 3 นีไฟ 27:20) พระองค์ทรงช่วยให้เราเปลี่ยนและเติบโตทางวิญญาณเมื่อเราหมายมั่นทำตามกฎเกณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้า

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยให้เราเรียนรู้และรับรู้ความจริง (ดู โมโรไน 10:5) ทรงยืนยันความจริงต่อใจและความคิดเราเช่นกัน นอกจากนี้พระวิญญาณบริสุทธิ์ยังทรงช่วยเราสอนความจริงด้วย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:14) เมื่อเราเรียนรู้และสอนความจริงโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์จะทรงนำความจริงเข้ามาในใจเรา (ดู 2 นีไฟ 33:1)

เมื่อเราแสวงหาการทรงนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน พระองค์จะทรงนำทางเรา (ดู 2 นีไฟ 32:5) นี่รวมถึงการกระตุ้นเตือนเราให้รู้วิธีที่เราจะรับใช้ผู้อื่นด้วย

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงให้ความเข้มแข็งทางวิญญาณเพื่อช่วยเราเอาชนะความอ่อนแอ ทรงช่วยเราต่อต้านการล่อลวง ทรงสามารถเตือนเราในเรื่องอันตรายทางวิญญาณและทางร่างกาย

พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยเราให้ผ่านพ้นความท้าทายของชีวิต จะทรงปลอบโยนเราในยามลำบากหรือเศร้าโศกโดยทรงทำให้เราเปี่ยมด้วยความหวัง (ดู โมโรไน 8:26) โดยผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์เราสามารถรู้สึกถึงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเรา

การศึกษาพระคัมภีร์

ธรรมชาติของพระวิญญาณบริสุทธิ์

พรและอิทธิพลจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

ความสำคัญของของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักธรรมนี้

พระเยซูทรงอุ้มเด็ก

อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่

เมื่อเรารับบัพติศมาและการยืนยัน เราเข้าสู่พันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า นอกจากเรื่องอื่นๆ แล้ว เราสัญญาด้วยว่าจะรักษาพระบัญญัติและรับใช้พระองค์ตลอดชีวิตที่เหลือ (ดู โมไซยาห์ 18:8–10, 13; หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37)

หลังจากเข้าสู่เส้นทางพระกิตติคุณผ่านบัพติศมาและการยืนยันแล้ว เราพยายามทุกวิถีทางเพื่ออยู่บนเส้นทางนั้น เมื่อเราออกนอกเส้นทางแม้แต่นิดเดียว เราใช้ศรัทธาในพระคริสต์เพื่อกลับใจ พรของการกลับใจยอมให้เรากลับสู่เส้นทางพระกิตติคุณและรักษาพรแห่งพันธสัญญาของเรากับพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเรากลับใจอย่างจริงใจ พระผู้เป็นเจ้าเต็มพระทัยจะให้อภัยและต้อนรับเรากลับเสมอ

การอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่หมายถึงการซื่อสัตย์ต่อพระผู้เป็นเจ้าจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต—ผ่านยามดีและยามร้าย ผ่านความรุ่งเรืองและความยากลำบาก เราอ่อนน้อมยอมให้พระคริสต์ทรงหล่อหลอมเราและทำให้เราเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น เราดูที่พระคริสต์ด้วยศรัทธา ความไว้วางใจ และความหวังไม่ว่าจะเกิดอะไรในชีวิตเราก็ตาม

การอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ไม่เพียงหมายถึงการยึดมั่นจนกว่าเราตายเท่านั้น แต่หมายถึงการทำให้ชีวิต ความคิด และการกระทำของเราจดจ่ออยู่กับพระเยซูคริสต์ รวมถึงการใช้ศรัทธาในพระคริสต์ต่อไปในแต่ละวัน เรากลับใจ รักษาพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า และแสวงหาความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ต่อไปเช่นกัน

การอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่รวมถึง “[การ] มุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์, โดยมีความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง, และความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อมนุษย์ทั้งปวง” พระบิดาบนสวรรค์ทรงสัญญาว่าเมื่อเราอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เรา “จะมีชีวิตนิรันดร์” (2 นีไฟ 31:20)

การศึกษาพระคัมภีร์

อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่

พรสำหรับคนที่อดทน

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักธรรมนี้

ครอบครัวยิ้ม

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นพรแก่ลูกทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มีไว้สำหรับลูกทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า พระคัมภีร์สอนว่า “ทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า” โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังหรือสถานการณ์ของเรา พระองค์ทรงเชื้อเชิญ “ทั้งหมดให้มาหาพระองค์และรับส่วนพระคุณความดีของพระองค์; และพระองค์ไม่ทรงปฏิเสธผู้ใดที่มาหาพระองค์เลย” (2 นีไฟ 26:33)

พระกิตติคุณเป็นพรแก่เราตลอดชีวิตมรรตัยและตลอดนิรันดร มีแนวโน้มว่าเราจะมีความสุข—ทั้งรายบุคคลและครอบครัว—เมื่อเราดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูคริสต์” (ดู โมไซยาห์ 2:41; “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org) การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณทำให้ปีติของเราลึกซึ้งขึ้น ดลใจการกระทำของเรา และทำให้ความสัมพันธ์ของเราดีขึ้น

การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์สามารถป้องกันไม่ให้เราทำการเลือกที่เป็นภัยต่อเราทางร่างกายหรือทางวิญญาณ ช่วยให้เราพบความเข้มแข็งและความสบายใจในยามลำบากและโศกเศร้า และเตรียมทางไปสู่ชีวิตนิรันดร์อันน่ายินดี

ข่าวสารสำคัญอย่างหนึ่งของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูคือเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้า เราเป็นบุตรธิดาที่รักของพระองค์ ไม่ว่าสถานการณ์ครอบครัวเราบนแผ่นดินโลกเป็นเช่นไร เราแต่ละคนเป็นสมาชิกในครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้า

ส่วนสำคัญอีกส่วนของข่าวสารของเราคือครอบครัวสามารถเป็นหนึ่งเดียวกันชั่วนิรันดร์ ครอบครัวได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า แผนแห่งความสุขของพระบิดาบนสวรรค์เปิดทางให้สัมพันธภาพครอบครัวดำเนินต่อไปหลังความตาย ศาสนพิธีและพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารทำให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันตลอดไป

โดยผ่านแสงสว่างของพระกิตติคุณครอบครัวสามารถแก้ไขความเข้าใจผิด ความขัดแย้ง และความท้าทายต่างๆ ได้ ครอบครัวที่แตกแยกเพราะความไม่ลงรอยกันจะได้รับการเยียวยาผ่านการกลับใจ การให้อภัย และศรัทธาในพลังอำนาจแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ช่วยเราพัฒนาสัมพันธภาพครอบครัวให้แน่นแฟ้นขึ้น บ้านเป็นสถานที่สอนและเรียนรู้หลักธรรมของพระกิตติคุณได้ดีที่สุด บ้านที่ตั้งอยู่บนหลักธรรมพระกิตติคุณจะเป็นสถานที่หลบภัยและความปลอดภัย จะเป็นสถานที่ที่พระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ได้

การศึกษาพระคัมภีร์

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักธรรมนี้

โครงร่างบทเรียนขนาดสั้นถึงขนาดกลาง

โครงร่างต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ท่านอาจจะสอนหากท่านมีเวลาช่วงสั้นๆ เมื่อใช้โครงร่างนี้ ให้เลือกสอนหนึ่งหลักธรรมหรือมากกว่านั้น พื้นฐานหลักคำสอนสำหรับแต่ละหลักธรรมจะอยู่ต้นบทเรียน

ขณะสอน ท่านจะถามคำถามและฟัง ให้คำเชื้อเชิญที่จะช่วยให้ผู้คนเรียนรู้วิธีเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น คำเชื้อเชิญที่สำคัญอย่างหนึ่งคือให้บุคคลพบกับท่านอีกครั้ง ความยาวของบทเรียนจะขึ้นอยู่กับคำถามที่ท่านถามและการฟังของท่าน

ผู้สอนศาสนาสอนผู้หญิง

สิ่งที่ท่านอาจจะสอนใน 3–10 นาที

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งพระบุตรที่รักของพระองค์พระเยซูคริสต์มาโลกนี้เพื่อไถ่เราจากบาปและความตาย

  • ศรัทธาในพระเยซูคริสต์เป็นหลักธรรมของการกระทำและพลังอำนาจ ศรัทธาช่วยให้เราประสบเดชานุภาพการทำให้เข้มแข็งของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตเรา

  • ศรัทธาในพระเยซูคริสต์นำเราให้กลับใจ การกลับใจเป็นกระบวนการหันมาหาพระผู้เป็นเจ้าและหันหลังให้บาป เมื่อเรากลับใจ การกระทำ ความปรารถนา และความคิดของเราจะเปลี่ยนมาสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น

  • เมื่อเรากลับใจ พระผู้เป็นเจ้าทรงให้อภัยเรา การให้อภัยเกิดขึ้นได้เพราะพระเยซูคริสต์ทรงชดใช้บาปให้เรา

  • บัพติศมามีสองส่วนคือบัพติศมาโดยน้ำและโดยพระวิญญาณ เมื่อเรารับบัพติศมาและการยืนยัน เราสะอาดจากบาป ให้เราได้เริ่มต้นชีวิตใหม่

  • หลังจากรับบัพติศมาด้วยน้ำ เราได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ผ่านศาสนพิธีแห่งการยืนยัน

  • เมื่อเราเดินตามเส้นทางพระกิตติคุณอย่างซื่อสัตย์จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาว่าเราจะมีชีวิตนิรันดร์