2010–2019
ผู้ติดตามพระคริสต์
เมษายน 2013


15:21

ผู้ติดตามของพระคริสต์

การติดตามพระคริสต์ไม่ใช่การกระทำตามอารมณ์หรือทำเป็นครั้งคราว แต่เป็นการให้คำมั่นสัญญาต่อเนื่องและเป็นวิถีชีวิตที่จะนำไปใช้ในทุกเวลาและในทุกแห่ง

เพลงสวดเพลงหนึ่งที่เราชื่นชอบซึ่งขับร้องโดยคณะนักร้องประสานเสียงแทเบอร์นาเคิลในเช้าวันนี้เริ่มด้วยถ้อยคำว่า

“จงตามเรามา” พระองค์ตรัสไว้

ให้เราเดินตามรอยบาทภูมี

ด้วยการนี้เราจะเป็นหนึ่งเดียว

กับพระบุตรเดียวของพระเป็นเจ้า1

ถ้อยคำเหล่านั้นมาจากแรงบันดาลใจจากคำเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดแก่สานุศิษย์ของพระองค์ในยุคเริ่มแรก (ดู มัทธิว 4:19) ประพันธ์โดยจอห์น นิโคลสัน ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชาวสกอตแลนด์ เช่นเดียวกับบรรดาผู้นำในยุคแรกๆ ของเรา เขามีการศึกษาน้อยแต่มีความรักแน่นแฟ้นในพระผู้ช่วยให้รอดและแผนแห่งความรอด2

ข่าวสารทั้งหมดในการประชุมใหญ่นี้ช่วยให้เราเดินตามรอยพระบาทของพระผู้ช่วยให้รอด ผู้ซึ่งแบบอย่างและคำสอนของพระองค์กำหนดวิถีทางให้แก่ผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์

เฉกเช่นชาวคริสต์อื่นทุกคน สมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายศึกษาพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดตามที่เขียนไว้ในหนังสือมัทธิว มาระโก ลูกา และยอห์นของพันธสัญญาใหม่ ข้าพเจ้าจะทบทวนแบบอย่างและคำสอนที่มีอยู่ในหนังสือทั้งสี่เล่มของพระคริสตธรรมคัมภีร์ และเชื้อเชิญเราแต่ละคนพร้อมทั้งชาวคริสต์อื่นทุกคนให้พิจารณาว่าศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูนี้และเราแต่ละคนจะมีคุณสมบัติเป็นผู้ติดตามของพระคริสต์ได้อย่างไร

พระเยซูทรงสอนว่าบัพติศมาจำเป็นต่อการเข้าในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า (ดู ยอห์น 3:5) พระองค์ทรงเริ่มการปฏิบัติศาสนกิจโดยรับบัพติศมา (ดู มาระโก 1:9) และพระองค์กับผู้ติดตามของพระองค์ให้บัพติศมาคนอื่นๆ (ดู ยอห์น 3:22–26) เราก็ทำเช่นเดียวกัน

พระเยซูทรงเริ่มการสั่งสอนของพระองค์โดยเชื้อเชิญให้ผู้ฟังกลับใจ (ดู มัทธิว 4:17) นั่นยังคงเป็นข่าวสารที่ผู้รับใช้ของพระองค์ประกาศต่อโลก

พระเยซูประทานพระบัญญัติตลอดการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ และทรงสอนว่า “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา” (ยอห์น 14:15 ดู ข้อ 21, 23 ด้วย) พระองค์ทรงยืนยันว่าการรักษาพระบัญญัติของพระองค์เรียกร้องให้ผู้ติดตามพระองค์ละทิ้งสิ่งที่ทรงเรียกว่า “สิ่งที่มีคุณค่าสูงในหมู่มนุษย์” (ลูกา 16:15) และ “ถ้อยคำของมนุษย์ที่สอนต่อๆ กันมา” (มาระโก 7:8 ดูข้อ13ด้วย) พระองค์ทรงเตือนว่า “ถ้าพวกท่านเป็นของโลก โลกก็ย่อมจะรักคนที่เป็นของโลกเอง แต่เพราะท่านไม่ได้เป็นของโลก คือเราเลือกท่านออกจากโลกเพราะเหตุนี้ โลกจึงเกลียดชังท่าน” (ยอห์น 15:19) เช่นเดียวกับที่อัครสาวกเปโตรได้ประกาศต่อมาว่า ผู้ติดตามพระคริสต์จะเป็น “ประชากรอันเป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้า” (1 เปโตร 2:9)

วิสุทธิชนยุคสุดท้ายเข้าใจว่าเราไม่ควรเป็น “ของโลก” หรือผูกมัดอยู่กับ “ถ้อยคำของมนุษย์ที่สอนต่อๆ กันมา” แต่เช่นเดียวกับผู้ติดตามของพระคริสต์คนอื่นๆ เราค้นพบว่าบางครั้งเป็นเรื่องยากที่จะแยกตนเองจากโลกและประเพณีของโลก บางคนใช้ชีวิตตามแบบของโลกด้วยเหตุผลดังที่พระเยซูทรงบอกบางคนที่พระองค์สอน “พวกเขารักการชมของมนุษย์ มากกว่าการชมของพระเจ้า” (ยอห์น 12:43) ความล้มเหลวในการติดตามพระคริสต์มีมากมายและเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกินกว่าจะบอกไว้ที่นี่ ตั้งแต่วิธีการปฏิบัติแบบโลกเช่นความถูกต้องทางการเมืองและการแต่งตัวนอกรูปนอกแบบจนถึงการบิดเบือนจากคุณค่าพื้นฐานเช่นเรื่องและธรรมชาตินิรันดร์ของครอบครัว

คำสอนของพระเยซูไม่ได้มีไว้เพื่อเป็นเชิงทฤษฎี แต่มีไว้เพื่อที่จะปฏิบัติตามเสมอมา พระเยซูทรงสอนว่า “ทุกคนที่ได้ยินคำเหล่านี้ของเราและประพฤติตาม ก็เปรียบเสมือนผู้ที่มีสติปัญญา” (มัทธิว 7:24; ดู ลูกา 11:28ด้วย) และ “เมื่อนายมาพบเขาทำอย่างนั้น บ่าวคนนั้นก็เป็นสุข” (มัทธิว 24:46) ในเพลงสวดที่เราชื่นชอบอีกบทหนึ่งเราร้องว่า

พระผู้ช่วยขอข้าเรียนรักพระองค์

เดินตามทางทรงสอนสั่ง

พระผู้ช่วยขอข้าเรียนรักพระองค์

ข้าจะตามพระองค์3

ดังที่พระเยซูทรงสอน ผู้ที่รักพระองค์จะรักษาพระบัญญัติของพระองค์ พวกเขาจะเชื่อฟังเหมือนดังที่ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนเมื่อเช้านี้ การติดตามพระคริสต์ไม่ใช่การกระทำตามอารมณ์หรือทำเป็นครั้งคราว แต่เป็นการให้คำมั่นสัญญาต่อเนื่องและเป็นวิถีชีวิตที่จะนำไปใช้ในทุกเวลาและในทุกแห่ง พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนหลักธรรมนี้และวิธีที่เราควรได้รับการย้ำเตือนและเสริมสร้างในการปฏิบัติตามเมื่อพระองค์ทรงจัดตั้งศาสนพิธีศีลระลึก (ศีลมหาสนิทตามที่ผู้อื่นเรียก) เราเรียนรู้จากการเปิดเผยในยุคปัจจุบันว่าพระองค์ทรงบัญชาให้ผู้ติดตามพระองค์รับส่วนในเครื่องหมายดังกล่าวเพื่อระลึกถึงพระองค์ (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 26:22 [ใน Matthew 26:26, เชิงอรรถ c], 24 [ใน Bible appendix]; งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มาระโก 14:21–24 [ใน Bible appendix]) สมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายทำตามพระบัญญัตินั้นทุกสัปดาห์โดยเข้าร่วมพิธีนมัสการซึ่งเรารับส่วนขนมปังและน้ำและทำพันธสัญญาว่าเราจะระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลาและจะรักษาพระบัญญัติของพระองค์

พระเยซูทรงสอนว่า “เขาทั้งหลายควรอธิษฐานอยู่เสมอ” (ลูกา 18:1) พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างเมื่อครั้งที่พระองค์ทรง “อธิษฐานต่อพระเจ้าตลอดทั้งคืน” (ลูกา 6:12) ก่อนที่พระองค์ทรงเรียกอัครสาวกสิบสอง เช่นเดียวกับชาวคริสต์อื่นๆ เราสวดอ้อนวอนในพิธีนมัสการ เราสวดอ้อนวอนเพื่อขอการนำทาง และเราสอนว่าเราควรสวดอ้อนวอนส่วนตัวบ่อยๆ และคุกเข่าสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัวทุกวัน ดังเช่นพระเยซู เราสวดอ้อนวอนถึงพระบิดาบนสวรรค์ และเราทำในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสต์

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเรียกอัครสาวกสิบสองเพื่อช่วยในศาสนจักรของพระองค์และทรงมอบกุญแจและสิทธิอำนาจให้พวกเขาทำงานของพระองค์ต่อไปหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ (ดู มัทธิว 16:18–19; มาระโก 3:14–15; 6:7; ลูกา 6:13) ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในฐานะที่เป็นศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ที่ได้รับการฟื้นฟู ทำตามแบบอย่างนี้ในการจัดองค์กรและในการมอบกุญแจและสิทธิอำนาจแก่เหล่าอัครสาวก

บางคนที่พระเยซูทรงเรียกให้ติดตามพระองค์ไม่ได้ตอบรับในทันทีแต่ประวิงเวลาไว้เพื่อดูแลพันธะผูกพันของครอบครัว พระเยซูทรงตอบว่า “ไม่มีใครที่เอามือจับคันไถแล้วหันหลังกลับ จะสมควรกับแผ่นดินของพระเจ้า” (ลูกา 9:62) วิสุทธิชนยุคสุดท้ายหลายคนประพฤติตามลำดับความสำคัญที่พระเยซูทรงสอน นั่นรวมถึงแบบอย่างที่ยอดเยี่ยมของผู้สอนศาสนาสูงอายุมากมายและคนอื่นๆ ซึ่งยอมละจากลูกหลานเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่เผยแผ่ศาสนาที่พวกเขาได้รับการเรียก

พระเยซูทรงสอนว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างชายและหญิง และว่า ชายควรละบิดามารดาของตนไปผูกพันอยู่กับ ภรรยา (ดู มาระโก 10:6–8) คำมั่นสัญญาของเราต่อคำสอนนี้เป็นที่รู้กันดี

ในอุปมาเรื่องแกะหายที่คุ้นเคยกันดี พระเยซูทรงสอนว่าเราควรทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อตามหาแม้คนหนึ่งที่หลงหายไป (ดู มัทธิว 18:11–14; ลูกา 15:3–7) ดังที่เราทราบ ประธานโธมัส เอส. มอนสันเน้นความสำคัญถีงวิถีทางดังกล่าวตามแบบอย่างและคำสอนที่น่าจดจำของท่านเกี่ยวกับการช่วยชีวิตเพื่อนพี่น้องชายและหญิง4

ในการช่วยชีวิตและรับใช้ เราทำตามแบบอย่างเฉพาะของพระผู้ช่วยให้รอดและคำสอนอันอ่อนโยนเกี่ยวกับความรักที่ว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 22:39) พระองค์ทรงแม้กระทั่งบัญชาเราให้รักศัตรู (ดู ลูกา 6:27–28) และในคำสอนอันยิ่งใหญ่ในช่วงสุดท้ายของการปฏิบัติศาสนกิจในชีวิตมรรตัย พระองค์ตรัสว่า

“เราให้บัญญัติใหม่ไว้กับพวกท่าน คือให้รักซึ่งกันและกัน เรารักพวกท่านมาแล้วอย่างไร ท่านก็จงรักกันและกันด้วยอย่างนั้น

ถ้าท่านรักกันและกัน ดังนี้แหละทุกคนก็จะรู้ว่าท่านเป็นสาวกของเรา” (ยอห์น 13:34–35)

ในเรื่องการรักกันและกัน พระเยซูทรงสอนว่าเมื่อมีใครทำผิดต่อเรา เราควรให้อภัยเขา (ดู มัทธิว 18:21–35; มาระโก 11:25–26; ลูกา 6:37) แม้หลายคนประสบปัญหากับพระบัญญัติที่ยากข้อนี้ แต่เราทุกคนรู้ถึงแบบอย่างอันเป็นแรงบันดาลใจของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้ซึ่งให้อภัยด้วยความรัก แม้จะเป็นความผิดที่ร้ายแรงก็ตาม ตัวอย่างเช่น คริส วิลเลียมส์ใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ในการให้อภัยคนขับรถเมาสุราผู้เป็นสาเหตุในการเสียชีวิตของภรรยาและลูกสองคน เพียงสองวันหลังจากโศกนาฏกรรมนี้ขณะยังโศกเศร้าอยู่มาก ชายผู้ให้อภัยคนนี้ ซึ่งขณะนั้นรับใช้เป็นอธิการคนหนึ่งของเรากล่าวว่า “ในฐานะสานุศิษย์ของพระคริสต์ ผมไม่มีทางเลือกอื่น”5

ชาวคริสต์จำนวนมากช่วยเหลือคนยากจนและคนขัดสนดังที่พระเยซูทรงสอน (ดู มัทธิว 25:31–46; มาระโก 14:7) ในการทำตามคำสอนดังกล่าวของพระผู้ช่วยให้รอด ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายและสมาชิกทำได้ดีมาก สมาชิกของเราบริจาคด้วยความเอื้อเฟื้อให้แก่การกุศลและให้การรับใช้ส่วนตัวตลอดจนของขวัญอื่นๆ แก่คนยากจนและคนขัดสน นอกจากนั้นสมาชิกของเราอดอาหารสองมื้อในแต่ละเดือนและบริจาคเงินค่าอาหารสองมื้อนั้นเป็นเงินอดอาหาร ซึ่งอธิการและประธานสาขาของเรานำไปให้สมาชิกผู้ขัดสน การอดอาหารเพื่อช่วยผู้หิวโหยคือการกระทำอย่างมีจิตกุศล และเมื่อทำโดยความตั้งใจจริง นั่นคือการดื่มด่ำทางวิญญาณ

โปรแกรมที่มีชื่อเสียงรองลงมาคือการรับใช้เพื่อมนุษยธรรมทั่วโลกของศาสนจักร โดยใช้เงินทุนบริจาคของสมาชิกที่มีใจเอื้อเฟื้อ ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายส่งอาหาร เสื้อผ้า และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ผู้ใหญ่และเด็กทั่วโลก การบริจาคเพื่อมนุษยธรรมนี้มียอดรวมหลายร้อยล้านดอลลาร์ในทศวรรษที่ผ่านมา และบริจาคโดยไม่มีคำนึงถึงศาสนา เผ่าพันธุ์ หรือเชื้อชาติใดๆ ทั้งสิ้น

การบรรเทาทุกข์ครั้งใหญ่ของเราหลังแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นในปี 2011 เรามอบเงินและสิ่งของบรรเทาทุกข์รวมมูลค่ากว่า 13 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนั้น อาสาสมัครของศาสนจักรกว่า 31,000 คนสละเวลาในการรับใช้รวมกันมากกว่า 608,000 ชั่วโมง การช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมของเราแก่เหยื่อของเฮอร์ริเคนแซนดี้ในสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันออกรวมถึงการบริจาคทรัพยากรหลายอย่างจำนวนมาก รวมทั้งเวลา 300,000 ชั่วโมงในการรับใช้ทำความสะอาดโดยสมาชิกศาสนจักรกว่า 28,000 คน จากตัวอย่างมากมายในปีที่ผ่านมา เราให้เสื้อผ้าและรองเท้ากว่า 300,000 ปอนด์ (136,000 กิโลกรัม) แก่ผู้ลี้ภัยในแอฟริกาจากประเทศชาด ใน 25 ปีที่ผ่านมาเราให้ความช่วยเหลือถึง 30 ล้านคนใน 179 ประเทศ6 จริงๆ แล้ว ผู้คนที่เรียกว่า “มอรมอน” รู้จักวิธีให้คนยากจนและคนขัดสน

ในคำสอนสุดท้ายของพระองค์ในพระคัมภีร์ไบเบิล พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาให้ผู้ติดตามของพระองค์นำคำสอนของพระองค์ไปสู่ทุกประชาชาติและมนุษย์ทุกคน นับตั้งแต่เริ่มต้นของการฟื้นฟู ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายได้ทำตามคำสอนนั้น แม้ว่าเมื่อเรายากจนและต่อสู้กับความยากลำบากในช่วงเริ่มต้นศาสนจักรด้วยสมาชิกไม่กี่พันคน ผู้นำของเราสมัยนั้นยังส่งผู้สอนศาสนาข้ามทะเลจากตะวันออกไปตะวันตก ในฐานะผู้คน เรายังคงสอนถึงข่าวสารของชาวคริสต์จนถึงทุกวันนี้เมื่อโปรแกรมผู้สอนศาสนาอันเป็นเอกลักษณ์ของเรามีผู้สอนศาสนาเต็มเวลามากกว่า 60,000 คน และอีกหลายพันคนที่รับใช้ไม่เต็มเวลา เรามีผู้สอนศาสนาในกว่า 150 ประเทศและเขตปกครองต่างๆ ทั่วโลก

ในบางส่วนจากคำเทศนาบนภูเขา พระเยซูทรงสอนว่า “เพราะฉะนั้นพวกท่านจงเป็นคนดีพร้อม เหมือนอย่างที่พระบิดาของท่าน ผู้สถิตในสวรรค์ทรงดีพร้อม” (มัทธิว 5:48) จุดประสงค์ของคำสอนนี้และจุดประสงค์ของการติดตามพระผู้ช่วยให้รอดคือเพื่อกลับไปหาพระบิดา ผู้ซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงเรียกว่า “พระบิดาของเราและพระบิดาของพวกท่าน (และ)… พระเจ้าของเราและพระเจ้าของพวกท่าน” (ยอห์น 20:17)

จากการเปิดเผยในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู เรารู้ว่าพระบัญญัติให้แสวงหาความดีพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในแผนของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาเพื่อความรอดของลูกๆ ของพระองค์ ภายใต้แผนดังกล่าวเราเป็น ทายาท ของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ “เราเป็นลูกของพระเจ้า” อัครสาวกเปโตรสอน “และถ้าเราเป็นลูกแล้ว เราก็เป็นทายาท คือเป็นทายาทของพระเจ้า และเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์” (โรม 8:16–17) ดังที่บอกไว้ในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ นี่หมายความว่าเราเป็น “ผู้รับมรดก…ชีวิตนิรันดร์” (ทิตัส 3:7) และถ้าเรามาหาพระบิดา เราจะ “ได้รับสิ่งเหล่านี้เป็นมรดก” (วิวรณ์ 21:7)—ทุกสิ่งที่พระองค์มี—เป็นความคิดที่สมองของมนุษย์มรรตัยอย่างเราไม่สามารถเข้าใจได้ แต่อย่างน้อยเราก็เข้าใจว่าการไปถึงจุดหมายปลายทางสูงสุดแห่งนิรันดรนี้เป็นไปได้ หากเราทำตามพระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูคริสต์ ผู้ทรงสอนว่า “ไม่มีใครมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา (ยอห์น 14:6) เราควรทำตามพระองค์และเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น ทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหลังจากนี้ ในเนื้อร้องเพลงสวด “จงตามเรามา” เราจึงร้องว่า

เพียงพอไหมที่จะรู้เท่านั้น

ว่าต้องมั่นตามพระองค์ในหล้า

คราฝ่าหุบเขาแห่งความโศกเศร้า?

เปล่า, ต้องต่อไปในแดนศักดิ์สิทธิ์

เพราะอาณาจักร อำนาจ บัลลังก์

ทั้งสิริและพรเป็นของเรา

ถ้าเราเชื่อฟังชั่วกาลนิรันดร์

ในพระคำนั้น “จงตามเรามา”7

ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์ ซึ่งเราทำตามคำสอนและแบบอย่างของพระองค์ พระองค์ทรงเชื้อเชิญทุกคนที่มีภาระหนักให้มาหาพระองค์ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์ เพื่อทำตามพระองค์ และเพื่อจิตวิญญาณเราจะได้หยุดพัก (ดู มัทธิว 4:19; 11:28) ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงความจริงของคำสอนของพระองค์ ถึงพันธกิจแห่งสวรรค์และสิทธิอำนาจของศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระองค์ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. “จงตามเรามา,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 48.

  2. ดู คาเรน ลีน เดวิดสัน, Our Latter-day Hymns: The Stories and the Messages (1988), 142–43, 419.

  3. “พระเจ้าขอข้าตามพระองค์,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 106.

  4. ดู, ตัวอย่าง, ไฮดี เอส. สวินตัน, To the Rescue: The Biography of Thomas S. Monson (2010), 149–61; Thomas S. Monson,“ออกไปช่วยชีวิต,”เลียโฮนา, ก.ค. 2001, 67–70.

  5. คริส วิลเลียมส์, ในเจสสิกา เฮนรี, “Father Relies on Faith to Forgive Intoxicated Teen Driver,” Deseret News,1 ส.ค., 2012, deseretnews.com/article/865559847/Let-It-Go-Chris-Williams-shares-his-story-of-tragedy-and-forgiveness.html ; ดู คริส วิลเลียมส์, Let It Go: A True Story of Tragedy and Forgiveness (2012) ด้วย.

  6. ดู ““Emergency Response: Church Assists Worldwide,” Church News, 9 ม.ค., 2013, 9; Welfare Services Emergency Response, “2012 Year in Review,” 8.

  7. เพลงสวด, บทเพลงที่ 48.