2010–2019
การเชื่อฟังกฎคือเสรีภาพ
เมษายน 2013


14:41

การเชื่อฟังกฎคือเสรีภาพ

ชายและหญิงได้รับสิทธิ์เสรีเป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า แต่เสรีภาพของพวกเขาซึ่งก็คือความสุขอันเป็นนิรันดร์ของพวกเขามาจากการเชื่อฟังกฎของพระองค์

ข้าพเจ้าได้รับของขวัญพิเศษเมื่อคริสต์มาสปีที่แล้วซึ่งมาพร้อมกับความทรงจำมากมาย หลานสาวข้าพเจ้าเป็นคนมอบให้ เป็นของที่อยู่กับสิ่งของซึ่งข้าพเจ้าทิ้งไว้ที่บ้านของครอบครัวเก่าเมื่อข้าพเจ้าย้ายออกมาหลังจากแต่งงาน ของขวัญชิ้นนั้นคือหนังสือสีน้ำตาลเล่มเล็กๆที่ข้าพเจ้าถืออยู่นี้ เป็นหนังสือที่มอบให้กับทหารวิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้เข้าร่วมรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยส่วนตัวแล้วข้าพเจ้ามองดูหนังสือเล่มนี้ในฐานะของขวัญจากประธานฮีเบอร์ เจ. แกรนท์ และที่ปรึกษาของท่าน เจ. รูเบน คลาร์ค จูเนียร์กับเดวิด โอ. แมคเคย์

ด้านหน้าหนังสือ ศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามท่านเขียนไว้ว่า “การรับใช้ในกองทัพไม่อนุญาติพวกข้าพเจ้าให้ติดต่อกับท่านเป็นการส่วนตัวได้ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือผ่านทางตัวแทนส่วนตัว สิ่งที่ดีที่สุดที่พวกเข้าพเจ้าสามารถทำได้ก็คือมอบหนังสือเล่มนี้ไว้ในมือของท่านซึ่งประกอบไปด้วยส่วนหนึ่งของการเปิดเผยในสมัยปัจจุบันและคำอธิบายหลักธรรมพระกิตติคุณ เพื่อที่จะเสริมสร้างความหวังและศรัทธาของท่าน และนำการปลอบประโลมและวิญญาณแห่งสันติสุขมาสู่ท่านไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใดก็ตาม”1

ปัจจุบันเราพบตนเองอยู่ในสงครามอีกอย่างหนึ่ง สงครามนี้ไม่มีการใช้อาวุธยุทธภัณฑ์แต่เป็นสงครามแห่งความคิด คำพูดและการกระทำ นั่นคือสงครามกับบาป และเราจำเป็นต้องได้รับการย้ำเตือนถึงพระบัญญัติมากกว่าแต่ก่อน เรื่องทางโลกกลายเป็นบรรทัดฐาน และความเชื่อและการปฏิบัติหลายๆอย่างนั้นขัดแย้งโดยตรงกับสิ่งต่างๆ ที่พระเจ้าพระองค์เองทรงจัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ของลูกๆ ของพระองค์

ในหนังสือสีน้ำตาลเล่มเล็กนั้น ถัดจากจดหมายจากฝ่ายประธานสูงสุดมี “ข้อควรจำเบื้องต้นสำหรับชายที่เป็นทหาร” เรื่อง การเชื่อฟังกฎคือเสรีภาพ” เป็นการเปรียบเทียบระหว่างกฎทางการทหารซึ่ง “มีไว้เพื่อประโยชน์ของทหารทุกนาย” กับกฎแห่งสวรรค์

ข้อความนั้นมีใจความว่า “ในจักรวาลที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นผู้ควบคุมมีกฎหนึ่ง— ซึ่งเป็นสากล กฎนิรันดร์— ซึ่งประกอบไปด้วยพรและการลงโทษที่เลี่ยงไม่ได้”

ข้อความสุดท้ายในบันทึกนั้นเน้นเรื่องการเชื่อฟังกฎของพระผู้เป็นเจ้า: “หากท่านประสงค์จะกลับไปหาคนที่ท่านรักอย่างภาคภูมิ…หากท่านเป็นชายและประสงค์จะอยู่อย่างมีความสุข—จงรักษากฎของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อทำดังนั้นท่านสามารถเพิ่มอิสรภาพที่หาค่ามิได้ซึ่งท่านกำลังพยายามรักษาไว้ ซึ่งผู้อื่นคอยพึ่งพา นั่นคืออิสรภาพจากบาป เพราะการเชื่อฟังกฎคือเสรีภาพอย่างแท้จริง”2

เหตุใดข้อความที่ว่า “การเชื่อฟังกฎคือเสรีภาพ” จึงมีความหมายกับข้าพเจ้าในช่วงเวลานั้น เหตุใดข้อความนี้จึงมีความหมายกับเราทุกคนในช่วงเวลานี้

อาจเป็นเพราะว่าเราได้รับการเปิดเผยความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในโลกก่อนเกิดของเรา เรารู้ว่าเมื่อพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ทรงนำเสนอแผนของพระองค์ในกาลเริ่มต้นแห่งเวลา— ซาตานต้องการเปลี่ยนแผนนั้น เขากล่าวว่าเขาจะไถ่มนุษย์ชาติทั้งปวง จะไม่มีสักจิตวิญญาณหนึ่งหายไป และซาตานมั่นใจว่าเขาสามารถทำตามข้อเสนอของเขาได้ แต่มีค่าตอบแทนที่รับไม่ได้—นั่นคือการทำลายสิทธิ์เสรีของมนุษย์ ซึ่งคือของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า (ดู โมเสเ 4:1–3) ประธานฮาโรลด์ บี. ลีกล่าวไว้เกี่ยวกับของประทานนี้ว่า “สิทธิ์เสรีเป็นของประทานยิ่งใหญ่ที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้แก่มนุษย์รองจากชีวิต”3 ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยสำหรับซาตานที่จะเพิกเฉยสิทธิ์เสรีของมนุษย์ แท้จริงแล้วมันกลายมาเป็นเรื่องสำคัญที่ก่อให้เกิดสงครามในสวรรค์ ชัยชนะของสงครามในสวรรค์คือชัยชนะสำหรับสิทธิ์เสรีของมนุษย์

อย่างไรก็ตามซาตานยังไม่ยอมหยุด แผนสำรองของเขา—ซึ่งคือแผนที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่สมัยอาดัมและเอวา—คือการล่อลวงชายและหญิง เพื่อพิสูจน์ว่าเราไม่คู่ควรกับของประทานแห่งสิทธิ์เสรีจากพระผู้เป็นเจ้า ซาตานมีเหตุผลมากมายในสิ่งที่เขาทำ เหตุผลที่สำคัญที่สุดอาจเป็นไปได้ว่าเขาต้องการแก้แค้น แต่เขาก็ต้องการให้ชายและหญิงเศร้าหมองเหมือนที่เขาเศร้าหมอง เราไม่ควรประมาทความพยายามของซาตานที่จะทำให้สำเร็จ บทบาทของเขาในแผนนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้าคือการสร้าง “การตรงกันข้ามในสิ่งทั้งปวง” (2 นีไฟ 2:11) และทดสอบสิทธิ์เสรีของเรา แต่ละการเลือกของท่านและข้าพเจ้าเป็นการทดสอบสิทธิ์เสรีของเรา—ไม่ว่าเราเลือกที่จะเชื่อฟังหรือไม่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้ามันคือการเลือกที่แท้จริงระหว่าง “เสรีภาพและชีวิตนิรันดร์” และ “การเป็นเชลยและความตาย”

หลักคำสอนพื้นฐานนี้ได้สอนไว้อย่างชัดเจนใน 2 นีไฟ บทที่สอง: “ดังนั้น, มนุษย์เป็นอิสระตามเนื้อหนัง; และสิ่งทั้งปวงซึ่งสมควรแก่มนุษย์ประทานให้พวกเขา. และพวกเขาเป็นอิสระที่จะเลือกเสรีภาพและชีวิตนิรันดร์, โดยผ่านพระผู้เป็นสื่อกลางที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษย์, หรือจะเลือกการเป็นเชลยและความตาย, ตามการเป็นเชลยและอำนาจของมาร; เพราะเขาแสวงหาเพื่อจะให้มนุษย์ทั้งปวงเศร้าหมองเหมือนตัวเขา.” (2 นีไฟ 2:27)

ในหลายๆ ประเด็น โลกนี้ก็เหมือนอยู่ในสงครามเสมอมา เมื่อฝ่ายประธานสูงสุดส่งหนังสือสีน้ำตาลเล่มเล็กนี้มาให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเชื่อว่าพวกท่านเป็นห่วงในสงครามที่ยิ่งใหญ่กว่าสงครามโลกครั้งที่สอง ข้าพเจ้ายังเชื่อว่าพวกท่านหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นเหมือนโล่แห่งศรัทธาคอยปกป้องจากซาตานและกองทัพของเขาในสงครามที่ยิ่งใหญ่กว่า—ซึ่งคือสงครามต่อต้านบาป—และคอยเป็นเครื่องย้ำเตือนให้ข้าพเจ้ารักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า

วิธีหนึ่งที่ช่วยเราประเมินตนเองและเปรียบเทียบตัวเรากับคนรุ่นก่อนๆ คือ—พระบัญญัติสิบประการ หนึ่งในมาตรฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์รู้จัก ส่วนใหญ่ของโลกที่เจริญแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกของยูดิโอ-คริสเตียน พระบัญญัติสิบประการเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับและยืนยงมากที่สุดในการแยกแยะความดีและความชั่ว

ในความเห็นของข้าพเจ้า พระบัญญัติสี่ข้อในพระบัญญัติสิบประการควรถือรักษาอย่างจริงจังในทุกวันนี้มากกว่าแต่ก่อน ตามประเพณี เรารังเกียจและประนามการฆาตกรรม การลักขโมยและการพูดเท็จ และเรายังคงเชื่อในความรับผิดชอบที่ลูกๆ มีต่อบิดามารดาของตน

แต่ในสังคมที่ใหญ่ขึ้น เราละเลยพระบัญญัติอีกหกข้อเป็นประจำ

  • ถ้าการให้ความสำคัญทางโลกมาก่อนจะบอกเป็นนัยว่า เรามี “พระเจ้าอื่น” อย่างแน่นอน ซึ่งเราให้ความสำคัญมากกว่าพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริง

  • เราทำให้คนที่มีชื่อเสียง วิถีการดำเนินชีวิต ความมั่งคั่ง และบางครั้งจากรูปแกะสลักหรือสิ่งของเป็นสิ่งที่เราเคารพบูชา

  • เราใช้พระนามของพระผู้เป็นเจ้าในวิธีที่หยาบคายหลากหลายวิธี รวมถึงในคำอุทานและคำสบถของเรา

  • เราใช้วันสะบาโตสำหรับเกมที่ใหญ่ที่สุดของเรา กิจกรรมสันทนาการที่จริงจังที่สุดของเรา การใช้จ่ายที่มากที่สุดของเรา และในทุกๆสิ่งนอกจากการนมัสการ

  • เราปฏิบัติกับความสัมพันธ์ทางเพศนอกการสมรสเหมือนกับกิจกรรมสันทนาการและการบันเทิง

  • และความโลภกลายมาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตมากเกินไป (ดู อพยพ 20:3–17)

ศาสดาพยากรณ์จากแต่ละยุคสมัยการประทานคอยเตือนเราเสมอเกี่ยวกับการละเมิดพระบัญญัติที่สำคัญมากสองข้อ- ข้อที่เกี่ยวกับการฆาตกรรมและการล่วงประเวณี ข้าพเจ้าเห็นถึงรากฐานเดียวกันของพระบัญญัติสำคัญสองข้อนี้- คือความเชื่อที่ว่าชีวิตนั้นเป็นสิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าและร่างกายของเราซึ่งคือพระวิหารของชีวิตมรรตัยควรจะถูกสร้างขึ้นภายใต้ขอบเขตที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดไว้ การที่คนคนหนึ่งจะทดแทนกฎของพระผู้เป้นเจ้าด้วยกฎเกณฑ์ของตนเองไม่ว่าจะทางหนึ่งทางใดของชีวิต คือความถือดีอย่างที่สุดและคือบาปที่ลึกที่สุด

ผลกระทบหลักของเจตคติที่ตกต่ำเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของการแต่งงานคือผลที่เกิดขึ้นกับครอบครัว—ความเข้มแข็งของครอบครัวเสื่อมลงเร็วมากอย่างน่าตกใจ การเสื่อมลงนี้ก่อให้เกิดอันตรายอย่างกว้างขวางต่อสังคม ข้าพเจ้าเห็นสาเหตุและผลกระทบโดยตรง เมื่อเราละทิ้งคำมั่นสัญญาและความซื่อสัตย์ต่อคู่สมรสของเรา เราเอากาวที่ยึดสังคมของเราไว้ด้วยกันออกไป

วิธีที่เป็นประโยชน์ในการนึกถึงพระบัญญัติคือขอให้นึกว่าเป็นคำแนะนำด้วยความรักจากพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงพระปรีชาญาณและทรงรอบรู้ เป้าหมายของพระองค์คือความสุขอันเป็นนิรันดร์ของเรา และพระบัญญัติของพระองค์คือแผนที่นำทางที่พระองค์ประทานให้เราเพื่อกลับไปหาพระองค์ ซึ่งเป็นทางเดียวเท่านั้นที่เราจะมีความสุขนิรันดร์ได้ บ้านและครอบครัวมีความสำคัญต่อความสุขนิรันดร์ของเราอย่างไร บนหน้า 141 ของหนังสือสีน้ำตาลเล่มเล็กของข้าพเจ้าบอกไว้ว่า “แท้จริงแล้ว สวรรค์ของเราเป็นมากกว่าตัวแทนของบ้านเราในนิรันดร”4

หลักคำสอนเกี่ยวกับครอบครัวและบ้านได้รับการย้ำเตือนไม่นานมานี้ด้วยความกระจ่างชัดและมีพลังใน “ครอบครัว: ถ่อยแถลงต่อโลก” ถ้อยแถลงนี้กล่าวถึงธรรมชาติอันเป็นนิรันดร์ของครอบครัวและจากนั้นจึงอธิบายถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการในพระวิหาร ถ้อยแถลงนี้ยังคงประกาศถึงกฎซึ่งกำหนดความสุขอันเป็นนิรันดร์ของครอบครัวไว้ทุกประการ กล่าวคือ “อำนาจการสร้างอันศักดิ์สิทธิ์นั้นจะต้องใช้ในระหว่างชายและหญิงผู้ซึ่งแต่งงานตามกฎหมายในฐานะสามีและภรรยาเท่านั้น”5

พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยแก่ศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ว่ามีความจริงทางศีลธรรม บาปก็คือบาปเสมอ การไม่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าจะกีดกันเราออกจากพรของพระองค์เสมอ โลกเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว แต่พระผู้เป็นเจ้า พระบัญญัติของพระองค์ และพรที่สัญญาไว้นั้นไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนไม่ได้และไม่มีวันเปลี่ยนได้ ชายและหญิงได้รับสิทธิ์เสรีเป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า แต่เสรีภาพของพวกเขาซึ่งก็คือความสุขอันเป็นนิรันดร์ของพวกเขามาจากการเชื่อฟังกฎของพระองค์ เช่นที่แอลมาให้คำแนะนำกับโคริแอนทอน บุตรชายที่หลงผิดของท่าน “ความชั่วร้ายไม่เคยเป็นความสุขเลย” (แอลมา 41:10)

ในยุคสมัยแห่งการฟื้นฟูพระกิตติคุณอันสมบูรณ์นี้ พระเจ้าได้ทรงเปิดเผยอีกครั้งถึงพรที่สัญญาไว้ให้เราเมื่อเราเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์

ในหลักคำสอนและพันธสัญญา 130 เราอ่านว่า

“มีกฎ, ประกาศิตไว้ในสวรรค์อย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ก่อนการวางรากฐานของโลกนี้, ซึ่งในนั้นทรงกำหนดพรไว้ทุกประการ—

“และเมื่อเราได้รับพรประการใดจากพระผู้เป็นเจ้า, ย่อมเป็นไปเนื่องจากการเชื่อฟังกฎนั้นซึ่งในนั้นทรงกำหนดพรไว้” (ค.พ. 130:20–21)

แน่นอนว่าไม่มีหลักคำสอนใดในพระคัมภีร์ที่ชัดเจนมากไปกว่าพระบัญญัติอันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ของพระเจ้าและมีความสัมพันธ์กับความสุขและความผาสุกของเราในแต่ละคน ในฐานะครอบครอบและในฐานะสังคม มีความสมบูรณ์ทางศีลธรรม การไม่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าจะกันเราออกจากพรของพระองค์เสมอ สิ่งเหล่านี้ไม่เปลี่ยนแปลง

ในโลกที่เข็มทิศทางศีลธรรมไม่เที่ยงตรง พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ไม่มีวันสั่นคลอน สเตคและวอร์ด ครอบครัวและสมาชิกแต่ละคนก็เช่นกัน เราต้องไม่เลือกเอาพระบัญญัติที่เราคิดว่าเป็นข้อสำคัญที่ควรรักษาแต่เราควรรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าทุกข้อ เราต้องยืนอย่างมั่นคงและแน่วแน่โดยมีความมั่นใจอันแน่วแน่ในความไม่เปลี่ยนแปลงของพระเจ้าและวางใจอย่างเต็มเปี่ยมในพระสัญญาของพระองค์

ขอให้เราเป็นดั่งแสงสว่างบนภูเขาเสมอ เป็นแบบอย่างในการรักษาพระบัญญัติที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงและไม่มีวันเปลี่ยน เช่นเดียวกับที่หนังสือเล็กๆ เล่มนี้ส่งเสิรมให้ทหารวิสุทธิชนยุคสุดท้ายยืนอย่างมั่นคงทางศีลธรรมในช่วงเวลาแห่งสงคราม ในสงครามยุคสุดท้ายนี้ ขอให้เราเป็นดั่งดวงประทีปแก่ทั่วทั้งแผ่นดินโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ลูกๆ ของพระผู้เป็นเจ้าผู้กำลังแสวงหาพรของพระเจ้า สิ่งทั้งหมดนี้ข้าพเจ้าเป็นพยานในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. ฝ่ายประธานสูงสุด, ในPrinciples of the Gospel(1943), i.

  2. Principles of the Gospel,v, vii, viii.

  3. คำสอนของประธานศาสนาจักร ฮาโรลด์ บี. ลี (2000), 4.

  4. สตีเฟน แอล. ริชาร์ดส์, ใน Principles of the Gospel, 141.

  5. “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”,เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165.