การสนทนาที่จำเป็น
เราจะรอให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเกิดขึ้นกับเด็กเองไม่ได้ การเปลี่ยนใจเลื่อมใสโดยบังเอิญไม่ใช่หลักธรรมพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์
ท่านเคยสงสัยไหมว่าทำไมเราจึงเรียกปฐมวัยว่า “ปฐมวัย”? แม้ชื่อนี้จะหมายความถึงการเรียนรู้ทางวิญญาณที่เด็กได้รับในวัยเยาว์ แต่สำหรับดิฉันชื่อนี้เตือนให้นึกถึงความจริงอันทรงพลังด้วย สำหรับพระบิดาบนสวรรค์ เด็ก ไม่เคย เป็นอันดับสอง—พวกเขาเป็น “อันดับแรก” เสมอมา1
พระองค์ทรงวางใจเราให้เห็นค่า เคารพ และคุ้มครองเด็กในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า นั่นหมายความว่าเราไม่มีวันทำร้ายพวกเขาทางร่างกาย วาจา หรืออารมณ์ในวิธีใด แม้จะมีความเครียดและความกดดันสูงก็ตาม แต่เรา เห็นค่า เด็กๆ และทำสุดความสามารถเพื่อต่อสู้กับความชั่วร้ายของการทารุณกรรม การดูแลพวกเขาเป็นอันดับแรกสำหรับเรา—เฉกเช่นสำหรับพระองค์2
พ่อแม่วัยหนุ่มสาวคู่หนึ่งกำลังนั่งทบทวนวันของพวกเขาที่โต๊ะในครัว แล้วก็ได้ยินเสียงดังตุ๊บมาจากทางห้องโถง คุณแม่ถาม “นั่นเสียงอะไร?”
จากนั้นก็ได้ยินเสียงร้องไห้เบาๆ มาจากห้องนอนของลูกชายวัยสี่ขวบ พวกเขาจึงรีบวิ่งไปทางห้องโถง พบเขากำลังนอนอยู่บนพื้นข้างเตียง คุณแม่อุ้มลูกชายตัวน้อยขึ้นมาและถามว่าเกิดอะไรขึ้น
เขาตอบว่า “ผมตกเตียงครับ”
เธอพูดว่า “แล้วทำไมถึงตกเตียงจ๊ะ?”
เขายักไหล่ตอบว่า “ไม่ทราบครับ ผมคิดว่าผมคงเข้าไปข้างในไม่มากพอ”
นั่นเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “การเข้าไปข้างในไม่มากพอ” ที่ดิฉันอยากจะพูดเช้าวันนี้ สิทธิพิเศษและหน้าที่รับผิดชอบของเราคือช่วยให้เด็ก “เข้าไปข้างใน [พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์] ให้มากพอ” และเราจะเริ่มช้าเกินไปไม่ได้
มีเวลาพิเศษสุดในชีวิตเด็กที่พวกเขาได้รับความคุ้มครองให้รอดพ้นจากอิทธิพลของซาตาน นั่นเป็นเวลาที่พวกเขาไร้เดียงสาและปราศจากบาป3 นั่นเป็นเวลาศักดิ์สิทธิ์สำหรับพ่อแม่ลูก เด็กต้องได้รับการสอนด้วยคำพูดและแบบอย่าง ทั้งก่อนและหลังจากที่พวกเขา “ถึงวัยที่รับผิดชอบได้ต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า”4
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์สอนว่า: “เรามีโอกาสที่ดีที่สุดกับผู้อ่อนเยาว์ ช่วงที่เหมาะจะสอนมากที่สุดคือวัยเยาว์ ช่วงที่เด็กยังมีภูมิต้านทานการล่อลวงของศัตรูมนุษย์ และนานก่อนที่พวกเขาจะได้ยินถ้อยคำแห่งความจริงยากขึ้นท่ามกลางเสียงต่อสู้ในตัวเอง”5 การสอนเช่นนั้นจะช่วยให้พวกเขาตระหนักในอัตลักษณ์อันสูงส่งของตน จุดประสงค์ของตน และพรอันมั่งคั่งที่รออยู่ขณะพวกเขาทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์และรับศาสนพิธีตามเส้นทางพันธสัญญา
เราจะรอให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเกิดขึ้นกับเด็กเองไม่ได้ การเปลี่ยนใจเลื่อมใสโดยบังเอิญ ไม่ใช่ หลักธรรมพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ การเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดจะไม่เกิดขึ้นอย่างไร้แบบแผน การตั้งใจรัก สอน และเป็นพยานจะช่วยให้เด็กเริ่มรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ตั้งแต่เยาว์วัย พระวิญญาณบริสุทธิ์จำเป็นต่อประจักษ์พยานและการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเด็กในพระเยซูคริสต์ เราปรารถนาให้พวกเขา “ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา, เพื่อพวกเขาจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับพวกเขา”6
ลองพิจารณาคุณค่าของการสนทนาในครอบครัวเกี่ยวกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ การสนทนา ที่จำเป็น ซึ่งสามารถอัญเชิญพระวิญญาณ เมื่อเรามีการสนทนาเช่นนั้นกับบุตรธิดา เท่ากับเราช่วยพวกเขาสร้างรากฐาน “ซึ่งเป็นรากฐานอันแน่นอน, รากฐานซึ่งหาก [พวกเขา] จะสร้างบนนั้นแล้วพวกเขาจะตกไม่ได้”7 เมื่อเราเสริมสร้างความเข้มแข็งให้บุตรธิดา เราเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว
การสนทนาที่สำคัญมากเหล่านี้จะนำบุตรธิดาให้:
-
เข้าใจหลักคำสอนเรื่องการกลับใจ
-
มีศรัทธาในพระคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์
-
เลือกบัพติศมาและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่ออายุแปดขวบ8
-
สวดอ้อนวอนและ “ดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรงต่อพระพักตร์พระเจ้า”9
พระผู้ช่วยให้รอดรับสั่งว่า “ฉะนั้นเราจึงให้บัญญัติข้อหนึ่งแก่เจ้า, ให้สอนสิ่งเหล่านี้ อย่างเปิดเผย แก่ลูกหลานของเจ้า”10 พระองค์ทรงต้องการให้เราสอนอะไรอย่างเปิดเผย?
-
การตกของอาดัม
-
การชดใช้ของพระเยซูคริสต์
-
ความสำคัญของการเกิดใหม่11
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันกล่าวว่า “แน่นอนว่าปฏิปักษ์พอใจเมื่อบิดามารดาไม่อบรมสั่งสอนลูกๆ ของพวกเขาให้มีศรัทธาในพระคริสต์และเกิดใหม่ทางวิญญาณ”12
ในทางกลับกัน พระผู้ช่วยให้รอดทรงให้เราช่วยบุตรธิดา “วางใจในพระวิญญาณองค์นั้นซึ่งนำให้ทำดี”13 เพื่อทำเช่นนั้น เราสามารถช่วยให้บุตรธิดารับรู้เมื่อพวกเขารู้สึกถึงพระวิญญาณและเล็งเห็นว่าการกระทำใดเป็นเหตุให้พระวิญญาณจากไป ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเรียนรู้ที่จะกลับใจและกลับมาหาแสงสว่างผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ สิ่งนี้ช่วยส่งเสริมความสามารถในการปรับคืนสภาพทางวิญญาณ
เราสนุกได้ขณะช่วยบุตรธิดาทุกวัยสร้างความสามารถในการปรับคืนสภาพทางวิญญาณ ไม่ต้องซับซ้อนหรือใช้เวลามาก การสนทนาที่ใส่ใจและเรียบง่ายจะทำให้บุตรธิดาไม่เพียงรู้ว่าพวกเขาเชื่อ อะไร เท่านั้น แต่สำคัญที่สุดคือรู้ว่า ทำไม พวกเขาจึงเชื่อ การสนทนาที่ใส่ใจ เกิดขึ้นตามธรรมชาติและสม่ำเสมอ สามารถทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นและได้คำตอบ อย่ายอมให้ความสะดวกของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กีดกันเราไม่ให้สอนและฟังบุตรธิดาและมองเข้าไปในดวงตาพวกเขา
เราอาจมีโอกาสสนทนาเรื่องที่จำเป็นเพิ่มขึ้นผ่านการแสดงบทบาทสมมติ สมาชิกครอบครัวสามารถแสดงสถานการณ์ของการถูกล่อลวงหรือถูกกดดันให้เลือกสิ่งไม่ดี การฝึกเช่นนั้นจะทำให้เด็กแข็งแกร่งพร้อมเผชิญสภาวการณ์ท้าทาย ตัวอย่างเช่น เราสามารถแสดงแล้วพูดคุยกันขณะถามเด็กว่าพวกเขาจะทำอะไร:
-
ถ้าพวกเขาถูกล่อลวงให้ฝ่าฝืนพระคำแห่งปัญญา
-
ถ้าพวกเขาเผชิญกับสื่อลามก
-
ถ้าพวกเขาถูกล่อลวงให้โกหก ขโมย หรือโกง
-
ถ้าพวกเขาได้ยินบางอย่างจากเพื่อนหรือครูที่โรงเรียนซึ่งขัดกับความเชื่อหรือค่านิยมของตน
เมื่อเด็กแสดงแล้วพูดคุยกันเรื่องนี้ แทนที่จะพบว่าตนเองไม่พร้อมรับแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อนในสถานการณ์ไม่เป็นมิตร พวกเขาจะมีอาวุธเป็น “โล่แห่งศรัทธาซึ่งด้วยสิ่งนั้น [พวกเขา] จะสามารถดับลูกศรเพลิง ทั้งหมด ของคนชั่วร้าย”14
เพื่อนสนิทคนหนึ่งเรียนรู้บทเรียนสำคัญยิ่งนี้เมื่ออายุ 18 ปี เขาสมัครเป็นทหารในสหรัฐช่วงเกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับเวียดนาม และได้รับมอบหมายให้ไปฝึกขั้นพื้นฐานในกรมเพื่อเป็นทหารราบ เขาอธิบายว่าการฝึกโหดมาก พรรณนาถึงครูฝึกว่าโหดเหี้ยมทารุณ
วันหนึ่งกองทหารของเขาแต่งชุดออกศึกเต็มยศไปเดินป่าท่ามกลางอากาศร้อนระอุ จู่ๆ ครูฝึกก็ตะโกนสั่งให้หมอบลงกับพื้นและห้ามเคลื่อนไหว ครูคอยดูไม่ให้มีการขยับแม้แต่ นิดเดียว การเคลื่อนไหวอะไรก็ตามจะส่งผลร้ายแรงภายหลัง กองทหารทรมานนานกว่าสองชั่วโมงท่ามกลางความร้อนด้วยความโกรธและความไม่พอใจผู้นำมากขึ้นเรื่อยๆ
หลายเดือนต่อมา เพื่อนของเราต้องเป็นคนนำกองทหารฝ่าป่าในเวียดนาม ครั้งนี้ของจริง ไม่ใช่แค่การฝึก เสียงปืนเริ่มดังมาจากด้านบนในต้นไม้ที่อยู่รอบๆ ทหารทั้งกองหมอบลงกับพื้นทันควัน
ศัตรูกำลังมองหาอะไร? การเคลื่อนไหว ถ้ามีการขยับนิดเดียวก็จะถูกยิง เพื่อนของเราบอกว่าขณะที่เขานอนนิ่งอาบเหงื่ออยู่บนผืนป่านานหลายชั่วโมงกว่าจะมืด เขาหวนนึกถึงการฝึกขั้นพื้นฐาน เขาจำได้ว่าเขาไม่ชอบครูฝึกเอามากๆ ตอนนี้เขารู้สึกขอบคุณอย่างมาก—ต่อสิ่งที่ครูฝึกสอนและเตรียมเขาให้พร้อมรับสถานการณ์วิกฤตินี้ ครูฝึกคนนั้นเตรียมเพื่อนของเราและกองทหารของเขาอย่างฉลาดให้สามารถรู้ว่าต้องทำอะไรเมื่อเกิดการต่อสู้ และนั่นส่งผลให้เขาช่วยชีวิตเพื่อนของเราไว้
เราจะทำแบบเดียวกันทางวิญญาณเพื่อบุตรธิดาของเราได้อย่างไร? นานก่อนพวกเขาเข้าสู่สมรภูมิชีวิต เราจะพากเพียรอย่างเต็มที่มากขึ้นเพื่อสอน เสริมกำลัง และเตรียมพวกเขาได้อย่างไร?15 เราจะเชื้อเชิญให้พวกเขา “เข้าไปข้างในให้มากพอ” ได้อย่างไร? เราจะไม่อยากให้พวกเขา “เหงื่อออก” ในสภาพการเรียนรู้ที่ปลอดภัยในบ้านแทนที่จะ หลั่งเลือดในสมรภูมิชีวิต หรอกหรือ?
เมื่อนึกย้อนกลับไป มีหลายครั้งที่ดิฉันกับสามีรู้สึกเหมือนครูฝึกที่ตั้งใจจะช่วยให้ลูกๆ ของเราดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ดูเหมือนศาสดาพยากรณ์เจคอบจะบอกความรู้สึกเดียวกันเมื่อท่านกล่าวว่า: “ข้าพเจ้าปรารถนาเพื่อความผาสุกของจิตวิญญาณท่าน. แท้จริงแล้ว, ความห่วงใยของข้าพเจ้าที่มีต่อท่านนั้นใหญ่หลวง; และตัวท่านเองรู้ว่ามันเป็นดังนี้ตลอดมา”16
ขณะที่เด็กเรียนรู้และก้าวหน้า ความเชื่อของพวกเขาจะถูกท้าทาย แต่เมื่อเราเตรียมพวกเขาอย่างถูกต้อง พวกเขาจะเติบโตในศรัทธา ความกล้าหาญ และความมั่นใจ แม้ท่ามกลางการต่อต้านอย่างรุนแรง
แอลมาสอนให้เรา “เตรียมจิตใจลูกๆ”17 เรากำลังเตรียมอนุชนรุ่นหลังให้เป็นผู้ปกป้องศรัทธาในอนาคต ให้เข้าใจ “ว่า [พวกเขา] เป็นอิสระที่จะกระทำด้วยตนเอง—จะเลือกทางแห่งความตายอันเป็นนิจหรือทางแห่งชีวิตนิรันดร์”18 เด็กสมควรเข้าใจความจริงอันสำคัญยิ่งนี้: นิรันดรไม่ใช่เรื่องให้เข้าใจผิด
ขอให้การสนทนาที่จำเป็นทว่าเรียบง่ายของเรากับบุตรธิดาช่วยให้พวกเขา “ยินดีกับ ถ้อยคำ แห่งชีวิตนิรันดร์” ตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อพวกเขาจะได้ยินดีกับ “ชีวิตนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง, แม้รัศมีภาพอมตะ”19
ขณะอบรมสั่งสอนและเตรียมบุตรธิดา เราเปิดให้พวกเขาใช้สิทธิ์เสรี เรารักพวกเขาสุดหัวใจ เราสอนพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าและของประทานแห่งการกลับใจให้พวกเขา และเรา ไม่มีวัน หมดหวังในตัวพวกเขา ท้ายที่สุดแล้ว พระเจ้าไม่ได้ทรงใช้วิธีนี้กับเราแต่ละคนหรือ?
ขอให้เรา “มุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์” โดยรู้ว่าเราสามารถมี “ความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง”20 ผ่านพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงรักเรา
ดิฉันเป็นพยานว่าพระองค์ทรงเป็นคำตอบเสมอ ในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสต์ เอเมน