การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด
ปีติ ของ การเรียนรู้
เมื่อเราเป็นผู้เรียนที่ตั้งใจมากขึ้น เราจะประสบปีติอันล้ำเลิศซึ่งมาจากการเรียนรู้และดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่รู้กันว่าเป็นคนเกียจคร้านประจำเมือง เขาไม่ยอมทำงาน ไม่ยอมหางานทำ เขาอาศัยน้ำพักน้ำแรงของคนอื่น ในที่สุดชาวเมืองก็เหลือทน จึงตัดสินใจพาเขาออกนอกเมืองและเนรเทศเขา ขณะที่ชาวเมืองคนหนึ่งขับรถม้าไปส่งเขา คนขับรู้สึกสงสารเขามาก คนเร่ร่อนน่าจะได้โอกาสอีกสักครั้ง ด้วยเหตุนี้เขาจึงถามว่า “คุณอยากได้ข้าวโพดซักถังไว้เริ่มต้นชีวิตใหม่ไหม”
คนเร่ร่อนตอบกลับมาว่า “เอาเปลือกออกหรือยัง”1
ครูและผู้เรียน: มีส่วนรับผิดชอบเท่าเทียมกัน
บางครั้งเราพบคนที่ต้องป้อนพระคัมภีร์ให้—พวกเขาต้องการให้ปอกเปลือกพระคัมภีร์ก่อนให้พวกเขากิน พวกเขาต้องการพระกิตติคุณผ่านการฟังคลิปเสียงสั้นเพื่อความบันเทิงหรือในคลิปวิดีโอ พวกเขาต้องการให้ครูโรงเรียนวันอาทิตย์เตรียมและป้อนบทเรียนใส่ปากพวกเขาโดยที่ตัวเขาเองเตรียมตัวหรือมีส่วนร่วมเพียงน้อยนิด
ในทางตรงกันข้าม พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้ผู้เรียนรู้กลับบ้านเพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าใจพระดำรัสของพระองค์ได้ พระองค์ทรงบัญชาให้พวกเขาสวดอ้อนวอน ไตร่ตรอง และ “เตรียมจิตใจ [ของพวกเขา] ไว้สำหรับวันพรุ่ง” เมื่อพระองค์จะ “มาหา [พวกเขา] อีก” (ดู 3 นีไฟ 17:2–3)
บทเรียนคือ การเตรียมตัวมาให้พร้อมไม่เพียงเป็นความรับผิดชอบของครูเท่านั้นแต่ของผู้เรียนด้วย ครูมีความรับผิดชอบในการสอนด้วยพระวิญญาณฉันใด ผู้เรียนมีความรับผิดชอบในการเรียนด้วยพระวิญญาณฉันนั้น (ดู คพ. 50:13–21)
พระคัมภีร์มอรมอนบันทึกว่า “ผู้สั่งสอนไม่ดีไปกว่าผู้ฟัง, ทั้งผู้สอนก็ไม่ดีไปกว่าผู้เรียนแต่อย่างใด; และดังนั้นพวกเขาจึงเท่าเทียมกัน” (แอลมา 1:26; เน้นตัวเอน)
ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการสำหรับสิ่งที่เราทำได้เพื่อประสบปีติที่เกิดขึ้นเมื่อเราทำส่วนของเราในการเรียนรู้และดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ
การเรียนรู้ที่บ้าน
ศึกษาพระคัมภีร์
สมาชิกทุกคนรับผิดชอบการเรียนพระกิตติคุณของตน เราไม่สามารถมอบความรับผิดชอบนี้ให้คนอื่นได้ การเรียนรู้ส่วนใหญ่เกิดจากการศึกษาพระคัมภีร์เป็นประจำ ประธานฮาโรลด์ บี. ลี (1899–1973) ประกาศว่า “ถ้าเราไม่อ่านพระคัมภีร์ทุกวัน ประจักษ์พยานของเราจะอ่อนแอลง”2 อัครสาวกเปาโลตั้งข้อสังเกตว่าชาวยิวในเมืองเบโรอา “มีใจยอมรับมากกว่ายิวในเมืองเธสะโลนิกา เพราะพวกเขารับพระวจนะด้วยความอยากรู้” ท่านบอกเหตุผลต่อจากนั้นว่าเพราะ “[พวกเขา] ค้นดูพระคัมภีร์ทุกวัน” (กิจการของอัครทูต 17:11; เน้นตัวเอน)
การศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันเป็นส่วนประกอบจำเป็นของความเข้มแข็งทางวิญญาณ ไม่มีสิ่งใดในกิจวัตรประจำวันของเราทดแทนการศึกษาพระคัมภีร์ได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรแบ่งเวลาไว้ศึกษาพระคัมภีร์ ไม่ใช่เหลือเวลาค่อยศึกษา
บางคนอาจพูดว่า “ฉันไม่มีเวลาศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันหรอกเพราะหน้าที่อื่นในชีวิตก็ใช้เวลาไปหมดแล้ว” คำพูดนี้เตือนให้นึกถึงเรื่องนักโค่นต้นไม้สองคนที่ประลองกันเพื่อดูว่าในหนึ่งวันใครจะโค่นต้นไม้ได้มากกว่ากัน การประลองเริ่มต้นเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ทุกชั่วโมงคนตัวเล็กกว่าจะเดินเข้าไปในป่า 10 นาทีหรือราวๆ นั้น ทุกครั้งที่เขาทำเช่นนี้ คู่แข่งจะยิ้มและพยักหน้า เชื่อมั่นว่าตนจะชนะ คนตัวใหญ่กว่าไม่ออกจากบริเวณนั้นเลย ตัดไม่หยุด ไม่พักเลย
เมื่อสิ้นวัน คนตัวใหญ่กว่าตกใจมากเมื่อทราบว่าคู่แข่งที่ดูเหมือนจะเสียเวลาไปมากกลับตัดต้นไม้ได้มากกว่าเขา “คุณทำได้อย่างไรทั้งที่คุณพักตั้งหลายครั้ง” เขาถาม
ผู้ชนะตอบว่า “อ๋อ ผมไปลับขวานครับ”
ทุกครั้งที่เราศึกษาพระคัมภีร์ เรากำลังลับขวานทางวิญญาณของเรา และส่วนที่น่าประหลาดใจคือเมื่อเราทำเช่นนั้น เราสามารถใช้เวลาที่เหลือของเราได้อย่างฉลาดมากขึ้น
เตรียมล่วงหน้า
จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าสมาชิกศาสนจักรเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อ่านพระคัมภีร์ล่วงหน้าก่อนมาสนทนาในชั้นเรียนวันอาทิตย์ เราแต่ละคนช่วยพลิกสถานการณ์นี้ได้ เราสามารถทำส่วนของเราในประสบการณ์การเรียนรู้โดยเตรียมมาเรียนมากขึ้น โดยอ่านพระคัมภีร์และพร้อมแบ่งปันข้อคิด การเตรียมของเราสามารถเป็นของขวัญทางวิญญาณที่เรามอบให้สมาชิกชั้นเรียนทุกคน
การเรียนรู้ในชั้นเรียน
มีส่วนร่วมในชั้นเรียน
พระบัญชาให้อ้าปากของเรา (ดู คพ. 60:2–3) ไม่เพียงประยุกต์ใช้ในงานเผยแผ่ศาสนาเท่านั้นแต่ในห้องเรียนด้วย เมื่อเรามีส่วนร่วม เราอัญเชิญพระวิญญาณ ผู้ทรงสามารถเป็นพยานยืนยันความจริงของความคิดเห็นของเรา จุดประกายความคิดเราให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของเราอาจสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ความนึกคิดของอีกคนหนึ่งและด้วยเหตุนี้จึงเป็นแรงกระตุ้นการมีส่วนร่วมของเขา
ในวิธีนี้ เรากำลังทำตามหลักการสอนที่พระเจ้าทรงสอน “ให้พูดทีละคนและให้ทุกคนฟังคำกล่าวของเขา, เพื่อว่าเมื่อทุกคนพูด เพื่อทุกคนจะรับการจรรโลงใจจากทุกคน” (คพ. 88:122; เน้นตัวเอน) บางครั้งการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนไม่ง่าย เราต้องก้าวออกจากโซนสุขสบายของเรา แต่การทำเช่นนี้ทำให้ทุกคนในชั้นเรียนเติบโตมากขึ้น
บันทึกความประทับใจ
ข้าพเจ้าพกบัตรเปล่าไปโบสถ์ได้พักหนึ่งแล้วและเสาะหาข้อคิดเกี่ยวกับหลักคำสอนและความประทับใจทางวิญญาณที่จะบันทึกไว้ได้ ข้าพเจ้าพูดได้เลยว่าข้าพเจ้าได้ประโยชน์มาก วิธีนี้เปลี่ยนมุมมองของข้าพเจ้า เน้นและเร่งการเรียนรู้ของข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าอยากไปโบสถ์มากขึ้น
เหตุใดการบันทึกประสบการณ์ทางวิญญาณที่เราได้รับที่โบสถ์และที่อื่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ สมมติสักครู่ว่าคุณแม่คนหนึ่งกำลังพูดกับลูกชายวัยรุ่นและเมื่อถึงจุดหนึ่งเขาพูดว่า “แม่ครับ นี่เป็นคำแนะนำที่ดีมากครับ” จากนั้นเขาหยิบสมุดออกมาจดความประทับใจที่ได้จากการสนทนาครั้งนี้ พอคุณแม่หายตกใจ เธอจะไม่อยากให้คำแนะนำอีกหรือ
แน่นอนว่าหลักธรรมเดียวกันนี้ประยุกต์ใช้ได้กับคำแนะนำจากพระบิดาในสวรรค์ของเรา เมื่อเราบันทึกความประทับใจที่พระองค์ประทานแก่เรา พระองค์ย่อมจะประทานการเปิดเผยแก่เรามากขึ้น นอกจากนี้ ความประทับใจมากมายที่เราได้รับในตอนแรกอาจเหมือนเป็นเมล็ดเล็กๆ ของความคิด แต่ถ้าเราบำรุงเลี้ยงและไตร่ตรอง ความคิดนั้นจะเติบโตเป็นต้นโอ๊กทางวิญญาณ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธพูดถึงความสำคัญของการบันทึกข้อคิดและความประทับใจดังนี้ “ถ้าท่าน … ดำเนินการสนทนาคำถามสำคัญๆ … และไม่จดไว้ … อาจเพราะไม่ใส่ใจจะเขียนสิ่งเหล่านี้เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผย เห็นว่าไม่มีค่าพอ พระวิญญาณอาจถอนตัว … และมีหรือเคยมีความรู้สำคัญๆ มากมายซึ่งเวลานี้สูญหายไปแล้ว”3
ปีติของการเรียนรู้
การเรียนรู้เป็นยิ่งกว่าหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ การเรียนรู้ยังมุ่งหมายให้เกิดปีติอย่างยิ่งด้วย
ครั้งหนึ่ง กษัตริย์ขอให้นักคณิตศาสตร์ชื่ออาร์คิมีดิสตรวจสอบว่ามงกุฏใหม่ของกษัตริย์เป็นทองบริสุทธิ์ หรือช่างทองคิดไม่ซื่อโดยผสมเงินบางส่วนเข้ากับทอง อาร์คิมีดิสคิดหาวิธีตรวจสอบ สุดท้ายก็ได้คำตอบ ลือกันว่าเขาดีใจมากกับสิ่งที่ค้นพบจนเขาวิ่งไปทั่วเมืองและร้องว่า “Eureka! Eureka!”—หมายถึง “ผมรู้แล้ว! ผมรู้แล้ว!”
ปีติของเขาใหญ่หลวงเมื่อค้นพบหลักการทางวิทยาศาสตร์ แต่มีปีติใหญ่หลวงกว่านั้นเมื่อค้นพบความจริงในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ความจริงเหล่านั้นที่ไม่เพียงให้ความรู้แก่เราเท่านั้นแต่ช่วยให้เรารอดด้วย เพราะเหตุนี้พระผู้ช่วยให้รอดจึงตรัสว่า “เราบอกสิ่งเหล่านี้กับพวกท่านแล้ว เพื่อ … ให้ความยินดีของท่านเต็มเปี่ยม” (ยอห์น 15:11) และเพราะเหตุนี้ “บรรดาบุตรพระเจ้าโห่ร้องด้วยความชื่นบาน” (โยบ 38:7) เมล็ดพืชมีพลังภายในให้เติบโตฉันใด ความจริงของพระกิตติคุณก็มีพลังภายในให้เกิดปีติฉันนั้น
“แสวงหาการเรียนรู้” (คพ. 88:118) ไม่เพียงเป็นพระบัญชาจากสวรรค์เท่านั้นแต่เป็นการเจริญรอยตามพระผู้เป็นเจ้าด้วย ทุกครั้งที่เราศึกษาพระคัมภีร์ เตรียมพร้อมอีกนิดในการมาชั้นเรียน มีส่วนร่วมในการสนทนา ถามคำถาม และบันทึกความประทับใจอันศักดิ์สิทธิ์ เรากำลังเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เราสามารถประสบปีติที่พระองค์ทรงรู้สึกได้มากขึ้น
ขอให้เราทุกคนพยายามเป็นผู้เรียนที่ตั้งใจมากขึ้น ผู้เรียนที่ดียิ่งขึ้น—ที่บ้าน ในชั้นเรียน และทุกหนแห่งที่เราอยู่ ขณะทำเช่นนั้นเราจะประสบปีติอันล้ำเลิศซึ่งมาจากการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์