2016
ความรักกับตัณหา
ตุลาคม 2016


ความรัก กับตัณหา

ถ้าเราเข้าใจได้ดีขึ้นว่าจริงๆ แล้วตัณหาหมายถึงอะไร เราจะรู้วิธีหลีกเลี่ยงตัณหาและทำการเลือกที่ดึงเราให้ใกล้ชิดพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น

young couple

ตัณหา

แน่นอนว่าตัณหาเป็นคำอัปลักษณ์ พวกเราส่วนใหญ่ไม่ต้องการนึกถึงคำนี้ นับประสาอะไรกับการเรียนรู้คำนี้ ตัณหาทำให้เกิดความรู้สึกสกปรก มืดมน—ล่อใจทว่าไม่ถูกต้อง

มีเหตุผลที่ดีสำหรับเรื่องนี้ ถ้า “การรักเงินทองเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด” (1 ทิโมธี 6:10) ตัณหาย่อมเป็นพันธมิตรลับของความรักแน่นอน ตัณหาต่ำช้าและเลวทราม ตัณหาเปลี่ยนผู้คน สิ่งของ และแม้แต่แนวคิดให้เป็นวัตถุไว้ครอบครองหรือได้มาสนองความอยาก แต่ถ้าเรารู้เช่นนั้นแล้ว เหตุใดเราจึงต้องรู้มากขึ้นเกี่ยวกับตัณหา

เพราะถ้าเราเข้าใจได้ดีขึ้นว่าจริงๆ แล้วตัณหาหมายถึงอะไร เราจะรู้วิธีหล่อหลอมความนึกคิด ความรู้สึก และการกระทำของเราทั้งนี้เพื่อเราจะสามารถหลีกเลี่ยงและไม่แสดงตัณหาออกมา สิ่งนี้จะนำเราให้เชื่อมสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น ซึ่งทำให้ความนึกคิด และเจตนาของเราบริสุทธิ์ และทำให้เราเข้มแข็ง และนั่นจะทำให้เรามีชีวิตเป็นสุข มีสันติ และปีติมากขึ้น

นิยามของตัณหา

เรามักจะคิดว่าส่วนใหญ่ตัณหาคือการมีความรู้สึกรุนแรงไม่เหมาะสมต่อเสน่ห์ทางกายของอีกคนหนึ่ง แต่เราเกิดตัณหาหรือโลภได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเงินทอง ทรัพย์สมบัติ วัตถุสิ่งของ และที่แน่ๆ คือคนอื่นๆ (ดู คู่มือพระคัมภีร์ “ราคะจริต”)

ตัณหาบังคับให้คนนั้นหมายมั่นให้ได้สิ่งที่ตรงข้ามกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ตัณหาครอบคลุมความรู้สึกหรือความปรารถนาใดก็ตามที่ทำให้บุคคลนั้นจดจ่อกับทรัพย์สมบัติทางโลกหรือการปฏิบัติที่เห็นแก่ตัว—ความสนใจ ความปรารถนา ความลุ่มหลง และความอยากของตน—ไม่ใช่การรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า

อีกนัยหนึ่ง การปรารถนาสิ่งตรงข้ามกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าหรือปรารถนาจะครอบครองสิ่งต่างๆ ในลักษณะที่ขัดกับพระประสงค์ของพระองค์คือตัณหา และนั่นนำไปสู่ความทุกข์1

man looking at fancy car

อันตรายของตัณหาทางเพศ

ถึงแม้เราจะได้รับการเตือนให้ระวังตัณหาอันเป็นรูปแบบหนึ่งของความโลภ แต่ตัณหาทางเพศเป็นอันตรายอย่างยิ่ง พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนว่า “ใครมองผู้หญิงด้วยใจกำหนัดในหญิงนั้น คนนั้นได้ล่วงประเวณีในใจของเขากับหญิงนั้นแล้ว” (มัทธิว 5:28)

อัครสาวกสมัยโบราณเตือนอย่างกว้างขวางให้ระวังตัณหาในความหมายนี้ ยกตัวอย่างเช่น อัครสาวกยอห์นกล่าวว่า “เพราะว่าทุกสิ่งที่อยู่ในโลก คือตัณหาของเนื้อหนังและตัณหาของตา และความทะนงในลาภยศไม่ได้มาจากพระบิดา แต่มาจากโลก” (1 ยอห์น 2:16; ดู ข้อ 17; โรม 13:14; 1 เปโตร 2:11ด้วย)

และคำเตือนดำเนินต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน2 เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า “เหตุใดตัณหาจึงเป็นบาปหนัก นอกเหนือจากผลกระทบร้ายแรงต่อจิตวิญญาณเราอย่างสิ้นเชิงแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งนี้เป็นบาปเพราะมันแปดเปื้อนสัมพันธภาพสูงสุดและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เราในความเป็นมรรตัย นั่นคือ—ความรักที่ชายกับหญิงมีให้กันและความปรารถนาที่คู่สามีภรรยานั้นจะนำลูกๆ มาสู่ครอบครัวที่เจตนาให้เป็นนิรันดร์”3

การยอมให้ความปรารถนาที่เป็นตัณหาก่อตัวย่อมเป็นเหตุให้เกิดการทำชั่วมากมาย สิ่งที่เริ่มด้วยการชำเลืองมองอย่างไร้เดียงสาสามารถกลายเป็นการนอกใจที่มาพร้อมผลร้ายทั้งหมดของมัน นั่นก็เพราะตัณหาขับพระวิญญาณบริสุทธิ์ออกไปและทำให้เรายอมต่อการล่อลวง ความชั่ว และกลลวงอื่นๆ ของปฏิปักษ์

การเลือกอันน่าโศกสลดของกษัตริย์ดาวิดเป็นตัวอย่างอันน่าเศร้าของความรุนแรงและความร้ายกาจของอารมณ์นี้ ดาวิดบังเอิญเห็นนางบัทเชบากำลังอาบน้ำและเกิดตัณหาในนาง ตัณหานำไปสู่การกระทำ และเขาให้พานางมาพบเขาและเขาหลับนอนกับนาง ต่อจากนั้น เพื่อพยายามปกปิดบาปของตน ดาวิดสั่งให้สามีของนางบัทเชบาไปประจำการรบตรงจุดที่มั่นใจว่าเขาจะเสียชีวิต (ดู 2 ซามูเอล 11) ด้วยเหตุนี้ ดาวิดจึงสูญเสียความสูงส่งของเขา (ดู คพ. 132:38–39)

สถานการณ์ของดาวิดอาจดูเหมือนรุนแรง แต่พิสูจน์ให้เห็นประเด็นหนึ่งแน่นอน นั่นคือ ตัณหาเป็นการล่อลวงที่มีพลัง การปล่อยตัวตามตัณหาทำให้เราพัวพันกับสิ่งที่ไม่มีใครจะทำถ้าพวกเขาคิดถูก ความจริงคือ ตัณหาร้ายกาจมาก ปลุกเร้าได้ง่าย ล่อลวงเราให้ปฏิเสธพระวิญญาณบริสุทธิ์และยอมให้ความประสงค์ของเราคล้อยตามสิ่งต้องห้ามที่ทำให้อันตรายยิ่งขึ้น ตัณหาเกิดได้จากการดูภาพลามก ฟังเพลงที่มีเนื้อร้องหยาบโลน หรือพัวพันกับความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันความรู้สึกที่เป็นตัณหาสามารถกระตุ้นให้คนนั้นมองหาสื่อลามกได้ ความสัมพันธ์เป็นวงจรเช่นนี้มีพลังและอันตรายอย่างยิ่ง4

ตัณหาทางเพศลดคุณค่าและบั่นทอนความสัมพันธ์ทั้งหมด อย่างน้อยก็ความสัมพันธ์ส่วนตัวของบุคคลนั้นกับพระผู้เป็นเจ้า “และตามจริงแล้ว เรากล่าวแก่เจ้า, ดังที่เรากล่าวมาก่อน, คนที่มองดูหญิงด้วยตัณหาราคะในนาง, หรือหากคนหนึ่งคนใดจะประพฤติล่วงประเวณีในใจพวกเขา, พวกเขาจะไม่มีพระวิญญาณ, แต่จะปฎิเสธความเชื่อและจะกลัว” (คพ. 63:16)

ดังที่เอ็ลเดอร์ริชารด์ จี. สก็อตต์ (1928–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอน “การผิดศีลธรรมทางเพศก่ออุปสรรคขวางกั้นอิทธิพลของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์พร้อมด้วยความสามารถทั้งหลายทั้งปวงที่จะช่วยยกระดับจิตใจ ให้ความกระจ่าง และให้พลัง สิ่งนี้ก่อให้เกิดสิ่งเร้าอันทรงพลังทางกายและทางอารมณ์ ในที่สุดก่อให้เกิดความอยากที่ไม่อาจระงับได้ซึ่งผลักดันผู้ล่วงละเมิดให้ทำบาปร้ายแรงยิ่งกว่าเดิม”5

อะไรไม่ใช่ตัณหา

couple walking on the beach

หลังจากพิจารณาไปแล้วว่าตัณหา คือ อะไร สำคัญเช่นกันที่ต้องเข้าใจว่าอะไร ไม่ใช่ ตัณหาและระวังอย่าเรียกความนึกคิด ความรู้สึก และความปรารถนาที่เหมาะสมว่าเป็นตัณหา ตัณหาเป็นความปรารถนา แบบ หนึ่ง แต่มีความปรารถนาที่ชอบธรรมเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เราสามารถปรารถนาสิ่งดีและเหมาะสมซึ่งจะช่วยทำให้งานของพระเจ้าบรรลุผลสำเร็จ

ลองพิจารณาดังนี้

  • ความปรารถนาจะมีเงิน ความปรารถนาเงินในตัวมันเองและของตัวมันเองไม่ใช่เรื่องชั่วร้าย เปาโลไม่ได้พูดว่า เงิน เป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด เขาพูดว่า “การ รักเงินทอง เป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด” (1 ทิโมธี 6:10; เน้นตัวเอน) คำสอนของเจคอบเพิ่มความกระจ่างในเรื่องนี้ “ก่อนที่ท่านจะแสวงหาความมั่งคั่ง, ท่านจงแสวงหาอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า และหลังจากท่านได้รับความหวังในพระคริสต์แล้วท่านจะได้รับความมั่งคั่ง, หากท่านแสวงหามัน; และท่านจะแสวงหามันด้วยเจตนาทำดี—เพื่อห่อหุ้มคนเปลือยเปล่า, และเลี้ยงคนหิวโหย, และให้อิสระแก่เชลย, และให้การบรรเทาทุกข์แก่ผู้ป่วยและคนทุกข์ยาก” (เจคอบ 2:18–19)

  • การมีความรู้สึกทางเพศที่เหมาะสมต่อคู่ครองของท่าน ความรู้สึกเหล่านี้ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานจะช่วยเสริมสร้าง เพิ่มคุณค่า และทำให้ชีวิตแต่งงานเป็นหนึ่งเดียว แต่ เป็น ไปได้ที่จะมีความรู้สึกไม่เหมาะสมต่อคู่ครอง ถ้าเรามุ่งทำให้สมปรารถนาเพียงเพื่อประโยชน์ของเราเอง หรือเพียงเพื่อสนองความอยากหรือความรู้สึกของเรา เราอาจกำลังมีความปรารถนาที่เป็นตัณหาและสามารถทำลายสัมพันธภาพการแต่งงานได้ กุญแจไขสู่การมุ่งค้นหาและรักษาความสัมพันธ์ทางกายที่เหมาะสมในการแต่งงานคือเจตนาที่บริสุทธิ์และแสดงว่ารัก

หลักสำคัญคือมุ่งค้นหาสิ่งต่างๆ เพื่อจุดประสงค์ที่ถูกต้อง—เพื่อสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าและเพิ่มความดีงามในโลก ในทางตรงกันข้าม ตัณหากระตุ้นให้เราก้าวออกจากเขตที่เหมาะสม ซึ่งความปรารถนาของเราสามารถลดคุณค่าของพระผู้เป็นเจ้า เห็นคนเป็นสิ่งของ และเปลี่ยนวัตถุสิ่งของ ความมั่งคั่งร่ำรวย และแม้แต่พลังอำนาจให้เป็นความน่าเกลียดน่ากลัวที่บิดเบือนอารมณ์ความรู้สึกของเราและทำลายความสัมพันธ์ของเรา

สาเหตุที่เรามักจะยอมตามตัณหา

ทั้งที่รู้ตัณหาเป็นอันตรายและทำให้เสียหาย เหตุใดตัณหาจึงล่อใจและแพร่หลายนัก เหตุใดเราจึงมักจะปล่อยให้ตัณหามีอำนาจเหนือเรา มองเผินๆ อาจดูเหมือนว่าความเห็นแก่ตัวหรือขาดการควบคุมตนเองเป็นสาเหตุหลักของตัณหา นั่นเป็นปัจจัยร่วม แต่บ่อยครั้งรากลึกของตัณหาคือความว่างเปล่า แต่ละคนอาจยอมจำนนต่อตัณหาขณะพยายามเติมช่องว่างในชีวิตของพวกเขาแล้วไม่ได้ผล ตัณหาเป็นอารมณ์จอมปลอม ไม่อาจแทนที่รักแท้ คุณค่าที่แท้จริง และการเป็นสานุศิษย์ที่ยั่งยืนได้

การควบคุมอารมณ์ได้ดีในแง่หนึ่งคือสภาพของจิตใจ “เพราะเขาคิดในใจฉันใด เขาเป็นฉันนั้น” (สุภาษิต 23:7) ไม่ว่าเราวางศูนย์รวมทางใจและทางวิญญาณไว้ที่ใดสุดท้ายแล้วจะกลายเป็นแรงขับเบื้องหลังความนึกคิด ความรู้สึก และการกระทำของเรา เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกถูกล่อลวงให้เกิดตัณหา เราต้องแทนที่การล่อลวงนั้นด้วยสิ่งที่เหมาะสมกว่า

ความเกียจคร้านสามารถทำให้เกิดความนึกคิดที่เป็นตัณหาได้เช่นกัน เมื่อเราทำน้อยเกินไปในชีวิตเรา เรามักอ่อนไหวต่ออิทธิพลชั่วง่ายขึ้น เมื่อเราทำงานอย่างทุ่มเทในอุดมการณ์ดี (ดู คพ. 58:27) และพยายามใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ เราจะมีความคิดที่เป็นตัณหาหรืออิทธิพลลบอื่นๆ น้อยลง

ดังที่เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบาย ความปรารถนาที่เราเลือกทำตามไม่เพียงส่งผลต่อการกระทำของเราเท่านั้นแต่ต่อคนที่เราจะเป็นในท้ายที่สุดด้วย “ความปรารถนาควบคุมการจัดลำดับความสำคัญของเรา การจัดลำดับความสำคัญหล่อหลอมการเลือกของเรา และการเลือกกำหนดการกระทำของเรา ความปรารถนาที่เรากระทำตามกำหนดการเปลี่ยนแปลง ความสำเร็จ และสิ่งที่เราจะเป็น”6

อีกนัยหนึ่งคือ เราต้องไม่เพียงระวังอารมณ์ที่เรายอมให้ตัวเราเกี่ยวพันเท่านั้น แต่เราต้องระวังความนึกคิดที่เร่งหรือทำให้เกิดความรู้สึกเหล่านั้นด้วย ดังที่แอลมาสอน ถ้าความนึกคิดของเราไม่บริสุทธิ์ “ความนึกคิดของเราจะกล่าวโทษเราด้วย” (แอลมา 12:14)

ยาถอนพิษ: ความรักเหมือนพระคริสต์

young married couple

ตัณหาใช่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะพระบิดาบนสวรรค์ประทานสิทธิ์เสรีแก่เรา เราจึงมีอำนาจเหนือความนึกคิด ความรู้สึก และการกระทำของเรา เราไม่ต้องไล่ตามความนึกคิดและความรู้สึกที่เป็นตัณหา เมื่อเกิดการล่อลวง เราเลือกได้ว่าจะไม่ไปตามเส้นทางเหล่านั้น

เราเอาชนะการล่อลวงให้เกิดตัณหาอย่างไร เราเริ่มโดยพัฒนาความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับพระบิดาบนสวรรค์และเลือกรับใช้ผู้อื่น เรามีส่วนร่วมในการปฏิบัติตนตามหลักศาสนาทุกวัน รวมถึงการสวดอ้อนวอนและการศึกษาพระคัมภีร์ ซึ่งอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในชีวิตเรา สุดท้าย สูตรลับคือความรักเหมือนพระคริสต์—บริสุทธิ์ จริงใจ รักที่ซื่อตรง พร้อมด้วยความปรารถนาจะสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าและให้ดวงตาเห็นแก่รัศมีภาพของพระองค์เสมอ ความรักนั้นเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเรามีความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์

การขจัดตัณหาต้องใช้การสวดอ้อนวอนด้วยใจจริงเพื่อทูลขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงขจัดความรู้สึกเหล่านั้นและให้ความรักที่เปี่ยมด้วยจิตกุศลเข้ามาแทน (ดู โมโรไน 7:48) นี่อยู่ในวิสัยที่ทำได้เช่นเดียวกับการกลับใจทั้งหมด คือ ผ่านพระคุณแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์7 เพราะพระองค์ เราจึงสามารถเรียนรู้ที่จะรักแบบที่พระองค์และพระบิดาบนสวรรค์ทรงรักเรา

เมื่อเรามุ่งความคิดไปที่พระบิดาบนสวรรค์ของเราตลอดเวลา เมื่อเราดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติข้อสำคัญข้อแรกและข้อสอง—รักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง (ดู มัทธิว 22:36–39)—เมื่อเราทำทั้งหมดที่ทำได้เพื่อดำเนินชีวิตตามที่พระองค์ทรงสอน เจตนาที่บริสุทธิ์และซื่อสัตย์จะมีอิทธิพลต่อชีวิตเราแรงกล้าขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราทำให้ความประสงค์ของเราเป็นหนึ่งเดียวกับพระประสงค์ของพระบิดา การล่อลวงและผลของตัณหาจะลดลง ถูกแทนที่ด้วยความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์ จากนั้นเราจะเปี่ยมด้วยความรักของพระเจ้าซึ่งแทนที่ความปรารถนาอันชั่วช้าของโลกนี้ด้วยความสวยงามแห่งการสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

อ้างอิง

  1. ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “Joy and Mercy,” Ensign, Nov. 1991, 75; และ โธมัส เอส. มอนสัน, “Finishers Wanted,” Ensign, July 1972, 69.

  2. ดูตัวอย่างสองสามตัวอย่างได้จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:121; สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์, “President Kimball Speaks Out on Morality,” Ensign, Nov. 1980, 94–98; นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “The Seventh Commandment: A Shield,” Ensign, Nov. 2001, 78–80; รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “Where Is Wisdom?” Ensign, Nov. 1992, 6–8. ทบทวนคำเตือนเรื่องตัณหาเพิ่มเติมได้จากหัวข้อต่อไปนี้ในคู่มือพระคัมภีร์: ล่วงประเวณี (การ); ตัณหา; บริสุทธิ์ทางเพศ (ความ); โลภ; ผิดประเวณี (การ); รักร่วมเพศ; ตัณหาราคะ; ราคจริต; ผิดศีลธรรมทางเพศ (การ).

  3. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ไม่มีที่แก่ศัตรูของจิตวิญญาณข้าพเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 55.

  4. ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้ใน ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “Recovering from the Trap of Pornography,” Liahona, Oct. 2015, 50.

  5. ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “Making the Right Choices,” Ensign, Nov. 1994, 38.

  6. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ความปรารถนา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 53.

  7. ดูตัวอย่างใน ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “ของประทานอันสูงส่งแห่งการกลับใจ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 48.