2017
ภาษาของพระกิตติคุณ
พฤษภาคม 2017


ภาษาของพระกิตติคุณ

การสอนที่มีประสิทธิภาพมีความสำคัญอย่างมากต่อการปกปักรักษาพระกิตติคุณในครอบครัวของเรา และสิ่งนี้เรียกร้องความพยายามและความขยันหมั่นเพียร

หลังจากได้รับการเรียกเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ ข้าพเจ้าและครอบครัวย้ายจากคอสตาริกาไปซอลท์เลคซิตี้เพื่องานมอบหมายแรก ที่นี่ในสหรัฐข้าพเจ้าได้รับพรที่มีโอกาสไปเยี่ยมผู้คนที่ยอดเยี่ยม จากวัฒนธรรมและเชื้อชาติที่แตกต่างกัน หลายคนเป็นเหมือนข้าพเจ้าที่เกิดในประเทศแถบละตินอเมริกา

ข้าพเจ้าสังเกตว่าผู้มีเชื้อสายสเปนรุ่นแรกจำนวนมากที่นี่จะพูดภาษาสเปนเป็นภาษาหลักของพวกเขาและรู้ภาษาอังกฤษมากพอที่จะสื่อสารกับผู้อื่น รุ่นที่สอง ที่เกิดในสหรัฐหรือย้ายมาเมื่ออายุยังน้อยและเข้าโรงเรียนที่นี่ พูดภาษาอังกฤษได้ดีมากและอาจพูดภาษาสเปนได้ไม่ค่อยดีนัก และบ่อยครั้งเมื่อถึงรุ่นที่สาม ภาษาสเปน ซึ่งเป็นภาษาบรรพบุรุษของพวกเขา ก็สูญหายไป1

ในด้านภาษาศาสตร์ เราเรียกสิ่งนี้ว่า “การสูญหายของภาษา” การสูญหายของภาษาอาจเกิดขึ้นเมื่อครอบครัวย้ายไปต่างแดนซึ่งภาษาแม่ของพวกเขาไม่ใช่ภาษาหลักของที่นั่น สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในหมู่ชาวสเปนแต่ในบรรดาประชากรทั่วโลกด้วยที่ภาษาแม่ถูกแทนที่ด้วยความนิยมภาษาใหม่2 แม้กระทั่งนีไฟ ผู้เป็นศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนก็มีความกังวลใจในการสูญหายของภาษาแม่ของบรรพบุรุษเมื่อท่านเตรียมย้ายไปยังแผ่นดินที่สัญญาไว้ นีไฟเขียนว่า “ดูเถิด, นี่เป็นปรีชาญาณในพระผู้เป็นเจ้าว่าเราจะได้บันทึกเหล่านี้, เพื่อ เราจะปกปักรักษาภาษาแห่งบรรพบุรุษของเราไว้ให้ลูกหลานของเรา3

นอกจากนี้นีไฟยังกังวลถึงการสูญหายของภาษาในรูปแบบอื่นด้วยเช่นกัน ในข้อพระคัมภีร์ถัดมา ท่านกล่าวต่อว่า “และเพื่อ เราจะปกปักรักษาไว้ให้พวกเขาคำซึ่งพูดจากปากของศาสดาพยากรณ์ผู้บริสุทธิ์ทั้งปวงด้วย, ซึ่งมอบไว้ให้พวกเขาโดยพระวิญญาณและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า, นับแต่โลกเริ่มต้น, แม้ลงมาถึงเวลาปัจจุบันนี้”4

ข้าพเจ้าสังเกตเห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างการปกปักรักษาภาษาแม่กับการปกปักรักษาพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ในชีวิตเรา

วันนี้ในการเปรียบเทียบของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ต้องการเน้นเฉพาะภาษาใดภาษาหนึ่งบนแผ่นดินโลก แต่จะเน้นที่ภาษานิรันดร์ซึ่งต้องปกปักรักษาไว้ในครอบครัวเราและไม่มีวันให้สูญหายไป ข้าพเจ้าพูดถึงภาษา5 ของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ โดย “ภาษาของพระกิตติคุณ” ข้าพเจ้าหมายถึงคำสอนทั้งหมดของศาสดาพยากรณ์ของเรา การเชื่อฟังของเราต่อคำสอนเหล่านั้น และการทำตามประเพณีอันชอบธรรม

ข้าพเจ้าจะพูดถึงวิธีสามวิธีที่สามารถปกปักรักษาภาษานี้ไว้ได้

วิธีแรก: ขยันหมั่นเพียรและทุ่มเทให้บ้านมากขึ้น

ในหลักคำสอนและพันธสัญญา พระเจ้าทรงเชื้อเชิญสมาชิกที่เป็นผู้นำหลายคนของศาสนจักร รวมถึงนูเวล เค. วิทนีย์ จัดครอบครัวให้อยู่ในระเบียบ พระเจ้าตรัสว่า “ผู้รับใช้ของเรา นูเวล เค. วิทนีย์ … ต้องถูกตีสอน, และจัดครอบครัวเขาให้อยู่ในระเบียบ, และจงดูว่า พวกเขาขยันหมั่นเพียรและทุ่มเทให้บ้านมากขึ้น, และจงสวดอ้อนวอนเสมอ, มิฉะนั้นพวกเขาจะถูกย้ายออกจากที่ของพวกเขา”6

ปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการสูญหายของภาษาคือเมื่อบิดามารดาไม่ใช้เวลาในการสอนภาษาแม่ให้แก่ลูก เพียงแค่ พูด ภาษานี้ในบ้านเท่านั้นยังไม่เพียงพอ หากบิดามารดาปรารถนาจะปกปักรักษาภาษาของพวกเขาไว้ ก็จำเป็นต้อง สอน ภาษานั้น การวิจัยค้นพบว่าบิดามารดาที่พยายามตั้งใจปกปักรักษาภาษาแม่ของพวกเขาไว้มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในการทำเช่นนั้น7 ดังนั้นสิ่งใดเล่าคือความพยายามตั้งใจในการปกปักรักษาภาษาของพระกิตติคุณ

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเตือนว่า “การสอนพระกิตติคุณและการเป็นแบบอย่างที่ไร้ประสิทธิภาพในบ้าน” คือต้นเหตุอันสำคัญยิ่งที่อาจทำลายวัฏจักรของครอบครัวหลายรุ่นในศาสนจักร8

ดังนั้นเราจึงสามารถสรุปได้ว่าการสอนที่มีประสิทธิภาพมีความสำคัญอย่างมากต่อการปกปักรักษาพระกิตติคุณในครอบครัวของเรา และสิ่งนี้เรียกร้องความพยายามและความขยันหมั่นเพียร

เราได้รับการเชื้อเชิญหลายครั้งให้สร้างนิสัยในการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัวและเป็นครอบครัวทุกวัน9หลายครอบครัวที่กำลังทำสิ่งนี้ได้รับพรในแต่ละวันด้วยความสามัคคีกลมเกลียวยิ่งขึ้นและความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นมากขึ้นกับพระเจ้า

บิดาและบุตรสาวศึกษาพระคัมภีร์

การศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันจะเกิดขึ้นได้เมื่อใด สิ่งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อบิดามารดาหยิบพระคัมภีร์ขึ้นมาและเชื้อเชิญครอบครัวด้วยความรักให้มาศึกษารวมกัน ยากที่จะเห็นการศึกษานี้เกิดขึ้นในวิธีอื่น

ครอบครัวศึกษาพระคัมภีร์

บิดาและมารดาทั้งหลาย จงอย่าพลาดโอกาสได้รับพรอันประเสริฐยิ่งเหล่านี้ อย่ารอจนสายเกินไป!

วิธีที่สอง: เป็นแบบอย่างที่เข้มแข็งในบ้าน

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ท่านหนึ่งเขียนว่าการปกปักรักษาภาษาแม่ไว้ “ท่านต้อง ทำให้ภาษามีชีวิต สำหรับลูกๆ ของท่าน”10 เรา “ทำให้ภาษามีชีวิต” เมื่อสิ่งที่เราสอนและแบบอย่างของเรากลมเกลียวกัน

เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็ก ข้าพเจ้าทำงานที่โรงงานของบิดาข้าพเจ้าในช่วงปิดภาคเรียน คำถามแรกที่บิดาข้าพเจ้าถามอยู่เสมอหลังจากข้าพเจ้าได้รับเงินค่าจ้างคือ “ลูกจะเอาเงินของลูกไปทำอะไร”

ข้าพเจ้ารู้คำตอบและตอบท่านว่า “จ่ายส่วนสิบและเก็บออมไว้สำหรับงานเผยแผ่ของผม”

หลังจากทำงานกับท่านมาประมาณแปดปี และตอบคำถามของท่านคำถามเดียวกันนี้อย่างสม่ำเสมอ บิดาข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านสอนข้าพเจ้าถึงวิธีจ่ายส่วนสิบแล้ว สิ่งที่ท่านไม่ได้ตระหนักคือข้าพเจ้าเรียนรู้หลักธรรมสำคัญข้อนี้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ครั้งเดียว ข้าพเจ้าขอเล่าให้ฟังว่าข้าพเจ้าเรียนรู้หลักธรรมนั้นอย่างไร

หลังเหตุการณ์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองในอเมริกากลาง ธุรกิจของบิดาข้าพเจ้าล้มละลาย จากที่ท่านเคยมีพนักงานทำงานเต็มเวลา 200 คน พนักงานลดลงเหลือช่างตัดเย็บน้อยกว่าห้าคนซึ่งทำงานเมื่อมีงานในโรงรถของบ้านเรา วันหนึ่งในช่วงเวลายากลำบากนั้น ข้าพเจ้าได้ยินบิดามารดาของข้าพเจ้าปรึกษากันว่าท่านควรจะจ่ายส่วนสิบหรือซื้ออาหารให้ลูกๆ

วันอาทิตย์วันหนึ่ง ข้าพเจ้าตามบิดาข้าพเจ้าไปดูสิ่งที่ท่านจะทำ หลังเลิกการประชุมที่โบสถ์ ข้าพเจ้าเห็นท่านหยิบซองส่วนสิบขึ้นมาหนึ่งซองและใส่เงินส่วนสิบของท่านลงในนั้น นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทเรียนเท่านั้น คำถามที่ข้าพเจ้ายังคงต้องการคำตอบคือ แล้วเราจะกินอะไร

ในเช้าตรู่ของวันจันทร์ มีคนมาเคาะประตูบ้านของเรา เมื่อข้าพเจ้าเปิดประตู พวกเขาถามหาบิดาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเรียกท่าน และเมื่อท่านมาถึง ผู้ที่มาเยี่ยมบอกท่านเรื่องงานตัดเย็บเร่งด่วนที่พวกเขาต้องการด่วนที่สุดเท่าที่จะทำได้ พวกเขายังบอกอีกว่างานดังกล่าวเป็นงานเร่งด่วนมากดังนั้นพวกเขาจะจ่ายเงินให้ล่วงหน้า วันนั้นเป็นวันที่ข้าพเจ้าเรียนรู้หลักธรรมเรื่องการจ่ายส่วนสิบและพรที่ตามมา

ในพันธสัญญาใหม่ พระเจ้าตรัสเรื่องการเป็นแบบอย่าง พระองค์ตรัสว่า “เราบอกความจริงกับพวกท่านว่า พระบุตรจะทำสิ่งใดตามใจไม่ได้นอกจากที่ได้เห็นพระบิดาทำ เพราะสิ่งใดที่พระบิดาทำ สิ่งนั้นพระบุตรจะทำเหมือนกัน”11

เข้าพระวิหาร

การ พูด กับลูกเรื่องความสำคัญของการแต่งงานในพระวิหาร การอดอาหาร และการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ยังไม่เพียงพอ พวกเขาจำเป็นต้องเห็นเราหาเวลาในตารางของเราเพื่อไปพระวิหารให้บ่อยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พวกเขาจำเป็นต้องเห็นเรายึดมั่นที่จะอดอาหารเป็นประจำ12 และรักษาวันสะบาโตทั้งวันให้ศักดิ์สิทธิ์ หากเยาวชนของเราไม่สามารถอดอาหารสองมื้อ ไม่สามารถศึกษาพระคัมภีร์เป็นประจำ และไม่สามารถปิดทีวีระหว่างการถ่ายทอดกีฬานัดสำคัญในวันอาทิตย์ พวกเขาจะมีวินัยในตนเองทางวิญญาณที่จะต้านทานสิ่งล่อลวงที่แรงกล้าของโลกอันท้าทายในปัจจุบัน รวมถึงการล่อลวงของสื่อลามกหรือไม่

วิธีที่สาม: ประเพณี

อีกวิธีหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ภาษาสูญหายไปได้คือ เมื่อภาษาและประเพณีอื่นเข้ามาผสมผสานรวมกับภาษาแม่13

ในปีแรกๆ ของศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟู พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้สมาชิกที่เป็นผู้นำหลายคนของศาสนจักรจัดครอบครัวให้อยู่ในระเบียบ พระองค์ทรงเริ่มคำเชิญโดยกล่าวถึงสองวิธีที่เราอาจสูญเสียแสงสว่างและความจริงไปจากบ้านของเรา “คนชั่วร้ายคนนั้นมาและ นำแสงสว่างและความจริงไป, จากลูกหลานมนุษย์, โดย การไม่เชื่อฟัง, และ เนื่องจากประเพณีบรรพบุรุษของพวกเขา14

ในฐานะครอบครัว เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงประเพณีทุกอย่างที่จะกีดกันเราจากการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์หรือการศึกษาพระคัมภีร์และสวดอ้อนวอนที่บ้านทุกวัน เราจำเป็นต้องปิดประตูดิจิทัลของบ้านเราไม่ให้สื่อลามกและอิทธิพลชั่วร้ายอื่นๆ ผ่านเข้ามาได้ เพื่อต่อสู้กับประเพณีของโลกในปัจจุบัน เราจำเป็นต้องใช้พระคัมภีร์และเสียงของศาสดาพยากรณ์ในปัจจุบันของเราสอนลูกๆ เกี่ยวกับอัตลักษณ์อันสูงส่ง จุดประสงค์ในชีวิตพวกเขา และพระพันธกิจอันสูงส่งของพระเยซูคริสต์

สรุป

ในพระคัมภีร์ เราพบตัวอย่างมากมายของ “การสูญหายของภาษา”15 ตัวอย่างเช่น

“บัดนี้เหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือมีอนุชนรุ่นหลังมากมายที่ ไม่เข้าใจคำ ของกษัตริย์เบ็นจามิน, โดยที่เป็นเด็กเล็กๆ ในเวลาที่ท่านพูดกับผู้คนของท่าน; และพวกเขาไม่เชื่อประเพณีบรรพบุรุษของตน. …

“และบัดนี้เพราะพวกเขาไม่เชื่อ พวกเขาจึงเข้าใจพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้; และใจพวกเขาแข็งกระด้าง”16

พระกิตติคุณได้กลายเป็นภาษาประหลาดสำหรับอนุชนรุ่นหลัง และขณะที่มีการถกเถียงในบางครั้งถึงประโยชน์ของการรักษาภาษาแม่ แต่ในบริบทของแผนแห่งความรอด ไม่มี การถกเถียง ถึงผลนิรันดร์ของการสูญหายของภาษาของพระกิตติคุณในบ้านของเรา

มารดาสวดอ้อนวอนกับบุตรชายคนเล็ก

ในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า เราเป็นผู้คนที่ไม่ดีพร้อมที่พยายามเรียนรู้ภาษาอันสมบูรณ์แบบ17 เฉกเช่นมารดามีความเมตตาสงสารต่อลูกน้อยของเธอฉันใด พระบิดาบนสวรรค์ทรงอดทนต่อความไม่ดีพร้อมและความผิดพลาดของเราฉันนั้น พระองค์ทรงเห็นคุณค่าและทรงเข้าใจการเอ่ยวาจาที่อ่อนกำลังของเรา ที่พึมพำจากความจริงใจ ประหนึ่งวาจานั้นเป็นบทกวีอันไพเราะ พระองค์ทรงชื่นชมยินดีกับเสียงของเราที่เปล่งถ้อยคำแรกของพระกิตติคุณ พระองค์ทรงสอนเราด้วยความรักที่บริบูรณ์

ครอบครัวสวดอ้อนวอนด้วยกัน

ความสำเร็จใดก็ตามในชีวิตนี้ แม้ว่าจะสำคัญ ก็ไม่มีความหมายหากเราสูญเสียภาษาของพระกิตติคุณไปจากครอบครัวของเรา18 นี่คือประจักษ์พยานของข้าพเจ้าว่าพระบิดาบนสวรรค์จะประทานพรเราในความเพียรขณะที่เราพยายามน้อมรับภาษาของพระองค์ แม้จนเราเริ่มคล่องแคล่วในการสื่อสารระดับสูงขึ้นนี้ อันเป็นภาษาแม่ของเราเสมอมา ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. ในหมู่ผู้คนเชื้อสายสเปนในรุ่นที่สาม “ระดับการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาเดียวคือ… ร้อยละ 72” (Richard Alba, “Bilingualism Persists, but English Still Dominates,” Migration Policy Institute, Feb. 1, 2005, migrationpolicy.org/article/bilingualism-persists-english-still-dominates).

  2. “การพูดเพียงภาษาอังกฤษเท่านั้นเป็นรูปแบบอันโดดเด่นที่สุดของรุ่นที่สาม” (Alba, “Bilingualism Persists, but English Still Dominates”).

  3. 1 นีไฟ 3:19; เน้นตัวเอน.

  4. 1 นีไฟ 3:20; เน้นตัวเอน.

  5. ภาษาสามารถกำหนดได้ว่าเป็น “ระบบการสื่อสารที่ใช้เฉพาะในประเทศใดประเทศหนึ่งหรือในชุมชนใดชุมชนหนึ่ง” (Oxford Living Dictionaries, “language,” oxforddictionaries.com).

  6. หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:50; เน้นตัวเอน.

  7. “[การปกปักรักษาภาษาถิ่น] มีความเป็นไปได้, แต่ต้องใช้ความทุ่มเทและการวางแผน” (Eowyn Crisfield, “Heritage Languages: Fighting a Losing Battle?” onraisingbilingualchildren.com/2013/03/25/heritage-languages-fighting-a-losing-battle). “ยกตัวอย่างเช่น ผู้พูดภาษาเยอรมันในมิดเวสต์ประสบความสำเร็จในการรักษาภาษาถิ่นไว้ได้ตลอดหลายชั่วอายุคน” (Alba, “Bilingualism Persists, but English Still Dominates”).

  8. เดวิด เอ. เบดนาร์,Multigenerational Families,การประชุมผู้นำการประชุมใหญ่สามัญ, เม.ย. 2015, broadcasts.lds.org.

  9. ตัวอย่างในปัจจุบันหนึ่งอย่างที่เป็นคำแนะนำจากฝ่ายประธานสูงสุด “เราขอแนะนำบิดามารดาและลูกๆ ให้ความสำคัญสูงสุดแก่การสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว การสังสรรค์ในครอบครัว การศึกษาและการสอนพระกิตติคุณ และกิจกรรมที่ดีงามของครอบครัว” (First Presidency letter, ก.พ. 11, 1999).

  10. “ท่านจำเป็นต้อง ทำให้ภาษามีชีวิต สำหรับลูกของท่านเพื่อพวกเขาจะสามารถเข้าใจและสื่อสารได้และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนซึ่งมีภาษานั้นเป็นตัวแทน” (Crisfield, “Heritage Languages: Fighting a Losing Battle?” เน้นตัวเอน).

  11. ยอห์น 5:19.

  12. “ตามหลักแล้วการถือปฏิบัติวันอดอาหารที่ถูกต้องคือการไม่กินอาหารและไม่ดื่มอะไรเลยเป็นเวลาสองมื้อติดต่อกันในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง เข้าร่วมการประชุมอดอาหารและแสดงประจักษ์พยาน และมอบเงินบริจาคอดอาหารด้วยน้ำใจเอื้อเฟื้อเพื่อช่วยดูแลคนขัดสน” (คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร [2010], 21.1.17).

  13. ดู ออมไน 1:17.

  14. หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:39; เน้นตัวเอน.

  15. ในบริบทของคำปราศรัยนี้, “การสูญหายของภาษา” หมายถึงการที่พระกิตติคุณอาจสูญหายได้ (ดู ผู้วินิจฉัย 2:10; ออมไน 1:17; 3 นีไฟ 1:30).

  16. โมไซยาห์ 26:1, 3; เน้นตัวเอน.

  17. ดู มัทธิว 5:48; 3 นีไฟ 12:48.

  18. ดู มัทธิว 16:24–26.