พระเมษบาลผู้ประเสริฐของเรา
พระเยซูคริสต์ พระเมษบาลผู้ประเสริฐของเราทรงมีปีติเมื่อทรงเห็นแกะที่เป็นโรคมีอาการดีขึ้นจนหายเป็นปกติ
เราเข้าใจพระอุปนิสัยของพระบิดาบนสวรรค์เมื่อเรารับรู้ว่าพระองค์ทรงมีพระเมตตาสงสารสุดคณนาต่อคนบาปและชื่นชมที่ทรงแยกแยะระหว่างบาปกับคนบาป ความเข้าใจนี้ช่วยให้เรามี “[ความเข้าใจ] ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระอุปนิสัย ความสมบูรณ์แบบ และพระคุณลักษณะของพระองค์”1 อีกทั้งเป็นรากฐานของการใช้ศรัทธาในพระองค์และในพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ พระเมตตาสงสารของพระผู้ช่วยให้รอดต่อความไม่ดีพร้อมของเราดึงเรามาหาพระองค์และเป็นแรงผลักดันให้เราพยายามกลับใจและเลียนแบบพระองค์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อเราเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น เราจะปฏิบัติต่อผู้อื่นเฉกเช่นพระองค์ โดยไม่คำนึงถึงลักษณะภายนอกหรือพฤติกรรมใดๆ
ผลของการแยกแยะระหว่างลักษณะภายนอกของแต่ละบุคคลกับตัวบุคคลเป็นหัวใจของนิยายเรื่อง Les Misérables โดยนักเขียนชาวฝรั่งเศสชื่อวิกเตอร์ อูโก2 ตอนต้นเรื่อง ผู้เล่าแนะนำให้รู้จักกับเบียงเวอนู มีเรียล บาทหลวงแห่งดีญ และพูดถึงสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่เขาประสบ เขาควรไปเยี่ยมชายคนหนึ่งซึ่งยอมรับว่าตนไม่เชื่อพระเจ้าและถูกชุมชนเหยียดหยามเพราะพฤติกรรมในอดีตของเขาเมื่อครั้งปฏิวัติฝรั่งเศสหรือไม่3
ผู้เล่ากล่าวว่าเป็นธรรมดาที่บาทหลวงอาจจะรู้สึกรังเกียจชายคนนั้นอยู่ลึกๆ ผู้เล่าจึงตั้งคำถามที่เรียบง่ายว่า “แต่กระนั้นสะเก็ดแผลของแกะควรทำให้คนเลี้ยงแกะถอยหนีหรือ”4 ผู้เล่าให้คำตอบที่ชัดเจนแทนบาทหลวงว่า “ไม่”—และจากนั้นแสดงความเห็นติดตลกว่า “แต่แกะตัวนี้บาปหนาทีเดียว!”5
ในตอนนี้ อูโกเปรียบเทียบ “ความชั่วร้าย” ของมนุษย์กับโรคผิวหนังในแกะและเปรียบเทียบบาทหลวงกับคนเลี้ยงแกะที่ไม่ถอยหนีเมื่อพบว่าแกะป่วย บาทหลวงเห็นใจและต่อมาในนิยายเขาแสดงความสงสารคล้ายกันนี้ต่อชายอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวละครหลักของเรื่อง เป็นอดีตนักโทษชื่อฌอง วัลฌอง ความเมตตาและความเห็นใจของบาทหลวงเป็นแรงผลักดันให้ฌอง วัลฌองเปลี่ยนวิถีชีวิต
เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าทรงใช้โรคภัยเป็นอุปลักษณ์ถึงบาปตลอดพระคัมภีร์ จึงสมควรที่จะถามว่า “พระเยซูคริสต์ทรงตอบสนองอย่างไรเมื่อทรงเผชิญกับอุปลักษณ์ของโรคภัยซึ่งคือบาปของเรา” พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าพระองค์ “ไม่อาจมองดูบาปด้วยระดับความยินยอมแม้เล็กน้อยที่สุด”6 แล้วพระองค์จะทรงมองดูเรา ผู้ที่ไม่ดีพร้อมโดยไม่ทรงถอยหนีด้วยความรังเกียจและความหวาดกลัวได้อย่างไร
คำตอบนั้นเรียบง่ายชัดเจน ในฐานะพระเมษบาลผู้ประเสริฐ7 พระเยซูคริสต์ทรงมองว่าโรคในแกะของพระองค์เป็นอาการที่ต้องรักษา ดูแล และสงสาร พระเมษบาลผู้ประเสริฐองค์นี้ทรงมีปีติเมื่อทรงเห็นแกะที่เป็นโรคมีอาการดีขึ้นจนหายเป็นปกติ
พระผู้ช่วยให้รอดตรัสล่วงหน้าว่าพระองค์จะทรง “เลี้ยงฝูงแกะของพระองค์เหมือนผู้เลี้ยงแกะ”8 “เสาะหาแกะที่หาย … นำตัวที่หลงกลับมา … พันผ้าให้แกะที่กระดูกหักและ … เสริมกำลังแกะที่อ่อนเพลีย”9 ถึงแม้อิสราเอลที่ละทิ้งความเชื่อจะถูกทำลายสิ้นด้วยรอย “ฟกช้ำและเป็นรอยเฆี่ยนทั้งยังเป็นแผลเลือดไหล”10 ของบาปแต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงให้กำลังใจ เตือนสติ และสัญญาว่าจะรักษาให้หาย11
การปฏิบัติศาสนกิจขณะพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นมรรตัยแสดงถึงความรัก ความสงสาร และความเห็นใจ พระองค์ไม่ทรงดำเนินบนถนนฝุ่นคลุ้งของกาลิลีและยูเดียอย่างเหยียดหยันพลางผงะเมื่อเห็นคนบาป พระองค์ไม่ทรงหลบเลี่ยงพวกเขาด้วยความหวาดกลัว ไม่เลย พระองค์เสวยกับพวกเขา12 พระองค์ทรงช่วยเหลือ ประทานพร หนุนใจ จรรโลงใจ ทรงแทนที่ความกลัวและความหมดหวังด้วยความหวังและปีติ เฉกเช่นพระเมษบาลองค์จริง พระองค์ทรงเสาะหาเราเพื่อให้การบรรเทาทุกข์และความหวัง13 การเข้าใจพระเมตตาสงสารและความรักของพระองค์ช่วยให้เราใช้ศรัทธาในพระองค์—กลับใจและหายเป็นปกติ
กิตติคุณของยอห์นบันทึกผลความเห็นใจที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีต่อคนบาป พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีนำหญิงคนหนึ่งที่ถูกจับฐานล่วงประเวณีมาหาพระผู้ช่วยให้รอด ผู้กล่าวหาบอกว่าเธอควรถูกหินขว้างตามกฎของโมเสส เพราะพวกเขาทูลถามอยู่เรื่อยๆ พระเยซูจึงตรัสตอบในที่สุดว่า “ใครในพวกท่านไม่มีบาปให้เอาหินขว้างนางก่อนเป็นคนแรก”
พวกผู้กล่าวหาเดินจากไป “เหลือแต่พระเยซูตามลำพังกับหญิงคนนั้นที่ยืนอยู่ต่อพระพักตร์พระองค์
“พระเยซู … ตรัสกับนางว่า หญิงเอ๋ย พวกเขาไปไหนหมด? ไม่มีใครเอาโทษเธอหรือ?
“นางทูลว่า ท่านเจ้าข้า ไม่มีใครเลย แล้วพระเยซูตรัสว่า เราก็ไม่เอาโทษเหมือนกัน จงไปเถิดและจากนี้ไปอย่าทำบาปอีก”14
แน่นอนว่าพระผู้ช่วยให้รอดไม่ทรงยกโทษการล่วงประเวณี แต่พระองค์ไม่ทรงเอาโทษหญิงนั้นเช่นกัน พระองค์ทรงกระตุ้นให้เธอเปลี่ยนชีวิต ทรงผลักดันให้เธอเปลี่ยนเพราะความสงสารและพระเมตตาของพระองค์ งานแปลพระคัมภีร์ไบเบิลของโจเซฟ สมิธยืนยันผลแห่งความเป็นสานุศิษย์ที่เกิดขึ้นว่า “และหญิงนั้นสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้านับจากโมงนั้นและปักใจเชื่อในพระนามของพระองค์”15
แม้พระผู้เป็นเจ้าทรงเห็นใจ แต่เราไม่ควรเชื่ออย่างผิดๆ ว่าพระองค์ทรงยอมรับและพระทัยกว้างกับบาป ไม่เลย พระผู้ช่วยให้รอดเสด็จมาแผ่นดินโลกเพื่อช่วยเราให้รอด จาก บาปของเรา และที่สำคัญคือจะไม่ทรงช่วยเราให้รอด ใน บาปของเราได้16 ซีเอสรอมผู้เชี่ยวชาญการซักถามเคยพยายามล่ออมิวเล็คให้ติดกับโดยถามว่า “[พระเมสสิยาห์จะเสด็จมา] ช่วยผู้คนของพระองค์ในบาปให้รอดหรือ? และอมิวเล็คตอบและกล่าวแก่เขา: ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าพระองค์จะไม่ทรงทำเช่นนั้น, เพราะเป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะทรงปฏิเสธพระวจนะของพระองค์ … พระองค์ทรงช่วยพวกเขาที่อยู่ในบาปของตนให้รอดไม่ได้”17 อมิวเล็คพูดหลักคำสอนพื้นฐานว่าเพื่อให้รอดจากบาป เราต้องทำตาม “เงื่อนไขของการกลับใจ” ซึ่งปลดปล่อยเดชานุภาพของพระผู้ไถ่มาช่วยให้จิตวิญญาณของเรารอด18
ความสงสาร ความรัก และพระเมตตาของพระผู้ช่วยให้รอดดึงเรามาหาพระองค์19 โดยผ่านการชดใช้ เราไม่พอใจกับสภาพบาปหนาของเราอีก20 พระผู้เป็นเจ้าตรัสชัดเจนว่าอะไรถูกและพระองค์ทรงยอมรับ อะไรผิดและเป็นบาป นี่ไม่ใช่เพราะทรงปรารถนาจะได้ผู้ติดตามที่เชื่อฟังและงมงาย ไม่เลย พระบิดาบนสวรรค์ทรงปรารถนาให้บุตรธิดาของพระองค์รับรู้และเต็มใจเลือกเป็นเหมือนพระองค์21 และคู่ควรกับชีวิตแบบที่พระองค์ทรงดำเนิน22 ในการทำเช่นนั้น บุตรธิดาของพระองค์บรรลุจุดหมายของพวกเขาและเป็นทายาทรับทั้งหมดที่พระองค์ทรงมี23 เพราะเหตุนี้ผู้นำศาสนจักรจึงไม่สามารถปรับเปลี่ยนพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าหรือหลักคำสอนที่ขัดกับพระประสงค์ของพระองค์เพื่อความสะดวกหรือให้คนนิยมชมชอบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราพยายามติดตามพระเยซูคริสต์ แบบอย่างพระกรุณาต่อคนบาปสอนเราเป็นพิเศษ เราผู้เป็นคนบาปต้องยื่นมือช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความรักความสงสารเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอด บทบาทของเราคือช่วยเหลือและเป็นพร หนุนใจและจรรโลงใจ แทนที่ความกลัวและความสิ้นหวังด้วยความหวังและปีติ
พระผู้ช่วยให้รอดทรงตำหนิผู้ถอยหนีจากคนที่พวกเขามองว่าไม่สะอาดและผู้ตัดสินคนอื่นว่าทำบาปมากกว่าตน24 นั่นเป็นบทเรียนที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเน้นกับคนเหล่านั้นผู้ “เชื่อมั่นในตัวเองว่าเป็นคนชอบธรรมและดูหมิ่นคนอื่น” พระองค์ตรัสอุปมาดังนี้
“มีสองคนขึ้นไปอธิษฐานในบริเวณพระวิหาร คนหนึ่งเป็นฟาริสีและคนหนึ่งเป็นคนเก็บภาษี
“คนที่เป็นฟาริสีนั้นยืนอยู่คนเดียวอธิษฐานว่า ข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์ขอบพระคุณพระองค์ที่ข้าพระองค์ไม่เหมือนคนอื่นที่เป็นคนฉ้อโกง เป็นคนอธรรม และเป็นคนล่วงประเวณี และไม่เหมือนคนเก็บภาษีคนนี้
“ข้าพระองค์ถืออดอาหารสองวันต่อสัปดาห์ และสิ่งสารพัดที่ข้าพระองค์หาได้ ข้าพระองค์ก็เอาทศางค์มาถวายเสมอ
“ส่วนคนเก็บภาษีนั้นยืนอยู่แต่ไกล ไม่ยอมแม้แต่แหงนหน้าดูฟ้า แต่ตีอกชกตัวกล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงเมตตาแก่ข้าพระองค์ผู้เป็นคนบาปเถิด”
พระเยซูทรงสรุปต่อจากนั้นว่า “เราบอกพวกท่านว่า คนนี้แหละ [คนเก็บภาษี] เมื่อกลับลงไปถึงบ้านของตนก็ถูกนับว่าเป็นคนชอบธรรม ไม่ใช่อีกคนหนึ่งนั้น [ฟาริสี] เพราะว่าทุกคนที่ยกตัวขึ้นจะต้องถูกเหยียดลง แต่ทุกคนที่ถ่อมตัวลงจะได้รับการยกขึ้น”25
ข่าวสารสำหรับเราชัดเจนว่า คนบาปที่กลับใจเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากกว่าคนที่คิดว่าตนเองชอบธรรมผู้เอาโทษคนบาปคนนั้น
มนุษย์ที่มีนิสัยชอบตัดสินและคิดว่าตนเองชอบธรรมมีอยู่ในสมัยของแอลมาเช่นกัน เมื่อผู้คน “เริ่มสถาปนาศาสนจักรให้เต็มที่ยิ่งขึ้น … ศาสนจักรเริ่มจองหองขึ้น … [และ] ผู้คนของศาสนจักรเริ่มทะนงตนด้วยความถือดีในสายตาตน, … พวกเขาเริ่มดูหมิ่น, กันและกัน, และพวกเขาเริ่มข่มเหงคนที่ไม่เชื่อตามเจตนาและความพอใจของตน”26
ศาสนจักรห้ามการข่มเหงนี้โดยเฉพาะ “บัดนี้มีกฎเคร่งครัดข้อหนึ่งในบรรดาผู้คนของศาสนจักร, คือจะไม่มีคนใด, ที่เป็นของศาสนจักร, ออกไปข่มเหงคนที่ไม่ได้เป็นของศาสนจักร, และจะไม่มีการข่มเหงกันในบรรดาพวกเขาเอง”27 หลักธรรมอันเป็นแนวทางสำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเหมือนเดิม เราต้องไม่ข่มเหงใครไม่ว่าในหรือนอกศาสนจักร
คนที่ถูกข่มเหงไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามรู้ว่าความอยุติธรรมและความใจแคบเป็นอย่างไร สมัยเป็นวัยรุ่นอาศัยอยู่ในยุโรปเมื่อทศวรรษ 1960 ข้าพเจ้ารู้สึกว่าถูกหาเรื่องและถูกกลั่นแกล้งหลายครั้งเพราะเป็นคนอเมริกันและเพราะเป็นสมาชิกศาสนจักร เพื่อนนักเรียนบางคนปฏิบัติต่อข้าพเจ้าประหนึ่งข้าพเจ้าต้องรับผิดชอบกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐซึ่งไม่เป็นที่นิยมชมชอบ พวกเขาปฏิบัติต่อข้าพเจ้าราวกับว่าศาสนาของข้าพเจ้าหยามประเทศที่ข้าพเจ้าอยู่เพราะต่างจากศาสนาประจำชาติ ต่อมาข้าพเจ้ามองเห็นความร้ายกาจของอคติและการเหยียดผิวซึ่งผู้ตกเป็นเป้าโจมตีต้องประสบเพราะเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ของพวกเขาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
การข่มเหงเกิดขึ้นหลายรูปแบบ อาทิ การหัวเราะเยาะ การคุกคาม การกลั่นแกล้ง การกีดกันและการแยกให้อยู่โดดเดี่ยว หรือความเกลียดชังกัน เราต้องระวังความใจแคบที่แผดเสียงน่าชิงชังใส่ผู้ที่มีความเห็นต่าง ความใจแคบประจักษ์ชัดบางส่วนเมื่อไม่ยอมให้เสรีภาพเท่าเทียมกันในการแสดงออก28 ทุกคน รวมทั้งคนเลื่อมใสศาสนา ล้วนมีสิทธิ์แสดงความเห็นของตนในที่สาธารณะ แต่ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้เกลียดชังผู้อื่นขณะพวกเขาแสดงความเห็นเหล่านั้น
ประวัติศาสนจักรมีหลักฐานยืนยันว่าผู้อื่นปฏิบัติต่อสมาชิกของเราด้วยความเกลียดชังและความใจแคบ คงจะน่าเศร้าอย่างยิ่งหากเราปฏิบัติต่อผู้อื่นเช่นที่ผู้อื่นเคยปฏิบัติต่อเรา พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่า “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่พวกท่านต้องการให้พวกเขาปฏิบัติต่อท่าน”29 เพื่อให้เขาเคารพเรา เราต้องเคารพผู้อื่น นอกจากนี้ การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเราต้องทำให้เกิด “ความอ่อนโยนและความนอบน้อมแห่งใจ” ซึ่งอัญเชิญ “พระวิญญาณบริสุทธิ์ [และทำให้เราเปี่ยมด้วย] ความรักอันบริบูรณ์”30 และ “รัก [ผู้อื่น] ด้วยน้ำใสใจจริง”31
พระเมษบาลผู้ประเสริฐไม่ทรงเปลี่ยนแปลง ทรงรู้สึกต่อบาปและคนบาปวันนี้เหมือนเมื่อครั้งพระองค์ทรงดำเนินบนแผ่นดินโลก พระองค์ไม่ทรงถอยหนีจากเราเพราะเราทำบาป ถึงแม้บางครั้งพระองค์ทรงคิดว่า “แต่แกะตัวนี้บาปหนาทีเดียว!” พระองค์ทรงรักเรามากถึงขนาดทรงเตรียมทางให้เรากลับใจและสะอาดเพื่อเราจะได้กลับไปหาพระองค์และพระบิดาบนสวรรค์32 ในการนั้นพระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างให้เราทำตามเช่นกัน—ให้เราเคารพทุกคนและไม่เกลียดชังผู้ใด
ในฐานะสานุศิษย์ ขอให้เราเป็นกระจกเงาสะท้อนความรักของพระองค์ รักกันอย่างเปิดเผยและสมบูรณ์จนไม่มีใครรู้สึกถูกทอดทิ้ง โดดเดี่ยว หรือสิ้นหวัง ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเมษบาลผู้ประเสริฐของเรา ทรงรักและห่วงใยเรา ทรงรู้จักเราและพลีพระชนม์ชีพเพื่อแกะของพระองค์33 พระองค์ทรงพระชนม์เพื่อเรา ทรงต้องการให้เรารู้จักและใช้ศรัทธาในพระองค์เช่นกัน ข้าพเจ้ารักและเทิดทูนพระองค์ ข้าพเจ้าสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณนั้น ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน