ความสำคัญนิรันดร์ของ ครอบครัว
จากคำปราศรัยเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 2015
ในคำปราศรัยของท่านระหว่าง World Congress of Families ในซอลท์เลคซิตี้ ยูทาห์ สหรัฐอเมริกา เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดกล่าวว่าคนที่เชื่อเรื่องการแต่งงานตามจารีตประเพณีต้องพร้อมใจกันสนับสนุนเรื่องนี้เพื่อเสริมสร้างและปกป้องความเชื่อ ครอบครัว และเสรีภาพของพวกเขา
พระวิหารสำคัญมากต่อวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเพราะในนั้นคู่สามีภรรยาแต่งงานเพื่อกาลเวลาและนิรันดร ไม่ใช่แต่งงานจนกว่าความตายจะพรากพวกเขา ตามที่ศาสนจักรประกาศไว้ใน “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” เมื่อ 23 ปีก่อน “การแต่งงานระหว่างชายและหญิงได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้าและ …ครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนของพระผู้สร้างเพื่อจุดหมายปลายทางนิรันดร์ของบุตรธิดาของพระองค์”1
หลักคำสอนดังกล่าวอธิบายจุดยืนของเราเกี่ยวกับครอบครัว เราเชื่อเช่นกันว่าเราต้องเอื้อมไปหาทุกคนด้วยความเข้าใจ ความรัก และความเห็นอกเห็นใจ คำพูดของข้าพเจ้าในเบื้องต้นจะเน้นเหตุผลด้านหลักคำสอนที่ว่าครอบครัวตามจารีตประเพณีมีบทบาทสำคัญในศาสนจักรของเรา สอง ข้าพเจ้าจะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความละเอียดอ่อนด้านศาสนาที่รายล้อมครอบครัวกับเสรีภาพทางศาสนา สุดท้าย ข้าพเจ้าจะเสนอหลักธรรมชี้นำบางประการเกี่ยวกับการเอื้อมไปหาคนรอบข้างเรา ทั้งที่มีความเข้าใจผิดหรือความเห็นไม่ตรงกับเรา
ความเชื่อของศาสนจักรเกี่ยวกับครอบครัว
เพื่อให้บริบทเกี่ยวกับความเชื่อของศาสนจักรเราในเรื่องครอบครัว ข้าพเจ้าประสงค์จะอ้างเนื้อร้องจากเพลงที่เด็กๆ ของเราร้องกันบ่อยครั้งชื่อว่า “ฉันอยู่ในสรวงสวรรค์” เพลงนี้สรุปว่าเรามาจากไหน เราอยู่ที่นี่ทำไม และเราจะไปที่ไหน วิสุทธิชนยุคสุดท้ายเรียกสิ่งนี้ว่าแผนแห่งความรอด—แผนนิรันดร์ของพระบิดาบนสวรรค์ของเรา
แท้ที่จริงฉันนั้นอยู่ในสรวงสวรรค์แสนนานมา
อาศัยและรักที่นั่นเธอและฉันแสนสุขทุกครา ท่านทำได้เช่นกัน
จวบจนพระบิดาทรงสร้างสรรค์แผนล้ำเลิศงดงาม
เพื่อโลกและความสูงส่งนิรันดร์ของมนุษย์ทุกนาม
พระบิดาตรัสว่าพระองค์ประสงค์ผู้ที่รักมากพอ
สละชีพเพื่อเรากลับไปหาพระได้ไม่รั้งรอ
มีผู้ขออาสาด้วยปรารถนาอำนาจสวรรค์
แต่เยซูถวายรัศมีภาพพระบิดาพลัน
พระเยซูทรงได้รับเลือกมาเป็นพระเมสสิยาห์
ชนะความชั่วความตายโดยพระสิริโรจนา
พระประทานความหวังแห่งชีวีอันแสนอัศจรรย์—
ณ บ้านในสวรรค์พระบิดาทรงรอฉันที่นั่น2
ขณะนึกถึงเพลงนี้ขอให้ข้าพเจ้าอธิบายองค์ประกอบสำคัญสองสามประการของแผนแห่งความรอดเพื่อจะเน้นย้ำความเป็นอมตะของเราและความเป็นนิรันดร์ของครอบครัวเรา
ก่อนชีวิตนี้ เราอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเป็นพระบิดาบนสวรรค์ของเรา พระองค์ทรงเป็นพระบิดาแท้จริงของวิญญาณเราและเราเป็นบุตรธิดาทางวิญญาณของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ ทุกคนที่เกิดมาในชีวิตนี้จึงเป็นพี่น้องกันทางวิญญาณ
“จุดประสงค์ทั้งมวลของพระผู้เป็นเจ้า—งานและรัศมีภาพของพระองค์—คือเพื่อให้เราแต่ละคนได้รับพรทั้งหมดของพระองค์” การเลือกเชื่อฟังหรือไม่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์กำหนดจุดหมายนิรันดร์ของเรา “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นศูนย์กลางในแผนของพระผู้เป็นเจ้า โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงทำให้จุดประสงค์ของพระบิดามีสัมฤทธิผลและทำให้เราแต่ละคนได้รับความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์”3 การแต่งงานและสายสัมพันธ์ในครอบครัวถูกผูกมัดโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตเพื่อให้คงอยู่หลังความตายถ้าเราแต่งงาน “เพื่อกาลเวลาและเพื่อชั่วนิรันดร” ในพระวิหาร (คพ. 132:7)
ข้าพเจ้าหวังว่าคำอธิยายโดยสังเขปนี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจว่าหลักศาสนาของเราเชื่อมโยงกับครอบครัวตามจารีตประเพณีสมบูรณ์เพียงใด สังคม กฎหมาย และมตินิยมอาจเปลี่ยน แต่รูปแบบครอบครัวของสังคมไม่สามารถแทนที่และจะไม่แทนที่จุดประสงค์และแผนของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับบุตรธิดาของพระองค์
ในโลกทุกวันนี้ที่การแต่งงานและบุตรนับวันจะมีความสำคัญน้อยลง ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายไม่โดดเดี่ยวในการกำหนดให้ครอบครัวตามจารีตประเพณีเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดประการหนึ่งด้านหลักคำสอน
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสกล่าวไว้ว่า “พระองค์ [พระผู้เป็นเจ้า] ทรงสร้างชายหญิงให้มีความสุข ให้พวกเขาร่วมทางกับคนเติมเต็มพวกเขา มีประสบการอันน่าพิศวงของความรัก รักและเป็นที่รัก และเห็นความรักของพวกเขาออกผลในลูกหลาน”4
นิกายแบ๊ปติสม์เซาเธิร์นประกาศว่า “การแต่งงานคือการทำให้ชายหนึ่งคนกับหญิงหนึ่งคนเป็นหนึ่งเดียวกันในข้อผูกมัดแบบพันธสัญญาชั่วชีวิต … สามีภรรยามีค่าเท่ากันต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากพระองค์ทรงสร้างทั้งคู่ตามรูปลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้า”5…
ความเชื่อตามหลักคำสอนของเราเกี่ยวกับครอบครัวนิรันดร์และถ้อยแถลงของผู้นำศาสนาคริสต์ที่โดดเด่นอีกหลายท่านทำให้เข้าใจง่ายขึ้นว่าเหตุใดเราจึงทุ่มเทให้การปลูกฝัง ปกป้อง และส่งเสริมครอบครัวตามจารีตประเพณี
การสนับสนุนทางโลกสำหรับทัศนะทางศาสนา
มีคนคิดว่าหลักคำสอนและถ้อยแถลงเหล่านั้นเป็นทัศนะทางศาสนาที่ไร้เหตุผล อย่างไรก็ดี ศาลสูงสุดของสหรัฐออกมายอมรับในเดือนมิถุนายน ปี 2015 ว่าคนที่จริงใจและมีเหตุผลอาจเห็นต่างได้ถึงแม้จะรับรองการแต่งงานกับเพศเดียวกัน
“การแต่งงานศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนที่ดำเนินชีวิตตามศาสนาของพวกเขา…
“… มีการอ้างถึงความสวยงามของการแต่งงานในตำราวิชาศาสนาและปรัชญาที่ก้าวข้ามเวลา วัฒนธรรม และความเชื่อ เช่นเดียวกับในศิลปะและวรรณกรรมทุกรูปแบบ จึงสมควรและจำเป็นต้องพูดว่าการอ้างถึงเหล่านี้ยึดหลักความเข้าใจที่ว่าการแต่งงานคือการสมรสระหว่างคนต่างเพศสองคน…
“…การแต่งงานในทัศนะของพวกเขาคือการอยู่กินตามธรรมชาติของชายและหญิง ทัศนะนี้มีมาแต่ช้านาน—และยังคงมีต่อไป—อย่างซื่อสัตย์ในคนที่จริงใจและมีเหตุผลที่นี่และทั่วโลก”6
ศาลสูงสุดรับรองอย่างถูกต้องว่าคนที่จริงใจและมีเหตุผลจำนวนมากในโลกยังคงรับรองการแต่งงานตามจารีตประเพณี
ความเชื่อ ครอบครัว และเสรีภาพ
การเข้าใจว่าคนที่จริงใจและมีเหตุผลอาจมองการแต่งงานเป็นเรื่องระหว่างคนต่างเพศสองคนเท่านั้น จัตุรัสสาธารณะต้องรองรับและเสรีภาพทางศาสนาต้องคุ้มครองทัศนะเช่นนั้น โดยแท้แล้ว เพราะความเชื่อทางศาสนาส่งผลต่อวิธีที่ผู้เชื่อมองจุดประสงค์ของชีวิต ทัศนะดังกล่าวจึงส่งผลต่อวิธีที่พวกเขาปฏิสัมพันธ์กับสังคม
ข้าพเจ้านึกถึงเรื่องที่เป็นข่าวเกี่ยวกับเด็กเล็กที่ครูของพวกเขาอ่านเรื่องเจ้าชายสองคนหลงรักกันให้ฟัง ครูนำเสนอเนื้อหานี้โดยไม่มีการเตือนหรือการแจ้งให้ทราบ เมื่อผู้ปกครองขอให้แจ้งถ้าจะอ่านเรื่องนี้อีกครั้งในอนาคต โรงเรียนปฏิเสธ7
ผู้บริหารโรงเรียนจะได้รับความเสียหายหรือไม่ถ้าผู้ปกครองนำบุตรหลานออกจากโรงเรียนเมื่อครูสอนเนื้อหาขัดกับความเชื่อของพวกเขา การตัดสินใจของโรงเรียนดูเหมือนจะทำลายบทบาทการเลี้ยงดูบุตรของบิดามารดาโดยตรง
เรามีชีวิตอยู่ในยุคของความสุดโต่ง บ่อยครั้งการประนีประนอมดูเหมือนยุ่งยากและห่างไกล เราได้ยินเรื่องราวของคนที่พยายามรักษามาตรฐานของพวกเขาเพียงเพื่อถูกกล่าวหาว่าหัวดื้อหรือใจแคบ หรือถูกลงโทษอย่างไม่มีเหตุผล
เกือบ 200 ประเทศของโลก รวมทั้งสหรัฐ ส่วนใหญ่ยอมรับอภิสิทธิ์ของบิดามารดาในการสอนบุตรธิดาเมื่อพวกเขาลงนามในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 18 ของสนธิสัญญานี้กล่าวว่า “รัฐภาคี … เคารพเสรีภาพของบิดามารดา … ในการให้การศึกษาทางศาสนาและศีลธรรมแก่เด็กตามความเชื่อของตน”8
ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศข้อนี้สอดคล้องกับจุดยืนของศาสนจักร ซึ่งกล่าวไว้ในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวว่า “บิดามารดามีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะเลี้ยงดูลูกๆ ด้วยความรักและความชอบธรรม … สอนพวกเขาให้รักและรับใช้กัน [และ] ให้เชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า … สามีและภรรยา—บิดาและมารดา—จะมีความรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าในการปฏิบัติภาระหน้าที่เหล่านี้ให้ลุล่วง”9
เราอาจรู้สึกเหมือนมีกระแสต่อต้าน แต่มีมากมายสนับสนุนให้เราสืบสานทัศนะของการแต่งงานตามจารีตประเพณีต่อไป ข้าพเจ้าระบุชื่อไปแล้วเพียงสองสามแหล่ง และยังมีอีกหลายแหล่ง
เราต้องพร้อมใจกันสนับสนุนเรื่องนี้เพื่อเสริมสร้างและปกป้องความเชื่อ ครอบครัว และเสรีภาพของพวกเขา บางคนพยายามดำเนินการถอนสิทธิ์เหล่านี้ของเรา เรื่องที่เป็นข่าวเรื่องหนึ่งรายงานว่ามีคนทุ่มเงินหลายล้านดอลลาร์ให้การทำลายความคุ้มครองเสรีภาพทางศาสนาในสหรัฐ10
ข้าพเจ้าเชื่อว่าเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเพื่อนร่วมงานของข้าพเจ้าพูดถึงการคุกคามทำนองนี้ได้ดีที่สุด “แม้เมื่อเราพยายามสุภาพอ่อนน้อมและหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่เราต้องไม่ประนีประนอมหรือคลายความยึดมั่นต่อความจริงที่เราเข้าใจ เราต้องไม่ละทิ้งจุดยืนหรือคุณค่าของเรา”11
ถ้าคนที่คัดค้านเรายึดมั่นคุณค่าของความหลากหลายและความเท่าเทียมกันจริงๆ เราน่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้เพื่อให้เกิดความเห็นใจและสันติสุข การยัดเยียดความเชื่อของคนหนึ่งให้อีกคนหนึ่ง ดังกรณีเกิดกับเด็กที่ครูอ่านเนื้อหาขัดกับความประสงค์ของผู้ปกครอง จะลดความหลากหลายและเกิดความไม่เท่าเทียมกัน การประนีประนอมและให้ความรักแก่บุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นพี่น้องของเราจะช่วยเราสร้างสังคมที่สงบสุขมีความเชื่อและอุดมคติหลากหลาย
หลักธรรมชี้นำเกี่ยวกับการรักกัน
ข้าพเจ้าพูดเรื่องความสำคัญของการแต่งงานตามจารีตประเพณีไปแล้วและเราต้องปกป้องสิทธิ์ของเรา ข้าพเจ้าจะขออธิบายสาเหตุที่เราควรยื่นมือแห่งมิตรภาพให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา พระเยซูคริสต์ทรงบัญชาว่า
“จงรักศัตรูของท่าน อวยพรคนที่สาปแช่งท่าน ทำดีต่อคนที่เกลียดชังท่าน และจงอธิษฐานเพื่อบรรดาคนที่ใช้ท่านอย่างดูหมิ่น และข่มเหงพวกท่าน”
“เพื่อว่าพวกท่านจะเป็นบุตรของพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์” (มัทธิว 5:44–45)
เราไม่และไม่ควรรังเกียจสมาชิกครอบครัวที่เราไม่เห็นด้วยฉันใด เราไม่สามารถและไม่ควรรังเกียจคนที่มองหรือคิดหรือกระทำต่างจากเราฉันนั้น เราแสดงให้เห็นความเป็นคนดีที่สุดของเราเมื่อเราแสดงความรักและความกรุณาต่อบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า เราแสดงให้เห็นการเป็นสานุศิษย์ของเราเมื่อเราไม่ทำเสียงแข็งกร้าว เมื่อเราไม่ดูถูกเย้ยหยัน และเมื่อเราเข้าไปในจัตุรัสสาธารณะโดยมุ่งหมายจะให้เกิดผลดีผ่านความเข้าใจและความเคารพกัน
เมื่อเร็วๆ นี้ศาสนจักรสนับสนุนการออกกฎหมายที่คลายกังวลของชุมชน LGBT (เลสเบี้ยน เกย์ รักร่วมเพศ และคนผิดเพศ) และคลายกังวลของผู้มีความละเอียดอ่อนด้านศาสนาที่ถือปฏิบัติกันมา การออกกฎหมายจะคุ้มครองกลุ่มคน LGBT ไม่ให้ถูกไล่ออกจากงานหรือไม่มีที่อยู่เพราะความโน้มเอียงทางเพศหรือตัวตนของพวกเขา พร้อมๆ กับคุ้มครองมโนธรรมด้านศาสนาและสิทธิ์ในการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาที่ตนยึดถือ12
ไม่มีฝ่ายใดได้ทั้งหมดที่ต้องการ แต่งานของเรากับชุมชน LGBT และสภานิติบัญญัติยูทาห์ลดความแตกแยกในชุมชนของเราโดยไม่ละทิ้งหลักธรรมสำคัญ13 เราสามารถรักกันได้โดยไม่ละทิ้งหลักศาสนาของเรา และเราสามารถพูดถึงอุดมคติเหล่านั้นได้โดยไม่ลดความสำคัญของผู้อื่น
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างสูงสุดของการรักผู้อื่น หลายชั่วโมงก่อนทรงเริ่มกระบวนการที่เจ็บปวดของการชำระบาปให้เราแต่ละคน พระองค์ทรงพบกับเหล่าอัครสาวกเพื่อเสวยอาหารปัสกา—พระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระองค์—และประทานคำแนะนำสุดท้ายที่พระองค์จะทรงมอบให้ในความเป็นมรรตัย หนึ่งในคำสอนเหล่านั้นคือคำประกาศปลุกใจที่เปลี่ยนชีวิต “เราให้บัญญัติใหม่ไว้กับพวกท่าน คือให้รักซึ่งกันและกัน เรารักพวกท่านมาแล้วอย่างไร ท่านก็จงรักกันและกันด้วยอย่างนั้น” (ยอห์น 13:34)
เราสามารถระบุและชื่นชอบประโยชน์ของการแต่งงานระหว่างชายหญิงได้โดยไม่ดูหมิ่นหรือทำลายคนที่คิดต่างจากเรา ไม่ว่าจะมีความเชื่อหรือการปฏิบัติอย่างไร ในฐานะพี่น้องกันเราควรพยายามเข้าใจกัน จำไว้ว่าสุดท้ายแล้วทั้งคนที่แต่งงานและคนโสดล้วนเป็นส่วนหนึ่งในแผนอันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า
สรุป
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกับไฮรัมพี่ชายท่านถูกกลุ่มคนร้ายสังหารเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1844 ขณะพวกท่านอยู่ในความคุ้มครองของรัฐ หลังจากมรณสักขี การข่มเหงและกลุ่มคนร้ายขู่จะทำลายสมาชิกของศาสนจักรขณะพวกเขากำลังสร้างพระวิหารนอวู แต่พวกเขาเดินหน้าสร้างต่อทั้งที่รู้ว่าพวกเขาจะต้องจากพระวิหารนั้นไป ก่อนถูกกลุ่มคนร้ายขับไล่ พวกเขาเข้าพระวิหารทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อทำสัญญาศักดิ์สิทธิ์ที่จะทำให้ครอบครัวพวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกันชั่วนิรันดร์14
ในการลากเกวียนไปหุบเขาซอลท์เลค ปู่ย่าตาทวดฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดาข้าพเจ้าประสบความทุกข์และความขาดแคลนมากมาย ครอบครัวผู้บุกเบิกถูกความตายพลัดพราก และแม้จะต้องฝังบุตรธิดา คู่ครอง บิดามารดา ปู่ย่าตายาย และมิตรสหายระหว่างการลากเกวียนไปตะวันตก แต่พวกเขาเร่งรุดไปข้างหน้า
ศรัทธาของพวกเขาในแผนซึ่งพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงรักเราทรงออกแบบไว้ทำให้พวกเขากล้าเผชิญความท้าทายมากมาย พวกเขาเสาะหาที่หนึ่งซึ่งพวกเขาจะสามารถเลี้ยงดูครอบครัวให้รักพระผู้เป็นเจ้าและรับใช้พระองค์ได้โดยไม่ถูกข่มเหง ข้าพเจ้าขอบคุณที่พวกเขานำทาง
หลักคำสอนและหลักศาสนาของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเริ่มต้นและจบลงที่ครอบครัว ข้าพเจ้าย้ำสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น เราเชื่อว่าเรามีชีวิตก่อนชีวิตบนโลกนี้ในฐานะสมาชิกครอบครัวทางวิญญาณก่อนเกิดของพระผู้เป็นเจ้า และในฐานะบุตรธิดาของพระบิดามารดาสวรรค์เราต้องเตรียมขณะอยู่บนแผ่นดินโลกเพื่อกลับไปรับพรที่สัญญาไว้กับคนที่รักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า
ความรู้นี้จะเตรียมเราแต่ละคนให้พร้อมสำหรับวันนั้นเมื่อเราตายและรู้จุดประสงค์แท้จริงของแผนซึ่งพระองค์ทรงมีเพื่อเราเมื่อเรากลับไปที่ประทับศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้ ดังกล่าวไว้ในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว “เราเรียกร้องประชาชนพลเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐบาลผู้มีความรับผิดชอบทุกหนแห่งให้ส่งเสริมการวางมาตรการเหล่านั้นเพื่อธำรงและเสริมสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวในฐานะหน่วยพื้นฐานของสังคม”15