นั่งใน สภา
ทำให้การประชุมของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและสมาคมสงเคราะห์มีพลังมากขึ้น
คำนำโดยเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
ระหว่างปฏิบัติศาสนกิจในฐานะอัครสาวก ข้าพเจ้าเน้นเสมอเรื่องพลังและความสำคัญของสภา อันได้แก่ สภาสเตค สภาวอร์ด สภาองค์การช่วย และสภาครอบครัว ข้าพเจ้าเชื่อว่าการทำงานผ่านสภาเป็นวิธีทำให้เกิดผลจริงได้มากที่สุด
เดือนนี้ เราทำการเปลี่ยนแปลงง่ายๆ ทว่าสำคัญบางอย่างในหลักสูตรที่สมาชิกโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและสมาคมสงเคราะห์ศึกษาเมื่อพวกเขาประชุมในองค์การของตนทุกวันอาทิตย์ นอกจากศึกษาถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตจากการประชุมใหญ่ครั้งล่าสุดแล้ว เราจะ “นั่งในสภา” (คพ. 107:89) ด้วยกันเพื่อสนทนาประเด็นปัญหาที่เราพบเจอและสิ่งที่เราจำเป็นต้องมี
เมื่อเราเรียนรู้ที่จะหารือกันอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น พระผู้เป็นเจ้าจะทรงอวยพรให้เราได้รับการเปิดเผยและความเข้าใจเพิ่มขึ้น และมีพลังทำงานของพระองค์ให้สำเร็จมากขึ้น
ก่อนสร้างโลกนี้ พระบิดาบนสวรรค์ทรงทำงานของพระองค์ผ่านสภา (ดู คพ. 121:32) เริ่มจากอาดัมและเอวา ผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าขอคำปรึกษาจากพระองค์ในสภา อันที่จริง พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกพระองค์เองว่า “มหาบุรุษแห่งคำปรึกษา” (โมเสส 7:35) ต้นสมัยการประทานนี้ โจเซฟ สมิธเริ่มฟื้นฟู “ระเบียบของสภาในสมัยโบราณ”1 ปัจจุบัน ศาสนจักรปกครองโดยสภาในทุกระดับ
เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ผู้นำศาสนจักรระดับสามัญได้หารือกันเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการประชุมวันอาทิตย์ของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและสมาคมสงเคราะห์ ผลที่ได้คือหลักสูตรใหม่ชื่อว่า จงตามเรามา—สำหรับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและสมาคมสงเคราะห์ ซึ่งเพิ่มการใช้ข่าวสารการประชุมใหญ่สามัญและขยายพลังของการหารือเข้าไปในโควรัมฐานะปุโรหิตและสมาคมสงเคราะห์
“เราทำดีมากแล้วตรงจุดที่เราอยู่” เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟล โกลเด้นแห่งสาวกเจ็ดสิบผู้ช่วยกำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้กล่าว “แต่พระเจ้าทรงต้องการให้เราก้าวหน้าขึ้น ความเจริญก้าวหน้าจะเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนเป็นศึกษาถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตและนั่งในสภา”
เมื่อเร็วๆ นี้ ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญและสมาชิกสาวกเจ็ดสิบประชุมในสภาเพื่อสนทนาว่าการหารือเชื้อเชิญการเปิดเผย เพิ่มความสามัคคี และทำให้เกิดพลังอย่างไร ท่านเหล่านั้นเสนอหลักธรรมต่อไปนี้ โดยรู้ว่าท่านจะตั้งอยู่บนแนวคิดเหล่านี้ขณะค้นหาทางออกที่เหมาะกับท่าน วอร์ดหรือสาขาของท่าน และโควรัมหรือสมาคมสงเคราะห์ของท่าน
พลังในจุดประสงค์
“เนื่องจากเจ้าร่วมชุมนุมกัน … , และเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับเรื่องเดียวนี้, และทูลถามพระบิดาในนามของเราฉันใด, แม้ฉันนั้นเจ้าจะได้รับ” (คพ. 42:3)
สภาเป็นช่องทางให้เรา “ทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าร่วมกัน”2 กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่เพียงแบ่งปันแนวคิดเท่านั้น แต่เราเชื้อเชิญการเปิดเผยโดยหารือกันเพื่อเราจะได้เรียนรู้สิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้เราทำในสถานการณ์ของเรา เราจะมีความสำเร็จมากขึ้นในประสบการณ์จากการเปิดเผยเช่นนั้นเมื่อเราจดจำดังนี้
1. จุดโฟกัส—เริ่มด้วยประเด็นปัญหาหรือความจำเป็นที่เฉพาะเจาะจงและมีความหมาย การเน้นประเด็นปัญหาหรือความจำเป็นอย่างเดียวจะเพิ่มความสามารถให้เราก้าวหน้าได้อย่างมีความหมาย จุดโฟกัสช่วยให้เรามองไกลกว่าอาการที่เรามองเห็น (สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น) และพยายามเข้าใจสาเหตุพื้นฐาน (สิ่งนั้นมีผลต่อผู้คนอย่างไรและเพราะเหตุใด) ตัวอย่างเช่น เราอาจจะหารือกันเกี่ยวกับวิธีให้คำปรึกษาและเชื่อมโยงเยาวชนของเรากับสวรรค์แทนที่จะถกกันเรื่องเวลาที่เยาวชนใช้ไปกับการดูหน้าจอ
2. มุมมอง—วางกรอบประเด็นปัญหาหรือความจำเป็นให้เป็นคำถาม หัวข้อที่ตั้งเป็นกระทู้จะดึงความเข้าใจลึกซึ้งด้านหลักคำสอนออกมา เราอาจจะถามว่า “เราจะจัดการสถานการณ์นั้นให้เกิดประโยชน์และเยียวยาได้อย่างไร” หรือ “หลักคำสอนใดจะช่วยแก้ปัญหานี้ ถ้าเข้าใจดีขึ้น”
3. พลัง—แสวงหาการเปิดเผย แม้สภาจะระดมความคิดหาวิธีแก้ปัญหา แต่จุดประสงค์ของสภาคือค้นหาพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ไม่เพียงเขียนหลักปฏิบัติที่ดีที่สุดหรือพูดเพียงว่า “วอร์ดที่ผมเคยอยู่ก็ทำแบบนี้” ดังที่เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอน เราไม่ต้องการการประชุม เราต้องการประสบการณ์ที่เป็นการเปิดเผย3 การหารือกันเปิดเผยทางออกที่นำไปสู่การปฏิบัติ
พลังในการมีส่วนร่วม
“จงกำหนดผู้สอนในบรรดาพวกเจ้า, และอย่าให้ทุกคนเป็นผู้พูดพร้อมกัน; แต่ให้พูดทีละคนและให้ทุกคนฟังคำกล่าวของเขา, เพื่อว่าเมื่อทุกคนพูดเพื่อทุกคนจะรับการจรรโลงใจจากทุกคน, และเพื่อมนุษย์ทุกคนจะมีอภิสิทธิ์เท่าเทียมกัน” (คพ. 88:122)
ในสภา ความสนใจของแต่ละบุคคลและองค์การ—วอร์ดหรือสาขา—รวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้เข้าร่วมเข้าใจดังนี้
1. สมาชิกสภาแต่ละคนมีบทบาทสำคัญยิ่ง สมาชิกสภาควรมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นแต่ไม่ครอบงำสภา ดังที่เปาโลสอน “ตาก็ไม่สามารถพูดกับมือว่าฉันไม่ต้องการเธอ หรือศีรษะจะพูดกับเท้าว่าฉันไม่ต้องการเธอ แต่หลายๆ อวัยวะของร่างกายที่เราคิดว่าอ่อนแอกว่าก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น” (1 โครินธ์ 12:21–22)
2. สมาชิกสภามุ่งหมายจะเพิ่มความกระจ่าง ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่า “ทุกคน ก่อนเขาทำการคัดค้านเรื่องใดที่ยกมาให้สภาพิจารณา เขาควรแน่ใจว่าเขาสามารถให้ความกระจ่างในเรื่องนั้นได้ไม่ใช่คลุมเครือ และการคัดค้านของเขาอยู่ในความชอบธรรม”4
3. สมาชิกสภามีจุดมุ่งหมายเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้จะมีมุมมองต่างกัน แต่สมาชิกสภาเป็นหนึ่งเดียวกันในขณะมุ่งหมายให้ “ได้รับการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์”5 โจเซฟ สมิธเคยกล่าวไว้ในระหว่างสภาครั้งหนึ่งว่า “เพื่อได้รับการเปิดเผยและพรของสวรรค์ เราจำเป็นต้องให้ความคิดเราอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ใช้ศรัทธา มีใจเดียวและความคิดเดียว”6
พลังในแผนปฏิบัติ
“มนุษย์ทุกคนจะกระทำในหลักคำสอนและหลักธรรมเกี่ยวกับอนาคต, ตามสิทธิ์เสรีทางศีลธรรมซึ่งเราให้แก่เขา” (คพ. 101:78)
สภาไม่สมบูรณ์หากไม่มีแผนจะปฏิบัติการเปิดเผยที่ได้รับ ควรเชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมในสภารับปากว่าพวกเขาจะลงมือปฏิบัติ “เมื่อจบสภา ท่านต้องมีงานมอบหมาย” ซิสเตอร์จีน บี. บิงแฮมประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญกล่าว “งานสำคัญที่สุดเกิดขึ้นระหว่างการประชุม”
ผู้นำนำสภาไปสู่ความเข้าใจและความเห็นพ้องต้องกัน จากนั้นเขาเริ่มทำงานมอบหมายและบันทึกงานมอบหมายเพื่อติดตามผลภายหลัง ซิสเตอร์ชารอน ยูแบ็งค์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญเพิ่มเติมว่า “พลังอยู่ในเรา เมื่อเราผูกมัดตนให้กระทำ พระเจ้าจะทรงชำระความพยายามของเราให้บริสุทธิ์ (ดู คพ. 43:9) การอาสาทำงานมอบหมายและรายงานผลเป็นส่วนสำคัญของการทำตามพันธสัญญา”
บทบาทของผู้นำ
“ผู้สั่งสอนไม่ดีไปกว่าผู้ฟัง, ทั้งผู้สอนก็ไม่ดีไปกว่าผู้เรียนแต่อย่างใด; และดังนั้นพวกเขาจึงเท่าเทียมกัน” (แอลมา 1:26)
เพื่อปรับปรุงสภาของเรา เราพึงหลีกเลี่ยงแนวคิดทางโลกของการเป็นผู้นำ ในอาณาจักรของพระเจ้า ผู้นำเป็น “ทาสของคนทั้งหลาย” (มาระโก 10:44) ในทำนองเดียวกัน ผู้นำสภา ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมหรือครู จะให้จุดโฟกัสแต่ไม่เป็นจุดโฟกัส พึงหลีกเลี่ยงการพูดอยู่คนเดียวหรือทำการตัดสินใจก่อนฟังจากสภา
ผู้นำสภามีบทบาทสำคัญในการวางกรอบจุดประสงค์ ส่งเสริมการสนทนา และเชื้อเชิญให้ผู้มีส่วนร่วมรับปากว่าจะปฏิบัติ สภาทำหน้าที่ได้ดีขึ้นเมื่อผู้นำสภาฟัง นำทาง เชื้อเชิญ ป้องกัน และเห็นคุณค่า
1. ฟัง ผู้นำที่ดีฟังผู้พูดและฟังพระวิญญาณบริสุทธิ์ “ข้าพเจ้าเชื่อว่าของประทานแห่งการเล็งเห็นทำงานได้ผลมากขึ้น” เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าว “เมื่อเราฟังไม่ใช่เมื่อเราพูด”7
2. กำหนดทิศทาง ผู้นำสภากำหนดทิศทางการสนทนาโดยยอมรับแนวคิดที่เกิดขึ้น หากจำเป็นผู้นำจะวางกรอบการสนทนาใหม่หรือนำการสนทนาด้วยความรัก
3. เชื้อเชิญ พระเจ้าทรงทำให้การเปิดเผยกระจายอยู่ในหมู่สมาชิกของสภา การเชื้อเชิญให้ทุกคน—รวมทั้งคนพูดน้อย—เสนอแนวคิดจะเพิ่มศักยภาพของการเรียนรู้พระประสงค์ของพระเจ้า
4. ป้องกัน ผู้นำสภาสร้างสภาพแวดล้อมของการแบ่งปันอย่างปลอดภัยและเหมาะสมโดยสนใจคนที่แบ่งปันและป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์รวมทั้งการตัดสิน หัวข้อที่ละเอียดอ่อนต้องได้รับการนำทางอย่างสุขุมรอบคอบ เรื่องที่เป็นความลับยังคงเป็นความลับ
5. เห็นคุณค่า เมื่อผู้เข้าร่วมแบ่งปันความคิดและแนวคิด ผู้นำเห็นคุณค่าข้อมูลนั้นโดยแสดงความขอบคุณและเชื่อมโยงแนวคิดที่เกี่ยวข้อง การเห็นคุณค่าช่วยให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปิดเผยและทำให้พวกเขามั่นใจว่าข้อมูลของพวกเขาเป็นประโยชน์
หลักสูตรใหม่ ความตั้งใจใหม่
ยุคของความตั้งใจใหม่มาพร้อมปีใหม่และหลักสูตรใหม่ เราได้รับพรด้วยพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ ความรับผิดชอบและสิทธิพิเศษของเราคือแสวงหาการนำทางจากพระองค์และทำงานของพระองค์ ความก้าวหน้านี้ในการประชุมวันอาทิตย์ของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและสมาคมสงเคราะห์ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับการมีบทเรียนเรื่องการทำงานเท่านั้น แต่เรา “นั่งในสภา” และส่งเสริมการปฏิบัติที่ชอบธรรม—การปฏิบัติที่จะ “ผลักดันผู้คนมากมายไปสู่ไซอันด้วยบทเพลงแห่งปีติอันเป็นนิจ” (คพ. 66:11)