หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ
หลักธรรมห้าข้อที่ผู้ฟังที่ดีพึงปฏิบัติ
การฟังอย่างแท้จริงจะช่วยให้ท่านรู้วิธีตอบรับความต้องการทางโลกและทางวิญญาณของผู้อื่นดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการพูดคือการฟัง … หากเราฟังด้วยความรัก เราจะทราบว่าต้องพูดอะไร เพราะพระวิญญาณจะทรงบอกเรา”1
การฟังเป็นทักษะที่เราเรียนรู้ได้ การฟังแสดงออกถึงความรักที่เรามีต่อผู้อื่น ช่วยสร้างสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้น และเชื้อเชิญพระวิญญาณให้ประทานพรเราด้วยของประทานแห่งการเล็งเห็นเพื่อช่วยให้เราเข้าใจความต้องการของผู้อื่น2 ต่อไปนี้เป็นวิธีปรับปรุงการฟังของเราห้าวิธี
1. ให้เวลาพวกเขา
หลายคนต้องการเวลาในการรวบรวมความนึกคิดของพวกเขาก่อนพูด ให้เวลาพวกเขาคิดทั้งก่อนและหลังพวกเขาพูดบางสิ่ง (ดู ยากอบ 1:19) เพียงเพราะพวกเขาพูดจบไม่ได้หมายความว่าพวกเขาพูดทุกสิ่งที่พวกเขาต้องการ อย่ากลัวความเงียบ (ดู โยบ 2:11–3:1 และ แอลมา 18:14–16)
2. เอาใจใส่
เราคิดเร็วกว่าที่คนอื่นพูด หยุดยั้งการล่อลวงที่จะด่วนสรุปหรือคิดไปก่อนว่าท่านจะพูดอะไรเมื่อพวกเขาพูดจบ (ดู สุภาษิต 18:13) แต่ให้ฟังด้วยเจตนาที่จะเข้าใจ คำตอบของท่านจะดีขึ้นเนื่องจากมีพื้นฐานจากความเข้าใจที่ดีขึ้น
3. อธิบาย
อย่ากลัวที่จะถามคำถามเพื่ออธิบายบางสิ่งที่ท่านไม่เข้าใจ (ดู มาระโก 9:32) การอธิบายช่วยลดความเข้าใจผิดและแสดงความสนใจของท่านในสิ่งที่กำลังพูด
4. ไตร่ตรอง
พูดย้ำถึงสิ่งที่ท่านได้ยินและท่านเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นอย่างไร การทำเช่นนี้จะช่วยให้พวกเขารู้ว่าพวกเขาเข้าใจถูกต้องหรือไม่และให้โอกาสพวกเขาอธิบาย
5. หาจุดยืนร่วมกัน
ท่านอาจไม่เห็นด้วยกับทุกสิ่งที่พูด แต่เห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านสามารถเห็นด้วยได้โดยไม่บิดเบือนความรู้สึกของตนเอง การเต็มใจยอมรับกันจะช่วยลดความกังวลและความรู้สึกปิดกั้น (ดู มัทธิว 5:25)
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่าเราควร “เรียนรู้ที่จะฟัง และฟังเพื่อเรียนรู้จากกันและกัน”3 เมื่อท่านฟังด้วยเจตนาที่จะเรียนรู้จากผู้อื่น ท่านจะอยู่ในสถานะที่จะเข้าใจความต้องการของพวกเขาได้ดีขึ้นและได้ยินการกระตุ้นเตือนว่าท่านจะดูแลคนที่อยู่รอบข้างท่านดังเช่นพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงทำอย่างไร
การฟังคือความรัก
เรื่องเล่าเรื่องหนึ่งจากเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์แสดงให้เห็นถึงพลังของการฟัง
“ทรอย รัสเซลล์ เพื่อนข้าพเจ้าค่อยๆ ถอยรถกระบะของเขาออกจากโรงรถ … เขารู้สึกว่าล้อหลังเหมือนทับอะไรบางอย่าง … เขาเดินไปดูและพบออสเต็น ลูกชายวัยเก้าขวบสุดที่รักของเขา นอนคว่ำหน้าอยู่บนทางเท้า … ออสเต็นจากไปแล้ว
“นอนไม่หลับหรือทำใจให้สงบไม่ได้ ทรอยโศกเศร้าจนไม่อาจปลอบโยนได้ … แต่ในช่วงเวลาอันเจ็บปวดนั้น … จอห์น แมนนิงก์ก็เข้ามา
“ข้าพเจ้าไม่ทราบจริงๆ ว่าสิ่งใดทำให้จอห์นกับคู่รุ่นน้องของเขาจัดตารางมาเยี่ยมบ้านรัสเซลล์ … สิ่งที่ข้าพเจ้ารู้คือเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาบราเดอร์แมนนิงก์เอื้อมลงไปโอบอุ้มทรอย รัสเซลล์ ออกจากเหตุสลดใจที่ทางรถนั้นราวกับเขากำลังอุ้มออสเต็นตัวน้อยด้วยตนเอง เฉกเช่น … พี่น้องชายในพระกิตติคุณที่เขาควรจะเป็น จอห์นเพียงแต่ใช้ฐานะปุโรหิตในการดูแลทรอย รัสเซลล์ เขาเริ่มโดยกล่าวว่า ‘ทรอย ออสเต็นต้องการให้คุณดำเนินชีวิตต่อไป—รวมถึงในสนามบาสเก็ตบอล—ดังนั้นผมจะมาที่นี่ทุกเช้าตอนตีห้าสิบห้านาที เตรียมตัวให้พร้อม …’
“‘ตอนนั้นผมไม่อยากไป’ ทรอยบอกข้าพเจ้าในภายหลัง ‘“เพราะผมพาออสเต็นไปกับผมเป็นประจำ … แต่จอห์นยืนกราน ดังนั้นผมจึงไป ตั้งแต่วันแรกที่กลับมานั้น เราคุยกัน—หรือที่จริงผมพูดและจอห์นฟัง … แรกๆ เป็นสิ่งที่ยากมาก แต่เวลาผ่านไปผมตระหนักว่าผมพบความเข้มแข็งของผมในรูปแบบของ [จอห์น แมนนิงก์] ผู้ที่รักผมและฟังผมจนในที่สุดชีวิตผมก็มีแสงตะวันอีกครั้ง’”4