2018
หารือเกี่ยวกับความต้องการของพวกเขา
กันยายน 2018


หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ

หารือ เกี่ยวกับ ความต้องการ ของพวกเขา

ท่านไม่ต้องทำสิ่งนี้ตามลำพัง การหารือสามารถจัดเตรียมความช่วยเหลือที่ท่านต้องใช้ช่วยคนอื่นๆ

พระผู้เป็นเจ้าทรงเชื้อเชิญให้ท่านปฏิบัติศาสนกิจต่อบุคคลหรือครอบครัวในวอร์ดหรือสาขาของท่านตามความต้องการของพวกเขา ท่านจะทราบความต้องการเหล่านั้นได้อย่างไร หลักธรรมของการหารือคือกุญแจสำคัญซึ่งเป็นเรื่องที่ศาสนจักรให้ความสนใจตลอดมา

หลังจากสนทนาเรื่องที่เราคิดจะหารือกัน เราจะสำรวจดังนี้

  1. การหารือกับพระบิดาบนสวรรค์

  2. การหารือกับบุคคลและครอบครัวที่ได้รับมอบหมาย

  3. การหารือกับคู่ของเรา

  4. การหารือกับคนอื่นที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลบุคคลหรือครอบครัวเดียวกัน

การหารือกับผู้นำของเราจำเป็นเช่นกัน บทความต่อไปของหลักธรรมการปฏิบัติศาสนกิจใน เลียโฮนา จะสำรวจการหารือกับผู้นำตลอดจนบทบาทของการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจในขั้นตอนนั้น

เรื่องที่เราหารือกัน

การเข้าใจความต้องการจำเป็นต่อการปฏิบัติศาสนกิจต่อกัน แต่ความต้องการเหล่านั้นมีกี่แบบ และมีบางอย่างมากกว่าความต้องการที่เราควรทราบหรือไม่

ความต้องการมีหลายแบบ คนที่เรารับใช้อาจประสบความท้าทายทางอารมณ์ การเงิน ร่างกาย การศึกษา และอื่นๆ ความต้องการบางอย่างมีลำดับความสำคัญสูงกว่าความต้องการอื่น บางอย่างเราพร้อมจะช่วย แต่หลายอย่างอาจเรียกร้องให้เราขอความช่วยเหลือ ในความพยายามหาทางช่วยเหลือตามความต้องการทางโลก อย่าลืมว่าการเรียกให้เราปฏิบัติศาสนกิจรวมถึงการช่วยให้คนอื่นๆ ก้าวหน้าตามเส้นทางพันธสัญญา เตรียมรับศาสนพิธีฐานะปุโรหิตที่จำเป็นต่อความสูงส่ง

นอกจากจะหารือเกี่ยวกับความต้องการของบุคคลหรือครอบครัวแล้ว เราควรพยายามเรียนรู้คุณลักษณะและความสามารถของพวกเขาด้วย พวกเขาไม่ต้องการให้ช่วยเรื่องใด พวกเขามีของประทานและความสามารถอะไรบ้างที่อาจเป็นพรแก่ผู้อื่น พวกเขาเหมาะจะช่วยสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร การเข้าใจคุณลักษณะและความสามารถของบุคคลอาจสำคัญเท่าๆ กับการเข้าใจความต้องการของบุคคลนั้น

man praying

ภาพถ่ายจาก stock.adobe.com และจาก Getty Images

  1. การหารือกับพระบิดาบนสวรรค์

    ความเชื่อหลักประการหนึ่งของศาสนาเราคือพระบิดาบนสวรรค์ตรัสกับบุตรธิดาของพระองค์ (ดู หลักแห่งความเชื่อ 1:9) เมื่อเราได้รับงานมอบหมายใหม่ให้ปฏิบัติศาสนกิจต่อบางคน เราควรหารือกับพระบิดาบนสวรรค์ในการสวดอ้อนวอน ทูลขอให้เรามองเห็นและเข้าใจความต้องการตลอดจนคุณลักษณะและความสามารถของพวกเขา ขั้นตอนการหารือผ่านการสวดอ้อนวอนควรดำเนินต่อเนื่องตลอดงานมอบหมายให้เราปฏิบัติศาสนกิจ

  1. การหารือกับบุคคลและครอบครัว

    วิธีและเวลาที่เราใกล้ชิดบุคคลและครอบครัวที่เราได้รับเรียกให้รับใช้อาจแตกต่างตามสภาวการณ์ แต่การหารือกับบุคคลหรือครอบครัวนั้นโดยตรงจำเป็นต่อการสร้างความสัมพันธ์และเข้าใจความต้องการของพวกเขาตลอดจนวิธีที่พวกเขาต้องการให้ช่วย คำถามบางอย่างอาจต้องรอจนกว่าความสัมพันธ์แน่นแฟ้น แม้ไม่มีใครสร้างความสัมพันธ์เช่นนั้นได้ทันที แต่ลองทำดังนี้

    • ตรวจสอบว่าพวกเขาชอบให้ติดต่อเมื่อใดและอย่างไร

    • เรียนรู้เกี่ยวกับความสนใจและภูมิหลังของพวกเขา

    • มาพร้อมข้อเสนอว่าท่านจะช่วยได้อย่างไรและขอข้อเสนอจากพวกเขา

    ขณะที่เราสร้างความไว้วางใจ เราอาจสนทนาความต้องการของบุคคลหรือครอบครัว ถามคำถามตามที่พระวิญญาณบริสุทธิ์กระตุ้นเตือน1 ตัวอย่างเช่น:

    • พวกเขาประสบความท้าทายอะไรบ้าง

    • ครอบครัวหรือบุคคลนั้นมีเป้าหมายอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น พวกเขาต้องการจัดสังสรรค์ในครอบครัวเป็นประจำมากขึ้น หรือพึ่งพาตนเองมากขึ้นหรือไม่

    • เราจะช่วยพวกเขาเรื่องเป้าหมายและความท้าทายได้อย่างไร

    • ศาสนพิธีพระกิตติคุณลำดับต่อไปที่พวกเขาต้องได้รับคืออะไร เราจะช่วยพวกเขาเตรียมได้อย่างไร

    พึงจดจำว่าต้องเสนอความช่วยเหลือที่จำเพาะเจาะจง เช่น “สัปดาห์นี้เราจะนำอาหารมาให้คุณได้คืนไหน” ข้อเสนอที่คลุมเครืออย่างเช่น “บอกเรานะครับถ้ามีอะไรที่เราช่วยได้” ไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด

  1. การหารือกับคู่ของเรา

    เพราะท่านกับคู่อาจไม่อยู่ด้วยกันทุกครั้งที่ท่านปฏิสัมพันธ์กับบุคคลหรือครอบครัว การประสานงานและหารือกันขณะท่านแสวงหาการดลใจด้วยกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ลองพิจารณาคำถามต่อไปนี้:

    • ท่านจะสื่อสารกับคู่อย่างไรและบ่อยเพียงใด

    • ท่านจะใช้ข้อดีของแต่ละฝ่ายปฏิบัติศาสนกิจตามความต้องการของบุคคลหรือครอบครัวได้อย่างไร

    • ท่านได้เรียนรู้เรื่องใดบ้าง ท่านเคยมีประสบการณ์อะไรบ้าง และท่านได้รับการกระตุ้นเตือนอะไรบ้างตั้งแต่คราวที่แล้วที่ท่านพูดคุยกันเกี่ยวกับบุคคลหรือครอบครัว

family walking toward temple
  1. การหารือกับคนอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย

    การพูดคุยเป็นครั้งคราวกับคนอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติศาสนกิจต่อบุคคลหรือครอบครัวเดียวกับท่านอาจเป็นเรื่องดี

สื่อสารเพื่อแก้ไขความท้าทาย

เอ็ลเดอร์ชี ฮอง (แซม) วองแห่งสาวกเจ็ดสิบประยุกต์ใช้เรื่องราวจาก มาระโก 2 กับสมัยของเราเพื่ออธิบายว่าการหารือกันทำให้คนสี่คนพบวิธีช่วยให้คนง่อยได้อยู่เบื้องพระพักตร์พระเยซูอย่างไร

“เรื่องอาจเกิดขึ้นทำนองนี้” เอ็ลเดอร์วองกล่าว “มีคนสี่คนกำลังทำงานมอบหมายจากอธิการให้ไปเยี่ยมชายคนหนึ่งที่ป่วยเป็นง่อยที่บ้านของเขา … ในสภาวอร์ดครั้งล่าสุด หลังจากหารือกันเกี่ยวกับความต้องการในวอร์ด อธิการให้งานมอบหมาย ‘ให้ช่วยเหลือ’ ทั้งสี่คนได้รับมอบหมายให้ไปช่วยชายคนนี้ …

“[เมื่อพวกเขามาถึงเรือนที่พระเยซูประทับ] ห้องแออัดมาก พวกเขาเข้าทางประตูไม่ได้ ข้าพเจ้าแน่ใจว่าพวกเขาคงพยายามทำทุกอย่างสุดความสามารถ แต่ก็ยังเข้าไปไม่ได้ … พวกเขาหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป—จะนำชายคนนี้ไปให้พระเยซูคริสต์รักษาได้อย่างไร … พวกเขาวางแผน—แผนไม่ง่าย แต่พวกเขาลงมือทำจริง

“… ‘พวกเขาจึงเจาะดาดฟ้าตรงที่พระองค์ประทับนั้น และเมื่อทำเป็นช่องแล้วพวกเขาก็หย่อนแคร่ที่คนง่อยนอนอยู่ลงไป’ (มาระโก 2:4) …

“… ‘เมื่อพระเยซูทอดพระเนตรเห็นความเชื่อของพวกเขา พระองค์จึงตรัสกับคนง่อยว่า ลูกเอ๋ยบาปของเจ้าได้รับการอภัยแล้ว’ (มาระโก 2:5)”2

คำเชื้อเชิญให้ปฏิบัติ

เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกระตุ้นให้ “ปรึกษาหารือกัน ใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่มี แสวงหาการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทูลถามการยืนยันจากพระเจ้า จากนั้นพับแขนเสื้อและออกไปทำงาน

“ข้าพเจ้าสัญญากับท่านว่า ถ้าท่านทำตามแบบแผนนี้ ท่านจะได้รับการนำทางที่เจาะจงแต่ละด้านไม่ว่าจะเป็นการจัดหา สิ่งใด ให้ใคร เมื่อไร และ ที่ไหน ในวิธีของพระเจ้า”3

อ้างอิง

  1. ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา: แนวทางการรับใช้งานเผยแผ่ศาสนา (2004), 183.

  2. ชี ฮอง (แซม) วอง, “ให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นเอกภาพ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 14–15.

  3. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ “จัดหาให้ในวิธีของพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 71.