ทูตแห่งความหวัง: ช่วยกันป้องกันการฆ่าตัวตาย
ท่านสามารถทำให้เพื่อนเข้มแข็งได้โดยกระจายแสงสว่างและความหวังของพระเยซูคริสต์
ในโลกการทูต ทูตเป็นตัวแทนประเทศของตนไปยังคนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ ท่าน สามารถเป็นทูตได้โดยไม่ต้องมีหนังสือเดินทาง! ในโลกที่บางครั้งดูเหมือนมืดมนมาก ท่านสามารถเป็นทูตแห่งความหวังและแสงสว่างได้ ลองถามแจ็คสัน แอล. (ซ้าย, ใส่กางเกงสีน้ำตาล) จากรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกาดูก็ได้ เขาเป็นสมาชิกของกลุ่มโฮพที่โรงเรียน—โปรแกรมป้องกันการฆ่าตัวตายแบบเพื่อนถึงเพื่อน เขาเรียนรู้ผ่านองค์กรที่เรียกว่า Hope4Utah ต้องมองหาสัญญาณเตือน เป็นเพื่อน และนำความหวังมาให้โรงเรียนของเขา
เราต้องการคุณ
“การอยู่ในกลุ่มโฮพเปิดหูเปิดตาผมจริงๆ” แจ็คสันกล่าว “มีเพื่อนร่วมชั้น มิตรสหาย และสมาชิกครอบครัวที่กำลังประสบปัญหา”
แจ็คสันเรียนรู้ว่าแม้เขาไม่ต้องรับผิดชอบการตัดสินใจของเพื่อน แต่มีหลายอย่างที่เขาทำได้เพื่อช่วยให้เพื่อนพ้นวิกฤตไปได้ งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าวัยรุ่น 7 ใน 10 คนที่ซึมเศร้าหรือคิดเรื่องฆ่าตัวตายจะบอกเพื่อนก่อนพูดคุยกับผู้ใหญ่1 นั่นหมายความว่าท่านอยู่ในฐานะที่จะช่วยเพื่อนได้
ดังที่ซิสเตอร์ แครอล เอฟ. แมคคองกี อดีตที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญกล่าว “เรามีความรับผิดชอบตามพันธสัญญาว่าจะดูแลกัน คล้องแขนเดินไปตามเส้นทางนี้ด้วยกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ วางโทรศัพท์และมองดูคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากท่าน”2
ท่านไม่จำเป็นต้องเข้าองค์กรอย่างเป็นทางการจึงจะสร้างสรรค์สิ่งพิเศษที่โรงเรียนหรือกับเพื่อนๆ ต่อไปนี้เป็นเกร็ดน่ารู้ที่ใช้ได้ผลทุกที่ทุกเวลา
สิ่งที่ควรทำ
เพื่อเป็นทูตแห่งความหวัง ลองพยายาม มองออก ยื่นมือช่วย และ รายงาน
-
มองออก ว่าคนๆ นั้นต้องการความช่วยเหลือ3 มองหาคนที่
-
รู้สึกซึมเศร้าหรือสิ้นหวัง
-
ทำอย่างไม่ยั้งคิด
-
ไม่สุงสิงกับเพื่อนและไม่ร่วมกิจกรรม
-
ทิ้งของมีค่า
-
รับมือกับสถานการณ์ตึงเครียดเช่น การสูญเสีย การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชีวิต การข่มเหงรังแก ฯลฯ
-
เปลี่ยนนิสัยการนอน การกิน หรือสุขอนามัย
-
พูดเรื่องฆ่าตัวตายหรือวางแผนจะฆ่าตัวตาย—พูดทำนองว่า “ผมไม่น่าเกิดมาเลย” หรือ “ทุกคนจะสบายขึ้นถ้าไม่มีผม”
-
ยื่นมือช่วย การเป็นทูตล้วนเกี่ยวข้องกับการเชื่อมความสัมพันธ์ หาเวลาที่ท่านกับเพื่อนสามารถคุยกันได้อย่างเปิดเผย ท่านอาจจะกังวลว่าการเอ่ยถึงการทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตายจะทำให้สถานการณ์แย่ลง แต่นั่นไม่จริง เมื่อท่านกล้าพูดออกมา ท่านได้ให้เชือกช่วยชีวิตแก่คนนั้นและทำให้เขารู้ว่าท่านห่วงใย
“อย่ากลัวที่จะถามเพื่อนว่าพวกเขากำลังประสบปัญหาหรือไม่” ดร. เกรก ฮัดนอลล์ผู้เชี่ยวชาญการป้องกันการฆ่าตัวตายและผู้ก่อตั้ง Hope4Utah กล่าว “พูดตรงๆ แต่อย่าสั่งสอนหรือตัดสิน” เขาแนะนำให้ใช้ความเห็นของท่าน ซึ่งแสดงออกถึงความห่วงใยและใส่ใจไม่ใช่สั่งสอน ตัวอย่างเช่น “เมื่ออยู่ในชั้นเรียนวันนี้ผมสังเกตว่าคุณมีเรื่องไม่สบายใจ ผมสงสัยว่าคุณโอเคไหม คุณกำลังคิดจะทำร้ายตัวเองหรือเปล่า”
สวดอ้อนวอนขอให้พระวิญญาณช่วยให้ท่านรู้ว่าจะพูดอะไร หากเพื่อนๆ กำลังคิดจะฆ่าตัวตายหรือประสบความท้าทายร้ายแรงอื่นๆ เช่นภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล อย่าบอกพวกเขาให้เลิกรู้สึกแบบนั้นเดี๋ยวนี้! เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “วิธีที่เราพูดกับคนสุขภาพดีและอาจจะกำลังประสบความเศร้าชั่วคราวจะต่างจากการพูดคุยกับผู้ป่วยทางจิต” ท่านแนะนำให้พูดทำนองนี้ “คุณไม่ได้อยู่คนเดียว เราอยู่ที่นี่กับคุณ เราจะช่วยให้คุณผ่านไปให้ได้”
และจำไว้ว่าต้องฟังจริงๆ แทนที่จะวางแผนว่าจะพูดอะไรต่อ ดังที่เอ็ลเดอร์เรนลันด์กล่าว “การให้คนพูดและอธิบายว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร และการกระตุ้นให้พวกเขาพูด น่าจะสำคัญกว่าการให้คำแนะนำ”4
-
รายงาน เมื่อท่านทราบว่าเพื่อนกำลังประสบปัญหา ท่านอาจจะถูกล่อลวงให้เก็บความกังวลเหล่านี้ไว้คนเดียว เพื่อนของท่านอาจจะถึงกับขอร้องไม่ให้ท่านพูดกับใคร แต่ทูตต้องพูดออกมา! อาสาไปเป็นเพื่อนเขาเพื่อคุยกับผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ เช่น บิดามารดา ครูที่ปรึกษา หรือผู้นำศาสนจักร บอกให้พวกเขาติดต่อสายด่วนการฆ่าตัวตายในประเทศหรือส่งข้อความด่วนกรณีเกิดวิกฤต หากพวกเขาขู่จะทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น ให้พาพวกเขาไปโรงพยาบาลหรือโทรขอรับบริการฉุกเฉิน และอยู่กับพวกเขาจนกว่าพวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากมืออาชีพ หากตอนนั้นพวกเขาไม่อยู่ในอันตราย ให้มองหาวิธีพาพวกเขาเข้ากลุ่มและประคับประคองพวกเขาอย่างต่อเนื่อง “สร้างโอกาสให้พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งบางอย่าง” ดร. ฮัดนอลล์กล่าว “พยายามชวนพวกเขาทำบางสิ่งบางอย่างกับท่าน เช่น วิ่ง ขี่จักรยาน หรือว่ายน้ำ” กิจกรรมทางกายเป็นประโยชน์เพราะการเคลื่อนไหวจะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น
อย่าประเมินพลังความสามารถของท่านต่ำเกินไป
ลองคิดสักหนึ่งนาทีว่าโลกจะต่างจากเดิมอย่างไรหากทุกคนมีเพื่อนคอยประคับประคอง เราไม่สามารถช่วยคนทั้งโลกได้ แต่เราสามารถเป็นเพื่อนกับคนที่ต้องการเพื่อน
ซิสเตอร์แมคคองกีกระตุ้นให้เรา “เต็มใจขยายแวดวงมิตรสหาย” และ “ยอมรับคนอื่นๆ แม้พวกเขาจะต่างจากท่าน” เธอชี้ให้เห็นว่าการเป็นเพื่อนกับบางคนอาจส่งผลดีระหว่างที่พวกเขากำลังก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยความหวังหรือทำสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหาย เช่น การฆ่าตัวตาย “จงสร้างความแตกต่าง” เธอกระตุ้น “ท่านสามารถทำประโยชน์ได้มาก”
ขณะยื่นมือช่วย ท่านกำลังทำตามแบบอย่างของต้นกำเนิดแห่งความหวังสูงสุด ซึ่งคือ พระเยซูคริสต์
“ผู้ให้คำปรึกษากลุ่ม HOPE ของเราบอกเราว่าเราเป็น ‘ทูตแห่งความหวัง’” แจ็คสันกล่าว “ผมชอบคำนั้น เพราะเราไม่เพียงเป็นทูตแห่งความหวังเท่านั้นแต่เป็นทูตของพระเยซูคริสต์ด้วย สุดท้ายแล้วพระองค์ทรงเป็นความหวังของเรา”
เมื่อเราแสดงความรักเหมือนพระคริสต์ต่อผู้อื่น เราสามารถช่วยให้พวกเขาพบความหวังและการเยียวยา
“ผมรู้ว่าถ้าพระเยซูคริสต์ทรงอยู่บนแผ่นดินโลก พระองค์จะทรงยื่นพระหัตถ์ช่วยคนอื่นๆ เช่นเดียวกับเรา” แจ็คสันกล่าว “ผมสบายใจเมื่อรู้ว่าผมกำลังทำดังที่พระองค์จะทรงทำ”