การประชุมวันอาทิตย์ที่สี่ (ตุลาคม–ธันวาคม 2018)
การศึกษาพระกิตติคุณเป็นส่วนตัวและกับครอบครัว
ในวันอาทิตย์ที่สี่ปี 2018 โควรัมเอ็ลเดอร์และสมาคมสงเคราะห์จะสนทนาเรื่องการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวและกับครอบครัว ผู้นำหรือครูจะเลือกนำการสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
การศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
เพื่อช่วยกระตุ้นให้สมาชิกศึกษาพระคัมภีร์เป็นประจำ ท่านอาจจะให้สมาชิกเลือกอ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้: โยชูวา 1:8; 2 ทิโมธี 3:15–17; 1 นีไฟ 15:23–25; 2 นีไฟ 32:3; หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:22–23; 33:16–18 หลังจากให้เวลาอ่านและไตร่ตรองแล้ว พวกเขาจะแบ่งปันกันในห้องเรียนว่าข้อเหล่านั้นสอนอะไรพวกเขาเกี่ยวกับการศึกษาพระคัมภีร์
ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับพรที่พวกเขาได้รับเมื่อศึกษาพระคัมภีร์เช่นกัน สมาชิกอาจได้ประโยชน์จากการฟังเรื่องราวที่แบ่งปันกันว่าพวกเขาทำอะไรเพื่อทำให้การศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวมีความหมาย (ดูตัวอย่างบางเรื่องใน “แนวคิดเพื่อปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวของท่าน” ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) ท่านจะแบ่งปันกับสมาชิกเช่นกันว่าเอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกสอนอะไรเกี่ยวกับ “จุดประสงค์และพรเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยน [การปรับตารางวันอาทิตย์] และการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาเมื่อไม่นาน” (ดู “การเปลี่ยนใจเลื่อมใสอันลึกซึ้งและยั่งยืนต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเจ้าพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018) สมาชิกสามารถสนทนาว่าการพยายามปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์ของเราจะช่วยให้บรรลุจุดประสงค์เหล่านี้ได้อย่างไร วีดิทัศน์ต่อไปนี้บน LDS.org จะสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิก: “Words with Friends” “The Blessings of Scripture” “Daily Bread: Pattern” และ “What Scriptures Mean to Me”
ความสม่ำเสมอในการศึกษาพระกิตติคุณ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เปรียบเทียบการศึกษาพระคัมภีร์เป็นครอบครัวอย่างสม่ำเสมอและนิสัยที่ดีอื่นๆ กับการตวัดปลายพู่กันหลายๆ ครั้งเพื่อให้ได้ภาพวาดที่สวยงาม เพื่อช่วยให้สมาชิกเข้าใจสิ่งที่เอ็ลเดอร์เบดนาร์สอน ท่านอาจจะให้ดูภาพวาดที่เห็นศิลปินตวัดปลายพู่กัน จากนั้นสมาชิกจะอ่านการเปรียบเทียบของเอ็ลเดอร์เบดนาร์ใน “ขยันหมั่นเพียรและเอาใจใส่ครอบครัวยิ่งขึ้น” (เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 20–24) และสนทนาว่าการตวัดปลายพู่กันในภาพนี้เหมือนการศึกษาพระคัมภีร์อย่างไร อะไรช่วยให้เราเอาชนะอุปสรรคของการศึกษาพระคัมภีร์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าเราจะศึกษาเป็นส่วนตัวหรือกับครอบครัวเราก็ตาม ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสัญญาอะไรกับคนที่ “ทำงานอย่างขยันหมั่นเพียรเพื่อปรับเปลี่ยน [บ้านของพวกเขา] ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้พระกิตติคุณ” (ดู “การเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่เป็นแบบอย่าง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018) ให้เวลาสมาชิกไตร่ตรองและแบ่งปันว่าพวกเขาได้รับการดลใจให้ทำอะไรเพราะสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้
การสนทนาพระกิตติคุณที่บ้านและที่โบสถ์
วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้สมาชิกเข้าใจความสำคัญของการสนทนาพระกิตติคุณที่บ้านและที่โบสถ์คือเชิญพ่อแม่ลูกร้องเพลง “สอนฉันเดินในแสง” (เพลงสวด บทเพลงที่ 131) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกในคำร้องของเพลงนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการเรียนพระกิตติคุณ สมาชิกบางคนอาจยินดีแบ่งปันความคิดของพวกเขาเกี่ยวกับวิธีทำให้การสนทนาพระกิตติคุณเกิดขึ้นเป็นประจำและเป็นธรรมชาติในชีวิตครอบครัว ข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้อาจให้ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง: เฉลยธรรมบัญญัติ 11:18–20; 1 เปโตร 3:15; โมไซยาห์ 18:9; โมโรไน 6:4–5, 9; หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:122 การสนทนาของเราที่บ้านและที่โบสถ์จะทำให้เราเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้นได้อย่างไร