ทุกคนต้องรับพระนามซึ่งพระบิดาประทานมาให้
แต่พระนามของพระผู้ช่วยให้รอดมีพลังพิเศษที่จำเป็น เป็นพระนามเดียวซึ่งความรอดเกิดขึ้นได้
ไม่กี่สัปดาห์ก่อน ข้าพเจ้าเข้าร่วมศาสนพิธีบัพติศมาของเด็กแปดขวบหลายคน เด็กๆ เริ่มเรียนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์จากพ่อแม่และครูของพวกเขา เมล็ดแห่งศรัทธาในพระองค์เริ่มเติบโต และบัดนี้พวกเขาต้องการตามพระองค์ลงไปในน้ำบัพติศมาเพื่อเป็นสมาชิกของศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟู ขณะข้าพเจ้าเฝ้าดูความมุ่งหวังของพวกเขา ข้าพเจ้าสงสัยว่าพวกเขาเข้าใจเพียงใดเกี่ยวกับแง่มุมสำคัญอย่างหนึ่งของพันธสัญญาบัพติศมา นั่นคือคำมั่นสัญญาของพวกเขาในการรับพระนามของพระเยซูคริสต์
นับจากกาลเริ่มต้น พระผู้เป็นเจ้าทรงประกาศความสำคัญแห่งพระนามของพระคริสต์ในแผนของพระองค์ เทพสอนอาดัมบิดาคนแรกของเราว่า “ท่านจะทำทั้งหมดที่ท่านทำในพระนามของพระบุตร, และท่านจะกลับใจและเรียกหาพระผู้เป็นเจ้าในพระนามของพระบุตรตลอดกาลนาน”1
กษัตริย์เบ็นจามินศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนสอนผู้คนว่า “จะไม่มีนามอื่นใดให้ไว้หรือทางอื่นใดหรือวิธีที่โดยการนั้นความรอดจะมาถึง”2
พระเจ้าทรงย้ำความจริงนี้ผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ “ดูเถิด, พระเยซูคริสต์คือพระนามซึ่งพระบิดาประทานมาให้, และไม่มีนามอื่นใดประทานมาให้ซึ่งโดยพระนามนี้มนุษย์จะรับการช่วยให้รอดได้”3
ในสมัยของเรา ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์สอนว่า “คนที่ใช้ศรัทธาในพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสต์… และเข้าสู่พันธสัญญา … มีสิทธิ์ได้รับการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์”4
พระบิดาบนสวรรค์ทรงให้ความกระจ่างว่าพระนามของพระบุตรพระองค์ พระเยซูคริสต์ ไม่เพียงเป็นพระนามหนึ่งในหลายพระนามเท่านั้น แต่พระนามของพระผู้ช่วยให้รอดมีพลังพิเศษที่จำเป็น เป็นพระนามเดียวซึ่งความรอดเกิดขึ้นได้ โดยเน้นความจริงนี้ในทุกสมัยการประทาน พระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรักจึงทรงรับรองกับบุตรธิดาทุกคนว่ามีทางกลับไปหาพระองค์ แต่การมีทางนั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะกลับไปได้โดยอัตโนมัติ พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับเราว่าเราต้องทำส่วนของเรา “คนทั้งปวงต้อง รับ พระนามซึ่งพระบิดาประทานมาให้”5
เพื่อจะได้รับเดชานุภาพแห่งการช่วยชีวิตซึ่งมาโดยพระนามของพระคริสต์เท่านั้น เราต้อง “นอบน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า … และออกมาด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด … และเต็มใจ รับพระนามของพระเยซูคริสต์ ” และโดยวิธีนั้นจึงคู่ควร เช่นเดียวกับเพื่อนวัยแปดขวบของข้าพเจ้า ที่จะ “ได้รับโดยบัพติศมาเข้าในศาสนจักรของพระองค์”6
ทุกคนที่ปรารถนาจะรับพระนามของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างจริงใจต้องคู่ควรและรับศาสนพิธีบัพติศมาเพื่อเป็นพยานยืนยันการตัดสินใจของพวกเขาต่อพระผู้เป็นเจ้า7 แต่บัพติศมาเป็นเพียงการเริ่มต้น
คำว่า รับ ไม่ใช่การอยู่เฉย รับเป็นคำกริยา มีหลายความหมาย8 เช่นเดียวกัน คำมั่นสัญญาของเราว่าจะรับพระนามของพระเยซูคริสต์เรียกร้องการกระทำและมีหลายมิติ
ตัวอย่างเช่น ความหมายหนึ่งของคำว่า รับ คือ รับส่วนหรือรับเข้ามาในตัว เช่น เมื่อเรา รับ เครื่องดื่ม โดยการรับพระนามของพระคริสต์ เราตั้งใจจะ รับ คำสอน คุณลักษณะ และความรักของพระองค์เข้ามาในตัวเราเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของเรา ฉะนั้น ความสำคัญของคำเชื้อเชิญจากประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันให้คนหนุ่มสาว “พยายามเข้าใจร่วมกับการสวดอ้อนวอนและขวนขวายให้รู้แต่ละพระนาม [ของพระผู้ช่วยให้รอด] ว่ามีความหมายอะไรต่อ [พวกเขา] เป็นส่วนตัว”9 และที่จะดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์ในพระคัมภีร์ โดยเฉพาะพระคัมภีร์มอรมอน10
ความหมายอีกอย่างของคำว่า รับ คือ ยอมรับบุคคลในบทบาทนั้นๆ หรือน้อมรับความจริงของแนวคิดหรือหลักธรรม เมื่อเรารับพระนามของพระคริสต์ เรายอมรับพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด และน้อมรับคำสอนของพระองค์ให้เป็นเครื่องนำทางตลอดชีวิตเรา ในการตัดสินใจที่มีความหมายทั้งหมด เราสามารถ รับ ว่าพระกิตติคุณเป็นความจริงและดำเนินชีวิตตามนั้นด้วยสุดใจ พลัง ความนึกคิด และพละกำลังของเรา
คำว่า รับ หมายถึงทำให้ตัวเราสอดคล้องกับชื่อหรืออุดมการณ์ด้วย พวกเราส่วนใหญ่เคยประสบกับ การรับ หน้าที่รับผิดชอบในที่ทำงานหรือ รับ อุดมการณ์หรือขบวนการ เมื่อเรารับพระนามของพระคริสต์ เรารับหน้าที่รับผิดชอบของสานุศิษย์ที่แท้จริง เราสนับสนุนอุดมการณ์ของพระองค์ และเรา “ยืนเป็นพยานเกี่ยวกับ [พระองค์] ทุกเวลาและในทุกสิ่ง, และในทุกแห่งที่ [เรา] อยู่”11 ประธานเนลสันขอให้ “เยาวชนชายหญิง ทุกคน … เข้าร่วมกองทัพเยาวชนของพระเจ้าเพื่อช่วยรวบรวมอิสราเอล”12 และเราทุกคนยินดีรับคำขอร้องจากศาสดาพยากรณ์ให้ปฏิญาณตนต่อชื่อศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูตามที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปิดเผย คือ ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย”13
ในกระบวนการรับพระนามของพระผู้ช่วยให้รอด เราต้องเข้าใจว่าอุดมการณ์ของพระคริสต์และของศาสนจักรของพระองค์เป็นหนึ่งเดียวและเหมือนกัน ไม่สามารถแยกจากกันได้ การเป็นสานุศิษย์ของพระผู้ช่วยให้รอดและการเป็นสมาชิกที่แข็งขันในศาสนจักรแยกจากกันไม่ได้เช่นกัน ถ้าเราลังเลในคำมั่นสัญญาต่อสิ่งหนึ่ง คำมั่นสัญญาที่เรามีต่ออีกสิ่งหนึ่งจะลดลง เหมือนกลางคืนตามหลังกลางวัน
บางคนไม่เต็มใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์และอุดมการณ์ของพระองค์เพราะคิดว่าแคบเกินไป จำกัด และเข้มงวด จริงๆ แล้วการรับพระนามของพระเยซูคริสต์ทำให้เป็นอิสระและกว้างขึ้น ปลุกความปรารถนาที่เรารู้สึกเมื่อเรายอมรับแผนของพระผู้เป็นเจ้าผ่านศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอด เมื่อมีความปรารถนานี้ในใจ เราจะค้นพบจุดประสงค์แท้จริงในของประทานและพรสวรรค์จากพระเจ้า ประสบความรักอันทรงอานุภาพของพระองค์ และห่วงใยความผาสุกของผู้อื่นมากขึ้น เมื่อเรารับพระนามของพระผู้ช่วยให้รอด เราจะยึดมั่นสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่างและเป็นเหมือนพระองค์14
สำคัญที่ต้องจดจำว่าการรับพระนามของพระผู้ช่วยให้รอดคือคำมั่นสัญญาตามพันธสัญญา—เริ่มกับพันธสัญญาที่เราทำเมื่อรับบัพติศมา ประธานเนลสันสอนว่า “คำมั่นสัญญา [ของเรา] ว่าจะติดตามพระผู้ช่วยให้รอดโดยทำพันธสัญญากับพระองค์และรักษาพันธสัญญาเหล่านั้นจะเปิดประตูรับพรทางวิญญาณและสิทธิพิเศษทุกประการที่มีให้”15 หนึ่งในสิทธิพิเศษอันสูงส่งของการรับพระนามของพระผู้ช่วยให้รอดโดยบัพติศมาคือการยืนยันซึ่งเป็นศาสนพิธีถัดไปบนเส้นทางพันธสัญญา เมื่อข้าพเจ้าถามเพื่อนวัยแปดขวบคนหนึ่งว่าการรับพระนามของพระคริสต์หมายความว่าอย่างไร เธอตอบอย่างเรียบง่ายว่า “หมายความว่าหนูจะมีพระวิญญาณบริสุทธิ์” เธอพูดถูก
เราได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยการยืนยันหลังจากศาสนพิธีบัพติศมาแล้ว ของประทานดังกล่าวคือสิทธิ์และโอกาสมีพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นเพื่อนตลอดเวลา ถ้าเราฟังและเชื่อฟังสุรเสียงสงบแผ่วเบา พระองค์จะทรงพยุงเราบนเส้นทางพันธสัญญาที่เราเข้าทางบัพติศมา เตือนเราเมื่อเราถูกล่อลวงให้ออกนอกทาง และกระตุ้นให้เรากลับใจและปรับเปลี่ยนเมื่อจำเป็น สิ่งที่เรามุ่งเน้นหลังจากบัพติศมาคือการรักษาพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้สถิตกับเราตลอดเวลาเพื่อเราจะก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องตามเส้นทางพันธสัญญา พระวิญญาณบริสุทธิ์จะสถิตกับเราต่อเมื่อเรารักษาชีวิตให้สะอาดและปราศจากบาป
เพราะเหตุนี้ พระเจ้าจึงทรงเตรียมวิธีกระตุ้นความจำของเราอย่างต่อเนื่องถึงผลของการทำให้บริสุทธิ์จากบัพติศมาผ่านอีกศาสนพิธีหนึ่ง นั่นคือ ศีลระลึก แต่ละสัปดาห์เราสามารถ “เป็นพยาน … ว่า [เรา] เต็มใจรับพระนามของพระบุตร”16 อีกครั้งโดยเอื้อมมือออกไป รับ เครื่องหมายแห่งพระมังสาและพระโลหิตของพระเจ้า—ขนมปังและน้ำ—และ รับ ส่วนนั้นไว้ในจิตวิญญาณของเรา เพื่อเป็นการตอบแทน พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำปาฏิหาริย์แห่งการชำระอีกครั้งและทำให้เราคู่ควรมีอิทธิพลต่อเนื่องของพระวิญญาณบริสุทธิ์ นี่ไม่ใช่หลักฐานยืนยันพระเมตตาอันไม่มีขอบเขตที่พบเฉพาะในพระนามของพระเยซูคริสต์หรอกหรือ ดังที่เรารับพระนามของพระองค์ พระองค์ ทรงรับเอาบาปและโทมนัสของเราไว้กับ พระองค์ และ “พระหัตถ์อันเมตตาของพระองค์ยื่นออกมา”17 โอบเราไว้ในพระพาหุแห่งความรักของพระองค์18
ศีลระลึกเป็นเครื่องเตือนใจประจำสัปดาห์ว่า การรับ พระนามของพระเยซูคริสต์คือคำมั่นสัญญาตลอดชีวิต ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในวันบัพติศมา19 แม้ “ความเข้าใจน้อยของคน [แต่เราจะได้รับ] พลีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นั้น [ซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องซึ่ง] จะยกบาปเราหมดสิ้นไปด้วยเลือดและเนื้อพระองค์”20 จึงไม่แปลกเมื่อบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าเข้าใจพรทางวิญญาณอันทรงพลังที่มาจากการรับพระนามของพระคริสต์ พวกเขาจะรู้สึกปีติตลอดเวลาและปรารถนาจะเข้าสู่พันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าตลอดเวลา21
เมื่อเราเดินตามเส้นทางพันธสัญญาที่ทรงกำหนดนี้ คำมั่นสัญญาและการพยายามรับพระนามของพระเยซูคริสต์จะทำให้เรามีพลัง “จารึกพระนาม [ของพระองค์ไว้] ในใจ [เรา] เสมอไป”22 เราจะรักพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อนบ้าน และปรารถนาจะปฏิบัติศาสนกิจต่อพวกเขา เราจะรักษาพระบัญญัติของพระองค์และปรารถนาจะเข้าใกล้พระองค์ยิ่งขึ้นโดยการเข้าสู่พันธสัญญาอื่นๆ เพิ่มเติมกับพระองค์ และเมื่อเราพบว่าเราอ่อนแอและไม่สามารถทำตามความปรารถนาอันชอบธรรมของเราได้ เราจะทูลขอพลังที่ผ่านมาทางพระนามของพระองค์เท่านั้นและพระองค์จะเสด็จมาช่วยเรา เมื่อเราอดทนอย่างซื่อสัตย์ วันนั้นจะมาถึงเมื่อเราจะเห็นพระองค์และอยู่กับพระองค์ เราจะพบว่าเราเป็นเหมือนพระองค์ ด้วยเหตุนี้เราจึงคู่ควรแก่การกลับไปที่ประทับของพระบิดา
เพราะสัญญาของพระผู้ช่วยให้รอดนั้นแน่นอน คนที่ “เชื่อในพระนามของพระเยซูคริสต์, และนมัสการพระบิดาในพระนามของพระองค์, และอดทนด้วยศรัทธาในพระนามของพระองค์จนกว่าชีวิตจะหาไม่”23 จึงจะรอดในอาณาจักรแห่งพระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้ายินดีกับท่านที่พรเหล่านี้อันหาที่เปรียบไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยการรับพระนามของพระเยซูคริสต์ ผู้ที่ข้าพเจ้าเป็นพยานในพระนามของพระองค์ เอเมน