2020
การจูงใจอนุชนรุ่นหลัง
มกราคม 2020


การจูงใจ อนุชนรุ่นหลัง

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

สี่วิธีต่อไปนี้จะช่วยบุตรธิดาของท่านตั้งเป้าหมายที่มีความหมายและทำให้บรรลุผลสำเร็จเพื่อเติบโตเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอด

hands helping women

ภาพประกอบโดย เดวิด กรีน

ในฐานะบิดามารดาและผู้นำ เราต้องการช่วยให้เด็กและเยาวชนเป็นสานุศิษย์ชั่วชีวิตของพระเยซูคริสต์ผู้มีแรงจูงใจจากภายในให้รับใช้พระเจ้าและทำพันธกิจส่วนตัวให้เกิดสัมฤทธิผล

โครงการเด็กและเยาวชนเป็นชุดแหล่งข้อมูลที่เรียบง่ายแต่มีพลังช่วยให้เด็กและเยาวชนเติบโตด้านวิญญาณ สังคม ร่างกาย และสติปัญญาเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอด (ดู ลูกา 2:52) สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อพวกเขาเรียนรู้และดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ มีส่วนร่วมในการรับใช้และกิจกรรมที่มีความหมายและน่าตื่นเต้น ตลอดจนตั้งเป้าหมายของตนเองและทำให้บรรลุผลสำเร็จ แต่เช่นเดียวกับบิดามารดาในเรื่องต่อไปนี้ เราอาจรู้สึกหนักอึ้งอยู่แล้วโดยไม่ต้องเพิ่มเป้าหมายของคนอื่นเข้าไปในรายการของเรา หรือเราอาจเป็นห่วงว่าลูกๆ ของเราจะไม่เติบโตหากไม่ผลักดัน

การสนทนาเรื่องการตั้งเป้าหมาย ตัวอย่างที่ 1:

อลานาวัย 15 ปีกับเรเชลคุณแม่ของเธอนั่งดูเป้าหมายต่างๆ ที่อลานาน่าจะทำได้ เจฟฟ์คุณพ่อของอลานาเดินผ่านมา “พ่อคะ หนูจะทำข้อไหนดีคะ” อลานาถาม

เจฟฟ์ดูนาฬิกาข้อมือ หน้านิ่วเล็กน้อย และเหลือบดูเป้าหมายเหล่านั้น “อืม ข้อนี้ง่ายดี ‘ท่องจำเพลงสวดหนึ่งเพลง’ เป็นไง ลูกจะได้ขีดฆ่าข้อนั้นออกเร็วๆ ข้อไหนง่ายอีกล่ะ”

เพราะจำได้ว่าอลานาฝืนใจแค่ไหนที่ต้องลงแข่งคัดเลือกเข้าทีมกรีฑาโรงเรียน เรเชลจึงพูดแทรกขึ้นว่า “ที่จริง ลูกน่าจะลองทำอะไรยากๆ ดูบ้าง! ออกกำลังกายเป็นไง” เธอเสนอ

“อึ๋ย” อลานาอุทานพลางเอื้อมมือไปหยิบโทรศัพท์ของเธอ “หนูคิดว่าหนูไม่ไหว”

บิดามารดาและผู้นำจะช่วยได้อย่างไร

บิดามารดาและผู้นำทำได้มากเพื่อช่วยให้เด็กและเยาวชนมีแรงจูงใจจากภายในที่จะรับเอาค่านิยมอันดี ทำการเลือกที่ดี พอใจกับความก้าวหน้าและความสำเร็จของตน

นึกถึงคราวที่ท่านมีแรงจูงใจให้ทำจนบรรลุเป้าหมาย อะไรจูงใจท่าน เป็นไปได้ว่าท่านเห็นโอกาสหรือทักษะที่ท่านต้องการจริงๆ หรือปัญหาที่ท่านจำเป็นต้องแก้ไข แบบอย่างและการสนับสนุนของผู้อื่นเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านพยายาม

ในทำนองเดียวกัน เด็กและเยาวชนจะมีแรงจูงใจจากภายในมากขึ้นเมื่อพวกเขา (1) ตัดสินใจร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าพวกเขาต้องการอะไร (ไม่ใช่แค่สิ่งที่ผู้อื่นต้องการให้พวกเขาทำ) (2) วางแผนให้ได้มา (3) ไม่ยอมให้รางวัลหรือการลงโทษมีอิทธิพลมากเกินไป และ (4) รู้สึกว่าบิดามารดาและผู้นำอยู่ข้างๆ พวกเขา

1. ช่วยให้เยาวชนนึกออกว่าพวกเขาต้องการอะไรมากที่สุด

ทุกคนต้องการบางอย่าง อาทิ สร้างทีม นอนหลับมากขึ้น รู้สึกเหงาน้อยลง ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น พระเจ้าและผู้ส่งสารของพระองค์มักจะถามผู้คนว่า “ท่านต้องการอะไร” (ดู มาระโก 11:24; 1 นีไฟ 11:1–2; แอลมา 18:15; 3 นีไฟ 27:1–2; อีเธอร์ 2:23–25) แต่การจะรู้ว่าเราต้องการอะไรมากที่สุด ไม่ใช่แค่เราต้องการอะไรตอนนี้ ต้องอาศัยประสบการณ์และการสำรวจตนเอง

เมื่อท่านนึกถึงเด็กหรือเยาวชนคนหนึ่งที่ท่านต้องการช่วย พึงถามตนเองว่า

  • ฉันจะแนะนำให้พวกเขารู้จักประสบการณ์ ค่านิยม และแนวคิดใหม่ๆ ในบริบทของความสัมพันธ์และความสนุกสนานเชิงบวกได้อย่างไร

  • ฉันปล่อยให้พวกเขาประสบผลของการเลือกที่ไม่ดีเพื่อพวกเขาจะอยากเลือกให้ดีขึ้นหรือไม่

  • ฉันจะถามพวกเขาได้เมื่อใดว่าพวกเขาเชื่อและเห็นคุณค่าสิ่งใด (ดูรายการ “คำถามสำรวจที่เป็นประโยชน์” ดังนี้)

  • ฉันจะมุ่งไปที่ข้อดีของพวกเขาได้อย่างไร (ลองพูดว่า: “พ่อเห็นว่าลูกทำ ___________ ได้ดีมาก ลูกจะใช้สิ่งนั้นรับใช้พระเจ้าได้อย่างไร”)

2. ช่วยเยาวชนวางแผน

ทันทีที่พวกเขาเลือกเป้าหมายได้แล้ว เยาวชนมักจะคิดแผนเก่งมาก เด็กเล็กอาจต้องการแนวคิดเพิ่ม เพิ่มข้อเสนอแนะของท่านเมื่อพวกเขานึกไม่ออกเท่านั้น แต่จงตื่นเต้นไม่ใช่ต่อต้านเมื่อพวกเขาชอบแนวคิดของตนมากกว่าของท่าน!

เพื่อช่วยผู้อื่นวางแผนท่านอาจจะถามว่า

  • อะไรคือเป้าหมายของคุณ (เป้าหมายที่เป็นนามธรรมเช่น “เป็นคนดีขึ้น” จะนิยามได้ยากเว้นแต่พวกเขาระบุสิ่งที่จะทำไว้ด้วยเช่น “ชมคนอื่นทุกวัน” หรือ “ขอโทษเมื่อฉันโมโห”)

  • เหตุใดเป้าหมายนี้จึงสำคัญต่อคุณ (จะช่วยให้พวกเขาดำเนินชีวิตตามค่านิยมของพวกเขาหรือเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นอย่างไร)

  • เวลานี้เหมาะจะทำเป้าหมายนี้หรือไม่ (เหตุใดเหมาะหรือเหตุใดไม่เหมาะ)

  • คุณจะเริ่มดำเนินขั้นตอนใดที่เล็กและง่าย (เตือนพวกเขาว่าการกระทำสร้างแรงจูงใจ ช่วยพวกเขาเริ่ม หรือเริ่มทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และเรียบง่ายอีกครั้ง)

  • คุณจะเตรียมการสนับสนุนแผนของคุณอย่างไร (อาจจะทำสิ่งช่วยเตือนความจำขึ้นมา ติดคำพูดให้กำลังใจ ทำแผนภูมิหรือตารางติดตามความก้าวหน้า นำเอาสิ่งล่อใจออกไป ใช้เครื่องมือที่เหมาะสม หรือขอความช่วยเหลือ)

  • คุณอาจพบเจออุปสรรคอะไรบ้าง คุณจะจัดการอย่างไร (ช่วยให้พวกเขาจดจำแผนของตน อยากรู้ว่าติดขัดเรื่องใด ฝึกส่วนที่ยากมากขึ้น ลองใช้กลยุทธ์ใหม่ หรือปรับเป้าหมาย)

เพื่อช่วยให้ผู้อื่นเอาชนะอุปสรรค ท่านจะแบ่งปันประสบการณ์จากชีวิตท่านหรือครอบครัวท่านเกี่ยวกับคนที่ประสบการทดลองและเข้มแข็งพอจะต่อสู้กับการทดลองเหล่านั้น ลองถามเช่นกันว่า

  • คุณลองทำอะไรมาแล้วบ้าง คุณจะลองทำอะไรได้อีกบ้าง

  • ใครจะช่วยได้บ้าง ฉันจะช่วยได้อย่างไร

  • คุณคิดอะไรออกบ้างขณะที่คุณสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับเรื่องนี้

3. จงรอบคอบเรื่องให้รางวัลหรือลงโทษ

รางวัลเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยให้คนเราลองสิ่งใหม่ๆ ทำงานยาก สนุกมากขึ้น หรือฉลองความสำเร็จ แต่เมื่อให้เกินพอดี รางวัลจะทำลายแรงจูงใจแน่นอน คนที่สนุกกับงานอยู่แล้วมักจะทำงานน้อยลงไม่ใช่มากขึ้นถ้าพวกเขาได้ค่าตอบแทนสำหรับการทำงานนั้น สรุปคือไม่ควรทำเพียงเพื่อให้ได้รางวัล และขณะที่เด็กต้องประสบผลของการเลือกที่ไม่ดี พวกเขาจะรู้จักกลัวและหลบหน้าคนที่ลงโทษพวกเขาแทนที่จะรู้จักซึมซับค่านิยมอันดี

คนเราคาดหวังแน่นอนว่าจะได้ค่าจ้างตอบแทนการทำงานซึ่งเงินโบนัสหรือการยกย่องชมเชยจะให้ผลสะท้อนกลับที่เป็นประโยชน์เช่นกัน แต่เมื่อมาถึงการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณและการทำเป้าหมายส่วนตัวให้บรรลุผลสำเร็จ รางวัลภายในเป็นแรงจูงใจได้มากที่สุดในระยะยาว รางวัลภายในได้แก่

  • รู้สึกถึงพระวิญญาณ

  • รู้สึกได้เชื่อมความสัมพันธ์กับบิดามารดา ผู้นำ และมิตรสหาย

  • ดำเนินชีวิตตามค่านิยมของตน

  • เรียนรู้ ลองสิ่งใหม่ๆ และแก้ไขปัญหา

  • สนุกสนาน

  • สร้างสรรค์สิ่งดี

จงช่วยให้เยาวชนรับรู้และเห็นค่ารางวัลภายในเหล่านี้ ให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เป็นครั้งคราวเพื่อฉลองงานดีที่ทำสำเร็จ!

4. ช่วยให้เยาวชนรู้สึกว่าท่านรักพวกเขา

ความสัมพันธ์อันเปี่ยมด้วยความรักเป็นวิธีสำคัญวิธีหนึ่งที่จะส่งผลต่อค่านิยม เป้าหมาย และแรงจูงใจของผู้อื่น ผู้คนสื่อให้ท่านรู้อย่างไรว่าพวกเขารักและใส่ใจท่านจริงๆ ท่านตัดสินอย่างไรว่าใครที่ท่านจะเปิดใจพูดถึงความผิดพลาดหรือปัญหาของท่านกับเขาได้ ถ้าท่านรู้สึกว่าคนที่บ้านไม่รักท่าน ท่านคิดว่าท่านต้องได้อะไรที่ท่านไม่ได้

คำตอบของท่านจะช่วยให้ท่านรู้วิธีสื่อให้เยาวชนรู้ว่าท่านใส่ใจพวกเขาและพวกเขาเชื่อใจท่านได้

ด้วยการฝึกฝนและด้วยความช่วยเหลือจากสวรรค์ เราสามารถช่วยจูงใจและโน้มน้าวอนุชนรุ่นหลังได้

การสนทนาเรื่องการตั้งเป้าหมาย ตัวอย่างที่ 2:

อลานาวัย 15 ปีกับเรเชลคุณแม่ของเธอนั่งดูเป้าหมายต่างๆ ที่อลานาน่าจะทำได้เมื่อเจฟฟ์คุณพ่อของอลานาเดินผ่านมา “พ่อคะ หนูจะทำข้อไหนดีคะ” อลานาถาม

เจฟฟ์ดูนาฬิกาข้อมือ หน้านิ่วเล็กน้อย และเหลือบดูเป้าหมายเหล่านั้น “อืม ข้อนี้ง่ายดี ‘ท่องจำเพลงสวดหนึ่งเพลง’ เป็นไง ลูกจะได้ขีดฆ่าข้อนั้นออกเร็วๆ ข้อไหนง่ายอีกล่ะ”

เจฟฟ์หยุดคิด เขารู้สึกไม่ค่อยดี เขาจึงใช้เวลาคิดว่ามันคืออะไร

สายแล้ว เขาคิด ผมแค่อยากให้เรื่องนี้จบๆ ไป ผมทำหน้าที่พ่อไม่ดีเลย อืมมม เขามองดูลูกสาวแล้วตระหนักว่าเขามีความรู้สึกอื่นด้วย ความหวัง ความสุขใจ นี่ไม่เกี่ยวกับการขีดฆ่า แต่เกี่ยวกับการเติบโตของเธอ และเป็นโอกาสเชื่อมความสัมพันธ์กับเธอ สีหน้าของเขาดูยิ้มแย้ม

“เรามาช่วยกันคิดเรื่องนี้ดีกว่า” เขาพูด “ดีไหมถ้าเราแต่ละคนจดสิ่งที่เรารู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ทำเมื่อเร็วๆ นี้”

“อืม ดีค่ะ” อลานาบอก เรเชลหาดินสอกับกระดาษ และพวกเขาใช้เวลาสองสามนาทีคิดและเขียน

“โอเค” เรเชลพูด “แล้วทำอะไรต่อ”

อลานานึก “หนูคิดว่าเราน่าจะสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วเลือกมาหนึ่งเป้าหมายและวางแผน แต่คุณพ่อคะ คุณพ่อคิดว่าพระบิดาบนสวรรค์สนพระทัยจริงหรือคะว่าหนูเลือกเป้าหมายอะไร”

เจฟฟ์ครุ่นคิด “ลูกมีความคิดดีๆ เยอะแยะ พระบิดาบนสวรรค์อาจจะเพียงต้องการให้ลูกเลือกมาหนึ่งอย่างแล้วเริ่มทำ แต่พ่อมั่นใจอยู่เรื่องหนึ่ง พระบิดาบนสวรรค์ทรงห่วงใยลูก”

“แม่รู้ว่าลูกต้องการใช้ของประทานของลูกสร้างสรรค์สิ่งพิเศษ” เรเชลเสริม “ถ้าเป้าหมายหนึ่งสำคัญกว่าเป้าหมายอื่น แม่แน่ใจว่าพระบิดาบนสวรรค์จะทรงช่วยให้หนูรู้สึกอย่างนั้น”

อลานายิ้ม แล้วนึกขึ้นได้ว่า “ประธานเนลสันขอให้เยาวชนทำการประเมินชีวิตตนเองอย่างถี่ถ้วน หนูขอไปเอาสิ่งที่หนูเขียนไว้ได้ไหมคะ”

“ได้จ้ะ” เจฟฟ์ตอบพลางยิ้ม เขาดูนาฬิกาข้อมืออีกครั้ง “พ่อต้องไปแล้ว หาสิ่งที่ลูกเขียนให้เจอแล้วค่อยคุยกันตอนอาหารเย็นนะ โอไคไหม พ่อมีคำถามบางข้อที่อาจจะช่วยได้”

“เยี่ยมเลยค่ะ!” อลานายิ้ม “พ่อคะ แม่คะ ขอบคุณค่ะ”