หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ
การปฏิบัติศาสนกิจผ่านการประชุมศีลระลึก
การประชุมศีลระลึกให้โอกาสเชื่อมสัมพันธ์และปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่น
การประชุมศีลระลึกเป็นเวลาสำหรับการบำรุงเลี้ยงทางวิญญาณและการไตร่ตรองส่วนตัวเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์ ขณะรับส่วนศีลระลึกแต่ละสัปดาห์ เราจรรโลงใจกัน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:110) แต่บางคนในวอร์ดและสาขาของเรามาพร้อมภาระอันหนักหน่วงหรือไม่มาเลย
ต่อไปนี้เป็นโอกาสเล็กๆ น้อยๆ ให้ใช้ชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์นั้นปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในชีวิตพวกเขา
ช่วยทำให้การประชุมศีลระลึกดีขึ้นสำหรับคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจ
ขั้นแรกในการฝึกปฏิบัติศาสนกิจคือทำความรู้จักบุคคลหรือครอบครัวและความต้องการของพวกเขา อาจมีหลายวิธีที่ท่านสามารถช่วยทำให้การประชุมศีลระลึกของพวกเขาเป็นประสบการณ์นมัสการที่ดีขึ้นโดยเพียงแค่เรียนรู้เกี่ยวกับพวกเขามากขึ้น
สำหรับมินดี้ มารดาสาวของลูกแฝดวัยหัดเดิน ความพยายามอย่างเรียบง่ายของซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจของเธอทำให้ประสบการณ์ในการประชุมศีลระลึกทุกสัปดาห์ของเธอเกิดความแตกต่างอย่างมาก
“เพราะตารางงานของสามี ดิฉันจึงต้องพาลูกสาวฝาแฝดมาโบสถ์เองทุกอาทิตย์” มินดี้อธิบาย “ดิฉันหนักใจจริงๆ ที่ต้องพยายามทำให้ลูกแฝดวัยหัดเดินอยู่นิ่งได้ตลอดการประชุมศีลระลึก แต่ซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจของดิฉันรับภาระช่วยเหลือดิฉัน
“เธอนั่งกับเราและช่วยดิฉันดูแลลูกสาวทุกอาทิตย์ การมีเธอนั่งอยู่ใกล้ๆ สำคัญต่อดิฉันมากและทำให้ดิฉันคลายกังวลได้จริงๆ ในช่วงที่ลูกแผลงฤทธิ์หรือวุ่นวาย ดิฉันคิดว่าเธอคงไม่รู้ว่าการกระทำของเธอมีผลต่อดิฉันมากเพียงใดในช่วงเวลานี้ของชีวิต เธอมองเห็นความต้องการของคุณแม่วัยสาวอย่างดิฉันที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวล และเธอช่วยทำให้โบสถ์เป็นสถานที่สงบสุขสำหรับเราทุกคน”
แนวคิดที่จะช่วยเหลือผู้มีความต้องการเฉพาะด้าน
-
หารือกับผู้นำโควรัมเอ็ลเดอร์และผู้นำสมาคมสงเคราะห์เกี่ยวกับความต้องการของสมาชิก
-
ผู้นำวางแผนคำปราศรัยในการประชุมศีลระลึกเพื่อช่วยตอบรับความต้องการของสมาชิก หากคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจจะได้ประโยชน์จากการฟังข่าวสารเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จงบอกให้ผู้นำของท่านทราบ
-
หากท่านรู้ว่าความพิการหรือโรคแพ้อาหารทำให้บางคนไม่ได้รับพรของศีลระลึก ขอรายละเอียดจากพวกเขาและสิ่งที่จะอำนวยความสะดวกได้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ในการนมัสการของพวกเขา บอกข้อมูลนี้กับผู้นำของท่าน1
-
หากคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจหรือคนที่ท่านรู้จักป่วยอยู่บ้าน ไม่ว่าจะถาวรหรือชั่วคราว ให้ถามอธิการว่าจะให้ศีลระลึกพวกเขาที่บ้านได้หรือไม่ ท่านอาจจะจดบันทึกระหว่างการประชุมศีลระลึกและแบ่งปันให้พวกเขาทางโทรศัพท์ ผ่านอีเมล หรือด้วยตนเอง
-
หากคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจมีลูกเล็ก ท่านสามารถให้ความช่วยเหลือพวกเขาระหว่างการประชุมศีลระลึก
-
หากคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจมาการประชุมศีลระลึกไม่บ่อย พยายามเข้าใจและคิดหาวิธีที่ท่านจะช่วยได้ หากพวกเขาต้องการรถรับส่ง ท่านอาจเอื้อเฟื้อขับรถรับส่ง หากพวกเขารู้สึกว่าครอบครัวไม่สนับสนุน ท่านอาจจะชวนพวกเขามานั่งกับท่าน ท่านจะเชื้อเชิญเป็นพิเศษเพื่อช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าเราต้อนรับและต้องการให้พวกเขาเข้าร่วมการประชุมศีลระลึก
จำไว้ว่าการกระทำที่เรียบง่ายมีผลมากมาย
เมื่อพูดเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจ ซิสเตอร์จีน บี. บิงแฮม ประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอนว่า “บางครั้งเราคิดว่าเราต้องทำสิ่งใหญ่โตและเก่งกาจจึงจะ ‘นับ’ เป็นการรับใช้เพื่อนบ้านของเรา ทว่าการกระทำที่เรียบง่ายของการรับใช้สามารถส่งผลอันลึกซึ้งต่อผู้อื่น—และตัวเราเอง”2
ในวอร์ดเล็กๆ แห่งหนึ่งในเบลเยียม เอวิตามักจะเอื้อเฟื้อแปลให้ผู้มาเยือนและสมาชิกที่พูดภาษาสเปนในระหว่างการประชุมของศาสนจักร ครั้งหนึ่งเอวิตาได้รู้จักกับคนหนึ่งจากสาธารณรัฐโดมินิกันที่กำลังเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนจักร เขารู้ภาษาอังกฤษบ้าง แต่ภาษาสเปนเป็นภาษาแม่ของเขา เอวิตาจึงช่วยแปลให้เขาอย่างเงียบๆ ในการประชุมศีลระลึกเพื่อให้เขารู้สึกอุ่นใจมากขึ้น
“บางครั้งการแปลจะทำให้วันสะบาโตของดิฉันวุ่นวายสักหน่อย” เอวิตากล่าว “แต่การทำตามการกระตุ้นเตือนให้ถามคนอื่นๆ ว่าพวกเขาต้องการล่ามหรือไม่ทำให้ดิฉันรู้สึกถึงปีติและอบอุ่นใจที่รู้ว่าตัวเองสามารถช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงพระวิญญาณและมีความสุขกับการประชุมของพวกเขา”
แนวคิดที่จะช่วยเหลือผ่านการกระทำที่เรียบง่าย
-
พูดคุยกับผู้นำของท่านเพื่อให้รู้ว่าใครอาจต้องการให้รับใช้เป็นพิเศษในระหว่างการประชุมศีลระลึก หรือหากท่านรู้ว่ามีคนที่ต้องการ ท่านต้องแน่ใจว่าผู้นำของท่านทราบเรื่องนี้
-
นั่งเงียบๆ ขณะรอการประชุมเริ่ม นี่จะช่วย “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่โศกเศร้าของผู้คนรอบข้าง”3 ผู้ต้องการสันติสุขที่มาจากความคารวะในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
-
ในวันอาทิตย์อดอาหาร ท่านอาจจะอุทิศการอดอาหารและการสวดอ้อนวอนของท่านให้คนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจผู้อาจต้องการการปลอบโยนมากเป็นพิเศษ
-
สวดอ้อนวอนให้รู้ว่ามีใครจะได้ประโยชน์จากท่านถ้าท่านนั่งข้างๆ หรือนั่งใกล้พวกเขาระหว่างการประชุมศีลระลึกหรือไม่ หรือมีวิธีอื่นที่ท่านจะช่วยได้หรือไม่
การประชุมศีลระลึกสามารถเป็นสถานที่ต้อนรับทุกคน
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ (1876–1972) สอนว่า “การประชุมศีลระลึกเป็นการประชุมศักดิ์สิทธิ์ที่สุดและบริสุทธิ์ที่สุดของการประชุมทั้งหมดของศาสนจักร”4 เพราะเหตุนี้จึงสำคัญที่ต้องทำให้แน่ใจว่าทุกคนที่เข้าร่วมการประชุมศีลระลึกรู้สึกถึงการต้อนรับและได้รับการบำรุงเลี้ยงทางวิญญาณ—โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกใหม่หรือสมาชิกที่ไม่ได้เข้าร่วมมาระยะหนึ่งแล้ว
เมราเนียจากนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลียเป็นเพื่อนกับสตรีคนหนึ่งที่กำลังเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนจักรในวอร์ดของเธอ “เธอกลายเป็นเพื่อนรักคนหนึ่งของดิฉันตอนนี้” เมราเนียกล่าว “ดิฉันชอบนั่งกับเธอในการประชุมศีลระลึกทุกอาทิตย์ และถามเธอเสมอว่าเป็นอย่างไรบ้างและมีอะไรที่ดิฉันจะช่วยเธอได้บ้าง” ไม่นานหลังจากนั้นเพื่อนของเมราเนียก็รับบัพติศมา ความพยายามของสมาชิกวอร์ดกับบรรยากาศที่อบอุ่นในการประชุมศีลระลึกมีบทบาทสำคัญมากในการตัดสินใจของเธอ
แนวคิดที่จะปฏิบัติศาสนกิจต่อสมาชิกใหม่หรือสมาชิกที่กลับมา
-
เมื่อท่านจะเป็นผู้พูดในการประชุมศีลระลึก ท่านอาจจะชวนเพื่อนๆ ครอบครัว และคนอื่นๆ มาฟังข่าวสารของท่าน
-
ท่านสามารถมองหาและต้อนรับคนที่นั่งอยู่คนเดียวหรือคนที่อาจต้องการความช่วยเหลือ ถามว่าท่านจะนั่งด้วยได้ไหมหรือชวนพวกเขามานั่งกับท่าน
-
เมื่อจบการประชุม ท่านอาจจะชวนคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจและคนอื่นๆ มากิจกรรมศาสนจักรครั้งต่อไป ไปพระวิหาร หรือไปงานสังสรรค์
-
หากคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจเข้าร่วมการประชุมศีลระลึกแต่ไม่ได้มาการประชุมระยะหนึ่งแล้ว ท่านสามารถถามว่าพวกเขามีคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่สอนหรือไม่ บอกพวกเขาว่าพวกเขาถามท่านได้ทุกเมื่อหากมีคำศัพท์ เรื่องราว หรือหลักคำสอนที่พวกเขาไม่เข้าใจ ท่านสามารถค้นหาคำตอบด้วยกันหากจำเป็น