2020
ประวัติศาสนจักร: บ่อเกิดของพลังและการดลใจ
กรกฎาคม 2020


ประวัติศาสนจักร: บ่อเกิดของพลังและการดลใจ

ขณะที่เราเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับวิสุทธิชนในอดีต เราจะมีพลังในการทำพันธกิจของเราให้เกิดสัมฤทธิผลในฐานะธิดาหรือบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

smiling woman

ขวา: ภาพถ่ายสตรี จาก Getty Images; ขวาสุด: แอดดิสัน แพรทท์และบันทึกส่วนตัวของเขา, เฟรนช์โปลินีเซีย, ค.ศ. 1844

เอ็ลเดอร์คุก: ประวัติศาสนจักรสามารถเป็นบ่อเกิดสำคัญของศรัทธา แต่มีคนเข้าใจผิดหรือมองข้ามประวัติดังกล่าว บางคนถึงกับจงใจตีความเรื่องราวในอดีตอย่างผิดๆ เพื่อหว่านความสงสัย

ในการเรียนรู้ประวัติที่ เชื่อถือได้ ของศาสนจักร เราจะผูกใจเราไว้กับวิสุทธิชนของวันวานและวันนี้ เราจะพบตัวอย่างของคนไม่ดีพร้อมเช่นท่านและข้าพเจ้าผู้ดำเนินต่อไปด้วยศรัทธาและยอมให้พระผู้เป็นเจ้าทรงงานผ่านพวกเขาเพื่อทำให้งานของพระองค์สำเร็จลุล่วง ข้าพเจ้าสัญญาว่าการศึกษาประวัติของศาสนจักรจะทำให้ศรัทธาของท่านลึกซึ้งขึ้นและปรารถนาจะดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณอย่างเต็มที่มากขึ้น

เรื่องราวการฟื้นฟูเป็นเรื่องราวของการเสียสละ ความตั้งใจแน่วแน่ และศรัทธา เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูและประวัติศาสนจักร เราแต่ละคนมีพันธกิจต้องทำให้สำเร็จในชีวิตนี้ที่จะช่วยให้พระกิตติคุณเต็มแผ่นดินโลก ขณะที่เราเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับวิสุทธิชนในอดีต เราจะมีพลังในการทำพันธกิจของเราให้เกิดสัมฤทธิผลในฐานะธิดาหรือบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

ตลอด 24 ปีที่ข้าพเจ้ารับใช้เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ ความปรารถนาของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่โปร่งใสที่สุดเท่าที่จะโปร่งใสได้ ทั้งในแง่ของประวัติศาสนจักรและในหลักคำสอน เรารู้สึกว่าการพยายามเอาแหล่งข้อมูลใหม่ๆ ออกมา—โดยเฉพาะ Joseph Smith Papers, Gospel Topics Essays, Church History Topics และ วิสุทธิชน อีกหลายเล่ม1—เป็นวิธีที่ดีเยี่ยมในการให้ผู้คนได้ศึกษาเรื่องต่างๆ ในบริบทที่ถูกต้องเป็นจริงและจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ในวิธีที่เชื่อถือได้

เรื่องโปรดเรื่องหนึ่งของข้าพเจ้าใน วิสุทธิชน คือเรื่องที่แอดดิสัน แพรทท์ไปแปซิฟิกใต้ เขาให้บัพติศมาประมาณ 60 คน ข้าพเจ้ากับแมรีย์ภรรยามีโอกาสไปเยือนหมู่เกาะออสตรัล เฟรนช์โปลินีเซีย สถานที่ซึ่งแอดดิสัน แพรทท์สอน

หนึ่งในประสบการณ์อันน่าทึ่งที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยมีคือเมื่อได้ยินเยาวชนหญิงคนหนึ่งที่นั่นพูดว่า “ดิฉันเป็นสมาชิกรุ่นที่เจ็ดของศาสนจักร” แอดดิสัน แพรทท์ให้บัพติศมาบรรพบุรุษของเธอก่อนวิสุทธิชนไปยูทาห์

ไม่ว่าท่านอยู่ที่ใดในโลก ไม่ว่าท่านมาจากเชื้อสายอะไร ท่านสำคัญ ท่านเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสนจักร เราต้องมีท่านและเราต้องการท่านมาก ท่านจะเป็นพรแก่ชีวิตผู้คน

เหตุใดศาสนจักรไม่เปิดกว้างมากขึ้นเกี่ยวกับประเด็นโต้แย้งบางอย่างในประวัติศาสนจักร?

โดย เคท ฮอลบรูค

mother and daughter visiting grandmother

ซ้าย: ภาพประกอบโดย เดวิด กรีน

เมื่อดิฉันอายุสี่ขวบ คุณแม่กับคุณยายทำงานที่บีไฮฟว์เฮาส์บ้านเก่าของบริคัม ยังก์ในซอลท์เลคซิตี้ ยูทาห์ พวกท่านสอนดิฉันทุกอย่างเกี่ยวกับบริคัม ยังก์และสอนว่าท่านมีภรรยาหลายคน ราว 10 ปีให้หลัง ดิฉันทราบว่าโจเซฟมีภรรยาหลายคน ดิฉันไม่ทราบเรื่องศิลาผู้หยั่งรู้ซึ่งโจเซฟใช้ช่วยแปลพระคัมภีร์มอรมอนจนกระทั่งดิฉันเป็นผู้ใหญ่ ศาสนจักรไม่ได้ปกปิดข้อมูลจากดิฉัน แต่ไม่ได้เน้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์สมัยที่ดิฉันยังเด็ก

สิ่งที่ดิฉันเรียนรู้ในการประชุมวันอาทิตย์และชั้นเรียนเซมินารีคือสิ่งที่เป็นงานหลักของศาสนจักร ดิฉันเรียนรู้ว่าต้องกลับใจ ดิฉันเรียนรู้ว่าต้องทำให้ชีวิตสอดคล้องกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ดิฉันเรียนรู้วิธีสร้างความสัมพันธ์กับพระบิดาในสวรรค์ นี่เป็นสิ่งที่ดิฉันเห็นค่ามากที่สุดในชีวิต ดิฉันรู้ว่าบางคนเจ็บปวดมากเมื่อได้เรียนรู้บางอย่างที่ท่านคิดว่าท่านควรจะรู้นานแล้วแต่ไม่รู้ นั่นคือสาเหตุที่แมทท์กับดิฉันทำงานที่เราทำอยู่ เราหวังว่าประสบการณ์แบบนั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอดีตเพราะเรามีหนังสือ วิสุทธิชน ซึ่งพรรณนาประวัติโดยครบถ้วนให้ผู้คนรับรู้

เรารู้ได้อย่างไรว่าแหล่งใดเชื่อถือได้เกี่ยวกับประวัติศาสนจักร?

โดย แมทท์ โกรว์

ผมทำงานเขียนประวัติให้ศาสนจักรมาเก้าปีแล้ว ผมได้เห็นเจตคติของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เกี่ยวกับประวัติของเรา พวกท่านไม่ได้สนทนาว่า “เราจะปกปิดหรือตัดตอนแก้ไขประวัติของเราอย่างไร?” แต่สนทนาว่า “เราจะทำให้ผู้คนเข้าถึง ได้อ่าน และเข้าใจประวัติได้อย่างไร?”

เราทุกคนรู้ว่าความท้าทายในยุคข้อมูลข่าวสารไม่ใช่การหาคำตอบ—เราแวดล้อมไปด้วยคำตอบ—แต่คือการแยกแยะระหว่างคำตอบที่ดีกับคำตอบที่ไม่ดี ข้อมูลที่ดีกับข้อมูลที่ไม่ดี มีบทสนทนาเยอะมากทางออนไลน์เกี่ยวกับประวัติของเรา และส่วนใหญ่บทสนทนาเหล่านี้ก่อให้เกิดความโกรธแค้นมากกว่าความกระจ่าง

จงระวังแหล่งข้อมูลที่คอยจ้องทำลายผู้อื่น แต่มองหาแหล่งข้อมูลที่อิงกับบันทึกที่เจ้าตัวทิ้งไว้และพยายามให้ความเป็นธรรมแก่พวกเขา ง่ายมากที่จะ “จับผิด” ผู้คนในอดีต ดึงคำอ้างอิงหรือเหตุการณ์หนึ่งออกจากบริบทและทำให้ดูน่ากลัว

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ผมพยายามทำตามคำแนะนำของนักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษคนหนึ่ง เขาพูดว่า “อดีตคือต่างประเทศ พวกเขาทำหลายอย่างไม่เหมือนตอนนี้” (L. P. Hartley, The Go-Between [1953], prologue) นั่นหมายความว่าเมื่อเราไปเยือนอดีต เราต้องไม่ทำตัวเป็น “นักท่องเที่ยวเจ้าอารมณ์” เราต้องพยายามเข้าใจผู้คนในบริบทของพวกเขาและวัฒนธรรมของพวกเขา เราต้องอดทนกับสิ่งที่เราเห็นเป็นความผิดของพวกเขา เราต้องถ่อมตนกับขีดจำกัดความรู้ของเราเอง และเราต้องมีจิตกุศลเกี่ยวกับอดีต

โจเซฟ สมิธและพระคัมภีร์มอรมอน

เมื่อข้าพเจ้าเป็นวัยรุ่น เราคิดว่าพี่ชายข้าพเจ้าจะไม่ได้รับใช้งานเผยแผ่เพราะอนุญาตให้วอร์ดส่งเยาวชนชายไปเป็นผู้สอนศาสนาได้ทีละคนเท่านั้น นอกนั้นต้องไปเกณฑ์ทหาร แต่อธิการและประธานสเตคของเราพบว่าพวกเขาส่งได้อีกหนึ่งคน พวกเขาจึงคุยกับพี่ชายข้าพเจ้าเรื่องนี้ และเขากลับมาบอกคุณพ่อคุณแม่

คุณพ่อข้าพเจ้าเป็นคนดีมาก แต่ท่านไม่แข็งขันในศาสนจักร ท่านตอบปฏิเสธ—แต่ด้วยเหตุผลที่ไม่ธรรมดา ท่านไม่ได้วิจารณ์ศาสนจักรหรือแม้กระทั่งงานเผยแผ่ แต่พี่ชายข้าพเจ้ากำลังเตรียมเข้าโรงเรียนแพทย์ คุณพ่อพูดว่า “ลูกเตรียมตัวเข้าโรงเรียนแพทย์แล้ว ลูกเรียนไปบ้างแล้ว ถ้าลูกไปโรงเรียนแพทย์ลูกทำประโยชน์ได้มากกว่าไปเป็นผู้สอนศาสนาเสียอีก”

ค่ำวันนั้น พี่ชายที่ยอดเยี่ยมและเปี่ยมด้วยศรัทธานั่งกับข้าพเจ้า และเราสองคนคุยกัน เราสรุปว่ามีคำถามสามข้อเป็นตัวกำหนดคำตอบที่เขาจะให้กับคุณพ่อของเรา คำถามข้อแรกคือ “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลกหรือไม่?” ข้อสองคือ “พระคัมภีร์มอรมอนเป็นพระคำของพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่?” และข้อสามคือ “โจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์หรือไม่?” ข้าพเจ้าทราบดีว่าคำตอบของคำถามสามข้อนั้นจะมีผลต่อการตัดสินใจเกือบทั้งหมดที่ข้าพเจ้าจะทำตลอดชีวิตที่เหลือ

ข้าพเจ้ารักพระผู้ช่วยให้รอดเสมอและข้าพเจ้าอ่านพระคัมภีร์มอรมอนมาแล้ว แต่ทราบดีว่าคำตอบเหล่านั้นสำคัญอย่างยิ่ง คืนนั้นข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนและได้รับคำตอบที่น่าพอใจอย่างสุดซึ้งผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์สำหรับคำถามเหล่านั้น พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอด พระคัมภีร์มอรมอนเป็นพระคำของพระผู้เป็นเจ้า และโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ ข้าพเจ้าเป็นพยานว่านี่เป็นความจริง

เหตุใดเรื่องราวเกี่ยวกับนิมิตแรกของโจเซฟ สมิธจึงต่างกันเล็กน้อย?

โดย แมทท์ โกรว์

โจเซฟ สมิธบันทึกหรือขอให้ผู้จดคำแปลของท่านบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับนิมิตแรกสี่ครั้ง ทั้งสี่ครั้งเล่าเรื่องสอดคล้องกัน แต่มีความต่าง นั่นไม่ควรทำให้เราประหลาดใจ ถ้าเรื่องเล่าทั้งสี่ครั้งเหมือนกันหมด นั่นจะทำให้นักประวัติศาสตร์อย่างผมเคลือบแคลงสงสัยเพราะความจำของคนเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เราเห็นรูปแบบเดียวกันในประวัติศาสตร์หรือในพระคัมภีร์เรื่องอื่น (ดู กิจการ 9:7; 22:9)

อย่าลืมว่าการเล่าประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์เป็นภาษาพูดนั้นยากมาก โจเซฟเรียกภาษาพูดว่าเป็น “คุกเล็กและแคบ” (ใน History of the Church, 4:540) ลองนึกถึงประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของคุณเอง การเรียบเรียงประสบการณ์นั้นเป็นคำพูดง่ายเพียงใด? เราควรยินดีที่เรามีหลายเรื่องเพราะแต่ละเรื่องให้ข้อคิดและมุมมองใหม่ๆ แก่เรา ลองไปอ่านนิมิตแรกทั้งสี่เรื่องในความเรียง Gospel Topics การอ่านจะทำให้คุณเห็นค่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นมากขึ้น

อูริมและทูมมิมมีบทบาทอะไรในการแปลพระคัมภีร์มอรมอน?

โดย เคท ฮอลบรูค

Joseph Smith with the plates

ซ้าย: ภาพประกอบโดย เดวิด กรีน

โจเซฟ สมิธแปลพระคัมภีร์มอรมอนโดยของประทานและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า อูริมและทูมมิมที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์มอรมอนถูกฝังรวมกับแผ่นจารึก เมื่อโมโรไนมอบแผ่นจารึกทองคำให้โจเซฟ ท่านให้อูริมและทูมมิมด้วย ศิลาผู้หยั่งรู้ซึ่งโจเซฟใช้แปลด้วยเหมือนกัน ไม่ได้ถูกฝังรวมกับแผ่นจารึก หลายปีก่อนหน้านั้นโจเซฟพบศิลานี้ด้วยตนเองที่ช่วยให้ท่านรู้สึกเชื่อมโยงกับการเปิดเผยทางวิญญาณ ท่านจึงใช้ทั้งสองอย่าง

เอ็มมา สมิธซึ่งเป็นผู้จดคนหนึ่งของท่านจำได้ว่าเมื่อใดก็ตามที่โจเซฟนั่งลงเพื่อเริ่มแปลอีกครั้ง ท่านจะไม่ถามว่า “ผมแปลถึงไหน? เราแปลค้างไว้ตรงไหน?” ท่านจะเริ่มแปลตรงจุดที่แปลค้างไว้ทันที ถ้าคุณดูหน้าหนึ่งในบันทึกส่วนตัวของโจเซฟ สมิธที่ท่านเขียนหลังจากแปลพระคัมภีร์มอรมอนได้สามปี หน้านั้นเต็มไปด้วยคำขีดฆ่า ความคิดที่ไม่ปะติดปะต่อ และประโยคขาดตอน เมื่อคุณดูหน้าหนึ่งของพระคัมภีร์มอรมอนที่ท่านบอกให้จด จะไม่มีแบบนั้นเลย แต่เป็นข้อความที่สมบูรณ์ สวยงาม—ประโยคที่สมบูรณ์ ไม่มีคำขีดฆ่า

นั่นน่าคิดมาก แต่ที่สำคัญต่อดิฉันมากกว่าคือเนื้อหาของพระคัมภีร์มอรมอน พระคัมภีร์มอรมอนเป็นหนังสือที่กษัตริย์เบ็นจามินสอนดิฉันว่าต้องให้ความโอบอ้อมอารีมาก่อนการตัดสิน ที่แอลมาสอนดิฉันว่าเมื่อดิฉันรับบัพติศมาหมายความว่าอย่างไร ดิฉันสัญญาจะทำอะไรให้เพื่อนวิสุทธิชนและทำอะไรกับพวกเขา พระคัมภีร์มอรมอนเป็นหนังสือที่มอรมอนกับโมโรไนสอนดิฉันว่าจิตกุศลสำคัญเพียงใดและต้องทำอะไรจึงมีจิตกุศล หนังสือเล่มนี้หล่อหลอมความเป็นตัวดิฉันและวิธีที่ดิฉันมองโลก

การแต่งภรรยาหลายคน

ข้าพเจ้าต้องการพูดสามประเด็นเกี่ยวกับการแต่งภรรยาหลายคน หนึ่ง ชัดเจนว่ามีการเสียสละมากในการแต่งภรรยาหลายคน มีความรักและความเป็นหนึ่งเดียวกันมาก แต่มีการเสียสละเช่นกัน และบิดามารดาในการแต่งงานเหล่านั้นสอนบุตรธิดาให้เสียสละ บุตรธิดาจำนวนมากที่เกิดจากการแต่งภรรยาหลายคนนำพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ไปทั่วโลกและเป็นพรแก่ชีวิตคนมากมาย

สอง มีบางคน เช่น ไวเลต คิมบัลล์ที่ได้รับการเปิดเผยส่วนตัว—ก่อนจะรู้ด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้น—ว่าหลักคำสอนนี้มาจากพระผู้เป็นเจ้า2

และสาม ในสภาอาวุโสของศาสนจักรมีความรู้สึกว่าการแต่งภรรยาหลายคนที่ปฏิบัติอยู่นั้นมีจุดประสงค์ เราควรให้เกียรติวิสุทธิชนเหล่านั้น แต่จุดประสงค์ดังกล่าวบรรลุแล้ว

มีคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบ แต่ข้าพเจ้าต้องการให้ท่านทราบว่าเรามีพระบิดาผู้เป็นที่รักบนสวรรค์ผู้ทรงมีแผนสมบูรณ์แบบ แผนของพระองค์เป็นแผนแห่งความสุข และเรามีพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงทำทุกสิ่งเพื่อเรา เราวางใจพระองค์ได้

เหตุใดพวกเขาจึงปฏิบัติการแต่งภรรยาหลายคนในยุคแรกของศาสนจักร?

โดย เคท ฮอลบรูค

คำสอนในพระคัมภีร์มอรมอนเกี่ยวกับการแต่งภรรยาหลายคนบอกว่าการมีคู่สมรสคนเดียวเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับผู้คนของพระองค์ แต่มีข้อยกเว้นน้อยครั้งมากเมื่อพระองค์ทรงบัญชาให้ปฏิบัติการแต่งภรรยาหลายคนเพื่อเลี้ยงดูคนชอบธรรม (ดู เจคอบ 2:30) นี่เป็นข้อยกเว้นน้อยครั้งมากที่โจเซฟ สมิธได้รับบัญชาให้ส่งเสริม โจเซฟถ่วงเวลาทำตามพระบัญชาอยู่หลายปี แต่ในที่สุดก็ทำตามเพราะต้องการเชื่อฟังพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ท่านพยายามปฏิบัติการแต่งภรรยาหลายคนตอนกลางทศวรรษ 1830 แต่จริงๆ แล้วท่านเริ่มแนะนำเพื่อนที่ไว้ใจได้ทีละนิดและอย่างเป็นทางการมากขึ้นในปี 1841 ให้ปฏิบัติดังกล่าว พวกเขาตกใจมาก และสวดอ้อนวอนพระบิดาในสวรรค์ทูลขอให้พวกเขาเข้าใจหลักธรรมนี้ และพวกเขาได้รับพยานทางวิญญาณเป็นส่วนตัวว่านี่เป็นสิ่งที่พวกเขาสมควรทำ ณ เวลานั้น

การแต่งภรรยาหลายคนที่ปฏิบัติอย่างเป็นทางการราว 50 ปีเป็นสิ่งที่ผู้คนเลือกได้ว่าจะปฏิบัติหรือไม่ นักวิชาการยังคงพยายามระบุว่ามีวิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้ใหญ่กี่คนแต่งภรรยาหลายคนจริงๆ แต่เรารู้ว่ามีวิสุทธิชนส่วนน้อยที่ปฏิบัติ และเรารู้ว่าหลายคนในนั้นเป็นสมาชิกที่เด็ดเดี่ยวและมีศรัทธามากที่สุดของศาสนจักร ในปี 1980 ประธานวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ออกแถลงการณ์ให้ยุติการปฏิบัติการแต่งภรรยาหลายคน เมื่อบางคนได้ยินแถลงการณ์นี้ พวกเขารู้สึกโล่งอก การแต่งภรรยาหลายคนเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา เมื่อคนอื่นๆ ได้ยินแถลงการณ์นี้ พวกเขาเสียใจมาก พวกเขาเสียสละมามาก และพวกเขามีประจักษ์พยานถึงหลักธรรมนี้

สมาชิกศาสนจักรบางคนสงสัยว่าการปฏิบัติการแต่งภรรยาหลายคนในอดีตมีจุดมุ่งหมายอะไรหลังจากชีวิตนี้ ผู้นำศาสนจักรเคยสอนว่าการแต่งภรรยาหลายคนไม่จำเป็นต่อความสูงส่งหรือรัศมีภาพนิรันดร์ ถึงแม้ข้าพเจ้ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่การมีคู่สมรสคนเดียวเป็นกฎและการแต่งภรรยาหลายคนเป็นข้อยกเว้น แต่ข้าพเจ้าไม่ดูถูกประจักษ์พยานและการเชื่อฟังของบรรพชนทางวิญญาณของเราผู้ปฏิบัติหลักธรรมนี้ พวกท่านเชื่อฟัง และพวกท่านมีประจักษ์พยานว่านั่นถูกต้อง

พระวิหารและพันธสัญญา

Moses, Elias, and Elijah appearing in Kirtland Temple

บน: พระวิหารเคิร์ทแลนด์ โดย อัล ราวดส์; ขวา: โมเสส เอลีอัส และเอลียาห์ โดย แกรีย์ เออร์เนสต์ สมิธ

ในเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอมีเรื่องเหลือเชื่อเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นคือการสร้างและการอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์ คำสวดอ้อนวอนอุทิศซึ่งโจเซฟได้รับโดยการเปิดเผยปรากฏอยู่ในหลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 109 ในคำสวดอ้อนวอนนั้นท่านขอให้พระเจ้าทรงยอมรับผลงานและการเสียสละของวิสุทธิชนในการสร้างพระวิหาร

หนึ่งสัปดาห์หลังจากอุทิศพระวิหาร โจเซฟ สมิธ และออลิเวอร์ คาวเดอรีเห็นนิมิตอีกครั้ง นิมิตนี้เกิดขึ้นในวันอีสเตอร์ซึ่งเป็นปัสกาด้วย พระเจ้าเสด็จมาในนิมิตและทรงยอมรับพระนิเวศน์ พระองค์รับสั่งว่าวิสุทธิชนควรชื่นชมยินดีที่ได้ “สร้างนิเวศน์แห่งนี้, ด้วยสุดกำลังของพวกเขา, แด่นามของเรา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:6) หลังจากนิมิตสิ้นสุด ศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณสามท่านมาปรากฏ คือ โมเสสผู้ฟื้นฟูกุญแจทั้งหลายของการรวบรวมอิสราเอลจากสี่ส่วนของแผ่นดินโลก เอลีอัสผู้มอบหมายการประทานพระกิตติคุณสมัยอับราฮัม และเอลียาห์ผู้ฟื้นฟูกุญแจทั้งหลายของอำนาจการผนึก (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:11–16)

การฟื้นฟูกุญแจเหล่านั้นจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำให้บรรลุจุดประสงค์ของพระเจ้า เราไม่เพียงต้องการพระคัมภีร์มอรมอนเท่านั้นแต่ต้องการกุญแจเหล่านั้นและศาสนพิธีพระวิหารด้วย กุญแจเหล่านั้นไม่เคยสำคัญกว่าตอนนี้

ข้าพเจ้าสังเกตว่าเมื่ออัครสาวกสิบสองคนหนึ่งได้รับเรียกเป็นศาสดาพยากรณ์ ท่านจะสนใจศาสนพิธีของพระวิหารมากขึ้นทันที ข้าพเจ้าได้รับเกียรติให้อยู่ที่การอุทิศพระวิหารนอวู อิลลินอยส์กับประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) ข้าพเจ้าจำได้ว่าท่านตื้นตันใจมากที่ได้สร้างพระวิหารแห่งนี้และการนำพระวิหารมาให้วิสุทธิชนสำคัญต่อท่านอย่างยิ่ง ประธานโธมัส เอส. มอนสัน (1927–2018) สานต่อความพยายามนั้นและได้รับการดลใจจากสวรรค์เหมือนประธานฮิงค์ลีย์ได้รับ และเราได้เห็นการดลใจนั้นชัดเจนกับประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน เสื้อคลุมของศาสดาพยากรณ์มาอยู่บนท่าน และท่านสำนึกถึงคุณค่าของศาสนพิธีพระวิหารมากขึ้น

ข่าวสารแรกๆ ข่าวสารหนึ่งของท่านในฐานะประธานศาสนจักรคือท่านกระตุ้นผู้คนให้ไปพระวิหาร รับศาสนพิธีของตน และอยู่บนเส้นทางพันธสัญญา ประธานเนลสันกล่าวต่อจากนั้นว่าถ้าท่านตกไปจากเส้นทางพันธสัญญาด้วยเหตุผลใดก็ตาม ให้กลับมาบนเส้นทางนั้น3

งานพระวิหารเป็นพรแก่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายรุ่นแรกๆ อย่างไร?

โดย แมทท์ โกรว์

เมื่อโจเซฟ สมิธถึงแก่กรรม ผนังพระวิหารนอวูยังเสร็จไม่ถึงครึ่ง และไม่นานเป็นที่แจ่มแจ้งแก่ประธานบริคัม ยังก์ (1801–1877) ว่าวิสุทธิชนจะถูกขับไล่อีกครั้ง ท่านจึงทูลถามพระเจ้าว่า “พวกข้าพระองค์ควรอยู่ที่นี่และสร้างพระวิหารให้เสร็จ ทั้งที่รู้ว่าจะต้องทิ้งไปเกือบจะทันทีที่สร้างเสร็จ หรือควรไปตอนนี้?” คำตอบมาชัดเจนว่า “อยู่” (ดู Brigham Young diary, Jan. 24, 1845, Church Archives; Ronald K. Esplin, “Fire in His Bones,” Ensign, Mar. 1993, 46) ศาสนพิธีเอ็นดาวเม้นท์และการผนึกสำคัญมากถึงขนาดว่าวิสุทธิชนต้องอยู่

และด้วยเหตุนี้ปีต่อมาพวกเขาจึงทุ่มเททุกอย่างที่มีให้กับการสร้างพระวิหาร ตกปลายปี บ้านของพวกเขารอบๆ นอวูถูกเผา และวิสุทธิชนเตรียมไปตะวันตกขณะพวกเขาสร้างพระวิหารเสร็จพอดี ในเดือนธันวาคมปี 1845 พระวิหารแล้วเสร็จมากพอจะให้วิสุทธิชนอุทิศส่วนนั้น ให้เอ็นดาวเม้นท์แก่คนที่มีค่าควร และผนึกสามีภรรยาเข้าด้วยกัน

ตลอดสี่เดือนนับจากนั้น พวกเขาทำงานแข่งกับเวลาเพื่อเตรียมทุกคนทางวิญญาณให้พร้อมเดินทางครั้งใหญ่ไปตะวันตก การที่ผมได้ผนึกด้วยอำนาจเดียวกันนั้นกับภรรยา บุตรธิดา บิดามารดา และคนหลายรุ่นที่ล่วงลับไปก่อนและอีกหลายรุ่นที่จะเกิดมาถือว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์และน่าประทับใจ นั่นคือสิ่งที่การฟื้นฟูทำให้เกิดขึ้น

คุณจะเล่าสักหนึ่งเหตุการณ์จากการฟื้นฟูที่ทำให้ประจักษ์ของคุณเข้มแข็งขึ้นได้ไหม?

โดย เคท ฮอลบรูค

woman crossing frozen river with children

ซ้าย: ภาพประกอบโดย เดวิด กรีน

ดิฉันจำเรื่องที่เอ็มมา สมิธพยายามหนีการข่มเหงในมิสซูรีได้ แม่น้ำมิสซิสซิปปีเป็นน้ำแข็งเพียงบางส่วน—ไม่มากพอให้เกวียนกับคนและสมบัติของพวกเขาข้ามไปได้ แม่น้ำกว้าง และอันตรายเกินกว่าจะข้าม เอ็มมามีลูกวัยหกขวบจับกระโปรงข้างหนึ่งของเธอ ลูกวัยแปดขวบจับกระโปรงอีกข้าง ลูกวัยสองขวบอยู่แขนข้างนี้ และลูกที่ยังแบเบาะอยู่แขนข้างนั้น

น้องสะใภ้ของผู้จดคนหนึ่งของโจเซฟเย็บถุงผ้าที่ติดกระดุมไว้รอบเอว เอ็มมาเอาสำเนางานแปลพระคัมภีร์ไบเบิลของโจเซฟซึ่งท่านทำมาหลายเดือนใส่ในถุงผ้าเหล่านั้นที่อยู่ใต้กระโปรง เธอเดินทีละก้าวข้ามแม่น้ำที่เป็นน้ำแข็งพร้อมกับเอกสารและลูกๆ ของเธอโดยหวังว่าเธอจะไม่จมลงไป

สำหรับดิฉันนั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกความกล้าหาญและศรัทธาได้อย่างสมบูรณ์แบบ—ว่าเมื่อคุณต้องทำบางอย่างเพื่อสิ่งที่คุณเชื่อ คุณแค่เดินไปข้างหน้า เท้าข้างหนึ่งอยู่หน้าเท้าอีกข้างหนึ่ง

pioneer scenes

บน: ภาพประกอบโดย แดน เบอร์; ปาฏิหาริย์ที่ควินซี โดย จูลี โรเจอร์ส; โจเซฟ สมิธในคุกลิเบอร์ตี้ โดย เกรก เค. โอลเซ็น

“จงรื่นเริงเถิด”

หลายท่านมีการทดลองและความยากลำบาก บางอย่างเกิดขึ้นเพราะมีสิทธิ์เสรี บางอย่างเกิดขึ้นเพราะมีปฏิปักษ์ แต่ท่านต้องรู้ว่าเรามีพระบิดาที่รักในสวรรค์และการชดใช้ของพระเยซูคริสต์สามารถเป็นพรแก่เราในหลายๆ ด้านที่เราอาจไม่เข้าใจถ่องแท้

นักประวัติศาสตร์บางคนพูดว่าจำนวนวิสุทธิชนที่หนีออกจากมิสซูรีไปนอวูช่วงฤดูหนาวปี 1838–1839 มีมากถึง 8,000 คน ตอนนั้นเป็นฤดูหนาว โจเซฟอยู่ที่ไหน? ท่านอยู่ในคุกลิเบอร์ตี้ ใจสลายกับสิ่งที่วิสุทธิชนกำลังประสบ ท่านรู้สึกว่าท่านถูกทอดทิ้ง

ในสถานการณ์ล่อแหลมนั้น ท่านได้รับพระคัมภีร์ที่ไพเราะที่สุด—ภาค 121, 122, 123 ของหลักคำสอนและพันธสัญญา ภาคเหล่านั้นสำคัญ ข้าพเจ้าหวังว่าท่านจะอ่านวิสุทธิชน มีเรื่องราวสั้นๆ ของเหตุการณ์นี้:

“โจเซฟร้องทูลแทนวิสุทธิชนที่ไม่มีความผิดว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า’ ท่านทูล ‘อีกนานเท่าใดเล่าที่พวกเขาจะทนรับการกระทำผิดและการกดขี่ที่ผิดกฎเหล่านี้, ก่อนที่พระทัยของพระองค์จะอ่อนลงต่อพวกเขา?’

“‘ลูกเอ๋ย, สันติสุขจงมีแก่จิตวิญญาณเจ้า’ พระเจ้าตรัสตอบ ‘ความยากลำบากของเจ้าและความทุกข์ของเจ้าจะอยู่เพียงชั่วครู่; และจากนั้น, หากเจ้าอดทนมันด้วยดี, พระผู้เป็นเจ้าจะทรงยกเจ้าให้สูงส่งสู่เบื้องบน; เจ้าจะมีชัยเหนือศัตรูทั้งปวงของเจ้า.’

“พระเจ้าทรงรับรองกับโจเซฟว่าพระองค์ไม่ทรงลืมท่าน ‘หากขากรรไกรแห่งนรกนั่นเองจะอ้าปากกว้างเพื่องับเจ้า,’ พระเจ้ารับสั่งกับโจเซฟ ‘จงรู้ไว้เถิด, ลูกพ่อ, ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์แก่เจ้า, และจะเกิดขึ้นเพื่อความดีของเจ้า’

“พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนโจเซฟว่าวิสุทธิชนจะไม่ทนทุกข์มากไปกว่าพระองค์ พระองค์ทรงรักพวกเขาและทรงสามารถทำให้ความเจ็บปวดของพวกเขาสิ้นสุด แต่ทรงเลือกทนทุกข์กับพวกเขาแทน โดยทรงแบกความเศร้าโศกและโทมนัสของพวกเขาอันเป็นส่วนหนึ่งของการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ ความทุกข์ทรมานเช่นนั้นทำให้พระองค์เปี่ยมด้วยพระเมตตา ทำให้พระองค์ทรงมีเดชานุภาพในการช่วยชีวิตและขัดเกลาทุกคนที่หันมาหาพระองค์ในการทดลองของพวกเขา พระองค์ทรงเตือนโจเซฟให้ยึดมั่นและทรงสัญญาจะไม่ทอดทิ้งท่าน”

เอ็ลเดอร์ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์ (1801–1868) เคยคิดว่าความยุติธรรมของศาลสูงสุดมิสซูรีจะทำให้โจเซฟเป็นอิสระ แต่พวกเขาตัดสินใจไม่ทำเช่นนั้น ฮีเบอร์กลับไปคุกลิเบอร์ตี้ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในคุกใต้ดิน เขาตะโกนบอกข่าวร้ายลงมาจากข้างบน

โจเซฟปลอบใจและเป็นมิตรกับเขา “จงรื่นเริงเถิด” ท่านพูด จากนั้นท่านก็แนะนำฮีเบอร์ให้ “พาวิสุทธิชนทั้งหมดไปให้เร็วที่สุด”4

มีบทเรียนบทหนึ่งสำหรับท่านในเรื่องนี้ นั่นคือ จงรื่นเริงเถิดไม่ว่าท่านมีความท้าทายอะไร ถ้ามีบางสิ่งล่อลวงท่าน จงอยู่ให้ห่างจากสิ่งนั้น จงพึ่งพาพระวิญญาณบริสุทธิ์ แบบอย่างของโจเซฟในคุกลิเบอร์ตี้และวิสุทธิชนที่หนีออกจากมิสซูรีไปนอวูเป็นแบบอย่างที่ยอดเยี่ยมของพลังและศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์

ในฐานะอัครสาวก ข้าพเจ้ากล่าวคำพยานถึงพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าเป็นพยานแน่นอนถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ ข้าพเจ้าต้องการให้ท่านรู้ว่าพระองค์ทรงนำทางและทรงกำกับดูแลศาสนจักรในวิธีที่จะเป็นพรแก่เราทุกคน ข้าพเจ้าเป็นพยานต่อท่านว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่

ดูการให้ข้อคิดทางวิญญาณเรื่องนี้ที่ devotionals.ChurchofJesusChrist.org

อ้างอิง

  1. แหล่งข้อมูลเหล่านี้มีอยู่ที่ history.ChurchofJesusChrist.org

  2. ดู ออร์สัน เอฟ. วิทนีย์, Life of Heber C. Kimball (1945), 327.

  3. ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ขณะที่เราเดินหน้าไปด้วยกัน,” เลียโฮนา, เม.ย. 2018, 7.

  4. ดู Saints: The Story of the Church of Jesus Christ in the Latter Days, Vol. 1, The Standard of Truth: 1815–1846 (2018), 389–90; saints.ChurchofJesusChrist.org