2021
ผู้ดูแล? ดูแลตัวเองด้วย
เมษายน 2021


ดิจิทัลเท่านั้น: สูงอายุอย่างซี่อสัตย์

ผู้ดูแล? ดูแลตัวเองด้วย

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในจังหวัดยะมะนะชิ ประเทศญี่ปุ่น

การดูแลผู้อื่นจะทำให้ท่านเหนื่อยมาก ด้วยเหตุนี้จึงสำคัญที่ท่านต้องเติมพลังให้ตนเองเมื่อทำได้

เยาวชนหญิงช่วยเหลือสตรีสูงอายุ

ในญี่ปุ่นมีธรรมเนียมให้ลูกชายหรือลูกสาวคนโตสืบทอดบ้านของพ่อแม่และดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า เป็นธรรมดาที่คู่สมรสของลูกชายหรือลูกสาวคนนี้จะรู้สึกว่าตนมีหน้าที่ดูแลพ่อแม่ภรรยาหรือพ่อแม่สามี ถึงแม้จะพบเห็นขนบประเพณีนี้น้อยลงทุกที แต่ก็ยังมีหลายครอบครัวใช้ชีวิตแบบนี้ นี่สามารถนำไปสู่ความขัดแย้งได้ แม้จะให้การดูแลก็ตาม

ความเหนื่อยล้าของผู้ดูแล

กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกับคุณแม่ของอดีตเพื่อนร่วมงานของผม ความที่แม่ยายเรียกร้องและบ่นตลอดทำให้ผู้ดูแลมีแรงจูงใจให้รับใช้น้อยลง ผู้ดูแลเริ่มไม่พอใจแม่ยายจนถึงจุดที่อยากให้เธอตาย

แรงกายและแรงใจของผู้ดูแลค่อยๆ หมดไป จนตัวเองป่วย ด้วยเหตุนี้เพื่อนร่วมงานของผมจึงลางานบ่อยหรือไม่ก็ปรับตารางเวลาของเธอเพื่อจะได้ดูแลแม่ของเธอ เธอกลายเป็นคนดูแลผู้ดูแล

ถึงแม้ผู้ดูแลทุกวัยจะประสบความเหนื่อยล้า แต่ปัญหารุนแรงเป็นพิเศษในหมู่คนที่อายุเกิน 65 ปี เมื่อผู้สูงวัยคนหนึ่งดูแลผู้สูงวัยอีกคน เช่นคนที่ดูแลคู่สมรสของตน งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าผู้ดูแลอายุ 66–96 ปีที่กำลังประสบความเครียดมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าคนที่ไม่ใช่ผู้ดูแล 63 เปอร์เซ็นต์1

การสนับสนุนผู้ดูแล

ผู้ดูแลจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนขณะพวกเขาพยายามช่วยเหลือผู้อื่น หลายครอบครัวเรียนรู้วิธีสนับสนุนผู้ดูแลได้อย่างยอดเยี่ยม ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ของภรรยาผมอยู่ใกล้มหาสมุทรในจังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น แต่พอแก่ตัว ลูกๆ เริ่มเป็นห่วงสุขภาพของพ่อแม่

ลูกสาวคนหนึ่งชวนพ่อแม่ให้ย้ายไปอยู่ใกล้บ้านเธอในโอซะกะเพื่อเธอจะได้ดูแลพวกเขาเป็นหลัก แต่ลูกทุกคนพร้อมใจกันช่วยเหลือพ่อแม่กับพี่สาว—หาและปรับปรุงบ้าน เข้าใจความต้องการของพ่อแม่ และเคารพความเป็นอิสระตามวัยของพ่อแม่เพื่อให้พ่อแม่ได้รับความสุขและความเบิกบานใจในชีวิตใหม่ที่บ้านใหม่อย่างเต็มที่

คุณพ่อของภรรยาผมมีภาวะสมองเสื่อม เริ่มเข้าศูนย์ดูแลตอนกลางวันใกล้บ้านเพื่อให้ท่านได้อยู่กับผู้สูงวัยคนอื่นๆ แทนที่จะเดินไปเรื่อยเปื่อยแถวบ้าน ถึงแม้เราจะอยู่ไกล แต่ภรรยาผมชอบสนทนาหลักคำสอนกับพ่อแม่เธอทุกวันอาทิตย์ผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อให้กำลังใจและแสดงความรักต่อกัน และเธอตรวจเช็คกับพี่สาวบ่อยๆ เพื่อดูว่าการดูแลเป็นอย่างไรบ้าง

การเอาใจใส่ผู้ดูแล

การดูแลเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขต่างๆ มากมาย ในหลายกรณีผู้ดูแลจำเป็นต้องเดินทางไปดูแล ในกรณีอื่นผู้รับการดูแลอาจพักอยู่ในบ้านของผู้ดูแล การดูแลมักเรียกร้องให้มีการปรับสถานการณ์ทางร่างกาย จิตใจ และการเงินของผู้ดูแล และปรับความสัมพันธ์ของพวกเขากับคู่สมรส ลูกๆ และชุมชน

ในญี่ปุ่นไม่มีระบบลาป่วย แต่ผู้ดูแลจะใช้วันลาพักร้อนจนหมด จากนั้นพวกเขาจะต่อรองกับนายจ้างเพื่อปรับชั่วโมงการทำงานหรือไม่ก็ลาออกจากงานไปให้การดูแลเต็มเวลา ตามข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 2017 ราว 90,000 คนลาออกจากงานเพื่อจะให้การดูแลที่บ้านได้2

ผู้ดูแลอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการช่วยเหลือขณะที่ตนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ พวกเขาไม่อยากบ่นหรือทำให้คนที่พวกเขาดูแลหมดกำลังใจ แต่ความจริงแล้วพวกเขารู้สึกกดดันที่ต้องพยายามตอบสนองความคาดหวังทุกอย่างของคนที่เขาดูแล ผู้ดูแลหลายคนพยายามมากและเสียสละมากเป็นเวลานาน หากไม่มีการสนับสนุนทางสังคมพวกเขาอาจเก็บความกลัดกลุ้มและความเจ็บปวดไว้ในใจ บางคนทุกข์ทรมานจากความวิตกกังวล ความหดหู่ และความเหนื่อยล้าทางร่างกายหรือจิตใจ การดูแลส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และงานวิจัยอีกนั่นแหละที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ดูแลระยะยาวมีแนวโน้มจะลงเอยด้วยการรู้สึกเป็นภาระและหดหู่3

สำคัญที่ผู้ดูแลต้องเข้าใจว่าพวกเขาควร:

  • รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะบอกความกังวลและความท้าทายของตนกับผู้อื่น

  • ฝึกพึ่งพาสมาชิกครอบครัวและแหล่งช่วยนอกครอบครัว

  • ยอมรับการสนับสนุนจากหลายๆ แหล่ง

นักวิจัยได้พยายามระบุปัจจัยที่ผ่อนภาระของผู้ดูแลและค้นหาวิธีปรับปรุงความผาสุกทางกายและทางใจของคนเหล่านั้น พวกเขาพบว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยได้:

  • บอกให้รู้ความท้าทายที่ผู้ดูแลแต่ละคนประสบ ตลอดจนรับรู้ความเสื่อมถอยด้านสุขภาพแต่ละช่วงของผู้ดูแล

  • ให้ครอบครัวมีส่วนช่วยมากขึ้น

  • เข้าใจและใช้แหล่งช่วยชุมชนให้เกิดประโยชน์

  • พึ่งการสนับสนุนทางสังคม ทั้งในและนอกครอบครัว

  • ตั้งใจฟังความต้องการและความปรารถนาของผู้ดูแล

  • ขอให้หลายๆ คนช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ดูแล

พระบัญญัติข้อแรกและข้อที่สอง

แน่นอนว่าผู้เชี่ยวชาญการดูแลคือพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์ และเราเรียนรู้ได้มากเกี่ยวกับการดูแลเหมือนพระคริสต์โดยศึกษาสิ่งที่พระองค์ทรงเรียกว่าพระบัญญัติข้อสำคัญข้อแรกและข้อที่สอง:

“พระเยซูทรงตอบเขาว่า จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่านด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน

“นั่นแหละเป็นพระบัญญัติข้อสำคัญอันดับแรก

“ข้อที่สองก็เหมือนกัน คือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 22:37–39)

ในข้อเหล่านี้ผมเชื่อว่าพระเจ้าทรงให้แนวทางที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ดูแล ประการแรก รักพระเจ้า อย่าละเลยสิ่งเรียบง่ายที่ช่วยเติมพลังทางวิญญาณให้ท่าน สวดอ้อนวอน อ่านพระคัมภีร์ หาสันติในใจท่าน รู้สึกถึงพลังอำนาจของความรักที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีต่อท่าน

ท่านอาจเปี่ยมด้วยความรักต่อเพื่อนบ้านอยู่แล้ว—ในกรณีนี้คือคนที่ท่านดูแล แต่ท่านรักตัวเองในทางที่ถูกที่ควรด้วยหรือไม่? การดูแลผู้อื่นจะทำให้ท่านเหนื่อยมาก ด้วยเหตุนี้จึงสำคัญที่ท่านต้องฟื้นคืนพลังให้ตนเองเมื่อใดก็ตามที่ทำได้ หากท่าน “รักเพื่อนบ้าน เหมือนรักตนเอง” อย่างแท้จริง ท่านจะต้องการฟื้นกำลังให้ตนเองเพื่อท่านจะแข็งแรงอยู่เสมอและรับใช้ต่อไปได้

เติมพลังให้ตนเอง

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า

“สำหรับท่านที่มุ่งมั่นตั้งใจแบกภาระของกันและกัน สิ่งสำคัญคือท่านจะต้องปลุกใจตนเองอีกครั้งและให้กำลังใจตนเองเมื่อคนอื่นคาดหวังจากท่านมากและเอาจากท่านไปมากเช่นกัน ไม่มีใครเข้มแข็งถึงขนาดไม่เคยรู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรือหงุดหงิดหรือไม่ยอมรับว่าต้องดูแลตนเอง …

“ผู้ดูแลต้องมีคนดูแลด้วย ท่านต้องมีเชื้อเพลิงในถังก่อนจึงจะให้เชื้อเพลิงแก่ผู้อื่นได้”4

และประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “ถึงแม้การรับใช้ที่ยาวนานและเปี่ยมด้วยความรักให้ผู้คนนั้นเป็นรางวัลที่ล้ำค่า แต่ท่านได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เป็นไปได้นั้นมีขีดจำกัดทางร่างกาย อารมณ์ และการเงินด้วย คนที่ให้การดูแลนานๆ ไปอาจกลายเป็นผู้ที่ต้องการการดูแล”5

ผู้ดูแลในฐานะสานุศิษย์ของพระคริสต์

ผู้ดูแลและผู้นำศาสนจักรควรทำงานด้วยกันเพื่อรับมือกับความท้าทายพิเศษของแต่ละครอบครัว อาทิ งานอาชีพ ความท้าทายด้านร่างกายและจิตใจ ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวและชีวิตแต่งงาน ควรส่งเสริมผู้ดูแลไม่ให้ประเมินความสามารถของตนภายใต้ความเครียดและระหว่างช่วงเวลาท้าทายสูงเกินไป และควรเตือนพวกเขาเป็นประจำให้ใช้เวลาฟื้นกำลังบ้าง

จากประสบการณ์ของผม ทั้งในฐานะที่ปรึกษาและในครอบครัวตนเอง ผมพบว่าผู้ดูแลมักรู้สึกว่าพวกเขาต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง นั่นไม่จริงเลย ผู้ดูแลที่ไม่ยอมรับความช่วยเหลือมัก “หมดแรง” เมื่อถึงจุดหนึ่ง พวกเขาต้องยอมให้คนอื่นช่วยเหลือ พวกเขาต้องปรึกษาครอบครัว เพื่อนๆ ผู้นำวอร์ดหรือสาขา บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ คนที่อยากช่วยผู้ดูแลจำเป็นต้องเคารพความปรารถนาของผู้ดูแลที่จะเป็นพรและดูแลคนที่พวกเขารัก

บางข้อต่อไปนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการหารือกัน:

  • มีการสนับสนุนใดจากสมาชิกครอบครัวบ้าง?

  • อะไรจะให้โอกาสผู้ดูแลได้พักสักสองสามนาทีหรือสักหนึ่งหรือสองชั่วโมง?

  • การเยี่ยมเยียนบ่อยแค่ไหนที่จะช่วยได้? การเยี่ยมเยียนแบบใด?

  • ผู้ดูแลจะหาเวลาต่อพันธสัญญาโดยเข้าพระวิหาร ไปโบสถ์ และรับศีลระลึกได้อย่างไร?

  • ผู้ดูแลอาจจะได้ประโยชน์จากการพูดคุยกับคนบางคนอย่างไร?

  • มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเรื่องอาหาร การเดินทาง หรือโครงการของรัฐบาลหรือไม่?

ในฐานะสมาชิกของศาสนจักร เราหมายมั่นเป็นผู้ติดตามที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ เรา “ควรมอบทรัพย์สิน [ของเรา] แก่คนจน, ทุกคนตามทรัพย์สินที่ตนมี, เป็นต้นว่าเลี้ยงอาหารคนหิวโหย, ให้เสื้อผ้าคนเปลือยเปล่า, เยี่ยมคนเจ็บป่วยและให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์คนเหล่านั้น, ทั้งฝ่ายวิญญาณและฝ่ายโลก, ตามความต้องการของพวกเขา” (โมไซยาห์ 4:26) ในฐานะวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เราชอบรับใช้ ดีมากๆ ที่เห็นลูกๆ ดูแลพ่อแม่ ดีเช่นกันที่เห็นบราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจช่วยเหลือพวกเขา หนุนจิตวิญญาณของพวกเขา และแบ่งเบาภาระของพวกเขา

ขณะเดียวกัน ผู้ดูแลและคนที่สนับสนุนพวกเขาจำเป็นต้อง “​ดู​ว่า​ทำ​สิ่ง​ทั้งหมด​นี้​ด้วย​ปัญญา​และ​ระเบียบ; เพราะ​ไม่​จำเป็น​ที่​คน​จะ​วิ่ง​ไป​เร็ว​เกินกำลัง​ของ​ตน” (โมไซยาห์ 4:27)

อ้างอิง

  1. Richard Schulz and Scott R. Beach, “Caregiving as a Risk Factor for Mortality: The Caregiver Health Effects Study,” Journal of the American Medical Association,vol. 282, no. 23 (Dec. 15, 1999), 2215–19.

  2. Labour Statistics (2017), Japan Ministry of Health, Labour and Welfare, Aug. 9, 2018, mhlw.go.jp/toukei/itiran/roudou/koyou/doukou/18-2/dl/gaikyou.pdf.

  3. Alison Marriott, Catherine Donaldson, Nicholas Tarrier, and Alistair Burns, “Effectiveness of Cognitive-Behavioural Family Intervention in Reducing the Burden of Care in Carers of Patients with Alzheimer’s Disease,” British Journal of Psychiatry, vol. 176, no. 6 (June 2000), 557–62.

  4. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “แบกภาระของกันและกัน,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2018, 27-28.

  5. เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “ผู้ดูแล,” หรือ เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 123.