สูงวัยอย่างมีศรัทธา
ขณะดูแลผู้อื่น ขอให้ดูแลตนเองเช่นกัน
ผู้เขียนอาศัยอยู่ในจังหวัดยามานาชิ ญี่ปุ่น
“ท่านต้องมีเชื้อเพลิงในถังก่อนจึงจะให้เชื้อเพลิงแก่ผู้อื่นได้” เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์
ผมเติบโตในครอบครัวที่มีสามรุ่น ได้แก่ ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ น้องชายสองคน และป้าหนึ่งคน ทุกคนอาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน ยายของผมดูแลป้าของผมซึ่งมีปัญหาทั้งทางด้านสติปัญญาและอารมณ์ หลังจากยายสิ้นชีวิต แม่ของผมก็รับผิดชอบดูแลป้าทุกอย่างและดูแลท่านที่บ้านทั้งกลางวันและกลางคืน
ในที่สุดป้าก็ย้ายไปอยู่ที่ศูนย์ในชุมชน แม้จะอยู่ไกลออกไปมาก แต่แม่ก็ไปเยี่ยมท่านเป็นประจำ หลังจากแม่ของผมสิ้นชีวิต ผมก็กลายเป็นคนที่คอยช่วยเหลือป้าเป็นหลัก ผมเริ่มเข้าใจว่าแม่ทุ่มเทเพียงใด ผมยังรู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างมากสำหรับคนที่เอาใจใส่ดูแลป้าของผม
ความเหนื่อยล้าของผู้ดูแล
ประสบการณ์ของครอบครัวผมช่วยให้ผมเข้าใจว่าผู้ดูแลต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย ความคาดหวังทางวัฒนธรรม ความสัมพันธ์กับครอบครัว ความพร้อมสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งหมดนี้อาจส่งผลต่อผู้ดูแล แต่มีความท้าทายอย่างหนึ่งที่ผู้ดูแลทุกคนจะต้องเผชิญ ณ จุดใดจุดหนึ่ง นั่นคือความเหนื่อยล้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้สูงอายุคนหนึ่งกำลังดูแลผู้สูงอายุอีกคนหนึ่ง ซึ่งโดยปกติคือการที่คู่สมรสคนหนึ่งจะดูแลอีกคนหนึ่ง อันที่จริง ผลงานวิจัยบอกว่าผู้ดูแลที่มีอายุ 66–96 ปีซึ่งกำลังเผชิญกับความเครียดมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงกว่าผู้ที่ไม่ใช่ผู้ดูแลอยู่ 63 เปอร์เซ็นต์1
พระบัญญัติข้อแรกและข้อที่สอง
อันที่จริง เราสามารถเรียนรู้ที่จะให้การดูแลเหมือนพระคริสต์โดยการศึกษาพระบัญญัติข้อแรกและข้อที่สองที่สำคัญยิ่ง
“พระเยซูทรงตอบเขาว่า จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่านด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน
“นั่นแหละเป็นพระบัญญัติข้อสำคัญอันดับแรก
“ข้อที่สองก็เหมือนกัน คือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 22:37–39)
ในสองข้อนี้ ผมเชื่อว่าพระเจ้าทรงกำลังมอบแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ดูแลเป็นพิเศษ ก่อนอื่น จงรักพระเจ้า อย่าละเลยเรื่องง่ายๆ ที่ช่วยเติมพลังของท่านทางวิญญาณ สวดอ้อนวอน อ่านพระคัมภีร์ ค้นหาสันติในใจท่าน รับรู้ถึงพลังและความเข้มแข็งของความรักที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีต่อท่าน
ท่านอาจเปี่ยมด้วยความรักสำหรับเพื่อนบ้านของท่านแล้วซึ่งในกรณีนี้คือบุคคลที่ท่านดูแล แต่ท่านรักตัวเองอย่างถูกต้องด้วยหรือไม่?
ความสัมพันธ์ต่างตอบแทน
จากประสบการณ์ของผมทั้งในฐานะที่ปรึกษาและในครอบครัว ผมพบว่าผู้ดูแลมักรู้สึกว่าพวกเขาต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง นั่นไม่จริงเลย ผู้ดูแลที่ไม่ยอมรับความช่วยเหลือมัก “หมดแรง” เมื่อถึงจุดหนึ่ง พวกเขาต้องยอมให้ผู้อื่นช่วยเหลือพวกเขา พวกเขาต้องปรึกษาครอบครัว เพื่อน และผู้ปฏิบัติศาสนกิจ และผู้นำวอร์ดหรือสาขา ผู้ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ดูแลต้องเคารพความต้องการของผู้ดูแลเพื่อเป็นพรและเฝ้าดูคนที่เขารัก
ต่อไปนี้คือรายการบางส่วนที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการสนทนาร่วมกัน:
-
สมาชิกในครอบครัวสามารถขอรับการสนับสนุนอะไรได้บ้าง?
-
สิ่งใดที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ดูแลได้พักสักสองสามนาทีหรือแม้กระทั่งหนึ่งหรือสองชั่วโมง?
-
การเยี่ยมมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด? การเยี่ยมแบบไหน?
-
ผู้ดูแลจะหาเวลาต่อพันธสัญญาด้วยการเข้าพระวิหาร ไปโบสถ์ และรับศีลระลึกได้อย่างไร?
-
ผู้ดูแลจะได้รับประโยชน์จากการแค่ได้พูดคุยกับใครสักคนอย่างไร?
-
มีความต้องการการช่วยเหลือเกี่ยวกับอาหาร การเดินทางขนส่ง หรือโครงการจากภาครัฐหรือไม่?
หากท่านเป็นผู้ดูแล ขอให้นึกถึงคำแนะนำนี้จากเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“สำหรับท่านที่มุ่งมั่นตั้งใจแบกภาระของกันและกัน สิ่งสำคัญคือท่านจะต้องปลุกใจตนเองอีกครั้งและให้กำลังใจตนเองเมื่อคนอื่นคาดหวังจากท่านมากและเอาจากท่านไปมากเช่นกัน ไม่มีใครเข้มแข็งถึงขนาดไม่เคยรู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรือหงุดหงิดหรือไม่ยอมรับว่าต้องดูแลตนเอง …
“ผู้ดูแลต้องมีคนดูแลด้วย ท่านต้องมีเชื้อเพลิงในถังก่อนจึงจะให้เชื้อเพลิงแก่ผู้อื่นได้”2