2021
การเป็นผู้ติดตามพระคริสต์
พฤศจิกายน 2021


9:49

การเป็นผู้ติดตามพระคริสต์

การเป็นผู้ติดตามพระคริสต์คือการพากเพียรทำให้การกระทำ ความประพฤติ และชีวิตเราสอดคล้องกับพระผู้ช่วยให้รอด

ในการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัว ข้าพเจ้าประทับใจการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเซาโลแห่งทาร์ซัส ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อเปาโล ดังอธิบายไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล

เปาโลเป็นชายที่ข่มเหงศาสนจักรและชาวคริสต์อย่างหนัก แต่เพราะอำนาจจากสวรรค์และการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงและกลายเป็นผู้รับใช้ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า แบบอย่างชีวิตของเขาคือพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์

ในคำสอนหนึ่งของเปาโลต่อชาวโครินธ์ เขาเชื้อเชิญชาวโครินธ์ให้มาเป็นผู้ติดตามเขาขณะที่ตัวเขาเองเป็นผู้ติดตามพระคริสต์ (ดู 1 โครินธ์ 11:1) นี่เป็นคำเชื้อเชิญที่จริงใจและมีเหตุผลจากยุคของเปาโลจนถึงปัจจุบัน: คือการเป็นผู้ติดตามพระคริสต์

ข้าพเจ้าเริ่มใคร่ครวญว่าการมาเป็นผู้ติดตามพระคริสต์หมายความว่าอย่างไร ที่สำคัญกว่านี้ ข้าพเจ้าเริ่มถามว่า “ข้าพเจ้าควรเลียนแบบพระองค์ในทางใดบ้าง?”

การเป็นผู้ติดตามพระคริสต์คือการพากเพียรทำให้การกระทำ ความประพฤติ และชีวิตเราสอดคล้องกับพระผู้ช่วยให้รอด คือการมีคุณธรรม คือการเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์

ข้าพเจ้าศึกษาพระชนม์ชีพบางมุมของพระผู้ช่วยให้รอด และจดจำคุณสมบัติสี่ประการที่ข้าพเจ้าพยายามเลียนแบบและจะแบ่งปันกับท่านในข่าวสารวันนี้

คุณสมบัติข้อแรกของพระผู้ช่วยให้รอดคือความอ่อนน้อมถ่อมตน พระเยซูคริสต์ทรงอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างมากตั้งแต่ชีวิตก่อนมรรตัย ที่สภาในสวรรค์ พระองค์ทรงรับรู้และยอมให้พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้ามีชัยในแผนแห่งความรอดสำหรับมนุษยชาติ พระองค์ตรัสว่า “พระบิดา, ขอให้บังเกิดขึ้นตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด, และให้รัศมีภาพเป็นของพระองค์ตลอดกาล.” (โมเสส 4:2)

เรารู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงสอนความอ่อนน้อมถ่อมตนและทรงถ่อมพระองค์ลงเพื่อสรรเสริญพระบิดา

ขอให้เราดำเนินชีวิตในความอ่อนน้อมเพราะจะนำมาซึ่งสันติสุข (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:23) ความอ่อนน้อมถ่อมตนมาก่อนรัศมีภาพ และทำให้เราเป็นที่โปรดปรานของพระผู้เป็นเจ้า: “ในทำนองเดียวกัน พวกท่านที่อ่อนอาวุโส ก็จงยอมเชื่อฟังพวกผู้อาวุโส ท่านทุกคนจงสวมความถ่อมตัวในการปฏิบัติต่อกันและกัน เพราะพระเจ้าทรงต่อสู้คนที่หยิ่งจองหอง แต่ประทานพระคุณแก่คนที่ถ่อมใจ” (1 เปโตร 5:5) ความอ่อนน้อมถ่อมตนนำมาซึ่งคำตอบที่อ่อนโยน เป็นที่มาของอุปนิสัยอันชอบธรรม

เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์สอนว่า:

“บุคคลผู้เดินกับพระผู้เป็นเจ้าด้วยความถ่อมใจจะจดจำสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงทำเพื่อพวกเขาได้”

“เรากระทำตนน่ายกย่องต่อพระผู้เป็นเจ้าโดยเดินกับพระองค์ด้วยความถ่อมใจ” (ดู “ทำความยุติธรรม รักความเมตตา และดำ‌เนิน​ชีวิต​ไป​กับ​พระ‍เจ้า​ของ​เจ้า​ด้วย​ความ​ถ่อม‍ใจ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 111, 109)

คุณสมบัติข้อสองของพระผู้ช่วยให้รอดคือความกล้าหาญ เมื่อข้าพเจ้านึกถึงพระเยซูคริสต์ในวัย 12 ปีประทับในพระวิหารของพระผู้เป็นเจ้าท่ามกลางปรัชญาเมธีและสอนพวกเขาเรื่องแห่งสวรรค์ ข้าพเจ้าสังเกตว่าในช่วงแรกของพระชนม์ชีพก็ทรงมีความกล้าหาญยิ่งแล้ว เป็นความกล้าหาญเฉพาะพระองค์ ขณะที่คนส่วนใหญ่คาดหวังจะเห็นปรัชญาเมธีสอนเด็กคนนี้ แต่พระองค์ทรงสอนพวกเขาขณะที่ “คนเหล่านั้นฟังพระองค์, และซักถามพระองค์.” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ลูกา 2:46 [ใน Luke 2:46, เชิงอรรถ c])

เรารับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลาในคณะเผยแผ่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อึมบูจีไมอี ตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2019 การเดินทางในคณะเผยแผ่จากโซนหนึ่งไปอีกโซนหนึ่งต้องใช้ถนน เหตุการณ์แปลกๆ อย่างหนึ่งเกิดขึ้นในเขตนั้นโดยมีผู้ร้ายติดอาวุธมีดดาบคอยทำร้ายผู้คนตามถนนและรบกวนการเดินทาง

ผู้สอนศาสนาห้าคนที่กำลังเดินทางย้ายจากโซนหนึ่งไปอีกโซนหนึ่งตกเป็นเหยื่อของการก่อกวนนี้ เราซึ่งเคยตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้มาก่อนเริ่มหวั่นกลัวชีวิตและความปลอดภัยของทุกคนจนถึงกับลังเลที่จะเดินทางบนถนนเหล่านี้เพื่อไปเยี่ยมผู้สอนศาสนาและจัดการประชุมโซน เราไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างนี้ไปอีกนานเท่าใด ข้าพเจ้าเขียนรายงานส่งไปหาฝ่ายประธานภาคและบอกความรู้สึกกลัวของข้าพเจ้าเกี่ยวกับการที่ยังต้องเดินทางเมื่อถนนเส้นนั้นเป็นหนทางเดียวที่จะไปถึงผู้สอนศาสนาของเรา

ในคำตอบของท่าน เอ็ลเดอร์เควิน แฮมิลตัน ประธานภาคแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้เขียนถึงข้าพเจ้าว่า: “คำแนะนำของผมคือให้คุณทำสุดความสามารถ ใช้ปัญญาและสวดอ้อนวอน อย่าทำให้คุณกับผู้สอนศาสนาของคุณตกอยู่ในอันตรายโดยที่รู้ แต่ขณะเดียวกันจงก้าวไปข้างหน้าด้วยศรัทธา ‘เพราะว่าพระเจ้าไม่ได้ประทานใจที่ขลาดกลัวแก่เรา แต่ประทานใจที่ประกอบด้วยฤทธานุภาพ ความรัก และการบังคับตนเองแก่เรา’ (2 ทิโมธี 1:7)”

คำแนะนำนี้ให้กำลังใจเรามากและช่วยให้เราเดินทางรับใช้ต่อไปด้วยความกล้าหาญจนจบงานเผยแผ่ เพราะเราฟังคำแนะนำจากพระบิดาในสวรรค์ผ่านพระคัมภีร์ข้อนั้น

ในพระคัมภีร์สมัยปัจจุบัน เราอ่านถ้อยคำที่ได้รับการดลใจของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธซึ่งสะท้อนถึงกำลังใจที่พระเจ้าประทานให้เรา: “พี่น้องทั้งหลาย, เราจะไม่ก้าวต่อไปในอุดมการณ์อันสำคัญยิ่งเช่นนั้นหรือ? จงก้าวไปข้างหน้าและอย่าถอยกลับ. ความกล้าหาญ, พี่น้องทั้งหลาย; และก้าวต่อไป, ต่อไปถึงชัยชนะ!” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:22)

ขอให้เรากล้าหาญที่จะทำสิ่งถูกต้องแม้สิ่งนั้นไม่เป็นที่นิยม—กล้าหาญที่จะปกป้องศรัทธาของเราและกระทำด้วยศรัทธา ขอให้เรากล้าหาญที่จะกลับใจทุกวัน กล้าหาญที่จะยอมรับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและเชื่อฟังพระบัญญัติ ขอให้เรากล้าหาญที่จะดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมและทำสิ่งที่คาดหวังจากเราในความรับผิดชอบและตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ

คุณสมบัติข้อสามของพระผู้ช่วยให้รอดคือการให้อภัย ในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย พระผู้ช่วยให้รอดทรงปกป้องหญิงล่วงประเวณีไม่ให้ถูกขว้างปาด้วยหิน พระองค์รับสั่งกับนางว่า “จงไปเถิด และจากนี้ไปอย่าทำบาปอีก” (ยอห์น 8:11) ซึ่งทำให้นางไปสู่การกลับใจและได้รับการให้อภัยในที่สุด เพราะดังที่พระคัมภีร์เขียนว่า “หญิงคนนั้นก็สรรเสริญพระผู้เป็นเจ้านับจากโมงนั้น, และเชื่อในพระนามของพระองค์” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 8:11 [ใน John 8:11, เชิงอรรถ c])

ระหว่างการให้ข้อคิดทางวิญญาณเนื่องในเทศกาลคริสต์มาสเดือนธันวาคม 2018 ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันที่รักของเราพูดถึงของประทานสี่อย่างจากพระผู้ช่วยให้รอด ท่านบอกว่าของประทานหนึ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีให้คือความสามารถในการ ให้อภัย:

“โดยผ่านการชดใช้อันไม่มีขอบเขตของพระองค์ ท่านสามารถให้อภัยผู้ที่ทำร้ายท่านและผู้ที่อาจไม่ยอมรับผิดชอบต่อความโหดร้ายที่ทำไว้กับท่าน

“มักเป็นเรื่องง่ายที่จะให้อภัยผู้ที่แสวงหาการให้อภัยจากท่านด้วยความจริงใจและนอบน้อมถ่อมตน แต่พระผู้ช่วยให้รอดจะประทานความสามารถให้ท่านที่จะให้อภัยทุกคนที่กระทำไม่ดีต่อท่านในทางใดก็ตาม” (“ของขวัญสี่ประการที่พระเยซูคริสต์ประทานให้ท่าน” [การให้ข้อคิดทางวิญญาณจากฝ่ายประธานสูงสุดเนื่องในเทศกาลคริสต์มาส, 2 ธ.ค. 2018], broadcasts.ChurchofJesusChrist.org)

ขอให้เราให้อภัยกันอย่างจริงใจเพื่อได้รับการให้อภัยจากพระบิดา การให้อภัยปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระและทำให้เรามีค่าควรรับส่วนศีลระลึกทุกวันอาทิตย์ เราต้องให้อภัยเพื่อจะเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์

คุณสมบัติข้อสี่ของพระผู้ช่วยให้รอดคือการเสียสละ นี่เป็นส่วนหนึ่งของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงมอบการสละพระชนม์ชีพสูงสุดแก่เราเพื่อเราจะได้รับการไถ่ ขณะรู้สึกถึงความเจ็บปวดจากการเสียสละนั้น พระองค์ทรงทูลขอพระบิดาให้ทรงเลื่อนถ้วยนี้ไป แต่พระองค์ก็ไปถึงวาระสุดท้ายของการเสียสละนิรันดร์ นี่คือการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด สอนว่า: “การเสียสละคือการแสดงออกซึ่งความรักอันบริสุทธิ์ ระดับความรักที่เรามีต่อพระเจ้า พระกิตติคุณ และเพื่อนมนุษย์วัดได้จากสิ่งที่เราเต็มใจเสียสละให้” (“The Blessings of Sacrifice,” Ensign, May 1992, 76)

เราสามารถเสียสละเวลาเพื่อปฏิบัติศาสนกิจ รับใช้ผู้อื่น ทำความดี ทำงานประวัติครอบครัว และขยายการเรียกของเราในศาสนจักร

เราสามารถสละเงินโดยจ่ายส่วนสิบ เงินอดอาหาร และเงินบริจาคอื่นๆ เพื่อสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก เราต้องเสียสละเพื่อรักษาพันธสัญญาที่ทำไว้กับพระผู้ช่วยให้รอด

ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้การติดตามพระเยซูคริสต์และการใช้ประโยชน์จากพรแห่งการชดใช้ทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น กล้าหาญมากขึ้น ให้อภัยมากขึ้น และเสียสละมากขึ้นเพื่ออาณาจักรของพระองค์

ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงพระชนม์และทรงรู้จักเราแต่ละคนเป็นส่วนตัว พระเยซูคือพระคริสต์ ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าในปัจจุบัน ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็นอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลกและและพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง ในพระนามของพระเยซูคริสต์ พระผู้ไถ่ของเรา เอเมน