2021
เป็นมากขึ้นในพระคริสต์: อุปมาเรื่องความชัน
พฤศจิกายน 2021


10:1

เป็นมากขึ้นในพระคริสต์: อุปมาเรื่องความชัน

ในจังหวะเวลาของพระเจ้า สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่จุดเริ่มต้น แต่คือจุดหมายที่เราจะมุ่งไป

สมัยเด็ก ข้าพเจ้ามีความใฝ่ฝันยิ่งใหญ่ หลังเลิกเรียนวันหนึ่ง ข้าพเจ้าถามว่า: “คุณแม่ครับ ตอนโตขึ้นผมควรจะเป็นอะไร: นักบาสเกตบอลมืออาชีพหรือศิลปินร็อคดี?” น่าเสียดายที่เจ้าคลาร์ก “ฟันหลอ” ไร้วี่แววของความเป็นนักกีฬาหรือแม้แต่ดาวรุ่งด้านดนตรีในอนาคต แม้จะพยายามหลายครั้ง ข้าพเจ้าก็ถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ให้เข้าเรียนโปรแกรมการศึกษาขั้นสูงของโรงเรียน จนในที่สุดคุณครูก็แนะนำว่าข้าพเจ้าควรเรียนแต่ในชั้นเรียนธรรมดา เมื่อเวลาผ่านไปข้าพเจ้าสร้างนิสัยการเรียนขึ้นมาชดเชย จนกระทั่งได้ไปรับใช้งานเผยแผ่ที่ญี่ปุ่น ข้าพเจ้าถึงรู้สึกว่าศักยภาพทางสติปัญญาและทางวิญญาณเริ่มฉายออกมา ข้าพเจ้ายังคงทำงานหนักต่อไป เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ข้าพเจ้าให้พระเจ้ามีส่วนพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้ชีวิตข้าพเจ้าเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

เอ็ลเดอร์กิลเบิร์ตสมัยเด็ก
เอ็ลเดอร์กิลเบิร์ตสมัยเป็นผู้สอนศาสนา

พี่น้องทั้งหลาย ในศาสนจักรนี้ เราเชื่อในศักยภาพอันสูงส่งของบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าและในความสามารถของเราที่จะเป็นอะไรได้มากขึ้นในพระคริสต์ ในจังหวะเวลาของพระเจ้า สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่จุดเริ่มต้น แต่คือจุดหมายที่เราจะมุ่งไป1

เพื่อให้เห็นภาพหลักธรรมนี้ ข้าพเจ้าจะใช้คณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐาน อย่าเพิ่งตกใจเมื่อได้ยินคำว่า คณิตศาสตร์ ในการประชุมใหญ่สามัญ คณาจารย์คณิตศาสตร์ที่บีวายยู–ไอดาโฮรับรองว่าแม้แต่ผู้เรียนระดับพื้นฐานก็จะเข้าใจแนวคิดนี้ เริ่มต้นด้วยสูตรสำหรับเส้นตรง จุดตัดแกนในจุดประสงค์นี้คือจุดเริ่มต้นของเส้น จุดตัดแกนจะมีจุดเริ่มต้นสูงหรือต่ำก็ได้ ความชันของเส้นจึงสามารถเอียงไปได้ทั้งทางบวกหรือทางลบ

เราทุกคนมีจุดตัดแกนต่างกันในชีวิต—เราเริ่มในตำแหน่งแตกต่างกันพร้อมด้วยต้นทุนชีวิตแตกต่างกัน บางคนเกิดมามีจุดตัดแกนสูง มีโอกาสมากมาย บางคนต้องเจอกับสภาพเริ่มต้นที่ท้าทายและดูไม่ยุติธรรม2 จากนั้นเราก้าวหน้าไปตามแนวความชันของความก้าวหน้าส่วนตัว อนาคตของเราขึ้นอยู่กับจุดเริ่มต้นน้อยลงมาก แต่ขึ้นอยู่กับความชันของเรามากยิ่งขึ้นไปอีก พระเยซูคริสต์ทรงเห็นศักยภาพอันสูงส่งไม่ว่าเราจะเริ่มต้นที่ใด พระองค์ทรงเห็นในคนยากจน คนบาป และคนทุพพลภาพ ทรงเห็นศักยภาพเหล่านั้นของชาวประมง คนเก็บภาษี และคนพรรคชาติ‍นิยม ไม่ว่าเราจะเริ่มที่ใด พระคริสต์ทรงพิจารณาว่าเราทำอะไรกับสิ่งที่เราได้รับ3 ขณะที่โลกสนใจแต่จุดตัดแกนของเรา พระผู้เป็นเจ้ากลับสนพระทัยแต่ความชันของเรา ในการคำนวณแคลคูลัสของพระเจ้า พระองค์จะทรงทำทุกอย่างที่ทรงทำได้เพื่อช่วยเราหันความชันของเราไปสู่สวรรค์

หลักธรรมนี้น่าจะให้การปลอบโยนแก่ผู้ที่ดิ้นรน และให้ การฉุกคิด แก่ผู้ที่ดูเหมือนจะได้เปรียบทุกอย่าง ข้าพเจ้าขอเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงคนที่มีสภาพเริ่มต้นยากลำบาก ทั้งความยากจน การเข้าถึงการศึกษาที่จำกัด และสถานการณ์ครอบครัวที่ท้าทาย คนที่เผชิญความท้าทายทางร่างกาย ข้อจำกัดด้านสุขภาพจิต หรือความบกพร่องทางพันธุกรรมที่รุนแรง4 สำหรับผู้ใดที่ต่อสู้ดิ้นรนกับจุดเริ่มต้นที่ยากลำบาก โปรดรับรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทราบปัญหาของเรา พระองค์ “ทรงรับเอาความทุพพลภาพของ [เรา], เพื่ออุทรของพระองค์จะเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา … เพื่อพระองค์จะทรงรู้ … ว่าจะทรงช่วย [เรา] ตามความทุพพลภาพของ [เรา] ได้อย่างไร.”5

ข้าพเจ้าขอให้กำลังใจสองเรื่องแก่ผู้ที่เผชิญสภาพเริ่มต้นยากลำบาก หนึ่ง ให้มุ่งสนใจไปที่จุดหมาย ไม่ใช่จุดเริ่มต้น การเพิกเฉยต่อสภาพของท่านคงไม่ถูกต้อง—มันเป็นความจริงและต้องมีการแก้ไข แต่การใส่ใจมากไปกับจุดเริ่มต้นที่ยากลำบากอาจทำให้สิ่งนั้นกำหนดตัวตนของท่าน และถึงกับ จำกัด ความสามารถในการเลือกของท่าน6

เยาวชนชายในบอสตัน

หลายปีก่อน ข้าพเจ้ารับใช้กับกลุ่มเยาวชนใกล้ใจกลางเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งส่วนใหญ่ใหม่ต่อพระกิตติคุณและความคาดหวังของศาสนจักร เป็นเรื่องล่อใจที่จะเอาความเห็นใจและความห่วงใยต่อสถานการณ์ของพวกเขามาผสมปนเปกับความอยากลดมาตรฐานของพระผู้เป็นเจ้า7 ในที่สุดข้าพเจ้าก็ตระหนักว่าวิธีแสดงความรักที่ทรงพลังที่สุดคือการไม่ลดความคาดหวังของข้าพเจ้า ด้วยทุกวิธีที่ข้าพเจ้ารู้ เรามุ่งความสนใจไปที่ศักยภาพของพวกเขาด้วยกัน และแต่ละคนก็เริ่มยกระดับความชันของตนเอง การเติบโตของพวกเขาในพระกิตติคุณค่อยเป็นค่อยไปแต่มั่นคง ปัจจุบันพวกเขาได้รับใช้งานเผยแผ่ จบการศึกษาจากวิทยาลัย แต่งงานในพระวิหาร มีชีวิตส่วนตัวและงานอาชีพที่โดดเด่น

เยาวชนชายจากบอสตันในวัยผู้ใหญ่

สอง ให้พระเจ้าทรงมีส่วนร่วมในกระบวนการยกระดับความชันของท่าน ขณะรับใช้เป็นอธิการบดี BYU–Pathway Worldwide ข้าพเจ้าจำได้ว่านั่งอยู่ในการประชุมให้ข้อคิดทางวิญญาณในลิมา เปรู โดยมีเอ็ลเดอร์คาร์ลอส เอ. โกดอยเป็นผู้พูด เมื่อมองไปทั่วที่ประชุม ท่านดูจะรู้สึกซาบซึ้งเมื่อสังเกตเห็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรุ่นแรกจำนวนมากที่ซื่อสัตย์ บางทีท่านอาจจะย้อนนึกถึงเส้นทางของตนเองที่ผ่านสภาพยากลำบากเช่นนั้นมา เอ็ลเดอร์โกดอยกล่าวด้วยความรู้สึกว่า: พระเจ้าจะทรง “ช่วยท่านมากกว่าที่ท่านจะช่วยตัวเองได้ [ดังนั้น] จงให้พระเจ้าทรงมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้”8 ศาสดาพยากรณ์นีไฟสอนว่า “โดยพระคุณนั่นเองที่เราได้รับการช่วยให้รอด, หลังจากเราทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถแล้ว.”9 เราต้องทำให้ดีที่สุด10 ซึ่งรวบถึงการกลับใจ แต่โดยผ่านพระคุณของพระเจ้าเท่านั้นที่เราจะบรรลุศักยภาพอันสูงส่งของเราได้11

การให้ข้อคิดทางวิญญาณ BYU-Pathway ในลิมา เปรู
เอ็ลเดอร์โกดอยพูดในลิมา เปรู

สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอให้คำแนะนำสองเรื่องแก่ผู้ที่มีจุดเริ่มต้นสูง หนึ่ง เราจะแสดงความถ่อมใจบ้างได้ไหมสำหรับสภาพที่เราอาจไม่ได้สร้างด้วยตนเอง? ดังที่เร็กซ์ อี. ลี อดีตอธิการบดีบีวายยูกล่าวต่อนักศึกษาว่า “เราทุกคนล้วนได้ดื่มจากบ่อน้ำที่เราไม่ได้ขุดและอบอุ่นร่างกายด้วยไฟที่เราไม่ได้ก่อ”12 จากนั้นเขาเรียกร้องให้นักศึกษาตอบแทนและเติมเต็มน้ำในบ่อการศึกษาที่ผู้บุกเบิกก่อนหน้านี้ได้สร้างไว้ การไม่ได้หว่านเมล็ดใหม่ให้แปลงนาที่ผู้อื่นปลูกไว้เท่ากับเป็นการคืนเงินตะลันต์แบบไม่มีดอกผล

สอง การมุ่งสนใจกับจุดเริ่มต้นที่สูงมักจะวางกับดักให้เรารู้สึกว่าเรากำลังเจริญก้าวหน้า แต่จริงๆ แล้ว ความลาดชันภายในตัวเราอาจจะค่อนข้างนิ่ง ศาสตราจารย์เคลย์ตัน เอ็ม. คริสเต็นเซ็นจากฮาร์วาร์ดสอนว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนที่สุด เพราะพวกเขามีความเชื่อมั่นมากพอที่จะรับการตักเตือนและเรียนรู้จากใครก็ได้13 เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแนะนำเราให้ “เต็มใจ [หาวิธี] ที่จะยอมรับและแม้กระทั่งพยายามแก้ไข”14 แม้เมื่อสิ่งต่างๆ ดูเหมือนจะเป็นไปด้วยดี เราก็ยังต้องแสวงหาโอกาสที่จะปรับปรุงผ่านการสวดอ้อนวอนวิงวอน

ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นด้วยสภาพเพียบพร้อมหรือยากลำบาก เราจะบรรลุศักยภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อเราให้พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นหุ้นส่วนเท่านั้น เมื่อเร็วๆ นี้ข้าพเจ้าได้สนทนากับนักการศึกษามีชื่อเสียงระดับประเทศที่สอบถามมาเกี่ยวกับความสำเร็จของ BYU–Pathway เขาเป็นคนฉลาดและข้อสอบถามนั้นจริงใจ แต่ชัดเจนมากว่าเขาต้องการคำตอบทางโลก ข้าพเจ้าเล่าให้ฟังถึงโปรแกรมการรักษาให้คงอยู่และงานให้คำปรึกษา แต่ข้าพเจ้าสรุปโดยกล่าวว่า “สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดี แต่เหตุผลแท้จริงที่นักเรียนของเราก้าวหน้าก็เพราะเราสอนถึงศักยภาพอันสูงส่งของพวกเขา ลองนึกดูว่าถ้าทั้งชีวิตมีคนบอกว่าคุณไม่มีวันประสบความสำเร็จได้ แล้วพิจารณาผลที่เกิดจากการเรียนรู้ว่าคุณเป็นลูกที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้าและมีศักยภาพอันสูงส่ง” เขานิ่ง แล้วตอบสั้นๆ ว่า “ทรงพลังมาก”

พี่น้องทั้งหลาย หนึ่งในปาฏิหาริย์ของศาสนจักรพระเจ้าคือเราแต่ละคนสามารถเป็นอะไรได้มากขึ้นในพระคริสต์ ข้าพเจ้าไม่รู้จักองค์กรอื่นใดที่ให้โอกาสสมาชิกมากเท่านี้ในการรับใช้ ตอบแทน กลับใจ และเป็นคนที่ดีขึ้น ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นด้วยสภาพที่เพียบพร้อมหรือยากลำบาก ขอให้สายตาและเส้นความชันของเรายังมุ่งไปสู่สวรรค์ เมื่อเราทำเช่นนั้น พระคริสต์จะทรงยกเราให้สูงขึ้น ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. ดู Clark G. Gilbert, “The Mismeasure of Man” (BYU–Pathway Worldwide devotional, Jan. 12, 2021), byupathway.org/speeches. ในข่าวสารนี้ข้าพเจ้าสำรวจว่าโลกมักวัดศักยภาพของมนุษย์แบบผิดๆ อย่างไร แม้แต่ผู้มีเจตนาดีที่ใช้งานสำคัญของนักจิตวิทยาชั้นนำผู้สนับสนุนแนวคิดเรื่องพลังความพยายาม (แอนเจลา ดักเวิร์ธ) และกรอบความคิดแบบเติบโต (แครอล เอส. ดเว็ค) ก็ยังประเมินความสามารถที่แท้จริงของมนุษย์ต่ำเกินไปเมื่อพึ่งพาแบบแผนตามที่เรียนรู้มาเท่านั้นและเพิกเฉยต่อศักยภาพอันสูงส่งของเราในพระคริสต์.

  2. ดู เดล จี. เรนลันด์, “ความอยุติธรรมอันน่าเดือดดาล,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 41–45.

  3. ดู มัทธิว 25:14–30. ในอุปมาเรื่องเงินตะลันต์ ผู้รับใช้แต่ละคนได้รับเงินตะลันต์มาจากนายไม่เท่ากัน แต่การพิพากษาไม่ได้ตัดสินจากสิ่งที่พวกเขาได้รับ แต่จากวิธีการจัดการ การ เพิ่มขึ้น นั่นเองที่ทำให้พระเจ้าตรัสว่า “ดีแล้ว เจ้าเป็นบ่าวที่ดีและซื่อ‍สัตย์ เจ้าซื่อ‍สัตย์ในของเล็ก‍น้อย เราจะตั้งเจ้าให้ดู‍แลของจำ‌นวนมาก เจ้าจงร่วมยินดีกับนายของเจ้าเถิด” (มัทธิว 25:21).

  4. ดู โมไซยาห์ 3:19. อีกนัยหนึ่งอาจหมายถึงว่าเราอาจต้องเจอกับแรงดึงของความเป็นมนุษย์ปุถุชนแตกต่างกันเนื่องจากความบกพร่องทางพันธุกรรมแตกต่างกัน เช่นเดียวกับที่เราแต่ละคนได้รับของประทานแตกต่างกัน เราจึงมีความท้าทายทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์แตกต่างกันด้วย ซึ่งเราต้องเรียนรู้ที่จะจัดการและเอาชนะให้ได้.

  5. แอลมา 7:11–12. พระคริสต์ไม่เพียงทรงช่วยให้เราเอาชนะบาปโดยผ่านการกลับใจเท่านั้น แต่ทรงทราบวิธีปลอบโยนเราในความยากลำบากของชีวิต เพราะโดยผ่านการชดใช้ พระองค์ทรงเอาชนะและรู้สึกถึงความทุกข์ยากทั้งปวงของมนุษย์.

  6. เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เตือนเราว่าเราเป็นผู้กระทำและต้องกระทำเพื่อตนเอง เมื่อเรานิยามตนเองจากสิ่งที่โลกตีตราให้ เราจำกัดศักยภาพอันสูงส่งของเรา การทำเช่นนั้นเป็นการจำกัดความสามารถในการเลือกของเรา (ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “ไม่มีสิ่งใดทำให้พวกเขาขุ่นเคืองได้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 112–116.)

  7. ดู Russell M. Nelson, “The Love and Laws of God” (Brigham Young University devotional, Sept. 17, 2019), speeches.byu.edu. ในการให้ข้อคิดทางวิญญาณของบีวายยูนี้ ประธานเนลสันสอนว่า เพราะ พระผู้เป็นเจ้าและพระบุตรของพระองค์ทรงรักเรา จึงประทานกฎและความคาดหวังมาช่วยเรา “กฎของพระผู้เป็นเจ้าสะท้อนถึงความรักอันสมบูรณ์แบบที่ทรงมีต่อเราแต่ละคน กฎของพระองค์ทำให้เราปลอดภัยทางวิญญาณและช่วยให้เราก้าวหน้าชั่วนิรันดร์” (หน้า 2).

  8. Carlos A. Godoy (BYU–Pathway Connections Conference, Lima, Peru, May 3, 2018).

  9. 2 นีไฟ 25:23.

  10. บิดามารดาข้าพเจ้ากำหนดคำขวัญของครอบครัวกิลเบิร์ตว่า “จงทำให้ดีที่สุด” วิธีตีกรอบอุปมาเรื่องความชันอีกวิธีหนึ่งคือการเน้นว่าถ้าเราทำให้ดีที่สุด เราสามารถวางใจว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงเข้ามาชดเชยความแตกต่าง.

  11. ดู Clark G. Gilbert, “From Grit to Grace” (BYU–Pathway Worldwide devotional, Sept. 25, 2018), byupathway.org/speeches. ในข่าวสารนี้ ข้าพเจ้าสำรวจแนวคิดที่ว่าถึงแม้เราต้องเรียนรู้ที่จะทำงานหนักและพัฒนาแบบแผนที่มีประสิทธิภาพของความมีวินัยเพื่อจะบรรลุถึงศักยภาพที่แท้จริงของเราในพระเยซูคริสต์ แต่เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะดึงเอาพระคุณของพระองค์มาใช้ด้วย.

  12. Rex E. Lee, “Some Thoughts about Butterflies, Replenishment, Environmentalism, and Ownership” (Brigham Young University devotional, Sept. 15, 1992), 2, speeches.byu.edu; ดู เฉลยธรรมบัญญัติ 6:11 ด้วย.

  13. ดู Clayton M. Christensen, “How Will You Measure Your Life?,” Harvard Business Review, July–Aug. 2010, hbr.org. เดิมข่าวสารนี้ให้ไว้ในช่วงวันรับปริญญาซึ่งควบคู่กับการสำเร็จการศึกษาของโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด ศาสตราจารย์คริสเต็นเซ็นให้ข่าวสารเตือนนักศึกษาไม่ให้แยกความมั่นใจออกจากความอ่อนน้อมถ่อมตน โดยย้ำเตือนว่านักศึกษาจะต้องถ่อมตนมากพอที่จะแสวงหาการแก้ไขและเรียนรู้จากผู้อื่นเพื่อก้าวหน้าต่อไปตลอดชีวิต.

  14. ดู ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “เรารักผู้ใดเราก็ตักเตือนและตีสอนผู้นั้น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 122–126.