2023
ความจริง 3 ประการเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ซึ่งมีเฉพาะในศาสนจักรของเรา
ธันวาคม 2023


ดิจิทัลเท่านั้น: คนหนุ่มสาว

ความจริง 3 ประการเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ซึ่งมีเฉพาะในศาสนจักรของเรา

ความเชื่อของเราในพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูส่งเสริมให้เราเป็นเหมือนพระองค์

พระคริสต์ในเกทเสมนี

พระคริสต์ในเกทเสมนี, โดย ไฮน์ริค ฮอฟแมนน์

คนเลี้ยงแกะและนักปราชญ์แสวงหาพระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูคริสต์ หลังจากการประสูติของพระองค์ คนเลี้ยงแกะเห็นทูตสวรรค์ และนักปราชญ์ติดตามดาวดวงหนึ่ง (ดู มัทธิว 2:9–10; ลูกา 2:8–12)

ในปัจจุบัน เราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและ “มา … นมัสการ [พระองค์]” (มัทธิว 2:2) ได้หลายวิธี

ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย นอกเหนือจากพระคัมภีร์ไบเบิลเรายังได้รับพรให้ได้รับการสอนเกี่ยวกับพระผู้ไถ่ของเราจากศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตและพระคัมภีร์มอรมอน ต่อไปนี้เป็นความจริงสามประการเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดที่โดดเด่นของศาสนจักรนี้

1. พระองค์ทรงเป็นพระอติรูปแยกจากพระบิดา

ขณะอธิบายบทบาทของพระองค์ในฐานะพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิด พระเยซูตรัสว่า “เรากับพระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” (ยอห์น 10:30) แต่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายรู้ว่าพระบิดาและพระบุตรทรงมีจุดประสงค์ “เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ไม่ใช่สัตภาวะ เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจ (1862–1933) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเขียน: “ในภาษากรีกดั้งเดิม คำว่า ‘หนึ่ง’ ปรากฏแบบไม่มีเพศ และด้วยเหตุนี้จึงเป็นการแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันในแง่ของคุณลักษณะ อำนาจ หรือจุดประสงค์ และไม่ใช่ความเป็นหนึ่งเดียวกันในแง่ของบุคลิกภาพซึ่งจะต้องมีรูปแบบเป็นเพศชาย”1

สเทเฟนเห็น “บุตรมนุษย์ทรงยืนอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า” (กิจการของอัครทูต 7:56) ก่อนถูกขว้างปาด้วยก้อนหิน ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ “เห็นพระอติรูปสองพระองค์” ในนิมิต (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:17) พระผู้ช่วยให้รอดพระองค์เองทรงสวดอ้อนวอนพระบิดาของพระองค์บ่อยครั้ง

เรายังคงนมัสการพระบิดาในฐานะพระผู้เป็นเจ้าของเราและเคารพพระบุตรในฐานะประมุขของศาสนจักร แต่เราหักล้างความเชื่อของศาสนาคริสต์โดยทั่วไปในเรื่อง “ตรีเอกานุภาพในความเป็นหนึ่งเดียว” ซึ่งเป็นความเชื่อที่ถูกปรับเปลี่ยนในสภาแห่งไนซีอาหลังจากการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์เป็นเวลาเกือบ 300 ปี2

2. พระองค์ทรงเชื่อมต่อเรากับพระบิดาบนสวรรค์

เนื่องจากการตกของอาดัมกับเอวา เราจึงถูกแยกออกจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า (ดู แอลมา 42:7) อย่างไรก็ตาม การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดได้เชื่อมช่องว่างที่เกิดจากการล่วงละเมิดของอาดัมและนำเรากลับไปยังที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับการพิพากษาตามงานของเรา (ดู 2 นีไฟ 2:5–10; ฮีลามัน 14:15-17) เราสามารถรับการให้อภัยและการชำระล้างรอยเปื้อนจากบาปของเราเองเช่นกันถ้าเรา “ใช้พระโลหิตที่ชดใช้ของพระคริสต์” (โมไซยาห์ 4:2) พระคริสต์ทรงกระตุ้นเราว่า “เจ้าต้องสวดอ้อนวอนถึงพระบิดาเสมอในนามของเรา” (3 นีไฟ 18:19) ซึ่งหมายความว่าเราสวดอ้อนวอน ถึง พระบิดาบนสวรรค์ ผ่าน เดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอด

ในศาสนจักร เราทำ พันธสัญญา—ข้อตกลงที่เราสัญญาว่าจะทำตามพระบัญญัติและข้อตกลงที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงสัญญาว่าจะอวยพรเราเป็นการตอบแทน แบบอย่างที่ดีพร้อมของพระคริสต์แสดงให้เราเห็นวิธีให้เกียรติพันธสัญญาเหล่านี้และวิธีที่จะเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในพันธสัญญาบัพติศมาของเรา เราสัญญาว่าจะ “ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ … เพื่อ [เรา] จะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับ [เรา] ตลอดเวลา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77)

พระเยซูตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต ไม่มีใครมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา” (ยอห์น 14:6) พระบัญญัติและแบบอย่างของพระองค์แสดงให้เราเห็นว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เราเป็นใคร บทบาทของพระคริสต์ในฐานะพระผู้เป็นสื่อกลางไม่ได้บั่นทอนสายสัมพันธ์ของเรากับพระบิดาบนสวรรค์ แต่พระผู้เป็นสื่อกลางทรงแสดงให้เราเห็น วิธี ที่จะมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับพระบิดา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:3–5)

3. พระองค์ทรงชดใช้บนไม้กางเขน และ ในสวน

ชาวคริสต์จำนวนมากถือว่าไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์สูงสุดแห่งความรักนิรันดร์ของพระคริสต์ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่ชาวคริสต์วิสุทธิชนยุคสุดท้ายยึดถือกันโดยทั่วไปเพราะ “เราเน้นถึงปาฏิหาริย์อันครบถ้วนแห่งพระพันธกิจของพระคริสต์”3 การชดใช้ของพระองค์ “ครอบคลุมถึงการทนทุกข์ในสวนเกทเสมนี การทนทุกข์และการสิ้นพระชนม์บนกางเขน และสิ้นสุดที่การฟื้นคืนพระชนม์”4

เหตุการณ์ทั้งสามนี้ประกอบขึ้นเป็นการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ของพระผู้ไถ่ ในเกทเสมนี พระองค์ทรงทน “ความเจ็บปวดและความทุกข์และการล่อลวง” (แอลมา 7:11) เพื่อให้คำพยากรณ์ของอิสยาห์เกิดสัมฤทธิผลที่ว่าพระองค์จะทรง “ถูกแทงเพราะความทรยศของเรา” และ “บอบช้ำเพราะความบาปผิดของเรา” (อิสยาห์ 53:5)

เราไม่ได้มองข้ามความเจ็บปวดจากความตายทางร่างกายที่ไม้กางเขน อย่างไรก็ตาม เรายังตระหนักด้วยว่าการหลั่งเลือด “เพื่อยกบาปโทษ” (มัทธิว 26:28) และ “[การ] กลืนความตายเสียเป็นนิตย์” (อิสยาห์ 25:8) ผ่านการฟื้นคืนพระชนม์มีค่ามากกว่าความพ่ายแพ้แห่งความตายเพียงช่วงสั้นๆ ด้วยน้ำมือของคนบาป

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นทางนั้น

ในฐานะวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เราไม่ใช้ความแตกต่างเหล่านี้ดูถูกผู้ที่นับถือศาสนาอื่น เราเคารพความเชื่อของพวกเขาเช่นเดียวกับที่เราหวังว่าพวกเขาจะเคารพความเชื่อของเรา เราสามารถมองความเชื่อที่แตกต่างกันของเราด้วยความสำนึกคุณต่อความจริง “อันแจ้งชัดและมีค่า” เพิ่มเติม (1 นีไฟ 13:34–35) ที่เรามีเนื่องมาจากพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู พระคัมภีร์มอรมอน และพระวจนะของพระเจ้าพระองค์เองผ่านทางศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกของพระองค์

หากมีสิ่งหนึ่งที่ความเชื่อของเราในฐานะวิสุทธิชนยุคสุดท้ายสอนเราในท้ายที่สุด นั่นหมายความว่าพระเยซูคริสต์ทรงรู้จักเราเป็นการส่วนตัว พระองค์ทรงรักเราแต่ละคน เรารู้ว่า “พระองค์ทรงเป็นความสว่าง ทรงเป็นชีวิต และความหวังของโลก ทางของพระองค์คือเส้นทางที่นำไปสู่ความสุขในชีวิตนี้และชีวิตนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง” ในช่วงคริสต์มาส—และตลอดทั้งปี—เราสามารถพูดพร้อมกับศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันของเราได้อย่างแท้จริงว่า “เราสำนึกในพระกรุณาธิคุณแห่งพระผู้เป็นเจ้าสำหรับของประทานอันไม่มีสิ่งใดเทียบเทียมได้จากพระบุตรแห่งสวรรค์ของพระองค์”5