“เจรอม–ออมไน: ถวายทั้งจิตวิญญาณของท่านแด่พระเยซูคริสต์,” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)
“เจรอม–ออมไน,” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู
ท่านจะขอคำแนะนำจากที่ใดเมื่อต้องเลือกสิ่งสำคัญในชีวิต? พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ประทานพระคัมภีร์เป็นเครื่องชี้นำและแหล่งช่วยหลักสำหรับทุกคน หนังสือของเจรอมและออมไนมีคำสอนต่างๆ ที่เป็นพรแก่ชีวิตท่าน บทเรียนนี้มีเจตนาจะช่วยให้ท่านฝึกระบุและประยุกต์ใช้หลักธรรมจากพระคัมภีร์ที่สามารถเป็นพรและนำทางชีวิตท่าน
ช่วยให้ผู้เรียนค้นพบหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณ หลักคำสอนประกอบด้วยความจริงพื้นฐานที่ไม่เปลี่ยนแปลงของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ หลักธรรมคือความจริงอันยั่งยืนที่แต่ละบุคคลใช้นำทางในการตัดสินใจ หลักธรรมพระกิตติคุณเป็นสากลและช่วยให้ผู้คนนำหลักคำสอนของพระกิตติคุณไปใช้ในชีวิต
การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนฝึกระบุหลักธรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของพวกเขาขณะศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน กระตุ้นให้พวกเขาเตรียมแบ่งปันหลักธรรมที่พบอย่างน้อยหนึ่งข้อ
กิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นไปได้
ในการเริ่มชั้นเรียน ท่านอาจแสดงภาพเรือหรือวาดภาพบนกระดาน หรือท่านอาจให้นักเรียนวาดรูปเรือบนกระดาน ท่านอาจถามพวกเขาว่าส่วนใดของเรือที่จำเป็นในการช่วยให้ลูกเรือเดินเรือไปยังจุดหมายปลายทาง
ลองจินตนาการถึงเส้นทางชีวิตของท่านอันเปรียบเสมือนเรือที่แล่นอยู่ในมหาสมุทร มีสิ่งใดบ้างที่ท่านอาจเปรียบได้กับพวงมาลัยหรือหางเสือที่ช่วยบังคับเรือในการเดินทาง?
ท่านอาจเขียนคำตอบของนักเรียนบนกระดาน
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้คำตอบที่เป็นไปได้:
หลักธรรมพระกิตติคุณเป็นเหมือนหางเสือเรือสำหรับท่านและข้าพเจ้า หลักธรรมที่ถูกต้องเปิดทางให้เราพบหนทางตนเองและยืนหยัดมั่นคงไม่หวั่นไหวเพื่อเราจะไม่เสียสมดุลและล้มลงในพายุคำรามยุคสุดท้ายของความมืดและความสับสน (เดวิด เอ. เบดนาร์, “หลักธรรมแห่งกิตติคุณของเรา ,” เลียโฮนา , พ.ค. 2021, 126)
หลักธรรมพระกิตติคุณจะเป็นเหมือนพวงมาลัยหรือหางเสือของเรือได้อย่างไร?
ท่านมีความมั่นใจมากน้อยเพียงใดว่าท่านจะระบุหลักธรรมที่แท้จริงจากพระคัมภีร์และนำไปใช้ในการนำทางชีวิตได้ โดยให้คะแนนจาก 1 ถึง 10? เพราะเหตุใด?
มีอะไรบ้างที่ท่านเคยทำในอดีตเพื่อช่วยค้นหาหลักธรรมในพระคัมภีร์?
ตั้งใจฟังคำตอบของนักเรียน ท่านอาจเขียนสิ่งที่พวกเขาพูดไว้บนกระดานเพื่อช่วยเพื่อนร่วมชั้น
หากต้องการทบทวนวิธีระบุหลักธรรม ลองเข้าไปดูบทเรียนต่อไปนี้อีกครั้ง: “2 นีไฟ 1 ” และ “เจคอบ 4 ”
ใช้เวลาสักครู่เพื่อทบทวนหลักธรรมล่าสุดที่ระบุไว้ช่วงชั้นเรียนเซมินารีหรือช่วงศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัว
ท่านอาจเชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนแบ่งปันคำตอบของตน ตั้งใจฟังเพื่อประเมินว่าพวกเขาระบุหลักธรรมได้ดีเพียงใด และท่านอาจช่วยเพิ่มความสามารถให้พวกเขาได้อย่างไรในบทเรียนนี้ หรือจะแสดงความยินดีกับพวกเขาสำหรับการศึกษาและกระตุ้นให้พวกเขาศึกษาต่อ
การระบุหลักธรรมพระกิตติคุณ
ในหนังสือของเจรอมกับออมไนมีงานเขียนสุดท้ายจากแผ่นจารึกเล็กของนีไฟ รวมถึงหลักธรรมมากมายที่เป็นพรแก่ชีวิตเรา เจรอมได้รับแผ่นจารึกจากอีนัสผู้เป็นบิดา แล้วบันทึกปัญหาต่างๆ และพรของชาวนีไฟตลอดระยะเวลาประมาณ 40 ปี จากนั้นเขาส่งต่อแผ่นจารึกให้ออมไนบุตรชายของเขา ในหนังสือของออมไนมีงานเขียนของผู้ดูแลบันทึกของชาวนีไฟทั้งหมดห้าคน ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาประมาณ 190 ปี
กำหนดว่าอะไรดีที่สุดสำหรับนักเรียนของท่านที่จะมีประสบการณ์ที่มีความหมายในการระบุหลักธรรมพระกิตติคุณ ท่านอาจให้นักเรียนทำงานเดี่ยวหรือแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ แล้วทำงานร่วมกันเพื่อระบุหลักธรรมจากข้ออ้างอิงพระคัมภีร์อย่างน้อยหนึ่งข้อ
อ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้และฝึกระบุหลักธรรมพระกิตติคุณที่ท่านอาจนำมาใช้ในชีวิต ในข้อพระคัมภีร์แต่ละชุดอาจมีหลักธรรมหลายประการ โปรดระบุอย่างน้อยหนึ่งข้อจากพระคัมภีร์แต่ละส่วน
เจรอม 1:3–4
เจรอม 1:5–9
เจรอม 1:10–12
ออมไน 1:12–16
ออมไน 1:25–26
ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนหลักธรรมบางประการที่ระบุไว้บนกระดาน
การอุทิศตนเพื่อพระผู้ช่วยให้รอดและงานของพระองค์
หลังจากระบุหลักธรรมแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องใช้เวลาไตร่ตรองความหมายและวิธีที่จะนำสิ่งนั้นไปใช้กับชีวิตท่าน ตัวอย่างเช่น ใน ออมไน 1:26 ท่านอาจระบุหลักธรรมต่อไปนี้: ถ้าเรามาหาพระคริสต์และถวายทั้งจิตวิญญาณของเราแด่พระองค์ เราจะได้รับการช่วยให้รอด
ต่อไปนี้เป็นแนวคิดอย่างหนึ่ง:
อาจเป็นประโยชน์หากเปรียบเทียบหลักธรรมนี้กับบางสิ่งที่ท่านอาจมอบให้ผู้อื่นในชีวิตประจำวัน
มีอะไรบ้างที่ท่านอาจมอบให้ผู้อื่นได้?
มีวิธีใดบ้างที่ท่านอาจมอบให้เฉพาะส่วนที่ท่านอาจให้ได้? เพราะเหตุใด?
เมื่อใดที่ท่านอาจมอบให้ได้ทั้งหมด? เพราะเหตุใด?
สิ่งนี้จะนำไปใช้กับการถวายทั้งจิตวิญญาณของท่านแด่พระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?
ขณะรอฟังคำตอบของนักเรียน คำถามต่อไปนี้อาจเป็นประโยชน์: ท่านคิดว่าการมอบทั้งจิตวิญญาณแด่พระเยซูคริสต์เป็นอย่างไร? มีอะไรบ้างที่อาจฉุดรั้งคนๆ หนึ่งไว้ไม่ให้อุทิศตนเพื่อพระเยซูคริสต์?
ท่านคิดว่าการถวายทั้งจิตวิญญาณของท่านแด่พระเยซูคริสต์หมายถึงอะไร?
เหตุใดท่านจึงคิดว่าพระเจ้าทรงขอให้เราถวายทั้งจิตวิญญาณของท่านแด่พระองค์?
ท่านรู้จักใครที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการพยายามถวายทั้งจิตวิญญาณของพวกเขาแด่พระเยซูคริสต์? พวกเขาได้รับพรจากการทำเช่นนั้นอย่างไร?
ท่านอาจต้องการดูวีดิทัศน์ “With All Your Heart (ด้วยสุดใจท่าน) ” (3:26) ที่ ChurchofJesusChrist.orgโดยดูตัวอย่างของเยาวชนชายคนหนึ่งที่พยายามอุทิศตนแด่พระเจ้า
2:3
ท่านอาจวาดวงกลมที่แสดงถึงชีวิตท่าน แรเงาในส่วนวงกลมแทนความรู้สึกว่ากำลังถวายตัวท่านเองแด่พระเจ้ามากเพียงใด ใช้เวลาสักครู่เพื่อไตร่ตรองว่าท่านอาจถวายทั้งจิตวิญญาณของท่านแด่พระเยซูคริสต์อย่างเต็มเปี่ยมได้อย่างไร เขียนวิธีที่ท่านจะแสวงหาในการทำเช่นนั้นสักหนึ่งหรือสองวิธี และการทำวิธีดังกล่าวอาจมีประโยชน์ต่อชีวิตของท่านอย่างไร
การทำความเข้าใจและการประยุกต์ใช้หลักธรรม
นึกถึงหลักธรรมที่ท่านระบุไว้ก่อนหน้านี้จากเจรอมและออมไน
หลักธรรมข้อใดที่ท่านระบุว่ามีความหมายต่อท่านมากที่สุด? เพราะเหตุใด?
ท่านอาจทำความเข้าใจและใช้หลักธรรมนี้ให้ดีขึ้นได้อย่างไร?
การดำเนินชีวิตตามหลักธรรมนี้จะช่วยนำทางชีวิตท่านไปสู่พระเยซูคริสต์ให้ดีขึ้นได้อย่างไร?
ในหนังสือของออมไน เรารู้จักกลุ่มคนสามกลุ่มซึ่งพระเจ้าทรงนำมายังแผ่นดินที่สัญญาไว้ กลุ่มแรกที่กล่าวถึงคือ ครอบครัวของลีไฮและลูกหลานของพวกเขา กลุ่มที่สองเรียกว่าชาวเซราเฮ็มลาหรือชาวมิวเล็คออกจากเยรูซาเล็มและเดินทางไปยังทวีปอเมริกาในเวลาเดียวกันกับครอบครัวของลีไฮ พวกเขาเข้าร่วมกับชาวนีไฟภายใต้การปกครองของกษัตริย์โมไซยาห์ (ดู ออมไน 1:19 ) กลุ่มที่สามคือชาวเจเร็ดที่มาถึงแผ่นดินที่สัญญาไว้ก่อนสองกลุ่มแรกเมื่อนานมาแล้ว แต่ล่มสลายไปในสงครามกลางเมืองในช่วง 600 ถึง 300 ปีก่อนคริสตกาล กษัตริย์องค์สุดท้ายของชาวจาเร็ดคือชายที่ชื่อโคริแอนทะเมอร์ ผู้รอดชีวิตจากการทำลายล้างและร่อนเร่พเนจรจนกระทั่งพบชาวเซราเฮ็มลาก่อนจะสิ้นชีวิต (ดู ออมไน 1:21 ) หนังสือของอีเธอร์มีบันทึกย่อของชาวเจเร็ดที่โมโรไนรวบรวมไว้
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้:
เราแต่ละคนต้องมาหาพระคริสต์ … ด้วยความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวต่อพระกิตติคุณ … ถ้าพูดตามภาษาเยาวชนสมัยนี้คือเราต้องประกาศตนว่า “ทุ่มสุดตัว” (เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ทรัพย์สิ่งของจำนวนมาก ,” เลียโฮนา , พ.ย. 2021, 8)
เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับความหมายของการถวายตนแด่พระเจ้า:
การพลีบูชาที่แท้จริงไม่ใช่การนำเอาสัตว์ไปวางไว้บนแท่นบูชา แต่คือการเต็มใจวางสัตว์ในตัวเราไว้บนแท่นบูชาและให้มันถูกเผาผลาญ! (Neal A. Maxwell, “Deny Yourselves of All Ungodliness ,” Ensign , May 1995, 68)
ในหัวข้อเดียวกันนี้ เอ็ลเดอร์แม็กซ์เวลล์สอนในภายหลังว่า:
ขณะที่ท่านยอมถวายเจตนารมณ์ของท่านแด่พระผู้เป็นเจ้า ท่านกำลังถวายสิ่ง เดียว ที่ท่าน สามารถ ถวายแด่พระองค์ได้ซึ่งเป็นของท่านจริงๆ (นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “จำไว้ว่าพระเจ้าทรงเมตตาเพียงใด ,” เลียโฮนา , พ.ค. 2004, 58)
บราเดอร์รัสเซลล์ ที. ออสกูธอร์พ อดีตประธานโรงเรียนวันอาทิตย์สามัญเสริมว่า:
การถวายเจตจำนงแด่พระเจ้าคือสิ่งที่เราทำทุกวัน ไม่ใช่การกระทำที่แยกต่างหาก ไม่ใช่ที่สุดแต่เป็นการเริ่มต้น เราพูดสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ให้พูดได้ เราทำสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ให้สำเร็จได้ เราเป็นพยานต่อโลกถึงพระบุตรอันเป็นที่รักของพระผู้เป็นเจ้าได้—ทั้งหมดนี้เพราะเรา ประสงค์ จะทำสิ่งเหล่านี้ เมื่อใจเราเปลี่ยน ความสำนึกคุณที่เรามีต่อการชดใช้จะเพิ่มพูนจนเราเข้มแข็งขึ้นโดยสิ่งนี้อย่างต่อเนื่อง (รัสเซลล์ ที. ออสกูธอร์พ, “ข้าพเจ้าจะถวายตนแด่พระองค์ ” [ข้อคิดทางวิญญาณซีอีเอสสำหรับคนหนุ่มสาว, 3 พ.ย. 2013])
หากนักเรียนได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสัญญาของพระเจ้าที่เกิดสัมฤทธิผลในชีวิต ให้เชื้อเชิญพวกเขาอ่าน เจรอม 1:5–9 โดยมองหาบทเรียนที่อาจเรียนรู้ได้ในยุคสมัยของเจรอม ช่วยให้นักเรียนระบุหลักธรรมจาก เจรอม 1:9 เช่นเดียวกับที่เราวางใจพระเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เราจะได้รับพรที่สัญญาไว้ของพระองค์ ให้พิจารณาคำถามต่อไปนี้
เหตุใดการจดจำว่าสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าไม่เกิดสัมฤทธิผลโดยฉับพลันเสมอไปจึงเป็นเรื่องสำคัญ?
ท่านเรียนรู้อะไรจากพระเจ้าที่ทำให้ท่านมั่นใจในคำสัญญาของพระองค์?
มีตัวอย่างอะไรอีกบ้างจากพระคัมภีร์ที่พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเกิดสัมฤทธิผลในที่สุด?
พระเจ้าประทานพรแก่ท่านหรือบุคคลที่ท่านรู้จักเพราะปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระองค์เมื่อใด?
ท่านอาจฉายวีดิทัศน์ “Continue in Patience (จงอดทนต่อไป) ” (2:41) เพื่อให้ดูตัวอย่างของหลักธรรมนี้หรืออ้างถึงคำปราศรัยในหัวข้อเดียวกันจากประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ ฝ่ายประธานสูงสุดในเวลานั้นจากการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน 2010
2:3
ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงประโยชน์และพรที่สังเกตเห็นจากการศึกษาพระคัมภีร์เป็นประจำ ท่านอาจให้นักเรียนศึกษา ออมไน 1:14–19 โดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวมิวเล็คเพราะพวกเขา “มิได้เอาบันทึกมากับพวกเขา” จากเยรูซาเล็ม (ออมไน 1:17 ) เตือนให้นักเรียนระลึกถึงสิ่งที่พระวิญญาณตรัสกับนีไฟว่า—ประชาชาติหนึ่งจะตายอยู่ในความไม่เชื่อถ้าเขาไม่ได้รับแผ่นจารึกทองเหลืองจากเลบัน (ดู 1 นีไฟ 4:13 ) ผู้คนชาวเซราเฮ็มลาเป็นพยานที่มีชีวิตของคำเตือนดังกล่าว ท่านอาจขอให้นักเรียนเขียนบางสิ่งที่การศึกษาพระคัมภีร์เป็นประจำช่วยให้พวกเขาจดจำหรือนึกถึงและเขียนสิ่งเหล่านี้ไว้บนกระดาน