เซมินารี
อีเธอร์ 4–5: “การคลี่การเปิดเผยทั้งหมดของเราแก่พวกเขา”


“อีเธอร์ 4–5: ‘การคลี่การเปิดเผยทั้งหมดของเราแก่พวกเขา’” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)

“อีเธอร์ 4–5” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู

อีเธอร์ 4–5

“การคลี่การเปิดเผยทั้งหมดของเราแก่พวกเขา”

แผ่นจารึกทองคำ

ท่านรู้สึกพร้อมที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมจากพระเจ้าหรือไม่? ถ้าไม่พร้อม ท่านจะทำอะไรได้บ้าง? พระเจ้าทรงบัญชาให้โมโรไนผนึกนิมิตที่บันทึกไว้ของพี่ชายของเจเร็ดและอธิบายว่างานเขียนเหล่านี้จะถูกเปิดเผยเมื่อผู้คนมีศรัทธาเหมือนพี่ชายของเจเร็ด บทเรียนนี้มีเจตนาจะช่วยให้ท่านเข้าใจถึงสิ่งที่ทำได้เพื่อให้ได้รับการเปิดเผยเพิ่มเติม

ช่วยให้นักเรียนค้นหาความหมายส่วนตัวในพระคัมภีร์กระตุ้นให้นักเรียนใช้ทักษะการศึกษาต่างๆ เพื่อเพิ่มความเข้าใจในพระคัมภีร์ นักเรียนอาจมองหารายละเอียดในเนื้อเรื่อง ทำการเปรียบเทียบและเชื่อมโยงระหว่างเรื่องราวกับชีวิตตนเอง และกำหนดว่าจะประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้อย่างไร

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน อีเธอร์ 4 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน โดยมองหาความจริงที่จะช่วยให้พวกเขาได้รับการเปิดเผยเพิ่มเติมจากพระเจ้า

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

เมื่อเราพร้อม

นึกถึงวัตถุที่มีค่าเป็นพิเศษต่อท่านหรือครอบครัวของท่าน

ตัวอย่างเช่น ท่านอาจให้ดูหรืออธิบายถึงสิ่งที่มีค่าต่อท่าน

  • แม้ว่าท่านอาจชอบแบ่งปันสิ่งของชิ้นนี้กับผู้อื่น เหตุใดจึงต้องระมัดระวังอย่างมากในการอนุญาตให้เด็กเล็กๆ จัดการกับสิ่งของดังกล่าว?

  • เด็กต้องเรียนรู้หรือทำอะไรก่อนที่ท่านจะวางใจให้สิ่งของชิ้นนั้นแก่เขาหรือเธอ?

ในทำนองเดียวกัน พระเจ้าทรงรักที่จะเปิดเผยความจริงแก่เรา แต่พระองค์ทรงรอจนกว่าเราจะพร้อมรับ (ดู แอลมา 12:9–11)

ส่วนที่ผนึกไว้ของพระคัมภีร์มอรมอน

ตัวอย่างของพระเจ้าที่รอการเปิดเผยความจริงจนกว่าเราจะพร้อมคือส่วนที่ผนึกไว้ของพระคัมภีร์มอรมอน โจเซฟ สมิธได้รับพระบัญชาไม่ให้เปิดหรือแปลส่วนนั้น (ดู อีเธอร์ 5:1) ส่วนที่ผนึกไว้นี้มีบันทึกนิมิตที่มอบให้พี่ชายของเจเร็ด

เพื่อช่วยให้ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับส่วนที่ผนึกไว้ของพระคัมภีร์มอรมอน ให้ใช้พระคัมภีร์ข้อที่ระบุไว้ในวงเล็บเพื่อตอบคำถามจริงหรือเท็จต่อไปนี้

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนหาคำตอบของคำถามจริงหรือเท็จเหล่านี้เป็นกลุ่มเล็ก หรือท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านข้อความและเดาคำตอบ จากนั้นอ่านข้อเหล่านั้นเพื่อดูว่าที่ตอบไว้นั้นถูกต้องหรือไม่

คำตอบสามข้อแรกเป็นจริง ส่วนสองข้อสุดท้ายเป็นเท็จ

  1. พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงพระองค์ให้พี่ชายของเจเร็ดเห็นและปฏิบัติศาสนกิจต่อเขา (อีเธอร์ 3:20)

  2. พระองค์ทรงแสดงให้พี่ชายของเจเร็ดเห็นผู้อยู่อาศัยทั้งหมดของแผ่นดินโลกทั้งในอดีตและอนาคต โดยมิได้ทรงปิดบังสิ่งใดจากท่าน (อีเธอร์ 3:25; 4:4)

  3. พระเจ้าทรงบัญชาให้พี่ชายของเจเร็ดบันทึกสิ่งที่เขาเรียนรู้และผนึกบันทึก ในภาษาหนึ่งซึ่งพระเจ้าทรงทำให้สับสนและไม่สามารถอ่านได้หากปราศจากสิ่งช่วยแปลจากสวรรค์ (อีเธอร์ 3:21–22, 24, 27; 4:1)

  4. พระเจ้าประทานศิลาสามก้อนแก่พี่ชายของเจเร็ดที่อาจนำมาใช้แปลบันทึกได้ (อีเธอร์ 3:23–24, 28)

  5. ไม่มีใครเคยอ่านบันทึกของพี่ชายเจเร็ด (อีเธอร์ 4:2–5)

การได้รับการเปิดเผยเพิ่มเติม

พระเจ้าทรงเปิดเผยผ่านโมโรไนว่าเราต้องทำอะไรเพื่อมาหาพระองค์ รับการเปิดเผย และเตรียมพร้อมรับการเปิดเผยเพิ่มเติมที่มีอยู่ในส่วนที่ผนึกไว้ของพระคัมภีร์มอรมอน

เขียนหลักธรรมที่ยังไม่สมบูรณ์ตามที่ระบุด้านล่างบนกระดาน

อ่าน อีเธอร์ 4:5–15 โดยละเอียดโดยมองหาวิธีที่จะทำให้ความจริงต่อไปนี้สมบูรณ์ วลี “สิ่งเหล่านี้” ใน ข้อ 8 และ 11 หมายถึงพระคัมภีร์มอรมอน ม่านตามตัวอย่างที่ให้ไว้ใน ข้อ 15 คือผ้าม่านหรือผ้าชิ้นหนึ่งที่ใช้คลุมหรือซ่อนบางสิ่ง

  • พระเจ้าจะทรงอวยพรเราด้วยการเปิดเผยเพิ่มเติมเมื่อเรา …

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนวลีจากพระคัมภีร์บนกระดาน ซึ่งอาจทำให้หลักธรรมนี้สมบูรณ์และถูกต้อง และอาจรวมถึงข้อพระคัมภีร์ที่พวกเขาพบวลีเหล่านั้นด้วย ต่อไปนี้คือตัวอย่างบางส่วน:

  • “กลับใจ … และกลับสะอาดต่อพระพักตร์พระเจ้า” (อีเธอร์ 4:6)

  • “ใช้ศรัทธา” (อีเธอร์ 4:7)

  • “เชื่อสิ่งเหล่านี้” (หมายถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงเปิดเผยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระคัมภีร์มอรมอน) (อีเธอร์ 4:8, 11)

  • “มาหา [พระผู้ช่วยให้รอด]” (อีเธอร์ 4:13–15)

  • สวดอ้อนวอน “ด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด” (อีเธอร์ 4:15)

ท่านอาจถามนักเรียนว่ามีคำถามเกี่ยวกับวลีเหล่านี้หรือไม่ ถ้ามี ให้ทำกิจกรรมต่อไปนี้:

หากจะช่วยให้ท่านเข้าใจวลีเหล่านี้ได้ดีขึ้น ให้ค้นหาคำสำคัญใน คู่มือพระคัมภีร์ หรือแอปคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ ตัวอย่างเช่น อาจเป็นประโยชน์ที่จะค้นหา “ใจที่ชอกช้ำ” ในคู่มือพระคัมภีร์

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจและรู้สึกถึงความสำคัญของการกระทำเหล่านี้ เชื้อเชิญให้พวกเขาทำอย่างน้อยหนึ่งอย่างต่อไปนี้:

  1. นึกถึงตัวอย่างของบางคนในพระคัมภีร์หรือยุคปัจจุบันที่ทำสิ่งเหล่านี้อย่างน้อยหนึ่งอย่าง เขียนว่าการกระทำเหล่านี้นำไปสู่ความช่วยเหลือและการเปิดเผยจากพระเจ้าอย่างไร

  2. ให้นึกถึงช่วงเวลาที่การกระทำอย่างน้อยหนึ่งอย่างนำไปสู่คำตอบหรือการชี้นำจากพระเจ้าในชีวิตท่าน (ตัวอย่างหนึ่งอาจเป็นการไตร่ตรองถึงสิ่งที่ท่านเรียนรู้และเชื่อผ่านการศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน อีกทั้งให้ไตร่ตรองว่าสิ่งนั้นนำไปสู่การเปิดเผยในชีวิตท่านอย่างไร)

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันตัวอย่างและประสบการณ์

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระเจ้าทรงอวยพรเราด้วยการเปิดเผยมากขึ้นเมื่อเราดำเนินชีวิตตามที่พระองค์ตรัสไว้ใน ข้อ 5–15?

  • เหตุใดการไม่เป็นคนแบบที่พระเจ้าบรรยายไว้จึงทำให้เราไม่พร้อมรับการเปิดเผยเพิ่มเติม?

  • เรื่องนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระเจ้าและคนแบบที่พระองค์ทรงต้องการให้เราเป็น?

พระเจ้าจะทรงเปิดเผยส่วนที่ผนึกไว้ของพระคัมภีร์มอรมอน “ตามเวลาอันเหมาะสม” ของพระองค์เอง (2 นีไฟ 27:21) เมื่อเราใช้ศรัทธาเช่นเดียวกับพี่ชายของเจเร็ด (ดู อีเธอร์ 4:7) ในทำนองเดียวกัน อาจมีการเปิดเผยเพิ่มเติมที่พระเจ้าทรงรอประทานแก่ท่าน เพื่อสรุปบทเรียนนี้ ให้ทำดังต่อไปนี้:

  • ทบทวนคำอธิบายในข้อที่เกี่ยวกับผู้ที่ใช้ศรัทธาและได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ ไตร่ตรองว่าท่านเป็นเช่นพวกเขาในทางใดและท่านอาจต้องปรับปรุงในทางใดบ้าง

  • ไตร่ตรองและสวดอ้อนวอนเพื่อรู้ว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้ท่านทำอะไรเพื่อรับการเปิดเผยเพิ่มเติมจากพระองค์ เขียนความคิดและความรู้สึกของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษา

เชื้อเชิญให้นักเรียนหลายๆ คนแบ่งปันความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งที่เรียนรู้ในวันนี้หากไม่เป็นเรื่องส่วนตัวเกินไป แบ่งปันความคิดและประจักษ์พยานของท่าน