เซมินารี
บทเรียนที่ 198—กรอบความคิดแบบเติบโต: การพัฒนาเจตคติและการกระทําที่ปรับปรุงรูปแบบความคิดของเรา


“บทเรียนที่ 198—กรอบความคิดแบบเติบโต: การพัฒนาเจตคติและการกระทําที่ปรับปรุงรูปแบบความคิดของเรา” หลักคําสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)

“กรอบความคิดแบบเติบโต” หลักคําสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี

บทเรียนที่ 198: ความสําเร็จในสถานศึกษา

กรอบความคิดแบบเติบโต

การพัฒนาเจตคติและการกระทําที่ปรับปรุงรูปแบบความคิดของเรา

วัยรุ่นที่มีความสุข

เราแต่ละคนจะประสบอุปสรรคในการเรียนรู้และการศึกษา เราสามารถมองอุปสรรคเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่จะหยุดเราหรือเป็นโอกาสในการเรียนรู้และเติบโต ขึ้นอยู่กับกรอบความคิดของเรา การเลือกเผชิญอุปสรรคด้วยกรอบความคิดแบบเติบโตแสดงให้เห็นศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตเพื่อเอาชนะอุปสรรคในการเรียนรู้

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทําได้

อุปสรรคในการเรียนรู้

ท่านอาจเริ่มต้นบทเรียนด้วยการแบ่งปันสถานการณ์สมมติต่อไปนี้ หรือท่านอาจให้นักเรียนสร้างสถานการณ์สมมติที่เยาวชนเผชิญกับอุปสรรคที่รับรู้ในการเรียนรู้ของเขา จากนั้นท่านอาจปรับคําถามเพื่อให้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์สมมติที่เลือกไว้มากขึ้น

เมื่อเคเดนเรียนรู้เกี่ยวกับวิชาที่เขาจะต้องเรียนในปีการศึกษาหน้า เขาสังเกตเห็นว่าเขามีวิชาคณิตศาสตร์ เคเดนจําได้ว่าก่อนหน้านี้เขาทําวิชาคณิตศาสตร์ได้ไม่ดี เขาเชื่อว่าถ้าลงเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เขาจะสอบตกแน่นอน

  • ท่านสังเกตเห็นอะไรเป็นพิเศษเกี่ยวกับกรอบความคิดของเคเดน?

  • ท่านจะให้คําแนะนําอะไรกับเขา?

กรอบความคิดแบบเติบโต

อธิบายว่าเมื่อเราประสบกับความท้าทายหรืออุปสรรคในการศึกษาและด้านอื่นๆ ของชีวิตเรา เราสามารถมองสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยกรอบความคิดแบบเติบโตหรือกรอบความคิดแบบยึดติด

ให้ดูคํานิยามต่อไปนี้ และขอให้นักเรียนสองคนอ่านให้ชั้นเรียนฟัง

กรอบความคิดแบบเติบโต: คนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตเชื่อว่าพวกเขาสามารถเรียนรู้และดึงพลังจากพระเยซูคริสต์ได้ พวกเขาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเมื่อเรียนรู้ พวกเขาผลักดันตนเองแม้ในยามยากโดยการพึ่งพาพระเยซูคริสต์

กรอบความคิดแบบยึดติด: คนที่มีกรอบความคิดแบบยึดติดสงสัยในความสามารถของตนในการเรียนรู้ พวกเขากลัวที่จะล้มเหลว แลเชื่อว่าตนไม่สามารถเรียนรู้บางสิ่งได้

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจกรอบความคิดเหล่านี้ได้ดีขึ้น ท่านอาจแบ่งปันข้อความต่อไปนี้ ท่านอาจแสดงข้อความแรกจากแต่ละคอลัมน์เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นตัวอย่างที่คู่กัน จากนั้น ท่านอาจแจกข้อความที่เหลือที่มีกรอบความคิดแบบยึดติดให้นักเรียน เชื้อเชิญให้พวกเขาทํางานเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อเขียนข้อความที่คนมีกรอบความคิดแบบเติบโตอาจพูด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศรัทธาของพวกเขาต่อพระผู้ช่วยให้รอด

กรอบความคิดแบบยึดติด

กรอบความคิดแบบเติบโต

กรอบความคิดแบบยึดติด

“ความผิดพลาดของฉันทําให้เห็นว่าฉันไม่ฉลาด”

กรอบความคิดแบบเติบโต

“เพราะพระผู้ช่วยให้รอด ฉันจึงเรียนรู้จากความผิดพลาดและทําได้ดีขึ้น”

กรอบความคิดแบบยึดติด

“ฉันไม่ชอบลองสิ่งใหม่ๆ เพราะฉันอาจจะล้มเหลว”

กรอบความคิดแบบเติบโต

“เมื่อรู้ว่าพระเยซูคริสต์พอพระทัยทุกครั้งที่ฉันพยายามเติบโต ฉันสามารถลองสิ่งใหม่และสนุกกับความท้าทาย”

กรอบความคิดแบบยึดติด

“ฉันไม่สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ”

กรอบความคิดแบบเติบโต

“ถ้าฉันต้องการเรียนรู้บางสิ่ง ฉันสามารถเรียนรู้ได้ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า”

กรอบความคิดแบบยึดติด

“เมื่อฉันคับข้องใจ ฉันยอมแพ้”

กรอบความคิดแบบเติบโต

“การผ่านความยากลําบากช่วยให้ฉันเติบโตและเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้น”

เชื้อเชิญให้นักเรียนคิดว่าพวกเขามักจะมองความท้าทายด้วยกรอบความคิดแบบเติบโตหรือกรอบความคิดแบบยึดติด เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาความจริงที่เป็นประโยชน์และใส่ใจความประทับใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่จะช่วยให้พวกเขาพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตขณะศึกษาต่อ

ความจริงนิรันดร์ที่สามารถช่วยให้เราพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต

บราเดอร์เดวิน จี. เดอร์แรนท์ อดีตฝ่ายประธานโรงเรียนวันอาทิตย์สามัญอธิบายว่าเหตุใดสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์จึงควรพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต:

บราเดอร์เดวิน จี. เดอร์แรนท์

พระบิดาบนสวรรค์ทรงขอให้เราพยายามพัฒนาของประทานและปรับปรุงตนเอง เพราะในฐานะพระบิดาผู้ทรงรักเรา ทรงเชื่อว่าเราสามารถบรรลุสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ รวมถึงความสูงส่งในท้ายที่สุด พระองค์ทรงเป็นบิดาที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต ถ้าเราอยากเป็นเหมือนพระองค์ เราต้องใช้กรอบความคิดเดียวกันนั้นและเรียนรู้ที่จะเติบโตในทุกวิถีทางที่พระองค์ทรงคาดหวัง (Devin G. Durrant, “Helping Children and Youth Develop a Growth Mind-SetEnsign, Feb. 2020)

  • ข้อความนี้ช่วยให้ท่านเข้าใจว่ากรอบความคิดแบบเติบโตจะส่งผลต่อชีวิตท่านอย่างไร?

  • ท่านคิดว่าอะไรจะช่วยให้ท่านพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตได้?

หากจําเป็น ให้อธิบายว่าการเข้าใจและจดจําความจริงเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์สามารถช่วยให้นักเรียนพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตเมื่อเผชิญกับอุปสรรค รวมถึงอุปสรรคในการศึกษา

เชื้อเชิญให้นักเรียนค้นหาความจริงบางประการเหล่านี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาระบุข้อพระคัมภีร์ที่พวกเขารู้หรือศึกษาบางข้อต่อไปนี้

หลังจากนักเรียนมีเวลาพอที่จะค้นหาความจริงแล้ว เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่ค้นพบกับชั้นเรียน พวกเขาอาจเขียนความจริงที่ค้นพบบนกระดาน พวกเขาอาจค้นพบความจริงทํานองนี้: เราทําได้ทุกสิ่งในความเข้มแข็งของพระผู้เป็นเจ้า

  • การจดจําความจริงเหล่านี้เกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์จะช่วยให้ท่านมีกรอบความคิดแบบเติบโตในการศึกษาของท่านได้อย่างไร?

  • มีตัวอย่างอะไรบ้างของผู้คนในพระคัมภีร์ที่ใช้ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าจัดการความท้าทายด้วยกรอบความคิดแบบเติบโต?

    เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาคําถามก่อนหน้านี้ ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนค้นหาตัวอย่างจากชีวิตของนีไฟ ท่านอาจให้นักเรียนดูตัวอย่างของเลมันกับเลมิวเอลที่แสดงกรอบความคิดแบบยึดติดด้วย

    นี่คือตัวอย่างบางส่วนที่ท่านอาจแนะนําให้นักเรียนดู: การตอบรับพระบัญชาให้กลับไปเยรูซาเล็มเพื่อเอาแผ่นจารึกทองเหลืองจากเลบัน (ดู 1 นีไฟ 3:4–7) ความพยายามที่จะได้แผ่นจารึกทองเหลือง (ดู 1 นีไฟ 3:24–31; 4:1–6) การกระทําของพี่ๆ หลังจากลีไฮแบ่งปันนิมิตเกี่ยวกับต้นไม้แห่งชีวิต (ดู 1 นีไฟ 10:17–19; 11:1–6; 15:1–3, 8–9) นีไฟทําคันธนูหัก (ดู 1 นีไฟ 16:18–23, 30–32) และนีไฟได้รับบัญชาให้ต่อเรือ (ดู 1 นีไฟ 17:7–11, 17–18)

  • พระเจ้าทรงช่วยท่านอย่างไร หรือท่านคิดว่าพระเจ้าจะทรงช่วยท่านได้อย่างไรที่จะให้มีกรอบความคิดแบบเติบโตและเอาชนะอุปสรรคในการศึกษาของท่าน?

ท่านอาจแบ่งปันตัวอย่างหนึ่งจากชีวิตของท่านเอง

ท่านอาจพิจารณาฉายวีดิทัศน์หนึ่งเรื่องในหมวด “กิจกรรมเสริมการเรียนรู้”

กรอบความคิดแบบเติบโตของฉัน

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงอุปสรรคบางอย่างที่พวกเขาเผชิญในการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่กรอบความคิดแบบเติบโตสามารถช่วยได้ พวกเขาอาจเขียนอุปสรรคเหล่านี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษา พวกเขาอาจพูดถึงปัญหาการอ่าน ความยากลําบากเกี่ยวกับวิชาที่โรงเรียน หรือการขาดโอกาสทางการศึกษา จากนั้นเชื้อเชิญให้พวกเขาทําดังนี้

เลือกอุปสรรคที่เป็นไปได้สองหรือสามอย่างในการศึกษาและการเรียนรู้ของท่าน สําหรับอุปสรรคแต่ละอย่าง ให้เขียนข้อความกรอบความคิดแบบเติบโตที่แสดงให้เห็นศรัทธาของท่านในพระปรีชาสามารถของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะช่วยให้ท่านประสบความสําเร็จ

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันข้อความที่เขียน พวกเขาอาจแบ่งปันให้เพื่อนบ้านหรือเดินไปรอบๆ ห้องและแบ่งปันกับผู้อื่น

หลังจากนักเรียนแบ่งปันแล้ว กระตุ้นให้พวกเขากําหนดวิธีที่จะทําตามข้อความที่พวกเขาคิดไว้ เป็นพยานถึงความจริงที่ท่านสนทนาในวันนี้ กระตุ้นให้นักเรียนมุ่งมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรคในการศึกษาด้วยกรอบความคิดแบบเติบโต