การปฏิบัติศาสนกิจ
สร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย
หลักธรรม


หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ

สร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย

เราสามารถดูแลผู้อื่นได้มากขึ้นเมื่อเรามีความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับพวกเขา

เลียโฮนา สิงหาคม 2018

hands reaching out

การเชื้อเชิญให้ปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นเป็นโอกาสสร้างความสัมพันธ์แบบดูแลเอาใจใส่พวกเขา—ความสัมพันธ์ในแบบที่จะทำให้พวกเขาสบายใจเวลาขอความช่วยเหลือหรือยอมรับความช่วยเหลือจากเรา เมื่อเราพยายามพัฒนาความสัมพันธ์ในลักษณะเช่นนั้น พระผู้เป็นเจ้าย่อมสามารถเปลี่ยนชีวิตคนทั้งสองฝ่าย

“ดิฉันเชื่อจริงๆ ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดสำคัญหากปราศจากความสัมพันธ์ที่สำคัญ” ซิสเตอร์ชารอน แอล. ยูแบงค์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญกล่าว และเพื่อให้การรับใช้ของเราช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตผู้อื่น เธอกล่าว การรับใช้เหล่านั้นต้อง “หยั่งรากในความปรารถนาจะเยียวยา ฟัง ร่วมมือ และเคารพด้วยใจจริง”1

ความสัมพันธ์ที่มีความหมายไม่ใช่กลยุทธ์ แต่ตั้งอยู่บนความเห็นอกเห็นใจ ความพยายามที่จริงใจ และ “ความรักที่ไม่เสแสร้ง” (คพ. 121:41)2

วิธีสร้างและกระชับความสัมพันธ์

“เราสร้าง [ความสัมพันธ์] ทีละคน” เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าว3 ขณะพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับคนที่เราปฏิบัติศาสนกิจ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงนำทางเรา ข้อเสนอแนะต่อไปนี้ยึดตามแบบแผนที่เอ็ลเดอร์อุคท์ดอร์ฟเสนอ4

  • เรียนรู้เกี่ยวกับพวกเขา

    ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994) สอนว่า “ท่านไม่สามารถรับใช้ได้ดีถ้าท่านไม่รู้จักคนนั้นดี” ท่านเสนอแนะให้รู้จักชื่อสมาชิกครอบครัวแต่ละคนและทราบเหตุการณ์สำคัญ เช่น วันเกิด การให้พร บัพติศมา และการแต่งงาน นี่เป็นโอกาสให้เขียนข้อความหรือโทรศัพท์แสดงความยินดีกับสมาชิกครอบครัวนั้นเนื่องในโอกาสหรือความสำเร็จพิเศษ5

  • ใช้เวลาด้วยกัน

    ความสัมพันธ์ใช้เวลาพัฒนา จงมองหาโอกาสติดต่ออยู่เสมอ งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการให้ผู้อื่นรู้ว่าท่านห่วงใยจำเป็นต่อความสัมพันธ์ที่ดี6 พูดคุยกับคนที่ท่านได้รับเรียกให้รับใช้บ่อยๆ คุยกับพวกเขาที่โบสถ์ ใช้วิธีเพิ่มเติมอะไรก็ตามที่เห็นสมควร—เช่น อีเมล เฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ทวิตเตอร์ สไกพ์ โทรศัพท์ หรือส่งการ์ด เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ (1928–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงพลังของการแสดงความรักและให้กำลังใจในวิธีที่เรียบง่ายและสร้างสรรค์ดังนี้ “บ่อยครั้งข้าพเจ้าจะเปิดพระคัมภีร์ของข้าพเจ้า … และจะพบข้อความแสดงความรักและกำลังใจที่จีนีน [ภรรยาข้าพเจ้า] สอดไว้ในนั้น … ข้อความล้ำค่าเหล่านั้น … เป็นแหล่งปลอบประโลมใจและแรงบันดาลใจอันมีค่ายิ่งมาโดยตลอด”7

    พึงจำไว้เช่นกันว่าความสัมพันธ์ต้องอาศัยทั้งสองฝ่าย ท่านสามารถมอบความรักและมิตรภาพ แต่ความสัมพันธ์จะไม่เติบโตหากอีกฝ่ายไม่ยอมรับและไม่ตอบกลับ หากอีกฝ่ายดูเหมือนไม่เต็มใจรับ อย่ายัดเยียดความสัมพันธ์ จงให้เวลาเขาได้เห็นความพยายามที่จริงใจของท่าน และหากจำเป็น ควรหารือกับผู้นำของท่านว่าความสัมพันธ์ที่มีความหมายจะยังคงเกิดขึ้นได้หรือไม่

  • สื่อสารด้วยความห่วงใย

    การสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายเรียกร้องให้เราจริงจังไม่ฉาบฉวย การสื่อสารอย่างผิวเผินเต็มไปด้วยการพูดคุยเล็กน้อยเกี่ยวกับตารางเวลา สภาพอากาศ หรือประเด็นไม่สำคัญอื่นๆ แต่ไม่ได้บอกเล่าความรู้สึก ความเชื่อ เป้าหมาย และข้อกังวลที่จำเป็นต่อการทำให้ความสัมพันธ์มีความหมายมากขึ้น พระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นต้นแบบของการสื่อสารที่มีความหมายมากขึ้นโดยทรงบอกความรู้สึกและแผนของพระองค์กับพระบุตร (ดู ยอห์น 5:20) และกับเราผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ (ดู อาโมส 3:7) การเล่าเหตุการณ์วันต่อวันและความท้าทายของชีวิตตามที่พระวิญญาณทรงนำทำให้เราเห็นคุณค่าของกันและกันขณะหาสิ่งที่สนใจเหมือนกันและประสบการณ์ที่มีร่วมกัน

    การฟังเป็นส่วนสำคัญยิ่งของการสื่อให้รู้ว่าท่านใส่ใจ8 เมื่อท่านตั้งใจฟัง โอกาสจะช่วยให้ผู้อื่นมาหาพระคริสต์ย่อมเพิ่มขึ้นขณะท่านเข้าใจและมองเห็นความต้องการของพวกเขาและเมื่อพวกเขารู้สึกว่ามีคนรัก มีคนเข้าใจ และปลอดภัย

    hands touching
  • เห็นค่าความต่างและความเหมือน

    “บางคนเชื่อว่าศาสนจักรต้องการสร้างสมาชิกทุกคนจากแม่พิมพ์เดียวกัน—ที่แต่ละคนมอง รู้สึก คิด และปฏิบัติตนเหมือนกันหมด” เอ็ลเดอร์อุคท์ดอร์ฟกล่าว “ความคิดนี้ขัดกับพระอัจฉริยภาพของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้างมนุษย์ทุกคนให้ต่างจากพี่น้องของตน …

    “ศาสนจักรรุ่งเรืองเมื่อเราใช้ประโยชน์จากความหลากหลายนี้และให้กำลังใจกันที่จะพัฒนาและใช้พรสวรรค์ของเรายกและเสริมสร้างเพื่อนสานุศิษย์ด้วยกัน”9

    หากจะรักผู้อื่นอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าทรงรักเรา เราต้องพยายามมองผู้อื่นอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมองพวกเขา ประธานโธมัส เอส. มอนสัน (1927–2018) สอนว่า “เราต้องพัฒนาความสามารถในการมอง [ผู้อื่น] ไม่ใช่ตามที่พวกเขาเป็นอยู่ในปัจจุบันแต่ตามที่พวกเขาจะเป็นได้”10 เราสามารถสวดอ้อนวอนขอให้ทรงช่วยเรามองผู้อื่นอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอง เมื่อเราปฏิบัติต่อผู้อื่นตามศักยภาพการเติบโตของพวกเขา พวกเขาย่อมขึ้นไปถึงโอกาสนั้น11

  • รับใช้พวกเขา

    จงละเอียดอ่อนต่อความต้องการของคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจ เต็มใจสละเวลาและพรสวรรค์ของท่าน ไม่ว่าในยามต้องการหรือเพียงเพราะท่านห่วงใย ท่านสามารถอยู่ที่นั่นเพื่อให้การปลอบโยน การสนับสนุน และความช่วยเหลือที่จำเป็นยามเกิดภาวะคับขัน ความเจ็บป่วย หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เราเน้นปฏิกิริยาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ต่างๆ มากเกินไป พระผู้เป็นเจ้าประทานสิทธิ์เสรีเพื่อให้เราสามารถกระทำแทนที่จะถูกกระทำ (ดู 2 นีไฟ 2:14) เช่นเดียวกับอัครสาวกยอห์นสอนว่าเรารักพระผู้เป็นเจ้าเพราะพระองค์ทรงรักเราก่อน (ดู 1 ยอห์น 4:19) เมื่อผู้อื่นรู้สึกถึงความรักที่จริงใจผ่านการรับใช้ของเรา ใจของพวกเขาจะอ่อนลง พวกเขาจะรักและไว้วางใจเรามากขึ้น12 ส่งผลให้แสดงน้ำใจต่อกันมากขึ้นซึ่งจะสร้างความสัมพันธ์ได้

Savior sitting with disciples

การปฏิบัติศาสนกิจดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ

พระเยซูคริสต์ทรงสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับเหล่าสาวกของพระองค์ (ดู ยอห์น 11:5) พระองค์ทรงรู้จักพวกเขา (ดู ยอห์น 1:47–48) พระองค์ทรงใช้เวลากับพวกเขา (ดู ลูกา 24:13–31) การสื่อสารของพระองค์จริงจังไม่ฉาบฉวย (ดู ยอห์น 15:15) พระองค์ทรงเห็นค่าความต่าง (ดู มัทธิว 9:10) และทรงเห็นศักยภาพของพวกเขา (ดู ยอห์น 17:23) พระองค์ทรงรับใช้ทุกคน ทั้งที่ทรงเป็นพระเจ้าของทุกคน โดยตรัสว่าพระองค์ไม่ได้เสด็จมารับการปฏิบัติศาสนกิจแต่มาเพื่อปฏิบัติศาสนกิจ (ดู มาระโก 10:42–45)

ท่านจะทำอะไรเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นขึ้นกับคนที่ท่านได้รับเรียกให้รับใช้

อ้างอิง

  1. ชารอน ยูแบงค์ ใน “Humanitarian Acts Must Be Rooted in Relationship, Sharon Eubank Says,” mormonnewsroom.org.

  2. ดู “หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ: ยื่นมือช่วยด้วยความเห็นใจ,” เลียโฮนา, ก.ค. 2018, 6–9.

  3. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “เกี่ยวกับสิ่งสำคัญที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 26.

  4. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “เกี่ยวกับสิ่งสำคัญที่สุด,” 26.

  5. ดู เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน, “To the Home Teachers of the Church,” Ensign, May 1987, 50.

  6. ดู Charles A. Wilkinson and Lauren H. Grill, “Expressing Affection: A Vocabulary of Loving Messages,” in Making Connections: Readings in Relational Communication, ed. Kathleen M. Galvin, 5th ed. (2011), 164–73.

  7. ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “พรนิรันดร์ของการแต่งงาน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 119.

  8. ดู “หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ: ห้าสิ่งที่ผู้ฟังที่ดีพึงทำ,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2018, 6–9.

  9. ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “สถานภาพสี่ประการ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 59.

  10. โธมัส เอส. มอนสัน, “มองผู้อื่นดังที่พวกเขาจะเป็น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 69.

  11. ดู Terence R. Mitchell and Denise Daniels, “Motivation,” in Handbook of Psychology, vol. 12, ed. Walter C. Borman and others (2003), 229.

  12. ดู Edward J. Lawler, Rebecca Ford, and Michael D. Large, “Unilateral Initiatives as a Conflict Resolution Strategy,” Social Psychology Quarterly, vol. 62, no. 3 (Sept. 1999), 240–56.