การปฏิบัติศาสนกิจ
จุดประสงค์ที่จะเปลี่ยนการปฏิบัติศาสนกิจของเรา
หลักธรรม


หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ

จุดประสงค์ที่จะเปลี่ยนการปฏิบัติศาสนกิจของเรา

แม้การปฏิบัติศาสนกิจมีจุดประสงค์หลายประการ แต่ความปรารถนาจะช่วยให้ผู้อื่นเปลี่ยนใจเลื่อมใสลึกซึ้งขึ้นและเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นควรชี้นำการปฏิบัติศาสนกิจของเรา

เลียโฮนา มกราคม 2019

ministering like the Savior

น้ำดำรงชีวิต โดย ไซมอน ดิวอีย์

เมื่อเรารักผู้อื่นดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรัก เราจะอยากช่วยพวกเขาดังที่พระองค์ทรงช่วย ในฐานะพระเมษบาลผู้ประเสริฐ พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างสูงสุดของการปฏิบัติศาสนกิจอย่างมีความหมาย

ในการทำตามแบบอย่างการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ สำคัญที่ต้องจดจำว่าการที่พระองค์ทรงรัก หนุนใจ รับใช้ และทรงอวยพรมีเป้าหมายสูงกว่าการหาทางช่วยเหลือโดยฉับพลัน แน่นอนว่าพระองค์ทรงทราบความต้องการในแต่ละวันของพวกเขาและทรงรู้สึกเห็นใจในความทุกข์ปัจจุบันของพวกเขา ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงรักษา เลี้ยงอาหาร ให้อภัย และสอน แต่พระองค์ทรงต้องการทำมากกว่าดูแลความกระหายของวันนี้ (ดู ยอห์น 4:13–14) พระองค์ทรงต้องการให้คนรอบข้างติดตามพระองค์ (ดู ลูกา 18:22; ยอห์น 21:22) รู้จักพระองค์ (ดู ยอห์น 10:14; หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:22-24) และบรรลุศักยภาพอันสูงส่งของตน (ดู มัทธิว 5:48) ทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกัน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:13)

มีวิธีนับไม่ถ้วนที่เราสามารถช่วยเป็นพรแก่ผู้อื่น แต่เมื่อเป้าหมายสุดท้ายของการปฏิบัติศาสนกิจของเราคือช่วยให้ผู้อื่นมาหาพระผู้ช่วยให้รอดและเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น เราจะทำงานจนถึงวันที่เราจะไม่ต้องสอนเพื่อนบ้านให้รู้จักพระเจ้าเพราะเราทุกคนจะรู้จักพระองค์ (ดู เยเรมีย์ 31:34)

ความเอาพระทัยใส่ของพระผู้ช่วยให้รอดอยู่เหนือความต้องการโดยฉับพลัน

  • หลายคนพยายามอย่างเต็มที่เพื่อนำเพื่อนที่เป็นง่อยมาให้พระเยซูทรงรักษา พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาชายคนนั้นจนหาย แต่สนพระทัยจะให้อภัยบาปของเขามากกว่า (ดู ลูกา 5:18–26)

  • เมื่อมีคนพาหญิงที่ล่วงประเวณีมาหาพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ทรงยับยั้งคนเหล่านั้นไม่ให้ลงโทษเธอ เธอจึงรอดชีวิตทางกาย แต่พระองค์ทรงต้องการช่วยเธอทางวิญญาณด้วย โดยตรัสกับเธอว่า “จงไปเถิด และจากนี้ไปอย่าทำบาปอีก” (ดู ยอห์น 8:2–11)

  • มารีย์และมารธาส่งคนไปทูลพระเยซูให้พระองค์เสด็จมารักษาลาซารัสเพื่อนของพระองค์ พระเยซูผู้ทรงรักษาคนมานับครั้งไม่ถ้วนเสด็จไปถึงหลังจากลาซารัสตายแล้ว พระเยซูทรงทราบว่าครอบครัวต้องการอะไร แต่ในการทำให้ลาซารัสคืนชีพนั้น พระองค์ทรงทำให้พวกเขามีประจักษ์พยานแรงกล้ามากขึ้นเกี่ยวกับความเป็นพระเจ้าของพระองค์ (ดู ยอห์น 11:21–27)

ท่านจะเพิ่มตัวอย่างอะไรเข้าไปในรายการนี้อีกบ้าง

เราจะทำอะไรได้บ้าง

ถ้าจุดประสงค์ของเราคือช่วยให้ผู้อื่นเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น นั่นจะเปลี่ยนวีธีที่เราปฏิบัติศาสนกิจ ความเข้าใจดังกล่าวสามารถชี้นำการปฏิบัติศาสนกิจของเราได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

แนวคิด 1: เชื่อมโยงการรับใช้กับพระผู้ช่วยให้รอด

การทำดีทั้งหมดของเราคุ้มค่าความพยายาม แต่เราสามารถมองหาโอกาสยกระดับการรับใช้ของเราได้โดยเชื่อมโยงการรับใช้กับพระผู้ช่วยให้รอด ตัวอย่างเช่น ถ้าครอบครัวที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจเจ็บป่วย อาหารอาจจะเป็นประโยชน์ แต่ความรักที่ท่านแสดงออกอย่างเรียบง่ายจะเพิ่มตามประจักษ์พยานของท่านถึงความรักที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีต่อพวกเขา พวกเขาจะขอบคุณที่ท่านช่วยดูแลสนาม แต่การเสนอให้พรฐานะปุโรหิตจะทำให้ความช่วยเหลือนั้นมีความหมายมากขึ้น

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “คนที่มีจิตใจดีจะช่วยปะยางรถ พาเพื่อนร่วมห้องไปพบแพทย์ รับประทานอาหารกลางวันกับผู้มีใจเศร้าหมอง หรือยิ้มและกล่าวทักทายเพื่อทำให้วันนั้นเบิกบานมากขึ้น

“แต่ผู้ทำตามพระบัญญัติข้อแรกจะเพิ่มการกระทำสำคัญเหล่านี้ของการรับใช้อย่างเป็นธรรมชาติ”1

แนวคิด 2: มุ่งเน้นเส้นทางพันธสัญญา

เมื่อพูดกับสมาชิกเป็นครั้งแรกในฐานะประธานศาสนจักร ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า “จงดำเนินต่อไปบนเส้นทางพันธสัญญา การทำและรักษาพันธสัญญา “จะเปิดประตูรับพรทางวิญญาณและสิทธิพิเศษทุกประการที่มีให้”2

ในฐานะวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เรารับบัพติศมา รับการยืนยัน และรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ สมาชิกชายที่มีค่าควรได้รับฐานะปุโรหิต เราไปพระวิหารเพื่อรับเอ็นดาวเม้นท์และรับการผนึกด้วยกันเป็นครอบครัวชั่วนิรันดร์ ศาสนพิธีแห่งความรอดเหล่านี้และพันธสัญญาที่เกี่ยวข้องจำเป็นต่อการทำให้เราเป็นเหมือนพระองค์เพื่อเราจะได้อยู่กับพระองค์

เราสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยผู้อื่นตลอดเส้นทางนั้นเมื่อเราช่วยให้พวกเขารักษาพันธสัญญาและเตรียมทำพันธสัญญาในอนาคต3 ท่านจะช่วยให้แต่ละคนหรือครอบครัวที่ท่านรับใช้ได้รับศาสนพิธีต่อไปที่พวกเขาจำเป็นต้องได้รับอย่างไร อาจหมายถึงการช่วยเตรียมบิดาให้พร้อมบัพติศมาบุตรสาวของตน อธิบายเรื่องพรของพันธสัญญาต่อไปที่จะทำ หรือบอกวิธีทำให้ประสบการณ์ในการต่อพันธสัญญาขณะรับส่วนศีลระลึกมีความหมายมากขึ้น

invite and encourage

พระคริสต์กับเศรษฐีหนุ่ม โดย ไฮน์ริค ฮอฟแมนน์

แนวคิด 3: เชื้อเชิญและกระตุ้น

เมื่อเห็นเหมาะสม ให้หารือกับคนที่ท่านดูแลเกี่ยวกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของพวกเขาและการพยายามเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น ให้พวกเขารู้ข้อดีที่ท่านเห็นและชื่นชมในตัวพวกเขา หาให้พบว่าพวกเขารู้สึกว่าตนจะปรับปรุงอะไรได้บ้างและพูดคุยว่าท่านจะช่วยได้อย่างไร (ดูเพิ่มเติมเรื่องการหารือกับคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจใน “หารือเกี่ยวกับความต้องการของพวกเขา,” เลียโฮนา, ก.ย. 2018, 6–9)

อย่ากลัวที่จะเชื้อเชิญให้พวกเขาติดตามพระผู้ช่วยให้รอดและยอมให้พระองค์ทรงช่วยให้พวกเขาบรรลุศักยภาพอันสูงส่งของตน การเชื้อเชิญนี้จะเปลี่ยนชีวิตเมื่อควบคู่กับการแสดงความเชื่อมั่นในพวกเขาและศรัทธาของท่านในพระองค์

หกวิธีที่เราสามารถช่วยให้ผู้อื่นก้าวหน้าไปถึงพระคริสต์

ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะสำหรับการสนับสนุนผู้อื่นในการปรับปรุงชีวิตและก้าวหน้าตามเส้นทางพันธสัญญา (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, บทที่ 11, สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม)

  1. แบ่งปัน จริงใจและกล้าหาญเมื่อแบ่งปันว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยท่านอย่างไรขณะท่านพยายามเข้าใกล้พระองค์มากขึ้นโดยดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณทั้งที่มีอุปสรรค

  2. สัญญาเรื่องพร คนเราต้องการเหตุผลหนึ่งข้อให้เปลี่ยนที่จับใจมากกว่าเหตุผลหลายข้อไม่ให้เปลี่ยน การอธิบายพรที่เกี่ยวข้องกับการกระทำจะให้แรงจูงใจอันทรงพลัง (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:20–21)

  3. เชื้อเชิญ การดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณทำให้เกิดประจักษ์พยานว่าหลักธรรมนั้นเป็นความจริง (ดู ยอห์น 7:17) นำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่ลึกซึ้งขึ้น4 การปฏิสัมพันธ์เกือบทุกครั้งอาจจะรวมคำเชื้อเชิญง่ายๆ ให้ทำสิ่งที่จะช่วยให้พวกเขาก้าวหน้า

  4. วางแผนด้วยกัน ต้องเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาเพื่อพวกเขาจะรักษาคำมั่นสัญญาว่าจะเปลี่ยนได้สำเร็จ ท่านจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร มีเรื่องของกำหนดเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่

  5. สนับสนุน เมื่อช่วย ให้พัฒนาเครือข่ายสนับสนุนของคนที่จะช่วยให้บุคคลนั้นเกิดแรงจูงใจเสมอและประสบความสำเร็จ เราทุกคนต้องการแรงเชียร์

  6. ติดตามผล บอกเล่าความก้าวหน้าเป็นประจำ ตั้งใจทำตามแผนแต่ขัดเกลาแผนหากจำเป็น จงอดทน มุมานะ และมีกำลังใจ การเปลี่ยนแปลงจะต้องใช้เวลา

คำเชื้อเชิญให้ปฏิบัติ

คิดหาวิธีทำให้การปฏิบัติศาสนกิจของท่าน—ทั้งเล็กและใหญ่—ช่วยให้ผู้อื่นเปลี่ยนใจเลื่อมใสลึกซึ้งขึ้นและเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

แบ่งปันประสบการณ์ของท่าน

ส่งประสบการณ์เมื่อท่านปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นหรือผู้อื่นปฏิบัติศาสนกิจต่อท่านมาให้เรา ที่ liahona.lds.org (คลิก “Submit an Article or Feedback”)

อ้างอิง

  1. นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “A Holier Approach to Ministering” (Brigham Young University devotional, Apr. 10, 2018), 3, speeches.byu.edu.

  2. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ขณะที่เราเดินหน้าไปด้วยกัน” เลียโฮนา, เม.ย. 2018, 7.

  3. ดู เฮนรีย์ บี. อายริงก์ “ธิดาในพันธสัญญา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 125-128.

  4. ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาสู่พระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 106-109.