การปฏิบัติศาสนกิจ
หลักธรรมห้าข้อที่ผู้ฟังที่ดีพึงปฏิบัติ
หลักธรรม


หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ

หลักธรรมห้าข้อที่ผู้ฟังที่ดีพึงปฏิบัติ

การฟังอย่างแท้จริงจะช่วยให้ท่านรู้วิธีตอบรับความต้องการทางโลกและทางวิญญาณของผู้อื่นดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ

เลียโฮนา มิถุนายน 2018

Five Things Good Listeners Do
Five Things Good Listeners Do 2
two women talking

ภาพถ่ายจาก Getty Images

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการพูดคือการฟัง … หากเราฟังด้วยความรัก เราจะทราบว่าต้องพูดอะไร เพราะพระวิญญาณจะทรงบอกเรา”1

การฟังเป็นทักษะที่เราเรียนรู้ได้ การฟังแสดงออกถึงความรักที่เรามีต่อผู้อื่น ช่วยสร้างสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้น และเชื้อเชิญพระวิญญาณให้ประทานพรเราด้วยของประทานแห่งการเล็งเห็นเพื่อช่วยให้เราเข้าใจความต้องการของผู้อื่น2 ต่อไปนี้เป็นวิธีปรับปรุงการฟังของเราห้าวิธี

1. ให้เวลาพวกเขา

หลายคนต้องการเวลาในการรวบรวมความนึกคิดของพวกเขาก่อนพูด ให้เวลาพวกเขาคิดทั้งก่อนและหลังพวกเขาพูดบางสิ่ง (ดู ยากอบ 1:19) เพียงเพราะพวกเขาพูดจบไม่ได้หมายความว่าพวกเขาพูดทุกสิ่งที่พวกเขาต้องการ อย่ากลัวความเงียบ (ดู โยบ 2:11–3:1 และ แอลมา 18:14–16)

2. เอาใจใส่

เราคิดเร็วกว่าที่คนอื่นพูด หยุดยั้งการล่อลวงที่จะด่วนสรุปหรือคิดไปก่อนว่าท่านจะพูดอะไรเมื่อพวกเขาพูดจบ (ดู สุภาษิต 18:13) แต่ให้ฟังด้วยเจตนาที่จะเข้าใจ คำตอบของท่านจะดีขึ้นเนื่องจากมีพื้นฐานจากความเข้าใจที่ดีขึ้น

3. อธิบาย

อย่ากลัวที่จะถามคำถามเพื่ออธิบายบางสิ่งที่ท่านไม่เข้าใจ (ดู มาระโก 9:32) การอธิบายช่วยลดความเข้าใจผิดและแสดงความสนใจของท่านในสิ่งที่กำลังพูด

4. ไตร่ตรอง

พูดย้ำถึงสิ่งที่ท่านได้ยินและท่านเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นอย่างไร การทำเช่นนี้จะช่วยให้พวกเขารู้ว่าพวกเขาเข้าใจถูกต้องหรือไม่และให้โอกาสพวกเขาอธิบาย

5. หาจุดยืนร่วมกัน

ท่านอาจไม่เห็นด้วยกับทุกสิ่งที่พูด แต่เห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านสามารถเห็นด้วยได้โดยไม่บิดเบือนความรู้สึกของตนเอง การเต็มใจยอมรับกันจะช่วยลดความกังวลและความรู้สึกปิดกั้น (ดู มัทธิว 5:25)

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่าเราควร “เรียนรู้ที่จะฟัง และฟังเพื่อเรียนรู้จากกันและกัน”3 เมื่อท่านฟังด้วยเจตนาที่จะเรียนรู้จากผู้อื่น ท่านจะอยู่ในสถานะที่จะเข้าใจความต้องการของพวกเขาได้ดีขึ้นและได้ยินการกระตุ้นเตือนว่าท่านจะดูแลคนที่อยู่รอบข้างท่านดังเช่นพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงทำอย่างไร

การฟังคือความรัก

family laughing

เรื่องเล่าเรื่องหนึ่งจากเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์แสดงให้เห็นถึงพลังของการฟัง

“ทรอย รัสเซลล์ เพื่อนข้าพเจ้าค่อยๆ ถอยรถกระบะของเขาออกจากโรงรถ … เขารู้สึกว่าล้อหลังเหมือนทับอะไรบางอย่าง … เขาเดินไปดูและพบออสเต็น ลูกชายวัยเก้าขวบสุดที่รักของเขา นอนคว่ำหน้าอยู่บนทางเท้า … ออสเต็นจากไปแล้ว

“นอนไม่หลับหรือทำใจให้สงบไม่ได้ ทรอยโศกเศร้าจนไม่อาจปลอบโยนได้ … แต่ในช่วงเวลาอันเจ็บปวดนั้น … จอห์น แมนนิงก์ก็เข้ามา

“ข้าพเจ้าไม่ทราบจริงๆ ว่าสิ่งใดทำให้จอห์นกับคู่รุ่นน้องของเขาจัดตารางมาเยี่ยมบ้านรัสเซลล์ … สิ่งที่ข้าพเจ้ารู้คือเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาบราเดอร์แมนนิงก์เอื้อมลงไปโอบอุ้มทรอย รัสเซลล์ ออกจากเหตุสลดใจที่ทางรถนั้นราวกับเขากำลังอุ้มออสเต็นตัวน้อยด้วยตนเอง เฉกเช่น … พี่น้องชายในพระกิตติคุณที่เขาควรจะเป็น จอห์นเพียงแต่ใช้ฐานะปุโรหิตในการดูแลทรอย รัสเซลล์ เขาเริ่มโดยกล่าวว่า ‘ทรอย ออสเต็นต้องการให้คุณดำเนินชีวิตต่อไป—รวมถึงในสนามบาสเก็ตบอล—ดังนั้นผมจะมาที่นี่ทุกเช้าตอนตีห้าสิบห้านาที เตรียมตัวให้พร้อม …’

“‘ตอนนั้นผมไม่อยากไป’ ทรอยบอกข้าพเจ้าในภายหลัง ‘“เพราะผมพาออสเต็นไปกับผมเป็นประจำ … แต่จอห์นยืนกราน ดังนั้นผมจึงไป ตั้งแต่วันแรกที่กลับมานั้น เราคุยกัน—หรือที่จริงผมพูดและจอห์นฟัง … แรกๆ เป็นสิ่งที่ยากมาก แต่เวลาผ่านไปผมตระหนักว่าผมพบความเข้มแข็งของผมในรูปแบบของ [จอห์น แมนนิงก์] ผู้ที่รักผมและฟังผมจนในที่สุดชีวิตผมก็มีแสงตะวันอีกครั้ง’”4

อ้างอิง

  1. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “เป็นพยานฝ่ายเรา,” เลียโฮนา, ก.ค. 2001, 19

  2. See David A. Bednar, in “Panel Discussion” (worldwide leadership training meeting, Nov. 2010), broadcasts.lds.org.

  3. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “Listen to Learn,” Ensign, พ.ย. 1991, 23

  4. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ตัวแทนของศาสนจักร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 66–67