การปฏิบัติศาสนกิจ
ยื่นมือช่วยด้วยความการุณย์
หลักธรรม


หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ

ยื่นมือช่วยด้วยความการุณย์

เมื่อท่านทำตามแบบอย่างความการุณย์ของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านจะพบว่าท่านสามารถสร้างสรรค์สิ่งพิเศษในชีวิตผู้อื่น

เลียโฮนา กรกฎาคม 2018

Christ healing the blind

ศรัทธาของเจ้าทำให้เจ้าหายดี โดย จอร์เก ค็อกโก

ความการุณย์คือการมีความเข้าอกเข้าใจความเดือดร้อนของผู้อื่นควบคู่กับความปรารถนาจะแบ่งเบาหรือบรรเทาความเดือดร้อนนั้น พันธสัญญาจะติดตามพระผู้ช่วยให้รอดเป็นพันธสัญญาของความการุณย์อยาก “แบกภาระของกันและกัน” (โมไซยาห์ 18:8) งานมอบหมายให้ดูแลผู้อื่นเป็นโอกาสให้ปฏิบัติศาสนกิจเฉกเช่นพระเจ้าจะทรงทำด้วย “เมตตาคนที่ยังสงสัยอยู่” (ยูดา 1:22) พระเจ้าทรงบัญชาให้ “แสดงความกรุณาและความปรานีต่อพี่น้องของตน” (เศคาริยาห์ 7:9)

ความการุณย์ของพระผู้ช่วยให้รอด

ความการุณย์เป็นแรงผลักดันในการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด (ดูกรอบสี่เหลี่ยมด้านข้าง “พระผู้ช่วยให้รอดที่ทรงการุณย์”) ความการุณย์เพื่อนมนุษย์ของพระองค์เป็นเหตุให้พระองค์ยื่นมือช่วยเหลือคนรอบข้างพระองค์นับครั้งไม่ถ้วน การเล็งเห็นความต้องการและความปรารถนาของผู้คนส่งผลให้พระองค์สามารถอวยพรพวกเขาและสอนพวกเขาในด้านที่สำคัญต่อพวกเขามากที่สุด ความปรารถนาจะบรรเทาความเดือดร้อนของเรานำพระผู้ช่วยให้รอดให้แสดงความการุณย์ขั้นสูงสุด นั่นคือ การชดใช้บาปและความทุกข์ของมวลมนุษย์

พระปรีชาสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้คนเป็นสิ่งที่เราสามารถขวนขวายให้ได้มาขณะที่เรารับใช้ เมื่อเราดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมและฟังการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ เราจะได้รับการดลใจให้ยื่นมือช่วยเหลืออย่างมีความหมาย

พันธสัญญาของเราเรื่องความการุณย์

พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้บุตรธิดาของพระองค์การุณย์กัน (ดู 1 โครินธ์ 12:25–27) เพื่อเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริง เราต้องพัฒนาและแสดงความการุณย์ผู้อื่น โดยเฉพาะคนตกทุกข์ได้ยาก (คพ. 52:40)

โดยรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตัวเราผ่านพันธสัญญาบัพติศมา เราเป็นพยานว่าเราเต็มใจใช้ความการุณย์ ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยให้เราทำเช่นนั้น “ท่านเป็นสมาชิกแห่งพันธสัญญาของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ …

“นั่นคือเหตุผลที่ว่าเหตุใดท่านจึงรู้สึกต้องการช่วยบุคคลหนึ่งที่กำลังดิ้นรนเพื่อมุ่งหน้าต่อไปภายใต้ภาระของความโศกเศร้าและความยากลำบาก ท่านสัญญาว่าท่านจะช่วยพระเจ้าทำให้ภาระของพวกเขาเบาลงและปลอบโยนพวกเขา ท่านได้รับพลังอำนาจที่จะช่วยแบ่งเบาภาระเหล่านั้นเมื่อท่านได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์”1

ตัวอย่างเช่น พี่น้องสตรีคนหนึ่งในรัสเซียมีสถานการณ์ครอบครัวที่ลำบากซึ่งทำให้เธอไม่ได้เข้าร่วมการประชุมที่โบสถ์นานกว่าหนึ่งปี พี่น้องสตรีอีกคนหนึ่งในสาขายื่นมือช่วยด้วยความการุณย์ทุกวันอาทิตย์โดยโทรศัพท์เล่าให้เธอฟังเกี่ยวกับคำพูด บทเรียน จดหมายเรียกเป็นผู้สอนศาสนา เด็กเกิด และข่าวอื่นๆ ของศาสนจักร เมื่อสถานการณ์ครอบครัวของซิสเตอร์ที่ไม่ได้ออกจากบ้านคนนี้ดีขึ้น เธอรู้สึกเหมือนเธอยังเป็นส่วนหนึ่งของสาขาเพราะเพื่อนของเธอโทรศัพท์มาทุกสัปดาห์

อ้างอิง

  1. เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “พระผู้ปลอบโยน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 18.