หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ
ทำให้การปฏิบัติศาสนกิจ เปี่ยมด้วยปีติ
การรับใช้ด้วยความรักทำให้ผู้ให้และผู้รับเกิดปีติ
เลียโฮนา เมษายน 2019
บางครั้งการค้นหาความสุขของเราในชีวิตนี้เหมือนกับการวิ่งบนเครื่องวิ่งออกกำลังกาย เราวิ่งและวิ่ง และยังรู้สึกเหมือนอยู่ที่เดิม บางคนรู้สึกว่าการปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นเหมือนเป็นการเพิ่มภาระ
แต่พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เราประสบปีติและรับสั่งว่า “มนุษย์เป็นอยู่, เพื่อพวกเขาจะมีปีติ” (2 นีไฟ 2:25) พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่าการปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นเป็นส่วนจำเป็นของการนำปีติมาสู่ชีวิตเราและชีวิตผู้อื่น
ปีติคืออะไร
ปีติมีนิยามว่า “ความรู้สึกพอใจและมีความสุขมาก”1 ศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายให้ความกระจ่างว่าปีติมาจากไหนและจะพบได้อย่างไร “ปีติที่เรารู้สึกนั้นแทบไม่เกี่ยวกับสภาพการณ์ในชีวิตแต่ขึ้นอยู่กับทุกอย่างที่เราให้ความสำคัญในชีวิตเรา” ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าว “… ปีติมาจาก [พระเยซูคริสต์] และมาเพราะพระองค์ พระองค์ทรงเป็นที่มาของปีติทั้งปวง”2
การปฏิบัติศาสนกิจทำให้เกิดปีติ
เมื่อลีไฮรับส่วนผลของต้นไม้แห่งชีวิต จิตวิญญาณของเขาเปี่ยม “ด้วยความปรีดียิ่งนัก” (1 นีไฟ 8:12) ความปรารถนาแรกของเขาคือแบ่งผลนี้ให้คนที่เขารัก
ความที่เราเต็มใจปฏิบัติต่อผู้อื่นจะทำให้เราและพวกเขาเกิดปีติแบบนี้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเหล่าสานุศิษย์ของพระองค์ว่าผลที่เรานำออกมาเมื่อเราเชื่อมสัมพันธ์กับพระองค์จะช่วยให้เราเกิดปีติเต็มเปี่ยม (ดู ยอห์น 15:1–11) การทำงานของพระองค์โดยรับใช้และหมายมั่นนำผู้อื่นมาหาพระองค์สามารถเป็นประสบการณ์อันเปี่ยมด้วยปีติ (ดู ลูกา 15:7; แอลมา 29:9; หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:16; 50:22) เราจะประสบปีติดังกล่าวแม้ในขณะเผชิญการต่อต้านและความทุกข์ (ดู 2 โครินธ์ 7:4; โคโลสี 1:11)
พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงแบบอย่างอันสมบูรณ์ให้เราเห็นว่าแหล่งกำเนิดใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่งของปีติที่แท้จริงในชีวิตมรรตัยเกิดจากการรับใช้ เมื่อเราปฏิบัติศาสนกิจต่อพี่น้องชายหญิงเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอด ด้วยจิตกุศลและความรักในใจเรา เราจะประสบปีติที่ไม่ใช่แค่ความสุขธรรมดา
“เมื่อเราน้อมรับ [การปฏิบัติศาสนกิจ] ด้วยความเต็มใจ เราจะ … เข้าใกล้การเป็นผู้คนของไซอันมากขึ้นและจะรู้สึกปีติเป็นล้นพ้นพร้อมกับคนที่เราได้ช่วยตลอดเส้นทางของการเป็นสานุศิษย์” ซิสเตอร์จีน บี. บิงแฮมประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอน3
เราจะทำให้การปฏิบัติศาสนกิจเปี่ยมด้วยปีติมากขึ้นได้อย่างไร
มีหลายวิธีที่จะทำให้การปฏิบัติศาสนกิจของเราเกิดปีติมากขึ้น ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ
-
เข้าใจจุดประสงค์ของท่านในการปฏิบัติศาสนกิจ มีเหตุผลมากมายให้ปฏิบัติศาสนกิจ สุดท้ายแล้ว ความพยายามของเราควรสอดคล้องกับจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าคือ “ทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” (โมเสส 1:39) เมื่อเรายอมรับคำเชื้อเชิญของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันให้ช่วยเหลือผู้อื่นตามเส้นทางพันธสัญญา เราจะพบปีติในการมีส่วนร่วมในงานของพระผู้เป็นเจ้า4 (ดูจุดประสงค์ของการปฏิบัติศาสนกิจได้ที่ “หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ: จุดประสงค์ที่จะเปลี่ยนการปฏิบัติศาสนกิจของเรา” ใน เลียโฮนา เดือนมกราคม 2019)
-
ทำให้การปฏิบัติศาสนกิจเกี่ยวข้องกับคนไม่ใช่งาน ประธานโธมัส เอส. มอนสันเตือนเราบ่อยครั้งว่า “อย่าปล่อยให้ปัญหาที่ต้องแก้ไขสำคัญกว่าคนที่ท่านต้องรัก”5 การปฏิบัติศาสนกิจเกี่ยวข้องกับการรักผู้คน ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทำ เมื่อเรารักมากขึ้นดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรัก เราจะเปิดรับปีติที่มาจากการรับใช้ผู้อื่นมากขึ้น
-
ทำให้การปฏิบัติศาสนกิจเรียบง่าย ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดรักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองบอกเราว่า “สิ่งสำคัญยิ่งเกิดขึ้นผ่านเรื่องเล็กและเรียบง่าย … การกระทำเล็กๆ น้อยๆ และเรียบง่ายจากความเมตตาและการรับใช้จะสั่งสมในชีวิตเราจนเราเปี่ยมด้วยความรักที่มีต่อพระบิดาบนสวรรค์ การอุทิศตนต่องานของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ความรู้สึกสงบและปีติจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่เราแสดงน้ำใจต่อกัน”6
-
นำความเครียดออกจากการปฏิบัติศาสนกิจ ท่านไม่ได้มีหน้าที่ทำให้คนบางคนได้รับความรอด นั่นเป็นเรื่องระหว่างบุคคลนั้นกับพระเจ้า หน้าที่รับผิดชอบของท่านคือรักพวกเขาและช่วยให้พวกเขาหันมาหาพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของพวกเขา
อย่าชะลอปีติของการรับใช้
บางครั้งผู้คนลังเลที่จะขอความช่วยเหลือที่จำเป็น ด้วยเหตุนี้การเสนอตัวรับใช้พวกเขาจึงอาจเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการพอดี แต่การยัดเยียดตัวเราให้ผู้อื่นไม่ใช่คำตอบเช่นกัน การขออนุญาตก่อนปฏิบัติศาสนกิจเป็นความคิดที่ดี
เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเล่าเรื่องมารดาตัวคนเดียวที่เป็นไข้อีสุกอีใส—และจากนั้นลูกๆ ของเธอก็ป่วยตาม บ้านที่ปกติสะอาดเรียบร้อยกลายเป็นบ้านรกรุกรัง จานชามและเสื้อผ้ากองพะเนิน
ในขณะที่เธอรู้สึกกลุ้มใจมาก พี่น้องสตรีสมาคมสงเคราะห์มาเคาะประตูบ้านพอดี พวกเธอไม่ได้พูดว่า “บอกเรานะคะถ้าเราช่วยได้” เมื่อพวกเธอเห็นสถานการณ์ พวกเธอลงมือทำทันที
“พวกเธอทำความสะอาดจนหมด นำความสว่างและความแจ่มใสเข้ามาในบ้าน โทรศัพท์บอกเพื่อนคนหนึ่งให้นำอาหารที่ต้องการมากมาให้ เมื่อพวกเธอทำงานเสร็จเรียบร้อยและกล่าวลา พวกเธอทำให้คุณแม่วัยสาวคนนั้นต้องหลั่งน้ำตา—น้ำตาแห่งความซาบซึ้งใจและความรัก”7
ทั้งผู้ให้และผู้รับรู้สึกถึงความอบอุ่นของปีติ
บ่มเพาะปีติในชีวิตท่าน
ยิ่งเราสามารถบ่มเพาะปีติ สันติ และความอิ่มเอมใจในชีวิตเราได้มากเพียงใด เราจะยิ่งสามารถแบ่งปันให้ผู้อื่นได้มากเพียงนั้นขณะที่เราปฏิบัติศาสนกิจ ปีติผ่านเข้ามาทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู กาลาเทีย 5:22 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:13) ปีติเป็นสิ่งที่เราสวดอ้อนวอนขอ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 136:29) และเชื้อเชิญเข้ามาในชีวิตเรา ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการสำหรับบ่มเพาะปีติในชีวิตเราเอง
-
นับพรของท่าน ขณะท่านสำรวจชีวิตท่าน จงเขียนสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานพรท่านลงในบันทึกส่วนตัวของท่าน8 สังเกตสิ่งดีๆ รอบตัวท่าน9 ระวังสิ่งที่อาจจะขัดขวางท่านไม่ให้รู้สึกปีติและจดวิธีแก้ไขหรือเข้าใจสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น ในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ปีนี้ จงใช้เวลาหาทางเชื่อมสัมพันธ์กับพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:36)
-
ฝึกสติ ท่านจะมีปีติง่ายขึ้นในช่วงที่ท่านตรึกตรองอย่างเงียบๆ10 ตั้งใจฟังสิ่งที่ทำให้ท่านเกิดปีติ (ดู 1 พงศาวดาร 16:15) บางครั้งท่านจำเป็นต้องอยู่ห่างจากสื่อเพื่อฝึกสติ11
-
หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบตนเอง กล่าวกันว่าการเปรียบเทียบเป็นตัวขโมยปีติ เปาโลเตือนว่าคนที่ “เอาตัวเองเป็นเครื่องวัดกันและกัน และเอาตัวเองเปรียบเทียบกันและกันแล้ว พวกเขาก็ปราศจากความเข้าใจ” (2 โครินธ์ 10:12)
-
แสวงหาการเปิดเผยส่วนตัว พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่า “หากเจ้าจะถาม, เจ้าจะได้รับการเปิดเผยมาเติมการเปิดเผย, ความรู้มาเติมความรู้, เพื่อเจ้าจะรู้ความลี้ลับและสิ่งที่ส่งเสริมความสงบสุข—สิ่งนั้นที่นำมาซึ่งปีติ, สิ่งนั้นที่นำมาซึ่งนิรันดรแห่งชีวิต” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:61)
คำเชื้อเชิญให้ปฏิบัติ
ท่านจะเพิ่มปีติที่ท่านพบในชีวิตผ่านการปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างไร