การปฏิบัติศาสนกิจ
การปฏิบัติศาสนกิจผ่านการประชุมศีลระลึก
หลักธรรม


หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ

การปฏิบัติศาสนกิจผ่านการประชุมศีลระลึก

การประชุมศีลระลึกให้โอกาสเชื่อมสัมพันธ์และปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่น

people seated in a heart shape

ภาพประกอบ โดย เอ็ดเวิร์ด แม็คโกแวน

การประชุมศีลระลึกเป็นเวลาสำหรับการบำรุงเลี้ยงทางวิญญาณและการไตร่ตรองส่วนตัวเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์ ขณะรับส่วนศีลระลึกแต่ละสัปดาห์ เราจรรโลงใจกัน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:110) แต่บางคนในวอร์ดและสาขาของเรามาพร้อมภาระอันหนักหน่วงหรือไม่มาเลย

ต่อไปนี้เป็นโอกาสเล็กๆ น้อยๆ ให้ใช้ชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์นั้นปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในชีวิตพวกเขา

ช่วยทำให้การประชุมศีลระลึกดีขึ้นสำหรับคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจ

ขั้นแรกในการฝึกปฏิบัติศาสนกิจคือทำความรู้จักบุคคลหรือครอบครัวและความต้องการของพวกเขา อาจมีหลายวิธีที่ท่านสามารถช่วยทำให้การประชุมศีลระลึกของพวกเขาเป็นประสบการณ์นมัสการที่ดีขึ้นโดยเพียงแค่เรียนรู้เกี่ยวกับพวกเขามากขึ้น

สำหรับมินดี้ มารดาสาวของลูกแฝดวัยหัดเดิน ความพยายามอย่างเรียบง่ายของซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจของเธอทำให้ประสบการณ์ในการประชุมศีลระลึกทุกสัปดาห์ของเธอเกิดความแตกต่างอย่างมาก

“เพราะตารางงานของสามี ดิฉันจึงต้องพาลูกสาวฝาแฝดมาโบสถ์เองทุกอาทิตย์” มินดี้อธิบาย “ดิฉันหนักใจจริงๆ ที่ต้องพยายามทำให้ลูกแฝดวัยหัดเดินอยู่นิ่งได้ตลอดการประชุมศีลระลึก แต่ซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจของดิฉันรับภาระช่วยเหลือดิฉัน

“เธอนั่งกับเราและช่วยดิฉันดูแลลูกสาวทุกอาทิตย์ การมีเธอนั่งอยู่ใกล้ๆ สำคัญต่อดิฉันมากและทำให้ดิฉันคลายกังวลได้จริงๆ ในช่วงที่ลูกแผลงฤทธิ์หรือวุ่นวาย ดิฉันคิดว่าเธอคงไม่รู้ว่าการกระทำของเธอมีผลต่อดิฉันมากเพียงใดในช่วงเวลานี้ของชีวิต เธอมองเห็นความต้องการของคุณแม่วัยสาวอย่างดิฉันที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวล และเธอช่วยทำให้โบสถ์เป็นสถานที่สงบสุขสำหรับเราทุกคน”

แนวคิดที่จะช่วยเหลือผู้มีความต้องการเฉพาะด้าน

  • หารือกับผู้นำโควรัมเอ็ลเดอร์และผู้นำสมาคมสงเคราะห์เกี่ยวกับความต้องการของสมาชิก

  • ผู้นำวางแผนคำปราศรัยในการประชุมศีลระลึกเพื่อช่วยตอบรับความต้องการของสมาชิก หากคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจจะได้ประโยชน์จากการฟังข่าวสารเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จงบอกให้ผู้นำของท่านทราบ

  • หากท่านรู้ว่าความพิการหรือโรคแพ้อาหารทำให้บางคนไม่ได้รับพรของศีลระลึก ขอรายละเอียดจากพวกเขาและสิ่งที่จะอำนวยความสะดวกได้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ในการนมัสการของพวกเขา บอกข้อมูลนี้กับผู้นำของท่าน1

  • หากคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจหรือคนที่ท่านรู้จักป่วยอยู่บ้าน ไม่ว่าจะถาวรหรือชั่วคราว ให้ถามอธิการว่าจะให้ศีลระลึกพวกเขาที่บ้านได้หรือไม่ ท่านอาจจะจดบันทึกระหว่างการประชุมศีลระลึกและแบ่งปันให้พวกเขาทางโทรศัพท์ ผ่านอีเมล หรือด้วยตนเอง

  • หากคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจมีลูกเล็ก ท่านสามารถให้ความช่วยเหลือพวกเขาระหว่างการประชุมศีลระลึก

  • หากคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจมาการประชุมศีลระลึกไม่บ่อย พยายามเข้าใจและคิดหาวิธีที่ท่านจะช่วยได้ หากพวกเขาต้องการรถรับส่ง ท่านอาจเอื้อเฟื้อขับรถรับส่ง หากพวกเขารู้สึกว่าครอบครัวไม่สนับสนุน ท่านอาจจะชวนพวกเขามานั่งกับท่าน ท่านจะเชื้อเชิญเป็นพิเศษเพื่อช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าเราต้อนรับและต้องการให้พวกเขาเข้าร่วมการประชุมศีลระลึก

people sitting together

จำไว้ว่าการกระทำที่เรียบง่ายมีผลมากมาย

เมื่อพูดเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจ ซิสเตอร์จีน บี. บิงแฮม ประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอนว่า “บางครั้งเราคิดว่าเราต้องทำสิ่งใหญ่โตและเก่งกาจจึงจะ ‘นับ’ เป็นการรับใช้เพื่อนบ้านของเรา ทว่าการกระทำที่เรียบง่ายของการรับใช้สามารถส่งผลอันลึกซึ้งต่อผู้อื่น—และตัวเราเอง”2

ในวอร์ดเล็กๆ แห่งหนึ่งในเบลเยียม เอวิตามักจะเอื้อเฟื้อแปลให้ผู้มาเยือนและสมาชิกที่พูดภาษาสเปนในระหว่างการประชุมของศาสนจักร ครั้งหนึ่งเอวิตาได้รู้จักกับคนหนึ่งจากสาธารณรัฐโดมินิกันที่กำลังเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนจักร เขารู้ภาษาอังกฤษบ้าง แต่ภาษาสเปนเป็นภาษาแม่ของเขา เอวิตาจึงช่วยแปลให้เขาอย่างเงียบๆ ในการประชุมศีลระลึกเพื่อให้เขารู้สึกอุ่นใจมากขึ้น

“บางครั้งการแปลจะทำให้วันสะบาโตของดิฉันวุ่นวายสักหน่อย” เอวิตากล่าว “แต่การทำตามการกระตุ้นเตือนให้ถามคนอื่นๆ ว่าพวกเขาต้องการล่ามหรือไม่ทำให้ดิฉันรู้สึกถึงปีติและอบอุ่นใจที่รู้ว่าตัวเองสามารถช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงพระวิญญาณและมีความสุขกับการประชุมของพวกเขา”

แนวคิดที่จะช่วยเหลือผ่านการกระทำที่เรียบง่าย

  • พูดคุยกับผู้นำของท่านเพื่อให้รู้ว่าใครอาจต้องการให้รับใช้เป็นพิเศษในระหว่างการประชุมศีลระลึก หรือหากท่านรู้ว่ามีคนที่ต้องการ ท่านต้องแน่ใจว่าผู้นำของท่านทราบเรื่องนี้

  • นั่งเงียบๆ ขณะรอการประชุมเริ่ม นี่จะช่วย “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่โศกเศร้าของผู้คนรอบข้าง”3 ผู้ต้องการสันติสุขที่มาจากความคารวะในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

  • ในวันอาทิตย์อดอาหาร ท่านอาจจะอุทิศการอดอาหารและการสวดอ้อนวอนของท่านให้คนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจผู้อาจต้องการการปลอบโยนมากเป็นพิเศษ

  • สวดอ้อนวอนให้รู้ว่ามีใครจะได้ประโยชน์จากท่านถ้าท่านนั่งข้างๆ หรือนั่งใกล้พวกเขาระหว่างการประชุมศีลระลึกหรือไม่ หรือมีวิธีอื่นที่ท่านจะช่วยได้หรือไม่

การประชุมศีลระลึกสามารถเป็นสถานที่ต้อนรับทุกคน

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ (1876–1972) สอนว่า “การประชุมศีลระลึกเป็นการประชุมศักดิ์สิทธิ์ที่สุดและบริสุทธิ์ที่สุดของการประชุมทั้งหมดของศาสนจักร”4 เพราะเหตุนี้จึงสำคัญที่ต้องทำให้แน่ใจว่าทุกคนที่เข้าร่วมการประชุมศีลระลึกรู้สึกถึงการต้อนรับและได้รับการบำรุงเลี้ยงทางวิญญาณ—โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกใหม่หรือสมาชิกที่ไม่ได้เข้าร่วมมาระยะหนึ่งแล้ว

เมราเนียจากนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลียเป็นเพื่อนกับสตรีคนหนึ่งที่กำลังเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนจักรในวอร์ดของเธอ “เธอกลายเป็นเพื่อนรักคนหนึ่งของดิฉันตอนนี้” เมราเนียกล่าว “ดิฉันชอบนั่งกับเธอในการประชุมศีลระลึกทุกอาทิตย์ และถามเธอเสมอว่าเป็นอย่างไรบ้างและมีอะไรที่ดิฉันจะช่วยเธอได้บ้าง” ไม่นานหลังจากนั้นเพื่อนของเมราเนียก็รับบัพติศมา ความพยายามของสมาชิกวอร์ดกับบรรยากาศที่อบอุ่นในการประชุมศีลระลึกมีบทบาทสำคัญมากในการตัดสินใจของเธอ

แนวคิดที่จะปฏิบัติศาสนกิจต่อสมาชิกใหม่หรือสมาชิกที่กลับมา

  • เมื่อท่านจะเป็นผู้พูดในการประชุมศีลระลึก ท่านอาจจะชวนเพื่อนๆ ครอบครัว และคนอื่นๆ มาฟังข่าวสารของท่าน

  • ท่านสามารถมองหาและต้อนรับคนที่นั่งอยู่คนเดียวหรือคนที่อาจต้องการความช่วยเหลือ ถามว่าท่านจะนั่งด้วยได้ไหมหรือชวนพวกเขามานั่งกับท่าน

  • เมื่อจบการประชุม ท่านอาจจะชวนคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจและคนอื่นๆ มากิจกรรมศาสนจักรครั้งต่อไป ไปพระวิหาร หรือไปงานสังสรรค์

  • หากคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจเข้าร่วมการประชุมศีลระลึกแต่ไม่ได้มาการประชุมระยะหนึ่งแล้ว ท่านสามารถถามว่าพวกเขามีคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่สอนหรือไม่ บอกพวกเขาว่าพวกเขาถามท่านได้ทุกเมื่อหากมีคำศัพท์ เรื่องราว หรือหลักคำสอนที่พวกเขาไม่เข้าใจ ท่านสามารถค้นหาคำตอบด้วยกันหากจำเป็น

อ้างอิง

  1. อาจจะอ่านเรื่อง “4 วิธีรับใช้ครอบครัวที่มีคนพิการ” (บทความดิจิทัลเท่านั้น) เลียโฮนา, มิ.ย. 2018; หรือ “การจัดการโรคแพ้อาหารที่โบสถ์” ในฉบับนี้หน้า 22.

  2. จีน บี. บิงแฮม, “การปฏิบัติศาสนกิจดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, หน้า 104.

  3. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “จงดูพระเมษโปดกของพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, หน้า 46.

  4. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, ใน Conference Report, ต.ค. 1929, หน้า 60–61.