คำนำ การเตรียมตัวเป็นผู้สอนศาสนา คู่มือครู (ศาสนา 130)
วัตถุประสงค์ของเรา
วัตถุประสงค์ของเซมินารีและสถาบันศาสนากล่าวว่า
“จุดประสงค์ของเราคือช่วยให้เยาวชนและคนหนุ่มสาวเข้าใจและพึ่งพาคำสอนตลอดจนการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ มีคุณสมบัติคู่ควรรับพรของพระวิหาร อีกทั้งเตรียมตนเอง ครอบครัว ตลอดจนคนอื่นๆ เพื่อรับชีวิตนิรันดร์อยู่กับพระบิดาในสวรรค์” (การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ: คู่มือสำหรับครูและผู้นำในเซมินารีและสถาบันศาสนา [2012], หน้า 1)
ในฐานะครูสถาบัน ท่านสามารถช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ได้เมื่อท่านสอนพระกิตติคุณอย่างมีประสิทธิภาพ “เราสอนนักเรียนให้รู้หลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณตามที่มีอยู่ในพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ โดยหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้สอนในวิธีที่ทำให้เกิดความเข้าใจและความจรรโลงใจ เราช่วยให้นักเรียนมีสัมฤทธิผลในบทบาทของพวกเขาในกระบวนการเรียนรู้และเตรียมพวกเขาให้พร้อมสอนพระกิตติคุณแก่ผู้อื่น” (การสอนและการเรียนพระกิตติคุณ, x)
หลักพื้นฐานของการสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ จะช่วยให้ท่านและนักเรียนบรรลุวัตถุประสงค์ของเซมินารีและสถาบันศาสนาเมื่อท่านศึกษาพระคัมภีร์ ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ และ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ร่วมกัน หลักพื้นฐานมีดังนี้
-
สอนและเรียนรู้ด้วยพระวิญญาณ
-
สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่มีความรัก ความเคารพ และจุดประสงค์
-
ศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันและอ่านตำราที่ใช้ในหลักสูตร
-
เข้าใจบริบทและเนื้อหาในพระคัมภีร์ตลอดจนถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์
-
ระบุ เข้าใจ รู้สึกถึงความจริงและความสำคัญ ตลอดจนประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณ
-
อธิบาย แบ่งปัน เป็นพยานถึงหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณ
-
เชี่ยวชาญข้อพระคัมภีร์ที่สำคัญและหลักคำสอนพื้นฐาน
“เมื่อนำมาใช้อย่างฉลาดและสอดคล้องกัน [หลักพื้นฐานเหล่านี้] จะช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าใจพระคัมภีร์ หลักคำสอน และหลักธรรมที่อยู่ในนั้นได้ อีกทั้งกระตุ้นนักเรียนให้รับบทบาทจริงในการเรียนพระกิตติคุณและเพิ่มความสามารถของพวกเขาในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณและสอนคนอื่นๆ” (การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ, 10) เราควรมองว่าหลักพื้นฐานเหล่านี้เป็นผลไม่ใช่วิธีสอน (ดู การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ, 10) ข้อเสนอแนะการสอนในคู่มือเล่มนี้นำเสนอวิธีบรรลุผลเหล่านี้ในการสอนของท่าน
จุดประสงค์ของหลักสูตรนี้
ศาสนา 130 การเตรียมตัวเป็นผู้สอนศาสนาออกแบบไว้ช่วยเตรียมนักเรียนให้พร้อมรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลาโดยมุ่งเน้นหลักคำสอน หลักธรรม และคำแนะนำที่พบในพระคัมภีร์ ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ และ สั่งสอนกิตติคุณของเรา คู่มือเล่มนี้ พระคัมภีร์ และ สั่งสอนกิตติคุณของเรา เป็นตำราเบื้องต้นของท่านขณะท่านเตรียมและสอนหลักสูตรนี้ สั่งสอนกิตติคุณของเรา เป็นคู่มือนักเรียนสำหรับหลักสูตรนี้ ท่านจึงควรกระตุ้นให้นักเรียนมีหนึ่งเล่มไว้ใช้ศึกษาส่วนตัวและใช้ในชั้นเรียน ท่านจะเป็นพรแก่ชีวิตนักเรียนขณะช่วยให้พวกเขาคุ้นเคยกับหนังสือเล่มนี้และใช้ในการเตรียมตนเองให้พร้อมรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา
การจัดลำดับบทเรียน
คู่มือเล่มนี้ออกแบบไว้ช่วยทั้งครูที่ได้รับเรียกใหม่และครูที่มีประสบการณ์ หลักสูตรออกแบบไว้ให้เรียนหนึ่งเทอม และแบ่งออกเป็น 15 บท แต่ละบทออกแบบไว้ให้สอนในคาบเรียนละ 90 นาที หากคาบเรียนของท่านไม่ถึง 90 นาที ท่านอาจจะตัดทอนบทเรียนให้สั้นลงหรือแบ่งออกเป็นหลายๆ ตอนไว้สอนสองคาบเรียนหรือมากกว่านั้น
แต่ละบทในคู่มือมีห้าส่วน
-
คำนำ
-
การเตรียมล่วงหน้า
-
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
-
ความช่วยเหลือด้านการสอน
-
การเชื้อเชิญให้ปฏิบัติ
คำนำ
แต่ละบทเริ่มด้วยคำนำสั้นๆ สรุปหลักคำสอน หลักธรรม และแนวคิดหลักๆ ที่ครอบคลุมในบทเรียน
การเตรียมล่วงหน้า
หัวข้อนี้จะมีแหล่งข้อมูลสำคัญให้ศึกษาและบอกชื่อแหล่งข้อมูล (ตัวอย่างเช่น วีดิทัศน์ เอกสารแจก และอื่นๆ) ที่ใช้ในโครงร่างบทเรียนแต่ละบทและท่านจะต้องเตรียมล่วงหน้า ตัวอย่างเช่น เมื่อบทเรียนเสนอให้ฉายวีดิทัศน์ อาจเป็นการดีที่ท่านจะดาวน์โหลดหรือไม่ก็เตรียมวีดิทัศน์ล่วงหน้า
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หัวข้อนี้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับการสอนหัวข้อหลักสูตรที่กำหนด ในฐานะครู ท่านควรศึกษาหัวข้อนี้อย่างละเอียด ข้อเสนอแนะการสอนในคู่มือเล่มนี้ทำตามรูปแบบที่บอกไว้ใน บทที่ 3 ของ การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ ข้อเสนอแนะจะสาธิตวิธีรวมหลักพื้นฐานของการสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณไว้ในการสอนของท่านเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจและประยุกต์ใช้หลักธรรมพระกิตติคุณอีกทั้งเพิ่มการเปลี่ยนใจเลื่อมใสส่วนตัวของพวกเขา
ในเนื้อหาแต่ละบท ท่านจะพบหลักคำสอนสำคัญๆ หลักธรรม และความจริงหลายประการเป็นตัวพิมพ์หนา หลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้ระบุไว้ในหลักสูตรเพราะ (1) สะท้อนความจริงสำคัญๆ ที่พบในพระคัมภีร์ และ สั่งสอนกิตติคุณของเรา (2) ประยุกต์ใช้ได้เป็นพิเศษกับความต้องการและสภาวการณ์ของผู้มุ่งหวังจะเป็นผู้สอนศาสนา หรือ (3) เป็นความจริงหลักๆ ที่สามารถช่วยให้นักเรียนมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งขึ้นกับพระเจ้าและเตรียมพวกเขาให้พร้อมรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดแนะนำดังนี้ “ขณะที่ท่านเตรียมบทเรียน ให้มองหาหลักธรรมที่ทำให้เปลี่ยนใจเลื่อมใสในบทเรียน … หลักธรรมที่ทำให้เปลี่ยนใจเลื่อมใสคือหลักธรรมที่นำไปสู่การเชื่อฟังพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า” (“Converting Principles” [ปราศรัยกับนักการศึกษาศาสนา ซีอีเอส 2 ก.พ. 1996], 1; si.lds.org) พึงทราบว่าคู่มือเล่มนี้ไม่พยายามระบุหลักคำสอนและหลักธรรมทั้งหมดที่น่าจะสอนในบทเรียนได้ และท่านอาจได้รับการนำทางจากพระวิญญาณให้สอนหลักธรรมและหลักคำสอนอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวไว้ในเนื้อหาบทเรียน ดูแนวคิดเพิ่มเติมเรื่องการปรับบทเรียนในหัวข้อ ตัดสินใจว่าจะสอนอะไรและสอนอย่างไร” ด้านล่าง
ความช่วยเหลือด้านการสอน
ความช่วยเหลือด้านการสอนปรากฏในกรอบสี่เหลี่ยมทั่วบทเรียน แนะแนววิธีสอน ทักษะ และเทคนิคต่างๆ ทั้งหมดนี้ออกแบบไว้ให้ข้อคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักธรรมพื้นฐานของการศึกษาศาสนาด้วย จงมองหาวิธีประยุกต์ใช้ความช่วยเหลือเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างสม่ำเสมอในการสอนของท่าน
การเชื้อเชิญให้ปฏิบัติ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้ “สิ่งที่ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งในตัวท่าน [ผู้มุ่งหวังจะเป็นผู้สอนศาสนา] คือหวังว่าท่านจะไม่เพียงไปรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเท่านั้น—แต่ท่านจะเป็นผู้สอนศาสนาเป็นระยะเวลายาวนานก่อนที่ท่านจะยื่นเอกสารเพื่อการเป็นผู้สอนศาสนาของท่าน นานก่อนที่จะรับการเรียกให้รับใช้ นานก่อนที่ท่านจะได้รับการวางมือแต่งตั้งโดยประธานสเตคของท่าน และนานก่อนที่ท่านจะเข้าเอ็มทีซี” (“การเป็นผู้สอนศาสนา” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 54) ตามแนวคิดนี้ แต่ละบทมีกิจกรรมที่เสนอไว้เพื่อกระตุ้นผู้มุ่งหวังจะเป็นผู้สอนศาสนาให้เริ่มคิด กระทำ และรับใช้เหมือนผู้สอนศาสนาก่อนเข้าศูนย์ฝึกอบรมผู้สอนศาสนา กิจกรรมในหัวข้อนี้กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนนำสิ่งที่เรียนรู้ในชั้นเรียนไปปฏิบัติที่บ้าน มีหลายวิธีให้มอบหมายหรือเสนอแนะกิจกรรมเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ในช่วงชั้นเรียนครั้งแรกท่านอาจจะแจกเอกสารซึ่งลงรายการกิจกรรมที่แนะนำให้ทำในแต่ละสัปดาห์ของเทอมนั้น ท่านอาจจะเขียนรายการกิจกรรมประจำสัปดาห์ไว้บนกระดานหรือส่งข้อความหรืออีเมลให้นักเรียนทุกสัปดาห์
ตัดสินใจว่าจะสอนอะไรและสอนอย่างไร
เลือกแนวคิดการสอนที่ตรงตามความต้องการของนักเรียน
ขณะที่ท่านเตรียมสอน ท่านอาจจะถามตัวท่านเองดังนี้ วิธีใดหรือกิจกรรมการเรียนรู้อะไรจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทและเนื้อหาที่พวกเขาจำเป็นต้องรู้ อะไรจะช่วยให้นักเรียนค้นพบ เข้าใจ และอธิบายหลักคำสอนและหลักธรรมสำคัญๆ ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักคำสอนหรือหลักธรรมเหล่านี้ ฉันจะช่วยให้นักเรียนประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้ในชีวิตพวกเขาได้อย่างไร
คู่มือเล่มนี้ออกแบบไว้ช่วยท่านในกระบวนการวางแผนบทเรียน ทบทวนเนื้อหาบทเรียนอย่างละเอียด เลือกแนวคิดการสอนให้ตรงกับความต้องการของนักเรียนมากที่สุด และนำแนวคิดเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในรูปแบบการสอนของท่าน พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงนำทางท่านในกระบวนการนี้ ท่านอาจเลือกใช้ข้อเสนอแนะทั้งหมดหรือบางข้อหรือท่านอาจปรับแนวคิดที่เสนอแนะให้ตรงกับความต้องการและสภาวการณ์ของชั้นเรียน เมื่อท่านคิดหาวิธีปรับเนื้อหาบทเรียน พึงจำไว้ว่าท่านต้องเตรียมอย่างละเอียดและยอมให้พระวิญญาณนำทางท่าน ลองพิจารณาคำแนะนำนี้จากเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง “เรารับไว้ก่อนแล้วค่อยปรับใช้ทีหลัง ถ้าเราคุ้นเคยกับบทเรียนที่เราต้องสอนเป็นอย่างดี เราสามารถปรับใช้ตามพระวิญญาณได้” (“A Panel Discussion with Elder Dallin H. Oaks” [Seminaries and Institutes of Religion satellite broadcast, Aug. 7, 2012], 6; si.lds.org)
จัดหาโอกาสให้นักเรียนสอน
สิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ท่านสามารถทำได้ในฐานะครูสอนหลักสูตรนี้คือจัดหาโอกาสให้นักเรียนฝึกสอนหลายๆ ครั้งและเป็นพยานในระหว่างชั้นเรียน เนื่องจากคนหนุ่มสาวจำนวนมากขาดความเชื่อมั่นในการสอนหลักคำสอนและหลักธรรมของพระกิตติคุณ เปิดโอกาสให้นักเรียนตอบคำถาม อธิบายความจริงพระกิตติคุณให้กับสมาชิกชั้นเรียนคนอื่นๆ และสอนบทเรียนผู้สอนศาสนาตามที่พบใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา เมื่อผู้มุ่งหวังจะเป็นผู้สอนศาสนาเข้าใจว่าหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณนำไปสู่ความรอดอย่างไร พวกเขาจะสอนพระกิตติคุณด้วยความจริงใจและพลังมากยิ่งขึ้น
นอกจากจะเรียนรู้ว่าต้องพูดและทำอะไรแล้ว ผู้มุ่งหวังจะเป็นผู้สอนศาสนาต้องเรียนรู้ที่จะเอาใจใส่ความต้องการของผู้สนใจและเล็งเห็นโดยพระวิญญาณว่าผู้สนใจแต่ละคนต้องการอะไรเพื่อจะอยู่บนเส้นทางสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสต่อไป ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการเปลี่ยนใจเลื่อมใสอันยั่งยืนของผู้สนใจขึ้นอยู่กับสิ่งที่ผู้สอนศาสนาพูดและทำน้อยกว่าสิ่งที่ขึ้นอยู่กับว่าผู้สนใจปฏิบัติด้วยศรัทธาหรือไม่ ผู้สอนศาสนาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเอาใจใส่สิ่งที่ผู้สนใจพูดและทำ จากนั้นจึงช่วยให้พวกเขาก้าวหน้าสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสด้วยความรัก
กำหนดความคาดหวังสำหรับนักเรียน
ข้อเสนอแนะต่อไปนี้อาจเป็นประโยชน์ขณะที่ท่านเตรียมและสอนบทเรียน
-
มอบหมายให้นักเรียนอ่านหัวข้อที่เหมาะสมของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา หรือข่าวสารการประชุมใหญ่ก่อนมาเรียนแต่ละบท ท่านอาจจะให้โครงร่างหลักสูตรแก่นักเรียนตอนเริ่มหลักสูตรเพื่ออธิบายว่าจะสอนอะไรระหว่างชั้นเรียนแต่ละชั้นและนักเรียนควรอ่านอะไรขณะเตรียมมาเรียนแต่ละบท นักเรียนที่เตรียมตัวมาล่วงหน้าจะได้รับการสอนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์มากขึ้นระหว่างเรียน
-
คาดหวังให้นักเรียนทำบทบาทของตนในฐานะผู้เรียนให้เกิดสัมฤทธิผล (ดู การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ, 6, 15, 55)
-
ให้นักเรียนค้นพบความจริงพระกิตติคุณด้วยตนเอง นักเรียนได้รับการจรรโลงใจเมื่อท่านนำพวกเขาผ่านกระบวนการเรียนรู้คล้ายๆ กับที่ท่านประสบระหว่างเตรียมบทเรียน ขณะที่นักเรียนค้นพบหลักคำสอนและหลักธรรมด้วยตนเอง จงเปิดโอกาสให้พวกเขาอธิบายความจริงเหล่านี้ด้วยคำพูดของพวกเขาเอง ตลอดจนแบ่งปันและเป็นพยานว่าพวกเขารู้อะไร พวกเขารู้สึกอย่างไร และพวกเขาวางแผนจะทำอะไร
-
สร้างสภาพแวดล้อมที่นักเรียนสามารถรู้สึกถึงพระวิญญาณของพระเจ้าได้ขณะพวกเขาสอนและเรียนรู้จากกัน (ดู คพ. 88:78, 122)
-
กระตุ้นให้นักเรียนนำพระคัมภีร์ของตนเอง หนังสือ สั่งสอนกิตติคุณของเรา และสมุดบันทึกการศึกษามาชั้นเรียนด้วยทุกครั้ง อธิบายว่าสมุดบันทึกการศึกษาคืออะไรและจะใช้อย่างไร
เมื่อท่านตัดสินใจว่าจะสอนอะไรและอย่างไร พึงระลึกถึงคำพูดเหล่านี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“ข้าพเจ้าสังเกตเห็นอุปนิสัยที่ครูผู้มีอิทธิพลยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตข้าพเจ้ามีเหมือนกัน นั่นคือ พวกเขาช่วยให้ข้าพเจ้าแสวงหาการเรียนรู้โดยศรัทธา พวกเขาไม่ยอมให้คำตอบข้าพเจ้าง่ายๆ สำหรับคำถามยากๆ อันที่จริง พวกเขาไม่ให้คำตอบใดๆ เลย แต่พวกเขาชี้ทางและช่วยให้ข้าพเจ้าเดินไปหาคำตอบด้วยตนเอง แน่นอนว่าข้าพเจ้าไม่ชอบวิธีนี้ แต่ประสบการณ์ช่วยให้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเรามักจะจำคำตอบจากคนอื่นได้ไม่นาน หรือจำไม่ได้เลย แต่คำตอบที่เราค้นพบหรือได้รับผ่านการใช้ศรัทธาโดยปกติจะคงอยู่ชั่วชีวิต” (“แสวงหาการเรียนรู้ด้วยศรัทธา” [ยามค่ำกับเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์, 3 ก.พ., 2006], 5; si.lds.org)
กิจกรรมการสอน
มีหลายวิธีให้จัดเตรียมกิจกรรมการสอนชั้นเรียนตามที่เสนอแนะในโครงร่างบทเรียน โดยทั่วไปจะเป็นประโยชน์ถ้าจัดเตรียมกิจกรรมให้หลากหลายเพื่อช่วยให้นักเรียนยังคงสนใจและจดจ่อ ตัวอย่างเช่น ระหว่างแสดงบทบาทสมมติ ท่านอาจจะเชิญนักเรียนให้สับเปลี่ยนกันเป็นผู้สอนศาสนาและผู้สนใจ และเป็นผู้ประเมินหากทำได้ ท่านอาจจะมีส่วนร่วมในบทบาทใดบทบาทหนึ่งเมื่อจำเป็นเช่นกัน
ต้นแบบการอบรม
ท่านสามารถปรับต้นแบบการอบรมที่ใช้ในหลักสูตรเอ็มทีซีมาใช้ในหลักสูตรนี้เพื่อช่วยให้ผู้สนใจพัฒนาทักษะและความสามารถ ท่านอาจจะใช้องค์ประกอบของต้นแบบดังกล่าวเรียงตามลำดับและทำซ้ำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการช่วยนักเรียนปรับปรุงผ่านการฝึกปฏิบัติ
อธิบาย—สาธิต—ฝึกปฏิบัติ—ประเมิน—ฝึกซ้ำ
อธิบาย
อธิบายแนวคิดและทักษะที่นักเรียนควรรู้ สอนพวกเขาว่าทักษะและแนวคิดเหล่านี้ช่วยให้บรรลุจุดประสงค์ของผู้สอนศาสนาอย่างไร
สาธิต
ให้ดูตัวอย่างสิ่งที่นักเรียนพึงทำ ท่านทำเช่นนี้ได้ด้วยการสาธิตสด ให้ดูวีดิทัศน์ หรือใช้วิธีอื่น
ฝึกปฏิบัติ
ให้นักเรียนฝึกทักษะเป็นคู่หรือเป็นกลุ่ม
ประเมินผล
ให้ระบุสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีและวิธีที่พวกเขาจะปรับปรุงทักษะของตนเอง ให้กำลังใจ
ฝึกซ้ำ
เมื่ออยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้เวลาพวกเขาฝึกซ้ำ
งานเผยแผ่ศาสนาออนไลน์
เมื่อเป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา นักเรียนของท่านจะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือเผยแผ่ศาสนาเพื่อหาและติดต่อผู้สนใจ ติดต่อสมาชิก ทำงานกับผู้นำฐานะปุโรหิตและหัวหน้าเผยแผ่ในท้องที่ ตอบคำถาม รับและติดต่อตามใบแจ้งชื่อที่อยู่ ติดตามคำมั่นสัญญา ยืนยันนัดหมาย และสอนหลักธรรมจาก สั่งสอนกิตติคุณของเรา ข้อเสนอแนะต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไปในคู่มือเล่มนี้จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเริ่มใช้เครื่องมือออนไลน์แบ่งปันพระกิตติคุณ
ในฐานะครูสอนหลักสูตรนี้ ท่านอาจจะใช้ประโยชน์จากเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ติดต่อนักเรียนระหว่างสัปดาห์โดยใช้การส่งข้อความหรือสื่อสังคมติดตามงานมอบหมายของชั้นเรียน กระตุ้นให้พวกเขาศึกษาก่อนมาเรียน หรือเตือนให้พวกเขาอ่านพระคัมภีร์มอรมอนทุกวัน
การปรับคู่มือให้เหมาะกับผู้พิการ
เมื่อสอนนักเรียนที่มีความพิการ ครูอาจจะปรับบทเรียนตามความสามารถของนักเรียน ตัวอย่างเช่น เพื่อปรับบทเรียนให้เหมาะกับนักเรียนที่อ่านหนังสือไม่ได้ ท่านอาจจะอ่านออกเสียงด้วยตนเอง ให้นักเรียนอ่าน หรือใช้เนื้อหาที่บันทึกเทปไว้แล้ว (เช่นพระคัมภีร์ที่เป็นไฟล์เสียงหรือภาพ สั่งสอนกิตติคุณของเรา และคำพูดการประชุมใหญ่สามัญ) เมื่อบทเรียนต้องการให้เขียนคำตอบ ท่านอาจจะกระตุ้นให้นักเรียนตอบปากเปล่าแทน นักเรียนคนอื่นๆ อาจจะช่วยนักเรียนที่มีความพิการโดยอ่านเนื้อหาให้พวกเขาฟังหรือเขียนคำตอบให้
ดูแนวคิดและแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเพจ Disability Resources ที่ disabilities.lds.org และคู่มือนโยบายเซมินารีและสถาบันศาสนาในหมวด “Adapted Classes and Programs for Students with Disabilities”