สถาบัน
บทที่ 2: เราต้องการการชดใช้


2

เราต้องการการชดใช้

คำนำ

การชดใช้ของพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางของแผนแห่งความรอดของพระผู้เป็นเจ้า โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงทำให้จุดประสงค์ของพระบิดาเกิดสัมฤทธิผลโดยทรงไถ่เราจากความตายทางร่างกายและทางวิญญาณ สนองข้อเรียกร้องของความยุติธรรม และชำระเราให้สะอาดจากบาปของตัวเราบนเงื่อนไขของการกลับใจ พระผู้ช่วยให้รอดทรงปลอบโยนเราในความทุพพลภาพของเรา ประทานพลังให้ทำสำเร็จในสิ่งที่เราจะไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง และประทานความหวังแก่เราว่าเราจะกลับไปอยู่กับพระองค์และพระบิดาบนสวรรค์ได้ ผู้สอนศาสนาเต็มเวลามีส่วนร่วมในงานแห่งความรอดโดยช่วยให้ผู้อื่นเรียนรู้วิธีได้รับพรของการชดใช้ผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจ บัพติศมา การยืนยัน และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่

การเตรียมล่วงหน้า

  • ศึกษาข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่าเหตุใดเราจึงต้องการการชดใช้ โรม 3:23; 2 นีไฟ 9:6–10; และ แอลมา 42:9–14.

  • ศึกษาข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้เพื่อดูพรบางประการที่มีให้ผ่านการชดใช้ โมไซยาห์ 3:19; 4:3; 24:12–15; และ แอลมา 5:12–13; 7:11–13

  • ศึกษา เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “งานสอนศาสนาและการชดใช้,” เลียโฮนา, ต.ค. 2001, 26-32

  • ศึกษา สั่งสอนกิตติคุณของเรา, หน้า 51–52 และ 60–61

  • เตรียมฉายวีดิทัศน์เรื่อง “พระทรงชนม์! เราสรรเสริญนามนั้น!” (2:51; คลิปจากคำพูดของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์, เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 93-96) มีอยู่ที่ lds.org/media-library

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

เหตุใดเราจึงต้องการการชดใช้

เริ่มโดยถามนักเรียนดังนี้

  • ผู้คนจะเข้าใจได้อย่างไรว่าพวกเขาต้องการการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ในชีวิตพวกเขา

จากนั้นให้ดูข้อความต่อไปนี้

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“มนุษย์ไม่ปรารถนาอาหารจนกว่าเขาจะหิวฉันใด เขาย่อมไม่ปรารถนาความรอดของพระคริสต์จนกว่าเขาจะรู้ว่าเหตุใดเขาจึงต้องการพระคริสต์ฉันนั้น

“ไม่มีใครรู้อย่างถูกต้องและเพียงพอว่าเหตุใดเขาจึงต้องการพระคริสต์จนกว่าเขาจะเข้าใจและยอมรับหลักคำสอนเรื่องการตกและผลของการตกต่อมวลมนุษย์” (ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน, A Witness and a Warning [1988], 33)

จากนั้นให้ถามว่า

  • เรากำลังกล่าวถึงอะไรเมื่อเราพูดเรื่องการตกของอาดัม

ให้ดูคำพูดอ้างอิงต่อไปนี้และให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงให้ชั้นเรียนฟัง

“เพราะอาดัมกับเอวา … รับส่วนผลจากต้นไม้แห่งความรู้ดีและชั่ว พวกเขาจึงถูกขับออกจากที่ประทับของพระเจ้า (ดู คพ. 29:40–41) หรืออีกนัยหนึ่งคือ พวกเขาประสบความตายทางวิญญาณ พวกเขากลายเป็นมรรตัย—ซึ่งจำเป็นต้องมีความตายทางร่างกายเกิดขึ้น ความตายทางวิญญาณและทางร่างกายนี้เรียกว่าการตก …

“ในฐานะผู้สืบตระกูลของอาดัมและเอวา เราสืบทอดสภาพที่ตกแล้วระหว่างความเป็นมรรตัย (ดู แอลมา 42:5-9, 14) เราถูกแยกจากที่ประทับของพระเจ้าและจำเป็นต้องมีความตายทางร่างกายเกิดขึ้น เราถูกวางไว้ในสภาพของการตรงกันข้ามด้วย ซึ่งในสภาพนั้นเราได้รับการทดสอบโดยความยุ่งยากของชีวิตและการล่อลวงของฝ่ายตรงข้าม (ดู 2 นีไฟ 2:11–14; คพ. 29:39; โมเสส 6:48–49)” (แน่วแน่ต่อศรัทธา [2004], 20)

ช่วยให้นักเรียนค้นพบหลักคำสอนที่สอนในข้อความอ้างอิงนี้โดยถามว่า

  • การตกของอาดัมส่งผลต่อเราแต่ละคนอย่างไรในฐานะผู้สืบตระกูลของอาดัมและเอวา (เหมือนอาดัมและเอวา เราต้องประสบความตายทางร่างกายและทางวิญญาณเช่นกัน) เราอยู่ในโลกที่ตกแล้ว เราประสบความยุ่งยากของชีวิตและการล่อลวงของปฏิปักษ์ เราถูกตัดขาดจากที่ประทับของพระบิดาและต้องการความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อกลับไปหาพระองค์)

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน และให้เวลานักเรียนศึกษาสองสามนาที

โรม 3:23

2 นีไฟ 9:6-10

แอลมา 42:9-11, 14

ขณะศึกษาให้นักเรียนดูว่าเราแต่ละคนได้รับผลอย่างไรจากการตกของอาดัมและเอวา

  • พระคัมภีร์ข้อเหล่านี้อธิบายอย่างไรว่าเราแต่ละคนได้รับผลจากการตกของอาดัมและเอวาอย่างไร (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน ถึงแม้คำตอบของพวกเขาอาจหลากหลาย แต่ใจความสำคัญน่าจะเป็นดังนี้ เราทุกคนทำบาปและไม่สะอาดในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า เพราะเราทำบาป เราจึงถูกตัดขาดจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า เราจะประสบความตายทางร่างกาย เราอยู่ในโลกที่ตกแล้วและต้องเอาชนะความเป็น “มนุษย์ปุถุชน” [โมไซยาห์ 3:19])

ถามนักเรียนว่าพวกเขามีคำถามอะไรบ้างเกี่ยวกับหลักคำสอนและคำที่ระบุ ให้ชั้นเรียนสนทนากันเพื่อสำรวจคำถามเหล่านี้ จากนั้นให้ถามว่า

  • ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้อธิบายอย่างไรว่าเหตุใดเราทุกคนจึงต้องการพระเยซูคริสต์ (การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ไถ่เราจากการตกของอาดัมและเอวาและจากการไม่เชื่อฟังของเรา

อธิบายว่าแผนอันเปี่ยมด้วยเมตตาส่วนหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าคือ การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ยอมให้เราหนีพ้น “อสูรร้าย” ของความตายและนรก (ดู 2 นีไฟ 9:10) หมายถึงความตายทางร่างกายและความตายทางวิญญาณ เราทุกคนจะฟื้นคืนชีวิต โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราจะได้รับการชำระให้สะอาดจากบาปเมื่อเรากลับใจ หากปราศจากพระเยซูคริสต์ เราจะไม่เพียงพินาศเท่านั้น แต่เราจะอยู่ใต้อำนาจของมารชั่วนิจนิรันดร์ด้วย

แบ่งปันประจักษ์พยานสั้นๆ เกี่ยวกับพระปรีชาญาณและพระเมตตาในแผนของพระผู้เป็นเจ้า รับรองกับนักเรียนว่าผลทั้งหมดของการตกสามารถเอาชนะได้โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

ความสำคัญของการสอนเรื่องการชดใช้

ไอคอนวีดิทัศน์ท่านอาจจะอ่านหรือฉาย คลิปวีดิทัศน์ ของคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนดูว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องเพิ่มพูนความเข้าใจเรื่องการชดใช้

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“เมื่อท่านระลึกถึงการฟื้นคืนพระชนม์ ราคาที่ทรงจ่าย และของประทานที่ได้รับจากการชดใช้ ขอให้ใคร่ครวญสิ่งที่พระคัมภีร์สอนเกี่ยวกับเหตุการณ์ศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นด้วย พยานส่วนตัวของท่านถึงความจริงเหล่านี้จะแข็งแกร่งขึ้น เหตุการณ์เหล่านั้นต้องเป็นมากกว่าหลักธรรมที่ท่านท่องจำ ต้องถักทออยู่ในทุกอณูของท่านดังป้อมปราการต้านทานความน่าชิงชังที่ลุกลามขึ้นมาแปดเปื้อนโลก …

“หากปราศจากการชดใช้ แผนแห่งความสุขของพระบิดาในสวรรค์จะไม่บังเกิดผลอย่างเต็มที่ การชดใช้เปิดโอกาสทั้งหมดให้เอาชนะผลของความผิดที่เคยทำไว้ในชีวิต เมื่อเราเชื่อฟังกฎ เราย่อมได้รับพร เมื่อเราฝ่าฝืนกฎ ย่อมไม่มีสิ่งใดหลงเหลือจากการเชื่อฟังครั้งก่อนให้สนองข้อเรียกร้องของความยุติธรรมสำหรับกฎที่เราฝ่าฝืน การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดยอมให้เรากลับใจจากการไม่เชื่อฟังทุกอย่าง ด้วยเหตุนี้จึงหลีกเลี่ยงบทลงโทษซึ่งความยุติธรรมกำหนดไว้

“ความคารวะและความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อการชดใช้ขององค์บริสุทธิ์แห่งอิสราเอล องค์สันติราช และพระผู้ไถ่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อข้าพเจ้าพยายามทำความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าตระหนักว่าไม่มีความคิดมนุษย์คนใดจะเข้าใจได้ หรือลิ้นมนุษย์คนใดจะเอ่ยได้อย่างเหมาะสมถึงความสำคัญทั้งหมดของสิ่งทั้งปวงที่พระเยซูคริสต์ทรงทำเพื่อบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ผ่านการชดใช้ของพระองค์ แต่ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่เราแต่ละคนต้องเรียนรู้เรื่องนี้ตามความสามารถของเรา การชดใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งในแผนแห่งความสุขของพระบิดาในสวรรค์ซึ่งหากไม่มีองค์ประกอบนี้แผนไม่อาจดำเนินไปได้ ความเข้าใจของท่านเรื่องการชดใช้และข้อคิดที่ให้ชีวิตท่านจะยกระดับการใช้ความรู้ ประสบการณ์ และทักษะทั้งหมดที่ท่านได้รับในชีวิตมรรตัยให้เกิดประสิทธิผลอย่างมาก …

“เราต่างมีความจำเป็นอย่างเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเสริมสร้างความเข้าใจในเรื่องความสำคัญของการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เพื่อให้การชดใช้กลายเป็นรากฐานมั่นคงในการสร้างชีวิตเรา …

“การไตร่ตรองพระคัมภีร์อย่างลึกซึ้งเป็นส่วนตัวร่วมกับการสวดอ้อนวอนค้นหาอย่างจริงใจจะเสริมความเข้าใจและความสำนึกคุณที่ท่านมีต่อการชดใช้อันประมาณค่ามิได้ของพระองค์” (“พระทรงชนม์! เราสรรเสริญนามนั้น!” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 94-95)

ช่วยนักเรียนวิเคราะห์คำกล่าวของเอ็ลเดอร์สก็อตต์โดยถามคำถามต่อไปนี้

  • คำปราศรัยส่วนใดของเอ็ลเดอร์สก็อตต์เน้นความสำคัญของการเข้าใจเรื่องการชดใช้ (นักเรียนพึงระบุข้อความต่อไปนี้: ความทุกขเวทนาของพระผู้ช่วยให้รอด “จะส่งผลต่อเราไม่เพียงในชีวิตนี้เท่านั้นแต่ชั่วนิจนิรันดร(135)์ด้วย” “การชดใช้ของพระองค์ทำให้แผนแห่งความสุขของพระบิดาในสวรรค์เกิดผลเต็มที่” “พระเยซูทรงทำให้เกิดความสมดุลระหว่างความยุติธรรมกับความเมตตาขึ้นอยู่กับการเชื่อฟังของเรา” “การชดใช้เปิดโอกาสให้ทุกคนเอาชนะผลของความผิดที่ทำในชีวิต” และ “ความเข้าใจเรื่องการชดใช้และข้อคิดที่ให้ไว้สำหรับชีวิตท่านจะยกระดับการใช้ความรู้ ประสบการณ์ และทักษะที่ท่านได้รับในชีวิตมรรตัยให้เกิดประสิทธิผลอย่างมาก”)

  • เอ็ลเดอร์สก็อตต์กล่าวว่าหลักธรรมเรื่องการชดใช้จะ “ต้องเป็นมากกว่าหลักธรรมที่ท่านท่องจำ ต้องถักทออยู่ในทุกอณูของท่าน” ผู้มุ่งหวังจะเป็นผู้สอนศาสนาจะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

คนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่เข้าใจพรที่เข้ามาในชีวิตพวกเขาผ่านการชดใช้ นอกเหนือจากการให้อภัยบาป เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจพรเหล่านี้ลึกซึ้งขึ้น ให้เวลาชั้นเรียนสองสามนาทีศึกษาข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้โดยมองหาพรที่ผ่านมาทางการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ โมไซยาห์ 3:19; 4:3; 24:12–15; แอลมา 5:12–13; 7:11–13 หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนอธิบายพรมากมายบางประการของการชดใช้ สรุปคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน

ให้ดูคำพูดอ้างอิงต่อไปนี้และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

“เมื่อความเข้าใจของท่านเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เติบโตขึ้น ความปรารถนาที่จะแบ่งปันพระกิตติคุณจะเพิ่มขึ้นด้วย” (สั่งสอนกิตติคุณของเรา,2)

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้มากขึ้นโดยถามว่า

  • เหตุใดความปรารถนาจะแบ่งปันพระกิตติคุณจึงเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าใจเรื่องการชดใช้

มอบหมายให้นักเรียนทำงานกับสมาชิกชั้นเรียนอีกคนหนึ่งเพื่อผลัดกันอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 8:10–12; อีนัส 1:5–9; โมไซยาห์ 27:34–36 และ 28:1–4 ให้พวกเขามองหาแบบอย่างที่พบในข้อเหล่านี้ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชิญนักเรียนสองสามคนอธิบายแบบอย่างที่พบ (หลังจากลีไฮ อีนัส และพวกบุตรของโมไซยาห์ประสบพรของการชดใช้ พวกเขารู้สึกปรารถนาจะแบ่งปันพระกิตติคุณและช่วยให้คนอื่นๆ ได้รับพรเดียวกัน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักธรรมที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน ให้ถามดังนี้

  • หากไม่เป็นการส่วนตัวมากเกินไป ท่านเคยมีประสบการณ์อะไรบ้างกับการชดใช้ที่ผลักดันท่านให้แบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น

  • ความรู้และความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับการชดใช้ผลักดันท่านให้นำผู้อื่นมาใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้นอย่างไร

ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองสักครู่ว่าความเข้าใจของพวกเขาเรื่องการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันพวกเขาให้รับใช้งานเผยแผ่หรือไม่ และพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเพิ่มระดับความสำนึกคุณต่อสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงทำเพื่อพวกเขา

การช่วยให้ผู้สนใจได้รับพรของการชดใช้

บอกนักเรียนของท่านว่าไม่มีหลักคำสอนใดที่พวกเขาจะสอนขณะเป็นผู้สอนศาสนาสำคัญทั้งสำหรับผู้สนใจและผู้สอนศาสนามากไปกว่าเรื่องการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

ให้นักเรียนศึกษา 2 นีไฟ 2:6-8 และมองหาสิ่งที่ลีไฮสอนว่าเราควรทำกับความรู้ของเราเรื่องการชดใช้ หลังจากนักเรียนสองสามคนตอบแล้ว จงช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าผู้สนใจจำเป็นต้องเข้าใจและยอมรับการชดใช้โดยให้ดูและอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ในการประชุมโซน ซึ่งเป็นช่วงการสอนที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งซึ่งเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่อย่างเรามีกับเอ็ลเดอร์ซิสเตอร์หนุ่มสาวเหล่านี้ ข้าพเจ้าถามผู้สอนศาสนาว่าเขาต้องการให้ผู้สนใจทำอะไรอันเป็นผลสืบเนื่องจากการสนทนากับคนเหล่านั้น

“‘รับบัพติศมา!’ ทุกคนตะโกนก้องออกมาเป็นเสียงเดียวกัน

“‘ใช่’ ข้าพเจ้าตอบรับ ‘เราต้องการให้พวกเขารับบัพติศมา แต่อะไรต้องมาก่อนบัพติศมา’ …

“… แทบไม่มีผู้สอนศาสนาคนใดตอบว่าสิ่งพื้นฐานที่สุดสองสิ่งที่เราต้องการให้ผู้สนใจทำก่อนรับบัพติศมาคือ มีศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์และกลับใจจากบาปของพวกเขา แต่ ‘เราเชื่อว่าหลักธรรมและศาสนพิธีเบื้องต้นของพระกิตติคุณคือ หนึ่ง, ศรัทธาในพระเจ้า พระเยซูคริสต์ สอง, การกลับใจ [แล้วจึง] สาม, บัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัว เพื่อการปลดบาป สี่, การวางมือเพื่อของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์’ (หลักแห่งความเชื่อ 1:4; เน้นตัวเอน)

“ชีวิตใหม่ของผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสต้องสร้างบนศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์และการเสียสละอันเป็นการไถ่ของพระองค์—ความเชื่อมั่นที่ว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าจริงๆ พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ขณะนี้ พระองค์ทรงถือกุญแจสู่ความรอดและความสูงส่งของเราแต่เพียงผู้เดียว ความเชื่อดังกล่าวต้องตามมาด้วยการกลับใจอย่างแท้จริง การกลับใจซึ่งแสดงถึงความปรารถนาของเราที่จะสะอาด เป็นคนใหม่ และบริสุทธิ์ การกลับใจที่ทำให้เรามีสิทธิ์เรียกร้องพรอันบริบูรณ์ของการชดใช้” (“งานสอนศาสนาและการชดใช้,” เลียโฮนา, ต.ค. 2001, 26)

จากนั้นให้ถามว่า

  • ผู้สนใจต้องทำอะไรจึงจะมีสิทธิ์เรียกร้องพรอันบริบูรณ์ของการชดใช้ (มีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ กลับใจ และรับบัพติศมา)

อธิบายให้นักเรียนฟังว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37 พูดถึงคุณสมบัติที่พร้อมจะรับบัพติศมา ให้นักเรียนอ่านข้อนี้และดูว่าผู้สนใจควรทำอะไรก่อนรับบัพติศมา ถามว่า

  • ผู้สนใจควรทำสิ่งใดบ้างที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังพัฒนาศรัทธาในพระเยซูคริสต์ (พวกเขาจะนอบน้อมถ่อมตน กลับใจจากบาป และแสดงงานดีให้ประจักษ์ และอื่นๆ)

  • ผู้สอนศาสนามีบทบาทอะไรในการช่วยให้ผู้สนใจมีคุณสมบัติพร้อมรับบัพติศมา นี่เกี่ยวข้องอย่างไรกับจุดประสงค์การเป็นผู้สอนศาสนาของท่าน (หากจำเป็น เตือนนักเรียนให้นึกถึงหลักธรรมจากบทที่แล้ว)

ผู้สอนศาสนาได้รับบัญชาให้สอนเรื่องการกลับใจ

เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน

อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้สอนศาสนาสามารถทำได้เพื่อช่วยนำบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้ามาหาพระคริสต์

ให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:11–14 และมองหาคำตอบของคำถามบนกระดาน สนทนาคำตอบของนักเรียน แล้วถามว่า

เขียนคำตอบของคำถามที่ให้ดูแล้วไว้บนกระดานดังนี้

ผู้สอนศาสนาได้รับบัญชาให้สอนเรื่องการกลับใจเพื่อให้คนที่พวกเขาสอนสามารถได้รับพรอันบริบูรณ์ของการชดใช้และเริ่มต้นชีวิตใหม่ในพระคริสต์

แบ่งนักเรียนครึ่งห้อง ให้ครึ่งห้องศึกษาหัวข้อเรื่อง “การชดใช้” ในหน้า 51–52 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ให้อีกครึ่งห้องศึกษาหัวข้อ “เราสะอาดจากบาปได้โดยผ่านพระคริสต์” ในหน้า 60-61 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ให้เวลานักเรียนหลายนาทีอ่านและเตรียมสอนใจความสำคัญสองนาทีเกี่ยวกับเนื้อหาที่อ่าน การสอนใจความสำคัญส่วนหนึ่งของนักเรียนคือกระตุ้นให้พวกเขา (1) ระบุและอธิบายประเด็นสำคัญของหลักคำสอน (2) แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวหรือข้อพระคัมภีร์ที่สนับสนุนหลักคำสอนนั้น และ (3) แสดงประจักษ์พยานยืนยันสิ่งที่พวกเขาสอน สรุปขั้นตอนทั้งสามนี้ไว้บนกระดาน

หลังจากนักเรียนมีเวลาเตรียมมากพอแล้ว ท่านอาจจะให้นักเรียนกลุ่มแรกจับคู่กับคนหนึ่งจากอีกกลุ่มและผลัดกันสอน หลังจากนักเรียนทุกคนมีโอกาสสอนสมาชิกชั้นเรียนอีกคนหนึ่งแล้ว ท่านอาจจะเชิญนักเรียนคนหนึ่งอาสาออกมาหน้าชั้นและสอนเนื้อหาที่เขาสรุปไว้ หลังจากจบการนำเสนอ ให้ชมนักเรียนที่นำเสนอและขอคำติชมจากชั้นเรียนเกี่ยวกับประสบการณ์นั้น ถามว่าพวกเขามีคำถามหรือไม่ แล้วถามว่า

  • ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อสอนและแสดงประจักษ์พยานเรื่องการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

  • ท่านค้นพบสิ่งใดบ้างที่อาจจะช่วยท่านได้เมื่อท่านสอนผู้สนใจเรื่องการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

  • เหตุใดท่านจึงอยากจะสอนการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ให้แก่คนอื่นๆ

การใช้พระคัมภีร์

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าเมื่อเป็นผู้สอนศาสนา พวกเขาจะสอนด้วยพลังมากขึ้นเมื่อพวกเขาใช้พระคัมภีร์ ให้นักเรียนครึ่งห้องค้นคว้าข้อพระคัมภีร์ในหัวข้อ “การชดใช้” ของกรอบศึกษาพระคัมภีร์หน้า 52 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ให้อีกครึ่งห้องค้นคว้าข้อพระคัมภีร์ใน กรอบศึกษาพระคัมภีร์ หน้า 61 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา กระตุ้นให้นักเรียนเลือกหนึ่งข้อเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ที่พวกเขาเข้าใจและรู้สึกสะดวกใจจะแสดงประจักษ์พยาน หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามว่า

  • ท่านจะใช้พระคัมภีร์ที่เลือกไว้ช่วยให้คนบางคนเข้าใจเรื่องการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ดีขึ้นได้อย่างไร (กระตุ้นให้นักเรียนหลายๆ คนตอบ)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ผู้สอนศาสนาจะใช้พระคัมภีร์เมื่อพวกเขาสอน

ให้นักเรียนเปิดหัวข้อ “การใช้พระคัมภีร์” ในหน้า 180 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านย่อหน้าแรก รวมทั้งจุดดำสี่จุด จากนั้นขอให้สมาชิกชั้นเรียนพิจารณาว่าแนวคิดของพวกเขาเกี่ยวกับความสำคัญของการใช้พระคัมภีร์ตรงกับข้อความใน สั่งสอนกิตติคุณของเราอย่างไร

บอกชั้นเรียนของท่านว่าพวกเขาจะใช้เวลาสองสามนาทีสอนนักเรียนอีกคนโดยใช้พระคัมภีร์เกี่ยวกับการชดใช้ที่เลือกไว้ก่อนหน้านี้ อธิบายว่ามีหลักธรรมใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา ที่จะช่วยพวกเขาขณะสอน ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงหัวข้อย่อย “แนะนำพระคัมภีร์” ในหน้า 180–181 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ถามว่านักเรียนมีคำถามเกี่ยวกับขั้นตอนนี้หรือไม่ และให้เวลาพวกเขาพิจารณาสักครู่ว่าพวกเขาจะแนะนำพระคัมภีร์ที่เลือกไว้อย่างไร

ต่อจากนั้นให้นักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียงหัวข้อย่อย “อ่านข้อความ” ในหน้า 181 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ให้เวลานักเรียนสักครู่อ่านข้อพระคัมภีร์ที่เลือกไว้ในใจและระบุคำหรือวลีที่พวกเขาอาจจะต้องอธิบายให้ผู้สนใจฟัง จากนั้นให้นักเรียนคนที่สามอ่านออกเสียงหัวข้อย่อย “ประยุกต์ใช้พระคัมภีร์” ในหน้า 181 ถามนักเรียนอีกครั้งว่าพวกเขามีคำถามหรือไม่

เพื่อช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการสอนจากพระคัมภีร์ ท่านควรสาธิตทักษะดังกล่าวให้พวกเขาดู ท่านอาจจะเลือกสอนหนึ่งหรือสองข้อจาก โมไซยาห์ 3:7-11 และ 16-19 เพื่อท่านจะไม่ต้องใช้ข้อพระคัมภีร์ที่นักเรียนเลือกไว้ จงทำให้เข้าใจง่ายและกระชับเมื่อท่านสาธิตขั้นตอนทั้งสามนี้ ได้แก่ แนะนำ อ่าน และประยุกต์ใช้ข้อความพระคัมภีร์ การสาธิตนี้จะช่วยให้นักเรียนไม่รู้สึกหนักใจกับสิ่งที่คาดหวังจากพวกเขา เมื่อท่านสาธิตเสร็จแล้ว ถามนักเรียนว่าพวกเขามีคำถามหรือไม่

ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีเตรียมสอนข้อพระคัมภีร์ที่เลือกไว้โดยใช้ สามขั้นตอนที่พบใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา จากนั้นให้นักเรียนจับคู่กัน และให้พวกเขาสอนกัน เมื่อนักเรียนสอนเสร็จแล้ว ให้รับรองกับพวกเขาว่าเมื่อพวกเขาศึกษาพระคัมภีร์และ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ความสามารถและความเชื่อมั่นของพวกเขาในการสอนพระกิตติคุณจะเพิ่มขึ้น

สรุปบทเรียนวันนี้โดยถามนักเรียนว่ามีใครต้องการแบ่งปันความรู้สึกเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

การเชื้อเชิญให้กระทำ

เชื้อเชิญให้นักเรียนทำหนึ่งอย่างต่อไปนี้หรือมากกว่านั้นเพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจเรื่องการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ดีขึ้น

  • ระหว่างการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัว ให้ทำเครื่องหมายหรือใช้ปากกาเน้นข้อความที่ช่วยให้ท่านเข้าใจพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์

  • แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับการชดใช้กับคนที่บ้าน ที่โบสถ์ หรือออนไลน์

  • เมื่อสภาพการณ์เอื้ออำนวย ให้แสดงประจักษ์พยานเรื่องการชดใช้ระหว่างนัดสอนกับผู้สอนศาสนาเต็มเวลา

  • ใช้เวลาแต่ละวันศึกษาเรื่องการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ในพระคัมภีร์