สถาบัน
บทที่ 15: งานพระวิหารและประวัติครอบครัว


15

งานพระวิหารและประวัติครอบครัว

คำนำ

ผู้มุ่งหวังจะเป็นผู้สอนศาสนาและผู้สอนศาสนาเต็มเวลาสามารถส่งเสริมงานแห่งความรอดได้โดยเรียนรู้เกี่ยวกับงานพระวิหารและประวัติครอบครัว จากนั้นจึงช่วยให้คนอื่นๆ ประสบความรู้สึกถึงพระวิญญาณที่มากับงานนี้ ประวัติครอบครัวเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลในการหาคนให้สอนและเสริมสร้างศรัทธาของผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่รวมทั้งสมาชิกที่แข็งขันน้อย การมีส่วนร่วมในงานประวัติครอบครัวจะหันใจผู้คนไปหาบรรพชนของพวกเขาและพระเจ้า ประวัติครอบครัวเป็นเครื่องมือที่ผู้สอนศาสนาสามารถใช้เชื้อเชิญให้ผู้อื่นมาหาพระคริสต์และรับศาสนพิธีแห่งความรอด

การเตรียมล่วงหน้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ความสำคัญของเอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร

ให้ดูภาพพระวิหารที่อยู่ใกล้เคียง จากนั้นให้อ่านคำพูดอ้างอิงต่อไปนี้จากประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

“ขอให้เราเตรียมผู้สอนศาสนาทุกคนให้พร้อมไปพระวิหารอย่างมีค่าควรและทำให้ประสบการณ์นั้นสำคัญยิ่งกว่าการได้รับเรียกเป็นผู้สอนศาสนา” (Follow the Son of God, Ensign, Nov. 1994, 88)

เพื่อเป็นการเน้น ท่านอาจจะอ่านคำพูดอ้างอิงอีกครั้งแล้วถามนักเรียนดังนี้

  • การไปพระวิหารจะเป็น “ประสบการณ์สำคัญยิ่งกว่า” การได้รับเรียกเป็นผู้สอนศาสสนาในด้านใด (คำตอบอาจได้แก่: เพราะเหตุว่างานเผยแผ่เป็นงานชั่วคราว พันธสัญญาที่เราทำในพระวิหารดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ พรพระวิหารจึงนำพลังมาให้ผู้สอนศาสนาที่มีค่าควร)

ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านย่อหน้าแรกใต้ “พระวิหารและประวัติครอบครัว” หน้า 86 ใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา จากนั้นให้ถามว่า

  • เราจะได้รับพรอะไรบ้างในพระวิหาร

  • พรเหล่านี้จะช่วยคนที่พยายามมาหาพระคริสต์ได้อย่างไร

เพื่อดูว่าผู้สอนศาสนาได้รับพรอย่างไรจากการเข้าพระวิหารก่อนการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา ขอให้ชั้นเรียนเปิด หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:22-23อธิบายว่าข้อเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของคำสวดอ้อนวอนอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อเหล่านั้นขณะชั้นเรียนดูตามโดยมองหาพรของพระวิหารที่ผู้รับใช้ของพระเจ้าได้รับ จากนั้นให้ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมที่สอนในข้อเหล่านี้โดยถามดังนี้

  • ข้อเหล่านี้ช่วยให้ท่านเข้าใจอย่างไรว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ผู้สอนศาสนาต้องได้รับพรพระวิหารก่อนไปเป็นผู้สอนศาสนา (คำตอบของนักเรียนอาจสรุปได้ด้วยหลักธรรมนี้: การได้รับพรพระวิหารทำให้ผู้สอนศาสนาสามารถออกไปในโลกด้วยความช่วยเหลือและเดชานุภาพของพระเจ้า ท่านอาจจะเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“สำคัญอย่างยิ่งที่ท่านต้องเข้าใจว่าการไปพระวิหารเพื่อรับเอ็นดาวเม้นท์ของท่านเอง … [เป็น] ส่วนประกอบสำคัญของการเตรียมเป็นผู้สอนศาสนา … [ท่านควร] เข้าใจความสำคัญของพันธสัญญาพระวิหารเหล่านั้น [และ] การเชื่อมโยงที่แยกไม่ออกระหว่างเอ็นดาวเม้นท์ของท่านกับความสำเร็จในการเป็นผู้สอนศาสนาของท่าน โดยแท้แล้ว คำว่า เอ็นดาวเม้นท์ สื่อถึงแก่นของการเชื่อมโยงอันสำคัญยิ่งดังกล่าว เอ็นดาวเม้นท์เป็นของประทาน …

“ท่านรู้ว่าท่านไม่สามารถทำงานนี้ได้ตามลำพัง เราต้องได้รับความช่วยเหลือจากสวรรค์ เราต้องมี ของประทาน จากพระผู้เป็นเจ้า … งานนี้จริงจังมากและการต่อต้านของปฏิปักษ์รุนแรงมากถึงขนาดว่าเราจำเป็นต้องให้เดชานุภาพของพระเจ้ายกระดับความพยายามของเราและทำให้ศาสนจักรก้าวอย่างมั่นคงไปข้างหน้า” (Keeping Covenants: A Message for Those Who Will Serve a Mission, New Era, Jan. 2012, 3–4)

ถามว่า

อธิบายว่าก่อนได้รับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร สมาชิกที่มีค่าควรต้องได้รับใบรับรองพระวิหารจากผู้นำฐานะปุโรหิตในท้องที่ จากนั้นให้ดูข้อความต่อไปนี้ และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงให้ชั้นเรียนฟัง

“ใบรับรองพระวิหารบ่งบอกว่าเรามีค่าควรผ่านการสัมภาษณ์กับสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายอธิการหรือประธานสาขาและการสัมภาษณ์กับสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสเตคหรือฝ่ายประธานคณะเผยแผ่ด้วย การสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหารเป็นโอกาสให้เราสำรวจความมีค่าควรของเรา ในการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง ผู้นำฐานะปุโรหิตจะถามเราเกี่ยวกับความประพฤติส่วนตัวและศรัทธาของเรา ผู้นำฐานะปุโรหิตของเราจะปิดเป็นความลับและไม่เปิดเผยการสัมภาษณ์เหล่านี้ให้ผู้อื่นทราบ …

“ต่อไปนี้เป็นหัวข้อบางส่วนที่ผู้นำฐานะปุโรหิตจะถามท่าน:

  1. ประจักษ์พยานของท่านในพระบิดาบนสวรรค์ พระเยซูคริสต์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์

  2. ท่านสนับสนุนประธานของศาสนจักรหรือไม่

  3. ท่านดำเนินชีวิตตามกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ ซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น และรักษาพระคำแห่งปัญญาหรือไม่

  4. ท่านพยายามเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร รักษาพันธสัญญาที่ทำไว้ และดำรงตนสอดคล้องกับพระบัญญัติของพระกิตติคุณหรือไม่” (“มีค่าควรเข้าพระวิหาร,” Ensign, Aug. 2010, 8–9; หรือ เลียโฮนา, ส.ค. 2010, 12–13

  • ข้อกำหนดสำหรับความมีค่าควรช่วยให้ท่านเข้าใจความศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารและการเรียกของท่านในฐานะผู้สอนศาสนาอย่างไร

  • หากไม่ศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นส่วนตัวมากเกินไป ท่านจะแบ่งปันประสบการณ์อะไรได้บ้างที่ช่วยให้ท่านเข้าใจและรู้สึกถึงความสำคัญของพระวิหารและงานที่ทำในนั้น

ให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาจำเป็นต้องทำอะไรจึงจะรับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารอย่างมีค่าควร

ก่อนสอนบทเรียนต่อ ท่านอาจจะชี้ให้นักเรียนเห็นว่าในฐานะผู้สอนศาสนา พวกเขาควรทำสุดความสามารถเพื่อกระตุ้นให้ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่เตรียมตัวไปพระวิหาร ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่ที่ไปพระวิหารเพื่อรับบัพติศมาแทนบรรพชนของพวกเขามักจะอยู่แข็งขันและไปพระวิหารในเวลาต่อมาเพื่อรับเอ็นดาวเม้นท์และการผนึกของตนเอง สรุปบทเรียนส่วนนี้โดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระวิหารและความเข้มแข็งทางวิญญาณที่ท่านได้รับจากการนมัสการที่นั่น

แผนของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อไถ่คนตาย

เตือนนักเรียนว่าหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ พระองค์เสด็จเยือนโลกวิญญาณ (ดู 1 เปโตร 3:18-20; 4:6) ขอให้นักศึกษาเปิดไปที่ หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:29-35 อธิบายว่าภาคนี้ประกอบด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับนิมิตโลกวิญญาณของประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ เชิญนักเรียนสองคนผลัดกันอ่านออกเสียงข้อเหล่านี้ จากนั้นให้ถามว่า

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเพื่อจัดระเบียบการสั่งสอนพระกิตติคุณให้คนตายในโลกวิญญาณ

  • ข้อ 33-35 ช่วยให้เราเข้าใจช่องทางซึ่งคนที่ยอมรับพระกิตติคุณในโลกวิญญาณได้รับศาสนพิธีแห่งความรอดอย่างไร (คนที่ยอมรับข่าวสารพระกิตติคุณจะได้รับศาสนพิธีแห่งความรอดที่คนเป็นทำแทนพวกเขา)

ให้นักเรียนสองคนผลัดกันอ่านออกเสียงสองย่อหน้าสุดท้ายในหัวข้อ “พระวิหารและประวัติครอบครัว” หน้า 86 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา จากนั้นให้ถามว่า

  • แผนของพระเจ้าเตรียมทางให้คนที่สิ้นชีวิตโดยไม่ได้รับศาสนพิธีพระกิตติคุณที่จำเป็นอย่างไร (คนเป็นสามารถประกอบศาสนพิธีแห่งความรอดแทนคนที่สิ้นชีวิตไปแล้ว)

พันธกิจของเอลียาห์

อธิบายว่าเอลียาห์เป็นศาสดาพยากรณ์สมัยพันธสัญญาเดิมที่มีชีวิตราว 900 ปี ก่อนคริสตกาล ศาสดาพยากรณ์มาลาคีพยากรณ์ว่าเอลียาห์จะกลับมาแผ่นดินโลก (ดู มาลาคี 4:5-6) และเมื่อโมโรไนปรากฏต่อโจเซฟ สมิธในปี 1823 ท่านย้ำว่าเอลียาห์จะกลับมา ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:38–39 ขณะที่ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่โมโรไนสอนเกี่ยวกับเอลียาห์ ถามว่า

  • โจเซฟ สมิธเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเอลียาห์ (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรเข้าใจว่า ก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ เอลียาห์จะกลับมาแผ่นดินโลกและหันใจลูกหลานไปหาบรรพบุรุษของพวกเขา)

  • ใจของลูกหลานหันไปหาบรรพบุรุษหมายความว่าอย่างไร (แต่ละคนจะสนใจและเป็นห่วงความผาสุกนิรันดร์ของครอบครัวพวกเขาทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ความสนใจนี้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ผลักดันให้ผู้คนค้นหาบันทึกคนตายที่เป็นญาติพี่น้องและมีส่วนร่วมในศาสนพิธีแทนคนเหล่านั้น)

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าหนึ่งสัปดาห์หลังจากอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์ในปี 1836 เหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้นซึ่งบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 110 เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:13-16 ขณะชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่เอลียาห์ฟื้นฟูบนแผ่นดินโลก ถามนักเรียนว่า

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่ากุญแจการผนึกของฐานะปุโรหิตเป็นพรแก่ครอบครัวอย่างไร ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าแรกในหัวข้อ “การแต่งงานนิรันดร์” ใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา หน้า 85 จากนั้นให้ถามว่า

  • ตามที่กล่าวไว้ในย่อหน้านี้ อะไรคือจุดประสงค์ของกุญแจการผนึกที่เอลียาห์ฟื้นฟูสู่แผ่นดินโลก (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: โดยผ่านกุญแจการผนึกของฐานะปุโรหิต เราสามารถประกอบศาสนพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ในพระวิหารเพื่อผูกมัดครอบครัวไว้ด้วยกันชั่วนิรันดร์)

  • กุญแจเหล่านี้เป็นพรแก่ท่าน ครอบครัวท่าน ญาติพี่น้อง หรือมิตรสหายของท่านอย่างไร

เขียนบนกระดานว่า “วิญญาณของเอลียาห์” ให้ดูข้อความอ้างอิงต่อไปนี้และขอให้นักเรียนสองคนอ่านออกเสียงให้ชั้นเรียนฟัง

เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้นิยามวิญญาณของเอลียาห์ว่าเป็น “การแสดงให้ประจักษ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยทรงเป็นพยานถึงลักษณะอันสูงส่งของครอบครัว” (“ช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวครั้งใหม่,” เลียโฮนา, ก.ค. 1998, 39)

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่าวิญญาณของเอลียาห์มีอิทธิลต่อแต่ละคนอย่างไร “อิทธิพลเด่นชัดเช่นนี้ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ดึงผู้คนให้ค้นหา บันทึก และใส่ใจบรรพชนตลอดจนสมาชิกครอบครัวของตนเอง—ทั้งอดีตและปัจจุบัน

“วิญญาณของเอลียาห์มีผลต่อผู้คนทั้งในและนอกศาสนจักร อย่างไรก็ดี ในฐานะสมาชิกศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระคริสต์ เรามีความรับผิดชอบตามพันธสัญญาในการค้นหาบรรพชนของเราและประกอบศาสนพิธีแห่งความรอดของพระกิตติคุณให้ท่านเหล่านั้น …

“ด้วยเหตุผลเหล่านี้เราจึงทำการค้นคว้าประวัติครอบครัว สร้างพระวิหาร และประกอบศาสนพิธีแทนคนตาย ด้วยเหตุผลเหล่านี้พระองค์จึงทรงส่งเอลียาห์มาฟื้นฟูอำนาจการผนึกที่ผูกบนแผ่นดินโลกและในสวรรค์” (“ใจของลูกหลานจะหันไป,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 32)

ช่วยให้นักเรียนค้นพบและเข้าใจหลักคำสอนที่เอ็ลเดอร์เนลสันและเอ็ลเดอร์เบดนาร์สอนดีขึ้นโดยถามว่า

  • เราหมายความว่าอย่างไรเมื่อเราพูดถึง “วิญญาณของเอลียาห์”

  • พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของเราเกี่ยวกับครอบครัวในด้านใด (วิญญาณของเอลียาห์ซึ่งเป็นอิทธิพลเด่นชัดของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เป็นพยานถึงลักษณะอันสูงส่งของครอบครัวและช่วยให้เราใส่ใจสมาชิกครอบครัวของเรา ทั้งอดีตและปัจจุบัน อีกทั้งปลูกฝังความปรารถนาให้เราทำศาสนพิธีแห่งความรอดให้บรรพชนของเรา)

  • ท่านเคยรู้สึกว่าใจท่านหันไปหาบรรพบุรุษในระดับหนึ่งหรือไม่ หากเคย ท่านได้รับการกระตุ้นเตือนให้ทำอะไร (หากจำเป็น ให้เตือนนักเรียนว่าบทก่อนๆ ในหลักสูตรสอนเราว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสื่อสารกับเราอย่างไร)

การมีส่วนร่วมในงานประวัติครอบครัว

ให้นักเรียนดูแผนภูมิสืบสกุลสี่ชั่วอายุที่กรอกข้อมูลแล้วหรือแผนภูมิรูปพัดที่พิมพ์ออกมาจาก FamilySearch.org ขอให้นักเรียนอธิบายว่าเอกสารเหล่านี้มีข้อมูลอะไรบ้าง

แจกแผนภูมิสืบสกุลสี่ชั่วอายุที่ยังไม่ได้เขียนอะไรให้นักเรียนแต่ละคน ให้เวลานักเรียนสำรวจแผนภูมิสืบสกุลสักครู่และเติมชื่อบรรพชนของพวกเขาให้ได้มากที่สุด

เอกสารแจกแผนภูมิสืบสกุล

ถามนักเรียนว่า

  • ท่านจะหาข้อมูลที่ต้องใช้กรอกในแผนภูมิสืบสกุลหรือแผนภูมิรูปพัดได้จากที่ใด (เตือนนักเรียนว่าพวกเขาควรขอความช่วยเหลือจากบิดามารดา ปู่ย่าตายาย หรือสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ก่อน) ผู้ให้คำปรึกษาด้านประวัติครอบครัววอร์ดหรือสาขาสามารถให้ความช่วยเหลือได้มากเช่นกันในการค้นคว้าประวัติครอบครัว นอกจากนี้ นักเรียนควรรู้จักเว็บไซต์ของศาสนจักรสำหรับการค้นคว้าประวัติครอบครัวด้วย FamilySearch.org)

ถามว่านักเรียนคนใดต้องการแบ่งปันประสบการณ์การใช้ FamilySearch เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับบรรพชนของพวกเขาบ้าง ถ้าหากนักเรียนไม่เคยใช้ FamilySearch จงสรุปให้พวกเขาฟังอย่างรวดเร็วว่าพวกเขาจะพบอะไรในนั้นบ้าง ท่านอาจจะดึง FamilySearh.org ขึ้นมาบนคอมพิวเตอร์และทำการค้นหาโดยใช้ชื่อบรรพชนที่สิ้นชีวิตแล้วของนักเรียนคนหนึ่ง เน้นว่า FamilySearch เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราค้นพบบรรพชนของเราและเตรียมข้อมูลของพวกเขาส่งไปพระวิหารเพื่อทำศาสนพิธีแทน

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าอีกวิธีหนึ่งที่จะมีประสบการณ์ทำประวัติครอบครัวคือรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับบรรพชนและสมาชิกครอบครัวของพวกเขา เรื่องราวประวัติครอบครัวจะช่วยให้เรารู้สึกถึงวิญญาณของเอลียาห์ เพิ่มพูนความรักและความสำนึกคุณต่อสมาชิกครอบครัวที่ล่วงลับไปก่อนเรา ท่านอาจจะเล่าสั้นๆ เกี่ยวกับบรรพชนคนหนึ่งของท่าน จากนั้นให้ถามว่า

  • เรื่องราวประวัติครอบครัวจะมีผลต่อความรู้สึกที่ท่านมีต่อสมาชิกครอบครัวได้อย่างไร

  • เรื่องราวเหล่านั้นช่วยให้ท่านเข้าใจดีขึ้นอย่างไรว่าท่านเป็นใครและท่านสามารถเป็นอะไร

ไอคอนวีดิทัศน์ฉายวีดิทัศน์เรื่อง “บัดนี้ถึงเวลาแล้ว” (3:20) ขณะที่นักเรียนดูการสทนากับเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง จงกระตุ้นให้พวกเขาพิจารณาเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงเริ่มหรืออาจจะต้องการเริ่มมีส่วนร่วมในงานประวัติครอบครัว

  • ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับงานประวัติครอบครัวจากเอ็ลเดอร์เบดนาร์และเยาวชนในวีดิทัศน์เรื่องนี้

  • เยาวชนเหล่านี้ประสบกับความรู้สึกอะไรบ้างเมื่อพวกเขามีส่วนร่วมในประวัติครอบครัว

บอกนักเรียนว่าเอ็ลเดอร์เบดนาร์ทำสัญญากับเยาวชนที่มีส่วนร่วมในงานพระวิหารและประวัติครอบครัว ให้ดูคำพูดอ้างอิงต่อไปนี้ และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“เมื่อท่านขานรับคำเชื้อเชิญนี้ด้วยศรัทธา [ให้มีส่วนร่วมในงานประวัติครอบครัวและรับบัพติศมาแทนบรรพชนของท่าน] ใจของท่านจะหันไปหาบรรพบุรุษ คำสัญญาที่ทำไว้กับอับราฮัม อิสอัค และยาโคบจะฝังอยู่ในใจท่าน ปิตุพรของท่านพร้อมด้วยคำประกาศเชื้อสายในนั้นจะเชื่อมโยงท่านกับบรรพบุรุษเหล่านี้และจะมีความหมายต่อท่านมากขึ้น ความรักความกตัญญูที่ท่านมีต่อบรรพชนจะเพิ่มพูน ประจักษ์พยานและการเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่ท่านมีต่อพระผู้ช่วยให้รอดจะลึกซึ้งและยั่งยืน ข้าพเจ้าสัญญาว่าท่านจะได้รับความคุ้มครองจากอิทธิพลที่รุนแรงขึ้นของปฏิปักษ์ เมื่อท่านรักและมีส่วนร่วมในงานศักดิ์สิทธิ์นี้ ท่านจะได้รับความคุ้มครองในวัยเยาว์และตลอดชีวิตท่าน” (“ใจของลูกหลานจะหันไป,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 32-33)

ถามนักเรียนว่า

  • ท่านต้องการได้รับพรใดที่เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าวถึง และเพราะเหตุใด (คำตอบอาจรวมถึงหลักธรรมที่ว่า การมีส่วนร่วมในงานประวัติครอบครัวเพิ่มพลังการเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระผู้ช่วยให้รอดของเราและทำให้เกิดความคุ้มครองทางวิญญาณต้านอิทธิพลของปฏิปักษ์)

ท่านสามารถช่วยนักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับงานประวัติครอบครัวได้โดยถามคำถามดังต่อไปนี้

  • ท่านเคยประสบพรที่สัญญาไว้เหล่านี้หนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้นในชีวิตท่านท่านอย่างไร

  • ท่านหรือสมาชิกครอบครัวของท่านคนใดเคยหาชื่อบรรพชนแล้วไปพระวิหารเพื่อรับบัพติศมาแทนบุคคลนั้นหรือไม่ ประสบการณ์นั้นต่างจากการรับบัพติศมาให้คนที่ไม่ใช่ญาติอย่างไร

  • หากไม่มีนักเรียนคนใดเคยมีประสบการณ์นี้ ท่านอาจจะถามว่า ท่านเคยประสบพรที่สัญญาไว้อย่างไรจากการทำบัพติศมาแทนคนตาย

ถ้าระหว่างการสนทนาในชั้นเรียน ท่านทราบว่านักเรียนมากกว่าหนึ่งคนเคยมีส่วนร่วมและมีความรู้สึกแรงกล้าเกี่ยวกับประวัติครอบครัว ท่านอาจจะถามพวกเขาว่าพวกเขาจะให้คำแนะนำอะไรกับคนวัยเดียวกันที่ยังไม่ได้เริ่มทำงานประวัติครอบครัว

การใช้ประวัติครอบครัวเชื้อเชิญให้ผู้อื่นมาหาพระคริสต์

บอกนักเรียนว่าการค้นหาข้อมูลประวัติครอบครัวกลายเป็นกิจกรรมยอดนิยมในโลกทุกวันนี้ ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“มีหลายล้านคนทั่วโลกที่กำลังทำบันทึกประวัติครอบครัว เพราะเหตุใดหรือ เหตุใดพวกเขาจึงทำงานนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าเพราะวิญญาณของงานนี้ สิ่งที่เราเรียกว่าวิญญาณของเอลียาห์ สัมผัสใจพวกเขา นั่นคือการหันใจลูกหลานไปหาบรรพบุรุษของพวกเขา พวกเขาส่วนใหญ่ไม่เข้าใจจุดประสงค์แท้จริงในเรื่องนี้ แต่อาจจะมีความอยากรู้อยากเห็นเป็นแรงผลักดัน

“ต้องมีจุดประสงค์ในการใช้เวลาและเงินทองมากมายขนาดนี้ จุดประสงค์นั้น ซึ่งเรากล่าวคำพยานถึงอย่างจริงจัง คือการค้นหาคนตายหลายรุ่นเพื่อจะได้ประกอบศาสนพิธีแทนพวกเขาเพื่อให้พวกเขาได้รับพรอันยั่งยืนชั่วนิรันดร์และเจริญก้าวหน้า” (A Century of Family History Service, Ensign, Mar. 1995, 62)

ถามว่า

  • ผู้สอนศาสนาจะใช้ความสนใจเรื่องประวัติครอบครัวที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกแนะนำผู้อื่นให้รู้จักพระกิตติคุณได้อย่างไร

ขอให้นักเรียนอ่านออกเสียงสามย่อหน้าแรกและย่อหน้าสุดท้ายของหัวข้อ “ประวัติครอบครัว” ใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา หน้า 163–165 ให้พวกเขาหาดูว่าเหตุใดการพูดเรื่องงานประวัติครอบครัวกับผู้ไม่เป็นสมาชิกจึงเป็นวิธีที่ผู้สอนศาสนาใช้เริ่มการสนทนาได้อย่างเป็นธรรมชาติและไม่คุกคาม หลังจากอ่านย่อหน้าเหล่านี้แล้ว ให้ถามว่า

  • การพูดกับคนอื่นๆ เกี่ยวกับงานประวัติครอบครัวจะเป็นเครื่องมือที่ผู้สอนศาสนาใช้หาคนให้สอนได้อย่างมีประสิทธิผลอย่างไร (นักเรียนควรเข้าใจว่า ประวัติครอบครัวสามารถเป็นแหล่งช่วยที่ใช้ได้ผลในการหาคนที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้รับพระกิตติคุณ)

ไอคอนวีดิทัศน์หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้ฉายวีดิทัศน์เรื่อง “ประวัติครอบครัวและงานเผยแผ่ศาสนา—การหา” (3:53) ขณะดูวีดิทัศน์ ให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาจะใช้หัวข้อเรื่องประวัติครอบครัวเริ่มการสนทนากับคนอื่นๆ อย่างไร

หลังจากดูวีดิทัศน์จบแล้ว ให้ถามว่า

  • ผู้สอนศาสนาในวีดิทัศน์ทำอะไรเพื่อเริ่มการสนทนากับคนอื่นๆ เกี่ยวกับงานประวัติครอบครัว

  • การสนทนาเกี่ยวกับงานประวัติครอบครัวมีผลอะไรต่อผู้สนใจที่มีศักยภาพ

บอกนักเรียนว่าตอนนี้พวกเขาจะฝึกใช้แผนภูมิสืบสกุลเชื้อเชิญคนบางคนให้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับศาสนจักร (ท่านอาจเลือกให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาจะใช้เรื่องราวเกี่ยวกับบรรพชนคนหนึ่งของพวกเขาเริ่มการสนทนาพระกิตติคุณได้อย่างไร) เพื่อช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จในงานมอบหมายนี้ จงขอแนวคิดจากนักเรียนเกี่ยวกับวิธีใช้แผนภูมิสืบสกุล (หรือเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับบรรพชน) เพื่อเริ่มการสนทนาเรื่องงานประวัติครอบครัวและการทำเช่นนั้นจะนำเข้าสู่ข่าวสารเกี่ยวกับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนแนวคิดของพวกเขาไว้บนกระดาน

ดึงแนวคิดของพวกเขามาใช้สองสามแนวคิดและสาธิตให้ชั้นเรียนดูวิธีใช้แผนภูมิสืบสกุลเริ่มการสนทนากับคนบางคนเกี่ยวกับพระกิตติคุณ จากนั้น ให้นักเรียนจับคู่กับสมาชิกชั้นเรียนอีกคนหนึ่งและให้พวกเขาฝึกทำแบบเดิม หลังจากนักเรียนแต่ละคนมีโอกาสสอนสมาชิกชั้นเรียนอีกคนหนึ่งแล้ว ขอให้ถามคำถามติดตามดังนี้

  • ท่านคิดว่าท่านทำอะไรได้ดีในการฝึกสอนครั้งนี้

  • ท่านต้องการจะทำอะไรให้ดีขึ้น

ไอคอนวีดิทัศน์หากเวลาเอื้ออำนวย ให้อธิบายว่าในหลายๆ ด้านที่ผู้สอนศาสนาจะรับใช้ ศาสนจักรขอให้พวกเขาช่วยเสริมสร้างศรัทธาและคำมั่นสัญญาของสมาชิกที่แข็งขันน้อยของศาสนจักรด้วย ประวัติครอบครัวอาจเป็นเครื่องมืออันมีค่าที่จะช่วยให้คนเหล่านี้รู้สึกถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์และมาหาพระคริสต์ จากนั้นให้ฉายวีดิทัศน์เรื่อง “ประวัติครอบครัวและงานเผยแผ่ศาสนา—การทำให้แข็งขัน” (3:05) ให้นักเรียนมองหาวิธีที่จะใช้งานประวัติครอบครัวช่วยให้สมาชิกที่แข็งขันน้อยแข็งขัน

หลังจากดูวีดิทัศน์จบแล้ว ให้ถามว่า

  • การพูดคุยเรื่องงานประวัติครอบครัวและหลักคำสอนเรื่องชีวิตนิรันดร์จะช่วยเสริมสร้างศรัทธาของสมาชิกที่แข็งขันน้อยได้อย่างไร

ให้เวลานักเรียนพิจารณาสักครู่ว่าพวกเขาจะทำอะไรในตอนนี้ได้บ้างและพวกเขาจะทำอะไรเมื่อเป็นผู้สอนศาสนาเพื่อใช้งานประวัติครอบครัวเป็นเครื่องมือเชื้อเชิญให้ผู้อื่นมาหาพระคริสต์ (เมื่อพระวิญญาณกระตุ้นเตือน ท่านอาจจะขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบกับชั้นเรียน) แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับหลักธรรมที่สอนในบทนี้

การเชื้อเชิญให้ปฏิบัติ

เชื้อเชิญให้นักเรียนมีส่วนร่วมในงานแห่งความรอดตั้งแต่เดี๋ยวนี้โดยทำกิจกรรมต่อไปนี้หนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้น

  • สร้างบัญชีแอลดีเอสเพื่อท่านจะสามารถเข้าถึง FamilySearch.org หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้สร้างหรือพิมพ์แผนภูมิสืบสกุลสี่ชั่วอายุหรือแผนภูมิรูปพัดที่มีข้อมูลของครอบครัวท่าน

  • นำแผนภูมิสืบสกุลสี่ชั่วอายุของท่านให้มิตรสหายหรือเพื่อนบ้านดูและเชื้อเชิญให้พวกเขาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติครอบครัว กำหนดวันพาเพื่อนไปพบผู้ให้คำปรึกษาด้านประวัติครอบครัวหรือไปเยี่ยมหอสมุดประวัติครอบครัว

  • ใช้ FamilySearch.orgค้นหาชื่อบรรพชนของท่านหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นผู้ต้องการให้ทำศาสนพิธีพระวิหารแทนพวกเขา หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้เตรียมข้อมูลสำหรับทำงานพระวิหารให้พวกเขาและทำศาสนพิธีแห่งบัพติศมาและการยืนยันแทนพวกเขาจนเสร็จ

เอกสารแจก

แผนภูมิสืบสกุล เอกสารแจก