มัทธิว 18:21–35
อุปมาเรื่องทาสที่ไร้ความเมตตา
ในการตอบคำถามที่เปโตรถามเกี่ยวกับการให้อภัย พระเยซูคริสต์ทรงสอนอุปมาเรื่องทาสที่ไร้ความเมตตา บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้นขณะที่ท่านพยายามให้อภัยผู้อื่น
แบ่งปันเรื่องราวและเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นจริง เพื่อช่วยเพิ่มความสนใจของนักเรียนในบทเรียน ท่านอาจแบ่งปันเรื่องราวหรือเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นจริงจากชีวิตของศาสดาพยากรณ์และประวัติศาสนจักร รวมถึงจากคำปราศรัยการประชุมใหญ่สามัญ นิตยสารศาสนจักร หรือชีวิตท่านเอง เรื่องราวเหล่านี้จะเสริมสร้างศรัทธาของนักเรียนในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์โดยช่วยให้พวกเขาเข้าใจพระกิตติคุณผ่านประสบการณ์ของผู้อื่น
การเตรียมของนักเรียน: ในข้อพระคัมภีร์ผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนพระเจ้าตรัสว่าพระองค์ทรง “เรียกร้องจากเจ้าที่จะให้อภัยมนุษย์ทั้งปวง” ( หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:10) เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าเหตุใดพระเยซูคริสต์ทรงบัญชาให้เราให้อภัยกัน อาจเป็นประโยชน์ที่จะเชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:9–11 ด้วยและใคร่ครวญข่าวสารของพระเจ้าในข้อพระคัมภีร์เหล่านั้น
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
ตลอดบทเรียนนี้ขอให้ไวต่อความรู้สึกของนักเรียนที่อาจมีปัญหาในการให้อภัยใครบางคนที่ทำให้พวกเขาเจ็บปวด ท่านอาจใช้ข้อความบางข้อที่พบในหมวด “บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง” ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนที่เผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว
“คุณจะให้อภัยผมไหม?”
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หญิงคนหนึ่งชื่อคอร์รี เทน บูมทนทุกข์ทรมานหลายเดือนในค่ายกักกันของนาซีในราเวนส์บรูค เยอรมนี เบตซี พี่สาวของเธอเสียชีวิตที่นั่น หลังสงคราม คอร์รีเป็นผู้พูดให้แก่คนกลุ่มหนึ่งเกี่ยวกับการให้อภัยของพระผู้เป็นเจ้า อธิการคีธ บี. แมคมุลลิน อดีตฝ่ายอธิการควบคุมอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเธอพูดจบ ขณะท่านอ่าน ให้คิดวิธีที่คอร์รีอาจเลือกที่จะตอบสนอง
ชายคนหนึ่งมาหาเธอ เธอจำได้ว่าเขาคือทหารยามสุดโหดคนหนึ่งในค่าย “คุณเอ่ยถึงราเวนส์บรูคในคำพูดของคุณ” เขากล่าว “ผมเป็นทหารยามที่นั่น … … ผมเป็นชาวคริสต์นับแต่นั้น” เขาอธิบายว่าเขาขอให้พระผู้เป็นเจ้าประทานอภัยสำหรับเรื่องโหดร้ายที่เขาเคยทำ เขายื่นมือออกมาแล้วถามว่า “คุณจะให้อภัยผมไหม?” [Corrie ten Boom, Tramp for the Lord(1974), 56]
(คีธ บี. แมคมุลลิน, “เส้นทางแห่งหน้าที่ของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 15)
-
คอร์รีอาจมีความคิดอะไรบ้างในขณะนั้น?
-
เหตุใดจึงยากที่จะให้อภัยผู้อื่น?
อ่าน มัทธิว 18:21–22 เพื่อดูว่าพระเยซูทรงตอบคำถามที่เปโตรถามถึงการให้อภัยอย่างไร
-
ท่านจะอธิบายสิ่งที่พระเยซูทรงสอนเปโตรอย่างไร?
-
ท่านคิดว่าเพราะเหตุใดพระเจ้าทรงบัญชาให้เราเป็นผู้คนที่ให้อภัย?
แม้ว่าจะมีหลักธรรมสำคัญมากมายเกี่ยวกับการให้อภัย แต่บทเรียนนี้มุ่งเน้นที่ความปรารถนาของเราที่จะให้อภัยผู้อื่นดังที่พระเยซูคริสต์ประทานอภัยแก่เรา โดยขึ้นอยู่กับคำตอบของนักเรียนสำหรับคำถามถัดไป ท่านอาจปรับบทเรียนให้ตรงตามความต้องการของพวกเขา
-
ท่านมีคำถามอะไรบ้างเกี่ยวกับพระบัญชาของพระผู้ช่วยให้รอดให้เราให้อภัยผู้อื่น?
ใคร่ครวญความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับการให้อภัย มีใครที่ยากสำหรับท่านที่จะให้อภัยหรือไม่? ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านให้เขียนว่าชีวิตท่านจะได้รับพรอย่างไรหากท่านสามารถให้อภัยผู้ที่ทำให้ท่านขุ่นเคือง ท่านอาจบันทึกว่าชีวิตท่านจะแตกต่างไปอย่างไรหากท่านไม่พยายามให้อภัยผู้อื่นขณะท่านศึกษาอุปมาที่พระเจ้าทรงแบ่งปันกับเปโตร มองหาว่าความเต็มพระทัยของพระเจ้าที่จะให้อภัยเราอาจเพิ่มความสามารถของท่านที่จะให้อภัยผู้อื่นได้อย่างไร
อุปมาเรื่องทาสที่ไร้ความเมตตา
อ่าน มัทธิว 18:23–27 มองหาวิธีที่กษัตริย์ในอุปมาปฏิบัติต่อลูกหนี้ของเขา เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทราบว่า 10,000 ตะลันต์คือหนี้ที่ไม่สามารถชำระได้ คนงานที่ยากจนจะต้องใช้เวลาทำงานกว่า 250,000 ปีในสมัยของพระเยซูกว่าจะได้เงินมากขนาดนั้น (ดู Jay A. Parry and Donald W. Parry, Understanding the Parables of Jesus Christ [2006], 95)
-
ท่านคิดว่าเพราะเหตุใดพระเยซูคริสต์ทรงใช้การเป็นหนี้ที่ไม่สามารถชำระได้เพื่อสอนอุปมานี้?
อ่านอุปมาที่เหลือใน มัทธิว 18:28–35 มองหาวิธีที่เราควรปฏิบัติต่อกันและเหตุใดจึงควรทำเช่นนั้น เป็นประโยชน์ที่จะรู้ว่า 100 เดนาริอันอยู่ที่ประมาณค่าแรง “สามเดือนของคนทำงานที่ยากจน” ( ข้อ 28)
-
ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการให้อภัยจากอุปมานี้?
-
เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าใจว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเมตตาเรามากเพียงใด?
ความจริงข้อหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากอุปมานี้คือ เราจะทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ได้โดยการให้อภัยผู้อื่นขณะที่พระองค์ประทานอภัยแก่เรา
พระเจ้าทรงย้ำความสำคัญของการให้อภัยผู้อื่นในสมัยการประทานของเรา อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:9–11 โดยมองหาคำสอนของพระเจ้าเกี่ยวกับการให้อภัย
-
จากสิ่งที่ท่านเรียนรู้ในวันนี้ ท่านคิดว่าเหตุใดพระเจ้าทรงต้องการให้เราให้อภัยทุกคน?
พระเยซูคริสต์จะทรงช่วยเราให้อภัยผู้อื่นได้
บางครั้งอาจเป็นเรื่องยากที่จะให้อภัยผู้อื่น แต่ด้วยความช่วยเหลือของพระผู้ช่วยให้รอดทุกสิ่งเป็นไปได้
ขณะท่านอ่านบทสรุปเรื่องราวของอธิการแมคมุลลินเกี่ยวกับคอร์รีที่เผชิญหน้ากับทหารยามที่คุกของเธอในอดีต ดูว่าพระผู้ช่วยให้รอดประทานความเข้มแข็งให้เธอให้อภัยได้อย่างไร
“เขาคงจะยืนอยู่ตรงนั้นไม่กี่วินาที—ยื่นมือค้างไว้—แต่สำหรับดิฉันเหมือนนานหลายชั่วโมงขณะพยายามจะทำเรื่องยากที่สุดเท่าที่เคยทำมา
“… ข่าวสารที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงให้อภัยมี … เงื่อนไขคือเราต้องให้อภัยคนที่ทำร้ายเรา …
“… ‘โปรดช่วยข้าพระองค์ด้วย!’ ดิฉันสวดอ้อนวอนในใจ ‘ข้าพระองค์ทำได้ อย่างมากคือยกมือขึ้น โปรดให้ความรู้สึกนั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด’
“… ดิฉันยืนตัวแข็งทื่อ สอดมือเข้าไปจับมือที่ยื่นให้โดยอัตโนมัติ ขณะทำเช่นนั้น เรื่องเหลือเชื่อก็เกิดขึ้น เกิดกระแสไฟฟ้าในไหล่ของดิฉัน ไล่ไปตามแขน ทะลักเข้ามาในมือที่จับกันอยู่ และแล้วความอบอุ่นของการเยียวยาครั้งนี้ดูเหมือนจะแผ่ซ่านไปทั่วร่างจนทำให้ดิฉันน้ำตาคลอ
“‘ฉันให้อภัยคุณ พี่ชาย!’ ดิฉันร้องไห้ ‘ด้วยความจริงใจ’
“เราจับมือกันครู่ใหญ่ อดีตทหารยามกับอดีตนักโทษ ดิฉันไม่เคยรู้ซึ้งถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าแรงกล้าเท่านี้มาก่อน” [Corrie ten Boom, Tramp for the Lord (1974), 54–55]
(คีธ บี. แมคมุลลิน, “เส้นทางแห่งหน้าที่ของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 15–16)
-
ท่านเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ของคอร์รีที่อาจช่วยให้ท่านให้อภัยได้เมื่อยากที่จะให้อภัย?
-
ท่านเรียนรู้อะไรจากชีวิตท่านเอง ชีวิตของผู้อื่น หรือพระคัมภีร์เกี่ยวกับวิธีให้อภัยผู้อื่นเมื่อยากที่จะให้อภัย?
สิ่งหนึ่งที่จะช่วยเราได้ขณะที่เราศึกษาพระคัมภีร์คือเรียนรู้จากพระคุณลักษณะของพระเยซูคริสต์และจากนั้นพยายามพัฒนาคุณลักษณะเหล่านั้น มัทธิว 18:21–35 คือข้อพระคัมภีร์หนึ่งในหลายข้อที่แสดงถึงธรรมชาติวิสัยในการให้อภัยของพระผู้ช่วยให้รอดและความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าด้วยเมื่อเราเลือกที่จะไม่ให้อภัย นึกถึงสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อจะเป็นคนที่ให้อภัยได้มากขึ้นเหมือนพระเยซูคริสต์ ท่านจะเชื้อเชิญพระผู้ช่วยให้รอดให้ช่วยท่านอย่างไร?
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
มัทธิว 18:24 . เงิน10,000 ตะลันต์เป็นเงินเท่าใด?
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า
มีความเห็นแตกต่างกันบ้างท่ามกลางนักวิชาการเกี่ยวกับค่าของเงินที่กล่าวถึงในเรื่องนี้—ขออภัยที่ใช้เงินสกุลของสหรัฐในการอ้างอิง—แต่เพื่อให้เข้าใจง่าย หากหนี้ขนาดเล็ก 100 เดนาริอันที่ยกให้ไม่ได้มีค่าเท่ากับ 100 ดอลลาร์ในสมัยของเรา หนี้ 10,000 ตะลันต์ที่ยกให้ได้อย่างง่ายดายก็อาจมีค่าถึง 1 พันล้านดอลลาร์—หรือมากกว่า!
ในฐานะที่เป็นหนี้ส่วนบุคคล จึงเป็นเงินจำนวนมหาศาล—เกินกว่าเราจะเข้าใจได้ (ไม่มีใครจับจ่ายใช้สอยมากขนาดนั้น!) เพื่อจุดประสงค์ของอุปมาเรื่องนี้ หนี้ดังกล่าว ควร จะเข้าใจยาก ควรจะอยู่เหนือความสามารถของเราที่จะรู้ซึ้ง ไม่ต้องบอกเลยว่าอยู่เหนือความสามารถของเราที่จะจ่ายคืนได้ นั่นเพราะว่านี่ไม่ใช่เรื่องราวของทาสสองคนถกเถียงกันในพันธสัญญาใหม่ นี่คือเรื่องราวของเราทุกคน ครอบครัวมนุษย์ที่ตก—ลูกหนี้มรรตัย ผู้ล่วงละเมิด และนักโทษ เราทุกคนเป็นลูกหนี้ คำพิพากษาคือการจองจำเราทุกคน เราทุกคนคงจะอยู่ที่นั่นหากไม่ใช่เพราะพระคุณของพระมหากษัตริย์ของเรา ผู้ทรงปลดปล่อยเราเป็นอิสระเพราะพระองค์ทรงรักเราและ “ทรงหวั่นไหวด้วยความสงสาร [เรา]” [ หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:4 ]
(เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “เพราะฉะนั้นพวกท่านจงเป็นคนดีพร้อม—ในที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 41)
ความรู้สึกเจ็บปวดกับสิ่งที่มีคนทำกับฉันหมายความว่าฉันยังไม่ได้ให้อภัยใครบางคนใช่หรือไม่?
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า
แต่สำคัญที่พวกท่านบางคนผู้ดำเนินชีวิตด้วยความทุกข์อย่างแท้จริงจะตระหนักถึงสิ่งที่ [พระเยซูคริสต์] ไม่ได้ ตรัส พระองค์ ไม่ได้ ตรัสว่า “เจ้าไม่ได้รับอนุญาตให้รู้สึกถึงความเจ็บปวดหรือความทุกข์ระทมอย่างแท้จริงจากการกระทำย่ำยีด้วยน้ำมือของผู้อื่น”
(เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “พันธกิจในเรื่องการคืนดี,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 79)
เอ็ลเดอร์เดวิด อี. ซอเรนเซนแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนความจริงที่สำคัญเกี่ยวกับพระบัญญัติของการให้อภัย
ข้าพเจ้าอยากจะชี้แจงว่าเราต้องไม่นำการอภัยบาปมาปนกับการทนต่อความชั่วร้าย … แม้จะต้องให้อภัยเพื่อนบ้านที่ทำร้ายเราแต่เรายังต้องพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดการทำร้ายอีก
(เดวิด อี. ซอเรนเซน, “การให้อภัยจะเปลี่ยนความขมขื่นเป็นความรัก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2003, 15)
พระผู้ช่วยให้รอดทรงหมายถึงอะไรเมื่อทรงบอกให้เปโตรให้อภัยผู้อื่น “เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด”? ( มัทธิว 18:22)
เอ็ลเดอร์ลินน์ จี. รอบบินส์ อดีตฝ่ายประธานโควรัมสาวกเจ็ดสิบอธิบายว่า
พระผู้ช่วยให้รอดทรงบอกเปโตรเป็นนัยสำคัญว่าอย่านับเลย—อย่ากำหนดขีดจำกัดของการให้อภัย
เห็นได้ชัดว่า พระผู้ช่วยให้รอดมิได้ทรงกำหนดขีดจำกัดสูงสุดว่า 490 เพราะนั่นจะเปรียบได้กับการพูดว่าการรับส่วนศีลระลึกมีขีดจำกัดที่ 490 ครั้ง พอถึงครั้งที่ 491 ผู้ตรวจสอบบัญชีจากสวรรค์จะเข้ามาแทรกแซงและแจ้งว่า “เสียใจด้วยนะ บัตรกลับใจของคุณหมดอายุแล้ว—จากนี้ไปคุณต้องดูแลตัวคุณเอง”
พระเจ้าทรงใช้ตัวเลขเจ็ดสิบคูณเจ็ดเป็นอุปลักษณ์ของการชดใช้อันไม่มีที่สิ้นสุด ความรักอันล้นเหลือ และพระคุณอันไร้ขีดจำกัดของพระองค์ “แท้จริงแล้ว, และ จะกี่ครั้งก็ตาม ที่ผู้คนของเรากลับใจ เราจะให้อภัยพวกเขาสำหรับการล่วงละเมิดของพวกเขาที่มีต่อเรา” ( โมไซยาห์ 26:30 เน้นตัวเอน)
(ลินน์ จี. รอบบินส์, “เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 23)