ลูกา 10:38–42
การให้พระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางของชีวิตเรา
เมื่อพระเยซูทรงสอนในบ้านของมารธา พระองค์ทรงมีโอกาสสอนเกี่ยวกับความสำคัญในการให้คำสอนของพระองค์อยู่ในลำดับสำคัญที่สุดในชีวิตเรา บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านเรียนรู้ที่จะระบุการเลือกและกิจกรรมที่จะ ช่วยให้ท่านทำให้พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์เป็นศูนย์กลางของชีวิตท่าน
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
ลำดับความสำคัญ
ในแต่ละวันเราตัดสินใจหลายครั้งว่าเราจะใช้เวลาของเราอย่างไร
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า
พวกเราส่วนใหญ่มีหลายสิ่งซึ่งคาดหวังจากเราเกินกว่าที่เราจะทำได้ … เราเผชิญกับทางเลือกมากมายว่าเราจะทำอย่างไรกับเวลาและทรัพยากรอื่นๆ ของเรา
(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ดี ดีกว่า ดีที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 133)
ให้คิดว่าข้อความใดต่อไปนี้อธิบายถึงตัวท่าน (ท่านสามารถเลือกมากกว่าหนึ่งข้อความ)
-
ฉันหาเวลาให้แก่ทั้งกิจกรรมทางวิญญาณและทางโลก
-
ฉันต้องการทำตามพระผู้ช่วยให้รอดแต่มักจะรู้สึกว่ายุ่งเกินไปกับงานอื่น
-
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นศูนย์กลางของชีวิตฉัน
-
ฉันไม่สนใจที่จะหาเวลาเข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้น
ระหว่างบทเรียนนี้ท่านจะเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวพระคัมภีร์ที่สอนความสำคัญของการให้พระเยซูคริสต์ทรงอยู่ที่ศูนย์กลางของชีวิตเรา ให้สังเกตการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่จะช่วยให้ท่านเข้าใจว่าจะทำให้พระเยซูคริสต์ทรงอยู่ในลำดับความสำคัญสูงสุดของท่านได้อย่างไร
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนมารีย์กับมารธา
เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงเดินทางไปเบธานีพระองค์ทรงไปเยี่ยมบ้านของหญิงชื่อมารธา สานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์และอุทิศตน
อ่าน ลูกา 10:38–42 โดยสังเกตสิ่งที่ท่านเรียนรู้จากแบบอย่างและพระวจนะของพระผู้ช่วยให้รอด อาจเป็นประโยชน์ที่จะรู้ว่าคำว่า วุ่นวาย หมายถึงกังวลหรือหนักใจ
-
เรื่องราวนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และความปรารถนาของพระองค์สำหรับเรา?
-
การเลือกของมารีย์เหมาะสมกับสถานการณ์นี้อย่างไร?
ความจริงข้อหนึ่งที่เราจะเรียนรู้ได้จากเรื่องราวนี้คือ การเลือกที่นำเราเข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้นควรได้รับลำดับความสำคัญสูงสุดในชีวิตเรา
-
เหตุใดท่านจึงคิดว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เราวางพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ ไว้ที่ศูนย์กลางของชีวิตเรา?
แม้ว่ามารีย์อาจรับใช้คนอื่น แต่เธอเลือกที่จะเรียนรู้จากพระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เธอจะทำได้ในเวลานั้น (ดู ลูกา 10:42)
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์อธิบายว่าเราทุกคนเผชิญการเลือกที่คล้ายกันอย่างไร:
เพียงเพราะว่าบางสิ่งนั้น ดี ก็ไม่ได้เป็นเหตุผลเพียงพอในการทำสิ่งนั้น จำนวนสิ่งดีๆ ที่เราทำได้มีมากเกินกว่าเวลาที่มีในการทำสิ่งเหล่านั้นให้สำเร็จ บางสิ่งดีกว่าสิ่งที่ดี และสิ่งเหล่านี้เองคือสิ่งที่ควรได้รับความสนใจเป็นอันดับแรกในชีวิตของเรา
(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ดี ดีกว่า ดีที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 133)
-
อะไรคือสิ่งสำคัญน้อยกว่าในชีวิตท่านที่อาจทำให้เขวไปจากพระเยซูคริสต์?
-
การเลือกอะไรบ้างที่ท่านทำได้ซึ่งจะนำท่านเข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้น?
-
สิ่งใดจะช่วยท่านทำให้การเลือกที่สำคัญที่สุดอยู่ในลำดับความสำคัญสูงสุดของท่าน?
-
ท่านได้รับพรอะไรบ้างจากการพยายามทำให้ชีวิตท่านมีพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลาง?
วางแผน
ทำรายการกิจกรรมประจำวันโดยปรกติของท่านและกำหนดว่ากิจกรรมใดบ้างที่ช่วยท่านเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น นึกถึงอะไรก็ได้ที่ท่านอาจเพิ่มหรือลบออกโดยพิจารณาจากสิ่งที่ท่านเรียนรู้และรู้สึกในวันนี้ วางแผนอย่างเจาะจงถึงสิ่งที่ท่านจะทำเพื่อทำให้พระผู้ช่วยให้รอดเป็นศูนย์กลางของชีวิตท่านมากขึ้น
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
ซาตานพยายามกีดกันเราจากการใช้เวลาอย่างฉลาดอย่างไร?
ประธานสตีเฟน ดับเบิลยู. โอเวน อดีตประธานเยาวชนชายสามัญกล่าวว่า
ปฏิปักษ์จะพยายามชักชวนท่านว่าการบำรุงเลี้ยงทางวิญญาณไม่จำเป็น หรือแยบยลกว่านั้นคือ ยังรอได้ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญสิ่งล่อใจและเป็นต้นคิดเรื่องการผัดวันประกันพรุ่ง เขาจะทำให้ท่านสนใจสิ่งต่างๆ ที่ดูเหมือนเร่งด่วนแต่แท้จริงแล้วไม่สำคัญขนาดนั้น เขาจะทำให้ท่าน “ร้อนใจหลายอย่างเหลือเกิน” จนท่านละเลย “สิ่ง [ที่] จำเป็น … เพียงสิ่งเดียว” [ ลูกา 10:41–42 ]
(สตีเฟน ดับเบิลยู. โอเวน, “จงมีศรัทธากล้า มิใช่ไร้ศรัทธา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 13)
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ (1928–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า
มีสิ่งสารพันอันน่าหลงใหล น่าตื่นตาตื่นใจจนต้องทำ หรือมีการท้าทายมากมายนักหรือที่กดดันท่านจนยากที่จะมุ่งมั่นในสิ่งสำคัญยิ่งนัก? เมื่อสิ่งทางโลกเบียดเสียดเข้ามา บ่อยครั้งเหลือเกินที่สิ่งผิดจะได้รับความสำคัญสูงสุด เมื่อนั้นเป็นการง่ายที่จะลืมจุดมุ่งหมายขั้นพื้นฐานของชีวิต ซาตานมีเครื่องมืออันทรงพลังในการใช้ต่อต้านคนดี นั่นคือการทำให้เขว ซาตานจะให้คนดีเติม “สิ่งดีๆ” ในชีวิตจนไม่มีที่ให้สิ่งสำคัญ ท่านเคยติดกับดักที่ว่านั้นอย่างไม่รู้ตัวหรือไม่?
(ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “จงวางสิ่งสำคัญที่สุดไว้เป็นอันดับแรก,” เลียโฮนา, ก.ค. 2001, 8)
มีอันตรายอะไรบ้างจากการตัดสินการเลือกของผู้อื่น?
ประธานบอนนี ดี. พาร์กิน อดีตประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญกล่าวว่า
ในการร้องขอความช่วยเหลือของมารธา แม้จะเป็นการตัดสินที่มิได้เอ่ยออกมาแต่บ่งบอกชัดเจนว่า “ข้าพระองค์ถูกต้อง เธอผิด”
เราตัดสินกันและกันหรือไม่ เราวิพากษ์วิจารณ์กันในการเลือกส่วนตัวหรือไม่ โดยคิดว่าเรารู้ดีกว่า ทั้งที่ความจริงแล้วเราก็ใช่ว่าจะเข้าใจสภาพการณ์หรือแรงบันดาลใจส่วนตัวของกันและกัน … การตัดสินเช่นนั้น … ได้ชิงส่วนดีของเราไป ซึ่งก็คือความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์
เรามองข้ามส่วนที่ดีนั้นด้วยเมื่อเราเปรียบตัวเรากับผู้อื่น ผมของเธอหยักศกมากกว่า ขาของฉันอ้วนกว่า ลูกของเธอมีพรสวรรค์มากกว่า สวนของเธอให้ผลผลิตมากกว่า—พี่น้องที่รัก ท่านทราบว่าดิฉันกำลังพูดถึงอะไร เราทำเช่นนั้นไม่ได้ เราต้องไม่ยอมให้ตนเองรู้สึกมีปมด้อยโดยคิดถึงแต่สิ่งที่เรา ไม่ได้เป็น แทนที่จะสนใจในสิ่งที่เราเป็น
(บอนนี ดี. พาร์กิน, “เลือกความใจบุญ: ส่วนดีนั้น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2003, 126–127)
ฉันจะเลือกระหว่างการเลือกสองอย่างที่โดยเนื้อแท้ไม่ได้แย่ได้อย่างไร?
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า
ขณะที่เราพิจารณาทางเลือกต่างๆ เราควรจำไว้ว่าไม่เพียงพอที่บางสิ่งนั้นดี ทางเลือกอื่นๆ ดีกว่า และยังมีอื่นๆ อีกที่ดีที่สุด …
ให้เราพิจารณาว่าเราใช้เวลาของเราอย่างไรในการเลือกของเราขณะชมโทรทัศน์ เล่นวิดีโอเกม ท่องอินเทอร์เน็ต หรืออ่านหนังสือหรือนิตยสาร แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่จะชมรายการบันเทิงซึ่งมีประโยชน์หรือรับข้อมูลอันน่าสนใจ แต่ไม่ใช่ทุกอย่างของข้อมูลหรือรายการประเภทนั้นจะคุ้มค่ากับส่วนนั้นในชีวิตเราที่เราจะให้ไปเพื่อให้ได้มันมา บางสิ่งดีกว่า และบางสิ่งดีที่สุด …
… เราต้องข้ามสิ่งดีๆ บางอย่างไปเพื่อเลือกสิ่งอื่นที่ดีกว่าหรือดีที่สุด เพราะสิ่งเหล่านั้นพัฒนาศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์และกระชับสายสัมพันธ์ในครอบครัวของเรา
(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ดี ดีกว่า ดีที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 133, 136)