โรม 8:1–17
“ทายาทร่วมกับพระคริสต์”
ครั้งเมื่อสมาชิกศาสนจักรในโรมขาดความเป็นหนึ่งเดียวกันและไม่ลงรอยกันในประเด็นสำคัญหลายประการ เปาโลเขียนจดหมายหาสมาชิกเหล่านั้นเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาสามารถทำตามพระวิญญาณ ในการเข้าถึงการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เพื่อเอาชนะธรรมชาติของการตก เปาโลสัญญาว่าหากสมาชิกเหล่านั้นทำเช่นนี้ พวกเขาจะเป็นทายาทร่วมกับพระเยซูคริสต์และรับทุกสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมี ขณะที่ท่านศึกษา ให้มองหาวิธีเพิ่มความปรารถนาของท่านในการทำตามพระวิญญาณและรับทุกสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมี
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
ท่านต้องการรับอะไรเป็นมรดก?
-
หากท่านสามารถเลือกใครก็ได้ที่จะรับมรดกบางสิ่งจากคนๆ นั้น ท่านจะเลือกใคร? เพราะเหตุใด?
-
ท่านต้องการรับมรดกอะไรจากบุคคลนี้?
อัครสาวกเปาโลเขียนถึงวิสุทธิชนในโรมเกี่ยวกับมรดกที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงเสนอให้แก่บุตรธิดาแต่ละคนของพระองค์อ่าน โรม 8:16–17, 32 และทำเครื่องหมายสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงเสนอแก่เรา อาจเป็นประโยชน์ที่จะทราบว่าทายาทคือ “บุคคลซึ่งมีสิทธิ์สืบทอดของประทานทางร่างกายหรือวิญญาณ” (คู่มือพระคัมภีร์, “ ทายาท ,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org)
-
ท่านทำเครื่องหมายที่ถ้อยคำหรือวลีใดบ้าง?
-
ท่านคิดว่าการเป็นทายาทร่วมกับพระเยซูคริสต์หมายถึงอะไร?
หนึ่งในความจริงที่ข้อเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจคือ พระบิดาบนสวรรค์ทรงปรารถนาจะอวยพรเราด้วยทุกสิ่งที่พระองค์ทรงมี(ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:55 ; 84:38 ด้วย)
เมื่ออ้างอิงถึงมรดกที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงปรารถนาจะประทานพรเรา ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดในขณะนั้นสอนดังนี้:
เป็นเรื่องนอกเหนืออำนาจความคิดที่ข้าพเจ้าจะจินตนาการได้ทั้งหมดเกี่ยวกับสัญญานี้ แต่ข้าพเจ้าทราบแน่นอนว่าสัญญานี้ยิ่งใหญ่ ศักดิ์สิทธิ์ เป็นนิรันดร์ และมีค่าควรที่เราจะพยายามอย่างสุดชีวิต
(ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “สถานภาพสี่ประการ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 60)
ใช้เวลาสักครู่เพื่อคิดว่าการได้รับทุกสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีเป็นมรดกหมายความว่าอย่างไร และพิจารณาว่าท่านอาจมีคำถามใดเกี่ยวกับความจริงข้อนี้ พิจารณาว่าคุณลักษณะ คุณสมบัติ และพรอื่นใดที่ท่านอยากได้รับจากพระบิดาบนสวรรค์เป็นมรดก ขณะที่ท่านศึกษาต่อไปในวันนี้ ให้มองหาความจริงที่จะช่วยให้ท่านสามารถเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นถึงมรดกที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงปรารถนาจะประทานพรท่าน และสิ่งใดที่ท่านสามารถทำได้เพื่อให้มีค่าสมกับสิ่งนั้น
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับมรดกของพระบิดาบนสวรรค์
สร้างแผนภูมิต่อไปนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน:
พรที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เราได้รับเป็นมรดก |
สิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อมีค่าสมกับมรดกนี้ |
ในสมัยการประทานของเรา พระเจ้าทรงเปิดเผยให้เราทราบมากขึ้นเกี่ยวกับมรดกที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงปรารถนาจะประทานแก่เรา ในฐานะส่วนหนึ่งของการเปิดเผยที่ประทานแก่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและบันทึกไว้ในสิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 76 พระเจ้าทรงอธิบายถึงคนเหล่านั้นที่สักวันหนึ่งจะได้รับมรดกแห่งอาณาจักรซีเลสเชียล
ศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:50–70 และคำสอนเพิ่มเติมของเปาโลใน โรม 8:1, 5–9, 13–14 รวมถึงงานแปลของโจเซฟ สมิธสำหรับ โรม 8:8–9 ในงานที่เลือกสรรจากงานแปลพระคัมภีร์ไบเบิลของโจเซฟ สมิธ ขณะที่ท่านศึกษา ให้เพิ่มคำสัญญาที่ท่านอ่านลงในแผนภูมิของท่าน และข้อที่บอกว่าท่านสามารถทำสิ่งใดเพื่อให้มีค่าสมกับคำสัญญาเหล่านั้น โปรดจำไว้ว่า แม้บางข้อเหล่านี้ใช้คำว่า “บุตร” แต่คำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าก็มีผลอย่างเท่าเทียมกันกับบุตรธิดาทุกคนของพระบิดาบนสวรรค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:1) และยังอาจเป็นประโยชน์ที่จะรู้ด้วยว่าคำว่า “ทางเนื้อหนัง” ที่กล่าวถึงใน โรม 8 หมายถึงบุคคลที่ให้ความสำคัญกับสิ่งทางโลกหรือสิ่งที่ไม่จีรัง นอกจากนี้ยังสามารถหมายถึงความต้องการของเนื้อหนังด้วย (ดูคู่มือพระคัมภีร์, “ ทางเนื้อหนัง ,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org)
-
ข้อใดจากการศึกษาของท่านที่มีความหมายต่อท่านมากที่สุด? เพราะเหตุใด?
-
ข้อเหล่านี้ช่วยให้ท่านเข้าใจอะไรได้ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับมรดกที่พระผู้เป็นเจ้าทรงปรารถนาจะมอบให้ท่าน? ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้มีค่าสมกับมรดกนั้น?
ในตารางที่ท่านทำไว้ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน ให้ทบทวนสิ่งที่ท่านเขียนรวมถึงพรที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์ให้ท่านได้รับเป็นมรดก
-
พรที่สัญญาไว้เหล่านี้ช่วยให้ท่านเข้าใจอะไรเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์?
-
พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีบทบาทอะไรในการช่วยให้เราได้รับมรดกนี้? (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:69)
สิ่งนั้นจะส่งผลต่อชีวิตท่านอย่างไร?
ลองใช้เวลาคิดชั่วครู่ว่า การทำความเข้าใจถึงมรดกที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงปรารถนาจะประทานแก่ท่านมีผลอย่างไรต่อชีวิตและการเลือกที่ท่านทำ
ให้พิจารณาว่าความจริงที่ท่านได้ศึกษาในวันนี้มีผลต่อวัยรุ่นในสถานการณ์ต่อไปนี้อย่างไร:
-
เอสเตลล์ประสบปัญหามากมายในชีวิตและรู้สึกท้อแท้ เธอสงสัยว่าการเข้าโบสถ์และรักษาพระบัญญัติต่อไปจะคุ้มค่าหรือไม่
-
คัลวินชอบเทคโนโลยีอันน่าทึ่งที่โลกเสนอมาให้ เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่นวิดีโอเกม ใช้โซเชียลมีเดีย หรือดูวีดิทัศน์ต่างๆ
-
ลิซมักประสบปัญหากับความรู้สึกว่ามีคุณค่าในตัวเองต่ำ และสงสัยว่ามีใครสนใจห่วงใยเธอจริงๆ หรือไม่
เลือกหนึ่งในสถานการณ์สมมติก่อนหน้านี้ (หรือลองนึกถึงสถานการณ์อื่น) เขียนบันทึกสั้นๆ ถึงบุคคลในสถานการณ์สมมติที่ท่านเลือก โดยแบ่งปันความจริงและพระคัมภีร์ที่ท่านได้ศึกษาในบทเรียนนี้ ซึ่งจะช่วยให้บุคคลนั้นเข้าใจสถานการณ์ของตน คำถามต่อไปนี้อาจเป็นประโยชน์กับท่านในการพิจารณาขณะที่เขียนโน้ตของท่าน:
-
การที่เราสามารถได้รับทุกสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงมีหมายความว่าอย่างไรสำหรับท่าน?
-
การทำความเข้าใจมรดกนี้จะช่วยบุคคลในสถานการณ์ที่ท่านเลือกได้อย่างไร?
-
พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงทำอะไรบ้างเพื่อให้เป็นไปได้สำหรับเราในการได้รับพรเหล่านี้?
-
อะไรคือสิ่งง่ายๆ สองสามอย่างที่บุคคลจากสถานการณ์สมมติของท่านสามารถเริ่มทำซึ่งจะช่วยในสถานการณ์ของบุคคลนั้นได้?
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
การจดจำมรดกของเราช่วยเหลือเราได้อย่างไร?
ประธานอีเลน เอส. ดัลตัน อดีตประธานเยาวชนหญิงสามัญแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์ที่แสดงตัวอย่างของบทเรียนนี้:
[กษัตริย์] มีความรู้ที่ไม่สั่นคลอนเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของพระองค์ เมื่อทรงพระเยาว์ เหล่าคนร้ายที่โค่นราชบัลลังก์พระบิดาของพระองค์ลักพาพระองค์ไป คนร้ายรู้ว่าหากพวกเขาทำลายศีลธรรมในตัวพระองค์ได้ พระองค์จะไม่ใช่องค์รัชทายาทอีกต่อไป เป็นเวลาหกเดือนที่คนเหล่านั้นบีบบังคับพระองค์ทำสิ่งชั่วช้าสามานย์ทุกอย่างที่มนุษย์จะทำได้ แต่พระองค์ไม่เคยยอมพ่ายแพ้แก่เรงกดดันนั้น ทำให้ผู้จับกุมพิศวงอย่างยิ่ง หลังจากลองทำทุกอย่างเท่าที่คิดได้แล้ว พวกเขาก็ถามพระองค์ว่าเหตุใดจึงมีจิตใจเข้มแข็งเช่นนี้ ทรงมีพระดำรัสตอบเรียบง่ายว่า “เราไม่อาจทำสิ่งที่เจ้าขอได้ เพราะเราเกิดมาเพื่อเป็นกษัตริย์” [ดู วอห์น เจ. เฟเธอร์สโตน, “The King’s Son,” New Era, Nov. 1975, 35]
เช่นเดียวกับพระโอรสของกษัตริย์ ท่านทุกคนสืบทอดสิทธิกำเนิดแห่งความสูงส่ง ท่านทุกคนได้รับมรดกอันล้ำเลิศ
(อีเลน เอส. ดัลตัน “พึงระลึกว่าท่านเป็นใคร!,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 152)
ความพยายามแบบใดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปฏิบัติตามพระวิญญาณอย่างต่อเนื่องและรับทุกสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมี?
ขณะรับใช้เป็นสมาชิกในโควรัมสาวกเจ็ดสิบ เอ็ลเดอร์บรูซ ซี. ฮาเฟนอธิบายว่า:
หากเราปรารถนา “ทุกสิ่งที่พระบิดาของเรามี” [ หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:38 ], พระผู้เป็นเจ้าทรงขอ ทุกสิ่งที่เรามี เพื่อให้มีค่าสมกับสมบัติอันล้ำค่าเช่นนี้ ไม่ว่าจะด้วยใดๆ ของเราก็ตาม เราต้องให้ในวิธีที่พระคริสต์ทรงให้—ทุกหยดที่พระองค์ทรงมี: “แสนสาหัสเพียงใดเจ้าหารู้ไม่, แท้จริงแล้ว, ยากเหลือจะทนเพียงใดเจ้าหารู้ไม่” [ หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:15 ] เปาโลกล่าวว่า “เมื่อเราทนทุกข์ทรมานด้วยกันกับพระองค์” เราจะเป็น “ทายาทร่วมกับพระคริสต์” [ โรม 8:17 เน้นตัวเอน] ทั้งหมดของใจพระองค์ ทั้งหมดของใจเรา
(ดู บรูซ ซี. ฮาเฟน, “การชดใช้ทั้งหมดเพื่อทั้งหมด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 119)
เหตุใดเปาโลจึงสอนว่าเราต้องมาเป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อเราทุกคนล้วนเป็นบุตรธิดาของพระองค์?
แม้ทุกคนจะเป็นลูกทางวิญญาณของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ แต่คำสอนของเปาโลเกี่ยวกับ “พระวิญญาณแห่งการอุปถัมภ์” และ การกลายเป็น “บุตร [และธิดา] ของพระผู้เป็นเจ้า” (ดู โรม 8:14–15) ช่วยให้เราเข้าใจว่าเราสามารถเกิดใหม่หรือได้รับการอุปถัมภ์ทางวิญญาณในฐานะบุตรและธิดาของพระคริสต์ได้ในพันธสัญญาพระกิตติคุณ (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “ พันธสัญญา ,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org)
ประชาชนของกษัตริย์เบ็นจามินก็ประสบการเกิดใหม่ทางวิญญาณเช่นนี้ ซึ่งทำให้กษัตริย์เบ็นจามินสังเกตว่า “และบัดนี้, เพราะพันธสัญญาที่ท่านทำไว้จะเรียกท่านว่าลูก ๆ ของพระคริสต์, บุตรของพระองค์, และธิดาของพระองค์; เพราะดูเถิด, วันนี้พระองค์ทรงให้กำเนิดท่านทางวิญญาณ” ( โมไซยาห์ 5:7) การกลายเป็นบุตรและธิดาของพระเยซูคริสต์ผ่านการเกิดใหม่ทางวิญญาณเป็นสิ่งจำเป็นที่จะมีค่าสมต่อการได้รับทุกสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมี (ดู โมไซยาห์ 27:25–26)