ผู้บุกเบิกในทุกแผ่นดิน
การเปลี่ยนใจเลื่อมใสและการเปลี่ยนแปลงใน ชิลี
บัพติศมาครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1956 ปัจจุบันศาสนจักรมีพระวิหาร 1 แห่ง คณะเผยแผ่ 9 แห่ง สเตค 74 แห่ง และสมาชิกเกือบ 600,000 คนในชิลี
ในช่วงประวัติศาสตร์ 58 ปี สมาชิกศาสนจักรในชิลีได้แสดงให้เห็นว่าตนสามารถเปลี่ยนวิถี โดยปรับชีวิตไปตามครรลองที่ศาสดาพยากรณ์ชี้ทาง เจตนารมณ์ดังกล่าวส่งผลให้ศาสนจักรที่นั่นเติบโตมากเป็นพิเศษในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบัน ชิลีมีสมาชิกเกือบ 600,000 คน ทำให้ชาวชิลี 1 คนในทุก 30 คนเป็นสมาชิกของศาสนจักร1
อัครสาวกเยือนชิลี
คริสต์ศักราช 1851 เอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์ (1807–1857) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองมาถึงวัลปาเรโซด้วยเจตนาจะสถาปนาศาสนจักร แต่ท่านกับคู่พูดภาษาสเปนไม่เป็น พวกท่านมีทุนทรัพย์น้อยมาก และประเทศขาดเสรีภาพทางศาสนา ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถสถาปนาศาสนจักรได้
เอ็ลเดอร์แพรทท์เสนอต่อประธานบริคัม ยังก์ (1801–1877) ว่า “ควรแปลและพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอนและสิ่งพิมพ์ราคาถูกบางเล่มเป็นภาษาสเปน จากนั้นให้ไขกุญแจเข้าประเทศเหล่านี้ขณะนำฐานะปุโรหิตที่มีชีวิตเข้าไปพร้อมบางสิ่งให้พวกเขาอ่าน—แม้งานเขียนเหล่านั้นซึ่งมีสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า คำสวดอ้อนวอนและศรัทธาของคนสมัยโบราณ อำนาจและพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อทำงานกับพวกเขาในการนำเชื้อสายแห่งอิสราเอลกลับคืนมา”2
สถาปนาศาสนจักร
แม้เอ็ลเดอร์แพรท์เคยพยายามมาก่อนแล้ว แต่ 100 กว่าปีผ่านไปก่อนที่ศาสนจักรจะได้รับการสถาปนาอย่างถาวรในชิลี คริสต์ศักราช 1956 ศาสนจักรส่งเอ็ลเดอร์โจเซฟ เบนท์ลีย์และเอ็ลเดอร์เวอร์เล ออลเรดจากคณะเผยแผ่อาร์เจนตินาไปสั่งสอนพระกิตติคุณในชิลีซึ่งเวลานั้นเปิดกว้างทางศาสนามากขึ้น ในซานเตียโกผู้สอนศาสนาเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัวฟอเธอริงแฮม สมาชิกที่ย้ายมาจากปานามาและหวังอยู่เสมอว่าผู้สอนศาสนาจะมา
บัพติศมาครั้งแรกประกอบพิธีในชิลีวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1956 ในสระน้ำที่สโมสรชานเมืองในซานเตียโก เอ็ลเดอร์ออลเรดจำได้ว่า “เราไปที่สโมสรชานเมืองก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นและมีพิธีซึ่งประกอบด้วยการสวดอ้อนวอนและคำพูดสั้นๆ ผมลงไปในน้ำกับบราเดอร์การ์เซีย ผมให้บัพติศมาเขาเป็นคนแรก แล้วก็ให้อีกแปดคนต่อจากเขา นี่เป็นโอกาสพิเศษมาก เราทุกคนไม่อาจลืมเลือนสิ่งที่เรารู้สึกได้ … สมาชิกเหล่านี้คงจะเป็นผู้บุกเบิกของศาสนจักรในชิลีและผมเชื่อว่าพวกเขาทุกคนยังคงซื่อสัตย์แม้จนถึงความตาย นั่นคือ ครอบครัวการ์เซีย ครอบครัวซัลดานอส และซิสเตอร์ลานซารอตตี”3
การเรียกผู้นำ
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1959 สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (1895–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองไปเยือนชิลีและเน้นความจำเป็นของการพัฒนาผู้นำระดับท้องที่ ผู้นำระดับท้องที่รุ่นแรกคนหนึ่งคือคาร์ลอส ซิเฟวนเทส เขาเป็นที่ปรึกษาของโรเบิร์ต เบอร์ตันประธานคณะเผยแผ่ เอ็ลเดอร์ฮูลิโอ ฮารามิลโลผู้เป็นสาวกเจ็ดสิบภาคและประธานพระวิหารในเวลาต่อมาเล่าประสบการณ์นี้ว่า “ผมประทับใจบราเดอร์ซิเฟวนเทสครั้งแรกตอนที่มีคนชวนผมไปร่วมการประชุมฐานะปุโรหิตหลังจากผมรับบัพติศมา เมื่อการประชุมเริ่ม เขามาที่แท่นพูดและสิ่งเดียวที่ผมเห็นคือเล็บมือดำสกปรกของเขา ผมคิดว่า ‘ชายคนนี้จะดำเนินการประชุมเคียงข้างประธานคณะเผยแผ่ได้อย่างไรถ้ามือของเขาสกปรก’ จนกระทั่งเขาเริ่มพูดและผมลืมหมดทุกอย่างเมื่อผมรับรู้เจตนารมณ์ของเขา เขาให้แนวคิดที่ลึกซึ้งแก่เราด้วยคำพูดที่เรียบง่าย เขาเป็นช่างซ่อมเครื่องจักรกลหนักและวันเสาร์เขาเลิกงานดึก จากนั้นก็จะทำความสะอาดมือ แต่เนื่องจากที่ร้านมีวิธีทำความสะอาดไม่กี่วิธีเขาจึงไม่สามารถขจัดคราบจาระบีออกได้หมด ผมเรียนรู้ในเวลานั้นและที่นั่นว่าต้องไม่ตัดสินผู้อื่นจากรูปลักษณ์ภายนอกแต่ประเมินค่าจากสิ่งที่พวกเขาเป็นจริงๆ”4
การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้อนุชนรุ่นหลัง
ในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 ศาสนจักรในชิลีเข้มแข็งขึ้นไม่ใช่เพราะผู้นำระดับท้องที่มีประสบการณ์มากขึ้นเท่านั้นแต่เพราะมีโครงการใหม่ๆ ด้านการศึกษาและการก่อสร้างด้วย นี่รวมถึงการสร้างโบสถ์พร้อมๆ กับการตั้งโรงเรียน เซมินารี และสถาบันของศาสนจักร
ในเดือนมีนาคม ปี 1964 โรงเรียนประถมที่ศาสนจักรบริหารสองแห่งแรกจัดตั้งขึ้นในชิลี ในที่สุดก็เปิดหลายโรงเรียน และมีนักเรียนมาสมัครมากกว่า 2,600 คน ราวปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 โรงเรียนรัฐบาลแพร่หลายมากขึ้น ศาสนจักรจึงประกาศปิดโรงเรียนในชิลี
เอ็ลเดอร์อีดูอาร์โด เอ. ลามาร์ติเน อดีตสาวกเจ็ดสิบภาคและปัจจุบันเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านประวัติศาสนจักรในชิลีแสดงความเห็นเกี่ยวกับโปรแกรมการศึกษาดังนี้ “โรงเรียนในชิลีมีอิทธิพลมากในการอบรมเยาวชนหลายพันคนด้านวิชาการและทางวิญญาณ โรงเรียนเหล่านี้มีส่วนช่วยเตรียมผู้นำและผู้สอนศาสนาในช่วงปีต่อๆ มา”5
โปรแกรมเซมินารีและสถาบันเริ่มต้นในชิลีปี 1972 เดิมทีนักเรียนเข้าร่วมโปรแกรมศึกษาที่บ้านกับชั้นเรียนประจำสัปดาห์ ต่อมาศาสนจักรจัดชั้นเรียนบ่อยขึ้น โปรแกรมเหล่านี้เป็นพรแก่คนรุ่นเยาว์ของประเทศและช่วยพวกเขาเตรียมรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา เอ็ลเดอร์เอดูอาร์โด อญาลา อดีตสมาชิกสาวกเจ็ดสิบ เป็นครูเซมินารีรุ่นแรกและต่อมาทำงานให้ระบบการศึกษาของศาสนจักรในชิลี เขากล่าวว่า “พระเจ้าทรงเลือกคนรุ่นเยาว์ผู้อยู่ที่นั่นเวลานั้นและหลายคนเป็นอดีตผู้สอนศาสนาและเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่มีครอบครัวที่ดี … สำหรับผม เซมินารีและสถาบันเป็นหนทางแห่งความรอดในช่วงเวลาของความขัดแย้งอย่างรุนแรงในประเทศของเราและผมสำนึกคุณที่ได้รับเรียกให้ทำงานกับระบบการศึกษา”6
สเตคแรก
วันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1972 เอ็ลเดอร์กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) สมัยนั้นอยู่ในโควรัมอัครสาวกสิบสอง ได้จัดตั้งสเตคซานเตียโก ชิลี โดยมีคาร์ลอส ซิเฟวนเทส เป็นประธาน
การเตรียมเป็นสเตคแสดงให้เห็นอุปนิสัยของวิสุทธิชนในชิลีและความเต็มใจจะทำตามศาสดาพยากรณ์ของพวกเขา เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์มาถึงชิลีหลายเดือนก่อนจัดตั้งสเตค แต่หลังจากจัดเตรียมการสัมภาษณ์ ท่านก็เลื่อนการสัมภาษณ์ออกไป สมัยนั้นหลายคนกำลังประสบปัญหาการเงิน สมาชิกบางคนกำลังประสบความยุ่งยากในการถือปฏิบัติกฎส่วนสิบ
เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์อธิบายว่า “ข้าพเจ้ากลับไปอีกหกเดือนให้หลัง และขณะกำลังสัมภาษณ์ ข้าพเจ้าพบความเบ่งบานของศรัทธา พวกเขาดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ต่อเบื้องพระพักตร์พระเจ้าอีกครั้ง เราจัดตั้งสเตค และนับแต่นั้นเป็นต้นมาพวกเขาเติบโตและรุ่งเรือง”7
ผู้บุกเบิกตามแนวชายแดน
ปัจจุบันมีสองสเตคในอารีกาเมืองตอนเหนือสุดของชิลี เรื่องราวของแกลดีส์กับฮวน เบนาวิเดซผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสรุ่นแรกในอารีกา เป็นแบบอย่างของวิญญาณผู้บุกเบิกและอิทธิพลจากเบื้องบนในการสถาปนาศาสนจักรทั่วชิลี
มีคนแนะนำบราเดอร์เบนาวิเดซให้รู้จักศาสนจักรในปี 1961 เมื่อลมพัดกระดาษไปทางเขา “กระดาษพวกนั้นเป็นหน้าหนังสือ บางตอนของสรรสาระ ที่มีบทความเกี่ยวกับ “ชาวมอรมอน” บรรยายชีวิตและความเชื่อของพวกเขา” เขากล่าว
ไม่นานหลังจากนั้น เขาป่วยหนักจนต้องรับการรักษาในซานเตียโก “ขณะอยู่ที่นั่น ผมไปเยี่ยมพี่สาวและทราบว่าเธอเป็นสมาชิกของศาสนจักร” เขากล่าว “เธอชวนผมไปการประชุมใหญ่พิเศษครั้งหนึ่ง ขณะฟังการสวดอ้อนวอนเปิดและตั้งใจฟังคำพูดต่างๆ ผมรู้สึกปีติยินดีอย่างยิ่งทั่วทั้งร่างและรับรู้ถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เมื่อจบการประชุมใหญ่ ผู้สอนศาสนาพาผมไปจับมือกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ที่มาเยี่ยมคือเอ็ลเดอร์เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน(1899–1994) สมัยนั้นท่านอยู่ในโควรัมอัครสาวกสิบสอง”
บราเดอร์เบนาวิเดซกลับไปอารีกาและแบ่งปันประสบการณ์นี้กับแกลดีส์ อากีลาร์แฟนสาวของเขาผู้เป็นภรรยาของเขาในปัจจุบัน สองวันต่อมา แกลดีส์เห็นผู้สอนศาสนาสองคนผ่านบ้านเธอ “เรารีบไปตามหาพวกเขา” บราเดอร์เบนาวิเดซกล่าว “วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1961 เรารับบัพติศมา พร้อมกับครอบครัวของภรรยาผม ปัจจุบันเรามีลูกหลานในศาสนจักร ผมซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าสำหรับลมนั้นที่พัดข้อมูลเกี่ยวกับศาสนจักรเข้ามาในมือผม”8
ช่วงการทดลอง
ในการเลือกตั้งปี 1970 ดร. ซัลวาดอร์ อัลเลนเดเป็นประธานาธิบดีและสถาปนาการปกครองลัทธิมาร์กซ์ สมาชิกศาสนจักรประสบความยุ่งยากเดือดร้อนอันเนื่องจากความขาดแคลนอาหารและยา การคุกคามผู้สอนศาสนาอยู่เนืองๆ และสื่อให้ข่าวในแง่ลบ
คริสต์ศักราช 1973 วิกฤติทางการเงินและ สังคมก่อให้เกิดรัฐประหารและระบบเผด็จการที่ยืดเยื้อจนถึงปี 1990 ถึงแม้ชิลีเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบบประชาธิปไตยในปัจจุบัน แต่สองทศวรรษนั้นเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับสมาชิก หลายกลุ่มที่คัดค้านระบอบเผด็จการของทหารเข้าทำลายโบสถ์และทำร้ายสมาชิกเพราะคิดว่าศาสนจักรเป็นเป็นตัวแทนรัฐบาลสหรัฐ เอ็ลเดอร์อญาลา ประธานสเตคสมัยนั้น กล่าวว่า “เราจะประชุมกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ และพวกท่านจะบอกเราว่า ‘ได้โปรดใช้ปัญญา สวดอ้อนวอนให้มาก ทำสิ่งถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อสมาชิกจะรักษาระเบียบในที่ประชุม”9
ถึงแม้ความยุ่งยากทางการเงินและการต่อต้านทางการเมืองของประเทศจะแบ่งแยกสังคมชาวชิลีตอนต้นทศวรรษ 1980 แต่ศาสนจักรเติบโตอย่างรวดเร็ว ระหว่างปี 1970 กับปี 1985 จำนวนสมาชิกศาสนจักรในชิลีเพิ่มจาก 15,728 คนเป็น 169,361 คน
พระวิหารซานเตียโก
คริสต์ศักราช 1980 วิสุทธิชนได้รับพรด้วยการประกาศว่าจะสร้างพระวิหารในซานเตียโก ชิลี
เมื่อประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์อุทิศสถานที่ก่อสร้างพระวิหาร ท่านอ่อนแอมากแต่การอยู่ที่นั่นแสดงให้เห็นว่าท่านรักวิสุทธิชนของอเมริกาใต้ ผู้ที่ท่านทำงานด้วยตั้งแต่ปี 1959 ซิสเตอร์อาเดรียนา เกอร์รา เด เซปูลเวดา ผู้เป็นล่ามให้ซิสเตอร์คิมบัลล์ในครั้งนั้นกล่าวว่า “เมื่อดิฉันเห็นศาสดาพยากรณ์ บุคคลร่างเล็กที่มีใบหน้าเหมือนทูตสวรรค์ ดิฉันเริ่มร้องไห้และไม่อาจหาคำพูดใดมากล่าวกับท่านได้ นี่เป็นครั้งแรกที่ดิฉันอยู่ข้างศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต การได้เห็นกระบอกเสียงของพระเจ้าที่นี่บนโลกนี้และในประเทศของดิฉันนับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์โดยแท้”10
พระวิหารได้รับการอุทิศในปี 1983 กลายเป็นพระวิหารแห่งที่สองในอเมริกาใต้และแห่งแรกในประเทศที่พูดภาษาสเปน
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ในชิลี
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2002 ฝ่ายประธานสูงสุดมอบหมายให้สมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองสองท่านมาเป็นประธานภาคสองภาคของศาสนจักร เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ได้รับมอบหมายให้ดูแลภาคฟิลิปปินส์ ส่วนเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ให้ดูแลชิลี การปฏิบัติศาสนกิจและอิทธิพลของเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ขณะอยู่ในชิลีมิอาจประมาณได้ และประสิทธิผลดังกล่าวจะยังอยู่อีกหลายรุ่น
สิ่งที่เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์เน้นเป็นหลักคือให้แบบอย่างการเป็นผู้นำในวิธีของพระเจ้า ท่านช่วยอบรมผู้นำคนใหม่และควบคุมดูแลการจัดตั้ง การยุบ และการรวมวอร์ดหลายร้อยวอร์ดและสเตคหลายสิบสเตค การจัดตั้งใหม่และการอบรมครั้งนี้จำเป็นเพราะศาสนจักรเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศ การนำของท่านช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยต่างๆ และเตรียมศาสนจักรในชิลีให้พร้อมรับอนาคต
นอกจากนี้ เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ยังได้เชื่อมความสัมพันธ์ครั้งสำคัญกับบางคนในชิลีด้วย เอ็ลเดอร์คาร์ล บี. แพรทท์แห่งสาวกเจ็ดสิบ ที่ปรึกษาในฝ่ายประธานภาคคราวนั้น พูดถึงความสัมพันธ์ครั้งสำคัญเหล่านี้ว่า “เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์สร้างความสัมพันธ์แนบแน่นกับริคาร์โด ลากอส [ประธานาธิบดีของชิลี] กับภริยา พวกท่านดำเนินโครงการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมหลายโครงการ เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ได้รู้จักกับเอกอัครสมณทูต [ทูตระดับสูงของคาทอลิก] และบุคคลสำคัญคนอื่นๆ ในชิลี”11
วางใจในอนาคต
ความพยายามของเอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์และเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ การเสียสละของผู้สอนศาสนารุ่นแรกที่มาถึงซานเตียโก การอุทิศตนของผู้นำอย่างคาร์ลอส กิฟูเอนเตส และผู้บุกเบิกรุ่นแรกๆ ของชิลี ผนวกกับศรัทธาและการอุทิศตนของคนหลายแสนคนผู้เข้าร่วมศาสนจักรในช่วงเวลากว่าครึ่งศตวรรษได้สร้างรากฐานอันมั่นคงให้ศาสนจักรในชิลี ปัจจุบันประเทศนี้มีพระวิหารหนึ่งแห่ง (กับอีกหนึ่งแห่งที่ประกาศสร้างไปแล้ว) ศูนย์ฝึกอบรมผู้สอนศาสนาหนึ่งแห่ง คณะเผยแผ่ 9 แห่ง และ สเตค 74 แห่ง อนาคตไร้ขีดจำกัดในงานทางวิญญาณของการเชื้อเชิญคนทั้งปวงให้มาหาพระคริสต์
ภาพถ่ายหลายภาพในบทความนี้เอื้อเฟื้อโดย เนสตอร์ เกอร์เบโล; บนซ้าย: ภาพถ่าย โดย filipefrazao/iStock/Thinkstock; ล่าง: ภาพถ่าย โดย kavram/iStock/Thinkstock
คณะครูและนักเรียนชั้นประถมสี่ที่โรงเรียนโกเลจิโอ เอ. ดี. พอลเมอร์ของศาสนจักร ประมาณปี 1966
สถาบันศาสนาในเตมูโกเป็นหนึ่งใน 50 สถาบันในชิลี
ซ้าย: ภาพถ่าย โดย ฟลอรา เดกเคอร์ โดนัลด์สัน; ภาพถ่ายเอ็ลเดอร์เมลวิน เจ. บัลลาร์ด โดย เอส. ดับเบิลยู เอกเคอร์ © IRI
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ปราศรัยกับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายชาวชิลี 48,000 คนในปี 1996 ที่การประชุมใหญ่ในซานเตียโก
เยาวชนและผู้ใหญ่ชาวชิลี มอรมอนร่วมมือร่วมใจรวบรวมชุดสุขอนามัยคราวเกิดแผ่นดินไหวในปี 2010
ซ้าย: ภาพเด็กชาย โดยออสการ์ เอ. ชมิตต์เนอร์ บริสโซ ไม่อนุญาตให้ทำสำเนา; ขวา: กราฟิกโดย Marcelo Silva/iStock/Thinkstock