2016
เสถียรภาพทางวิญญาณ: ต่อเรือที่ไม่มีวันจม
เมษายน 2016


เสถียรภาพทางวิญญาณ: ต่อเรือที่ไม่มีวันจม

จากการให้ข้อคิดทางวิญญาณ ณ มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์เมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 2014 ดูบทความเต็มเป็นภาษาอังกฤษได้ที่ speeches.byu.edu

เราจำเป็นต้องมีเสถียรภาพทางวิญญาณมากพอจึงจะล่องเรือชีวิตมรรตัยของเราได้สำเร็จและกลับไปบ้านบนสวรรค์ของเราอย่างปลอดภัย

carpenter and tools

สัญรูปและภาพถ่ายของเรือ © lublubachka/Thinkstock, MicheleBolero/Thinkstock, David Harding/Thinkstock

ต้นศตวรรษที่ 17 กุสตาฟ อดอล์ฟที่ 2 กษัตริย์ของสวีเดนสั่งให้ต่อเรือรบลำหนึ่งที่ตั้งชื่อว่า วาซา เรือลำนี้แสดงให้เห็นถึงการใช้ทรัพยากรมากมายมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้โอ๊กซึ่งนำมาใช้ต่อเรือดังกล่าว กุสตาฟ อดอล์ฟควบคุมขั้นตอนการต่อเรืออย่างใกล้ชิดโดยพยายามให้แน่ใจว่า วาซา จะสมบูรณ์แบบตามที่เขาคาดหวัง

หลังจากเริ่มต่อเรือไปแล้ว กุสตาฟ อดอล์ฟสั่งให้ขยายความยาวของเรือ วาซา เพราะสร้างตัวค้ำด้านกว้างจากไม้โอ๊กที่มีค่ายิ่งไปแล้ว กษัตริย์จึงสั่งให้คนต่อเรือเพิ่มความยาวของเรือโดยไม่เพิ่มความกว้าง ถึงแม้ช่างต่อเรือรู้ว่าการทำเช่นนั้นจะส่งผลให้ วาซา ไม่อาจแล่นในทะเลได้ แต่พวกเขาก็ไม่กล้าบอกกษัตริย์ในสิ่งที่พวกเขารู้ว่ากษัตริย์ไม่อยากฟัง พวกเขาทำตาม กุสตาฟ อดอล์ฟยืนกรานเช่นกันว่าไม่ให้เรือมีดาดฟ้าชั้นเดียวตามมาตรฐานทั่วไปเท่านั้น แต่ให้มีปืนใหญ่บนดาดฟ้าสามชั้น โดยให้ปืนหนักที่สุดอยู่ดาดฟ้าชั้นบน แม้จะขัดกับวิจารณญาณที่ดีกว่าของช่างต่อเรือ แต่พวกเขาก็ทำตาม

วันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1628 เรือ วาซา เริ่มออกเดินทางเป็นครั้งแรก หลังจาก วาซา ออกจากท่า ลมแรงปะทะใบเรือ ทำให้เรือเริ่มเอน ไม่นาน “เรือก็เอียงไปทางขวา และน้ำทะลักเข้าเรือผ่านช่องวางปืนทางด้านขวาของเรือจนเรือค่อยๆ จมลงไปเรื่อยๆ ถึงใบเรือ ธงทิวที่ชักไว้บนเรือ และจากนั้นทั้งลำ”1 เรือ วาซา เดินทางครั้งแรกได้ประมาณ 4,200 ฟุต (1,280 เมตร) เท่านั้น

ความปราถนาจะสร้างแสนยานุภาพเกินขอบเขตของกุสตาฟ อดอล์ฟทำลายแผนการอันน่าจะเป็นของเรือลำมหึมา ซึ่งเป็นเรือรบอันทรงอานุภาพที่สุดในสมัยนั้น ความลังเลไม่กล้าพูดของช่างต่อเรือ—เกรงว่าจะทำให้กษัตริย์ไม่พอใจ—ทำให้กษัตริย์ไม่ได้รับความรู้และความเข้าใจอันลึกซึ้ง ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับการมองข้ามเป้าหมายของโครงการ นั่นคือ คุ้มครองสวีเดนและส่งเสริมผลประโยชน์ข้ามแดน เรือที่พยายามฝ่าฝืนกฏฟิสิกส์เป็นเพียงเรือที่ไม่ลอย

เราจะล่องเรือชีวิตมรรตัยได้สำเร็จ เราจำเป็นต้องมีเสถียรภาพทางวิญญาณมากพอจะปะทะกับกระแสลมและกระแสน้ำ ทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น และกลับบ้านบนสวรรค์ของเราอย่างปลอดภัย มีสิ่งที่เราทำได้เพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางวิญญาณของเรา ข้าพเจ้าจะพูดถึงสิ่งเหล่านั้นสี่อย่าง

การเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า

อย่างแรกคือการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า เรือ วาซา อยู่ภายใต้กฎทางกายภาพฉันใด เราทุกคนอยู่ภายใต้กฎทางวิญญาณฉันนั้น ไม่มีใครได้รับการยกเว้น เราจำเป็นต้องเชื่อฟังกฎทางวิญญาณเหล่านี้ ซึ่งเราเรียกว่าพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า

การทำงานกับกฏทางกายภาพในการต่อเรืออาจรู้สึกจำกัดเสรีภาพของกุสตาฟ อดอล์ฟ แต่ วาซา จะไม่จมก่อนพันธกิจเริ่มแน่นอนหากทำตามกฎเหล่านี้ เรือลำดังกล่าวจะมีอิสรภาพและความยืดหยุ่นเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้

ดังนั้นการเชื่อฟังกฎของพระผู้เป็นเจ้าจึงปกป้องเสรีภาพ ความยืดหยุ่นและความสามารถในการบรรลุศักยภาพของเราด้วย พระบัญญัติไม่ได้มีไว้เพื่อจำกัดเรา แต่การเชื่อฟังทำให้เกิดเสถียรภาพทางวิญญาณเพิ่มขึ้นและความสุขระยะยาว

การเชื่อฟังเป็นการเลือกของเรา พระเยซูรับสั่งว่า “ดูเถิด, เราให้บัญญัติแก่เจ้า; ฉะนั้นจงรักษาบัญญัติของเรา” (3 นีไฟ 15:10) สิ่งนั้นเรียบง่าย ตัดสินใจทำ ตัดสินใจเดี๋ยวนี้ว่าจะเชื่อฟังอย่างครบถ้วน ไม่มีสิ่งใดจะเพิ่มเสถียรภาพทางวิญญาณมากกว่านี้ ไม่มีสิ่งใดจะให้เสรีภาพในการทำพันธกิจของชีวิตเราให้บรรลุผลสำเร็จมากกว่านี้

การเอาใจใส่คำแนะนำและการเป็นผู้เรียนรู้ชั่วชีวิต

carpenter’s tools

สอง เราจำเป็นต้องเอาใจใส่และใส่ใจคำแนะนำจากแหล่งที่ไว้ใจได้และให้คำมั่นสัญญากับตัวเราเองว่าจะเป็นผู้เรียนรู้ชั่วชีวิต

หลุมพรางอย่างหนึ่งของการได้รับความรู้คือความยโสโอหังที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเราคิดว่าเรารู้มากจนไม่มีอะไรต้องเรียนรู้อีก เราทุกคนเห็นสิ่งนี้ในบุคคลที่มั่นใจในความฉลาดของตนมากเกินไป การสอนคนที่คิดว่าตัวรู้ทุกอย่างเป็นเรื่องยากมาก

เมื่อนึกถึงเรื่องนี้ และปรารถนาจะเป็นผู้เรียนรู้ชั่วชีวิต ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กที่ต้องเรียนรู้อีกมาก แทบทุกคนสอนบางสิ่งบางอย่างแก่ข้าพเจ้าได้”2 เมื่อประธานอายริงก์ให้การเรียกข้าพเจ้าเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ ท่านสอนบทเรียนสำคัญแก่ข้าพเจ้า ท่านกล่าวว่าเมื่อท่านได้ยินคนเล่าเรื่องที่ท่านเคยได้ยินแล้วหรือใช้ข้อพระคัมภีร์ที่ท่านคุ้นมาก ท่านถามตัวท่านเองว่า “เหตุใดพระเจ้าทรงเน้นเรื่องนี้กับผม” และ “ผมยังต้องเรียนรู้อะไรจากเรื่องนั้นหรือพระคัมภีร์ข้อนั้น” ถ้าเราประสงค์จะเพิ่มเสถียรภาพทางวิญญาณ เราจะต้องเต็มใจเรียนรู้และจะต้องอ่อนน้อมถ่อมตนมากพอจะยอมรับการนำทางไม่ว่าอายุและประสบการณ์ของเราจะมากเพียงใดก็ตาม

นั่นเป็นการเลือกของเราอย่างแท้จริง เราสามารถฟังและเอาใจใส่คำแนะนำที่ผู้นำศาสนจักรให้เรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เราสนับสนุนเป็นศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย จากบิดามารดา หรือจากเพื่อนที่เราไว้ใจ—หรือเราจะไม่ฟังก็ได้ เราสามารถเป็นผู้เรียนรู้ชั่วชีวิตได้—หรือจะไม่เป็นก็ได้ เราสามารถเพิ่มเสถียรภาพทางวิญญาณของเราได้—หรือจะไม่เพิ่มก็ได้ ถ้าเราไม่เพิ่มเสถียรภาพทางวิญญาณของเรา เราจะเป็นเหมือน วาซา—เรือที่ไม่ลอย

การรับใช้ผู้อื่น

สาม การแสดงออกมาโดยตรง การห่วงใยผู้อื่น และรับใช้ผู้อื่นเพิ่มเสถียรภาพทางวิญญาณของเรา

ความเป็นนิรันดร์เห็นชัดเจนขึ้นเมื่อเรามุ่งเน้นไปที่ผู้อื่นขณะพยายามช่วยบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ ข้าพเจ้าพบว่าเมื่อข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนให้รู้ว่าจะช่วยอีกคนหนึ่งได้อย่างไรข้าพเจ้าได้รับการดลใจง่ายกว่าเมื่อข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนให้ตนเองเท่านั้น

เราอาจเชื่อว่า ณ จุดหนึ่งในอนาคตเราจะอยู่ในสถานการณ์ที่จะช่วยได้ดีขึ้น แต่ในความเป็นจริง เวลานั้นคือเดี๋ยวนี้ เราเข้าใจผิดถ้าเราคิดว่าจะสะดวกกว่าเมื่อเรามีเวลามากขึ้น มีเงินมากขึ้น หรือมีสิ่งต่างๆ ให้รับใช้ผู้อื่นมากขึ้น ไม่ว่าสภาพการณ์ของเราเป็นเช่นไร เรามีทางเลือก เราจะช่วยผู้อื่นหรือจะไม่ช่วย เราไม่ผ่านการทดสอบครั้งสำคัญของชีวิตมรรตัยถ้าเราเลือกไม่ช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก และถ้าเราช่วย เราเพิ่มเสถียรภาพทางวิญญาณของเรา

การทำให้พระเยซูคริสต์เป็นรากฐานของเรา

the ship Vasa

สัญรูปและภาพถ่ายของเรือ © lublubachka/Thinkstock, MicheleBolero/Thinkstock, David Harding/Thinkstock

สี่ สุดท้ายและสำคัญที่สุด เสถียรภาพทางวิญญาณของเราเพิ่มตามสัดส่วนที่เราวางพระเยซูคริสต์เป็นรากฐานของเรา

หากปราศจากพระคริสต์ เราย่อมเป็นเหมือนเรือที่ถูกเหวี่ยงไปมาบนระลอกคลื่น เราไม่มีพลังอำนาจเพราะเราไม่มีใบเรือ เราไม่มีเสถียรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาเกิดพายุ เพราะเราไม่มีสมอ เราไม่มีทิศทางหรือจุดประสงค์เพราะเราไม่มีสิ่งใดใช้คัดท้ายเรือ เราต้องทำให้พระคริสต์เป็นรากฐานของเรา

เพื่อเผชิญ เอาชนะ และพร้อมปะทะกระแสลมและกระแสน้ำของชีวิต เราต้องเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า อ่อนน้อมถ่อมตน เต็มใจ และตั้งใจจะเป็นผู้เรียนรู้ชั่วชีวิต รับใช้ผู้อื่น และวางพระเยซูคริสต์เป็นรากฐานของชีวิตเรา ขณะทำเช่นนี้เรากำลังเพิ่มเสถียรภาพทางวิญญาณของเรา ไม่เหมือน วาซา เราจะกลับไปยังท่าเรือที่ปลอดภัยได้ โดยทำให้บรรลุจุดหมายของเรา

อ้างอิง

  1. จดหมายจาก Swedish Council of the Realm ถึง King Gustav II Adolf; คำแปลอ้างอิงในริชาร์ด โอ. เมสัน, “The Vasa Capsizes,” virtualschool.edu/mon/CaseStudies/Vasa/vasa.html. เรื่องราวมากมายของ วาซา ยังมีอยู่; ตัวอย่างเช่น ดูประวัติในลิงก์ vasamuseet.se/en และลิงก์อื่น

  2. เฮนรีย์ บี. อายริงก์ ใน โรเบิร์ต ไอ. อีตันและเฮนรีย์ เจ. อายริงก์, I Will Lead You Along: The Life of Henry B. Eyring (2013), 409.